คนไทยตระหนักในความปลอดภัยของตัวเองน้อยไปหรือเปล่า...


เมื่อสองวันก่อนที่ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Biosafety: ปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างไรจึงจะปลอดภัย เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับวิธีการดูแลตัวเองและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เป็นการอบรมหนึ่งวันครึ่งที่ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่ามากๆค่ะ เพราะเลิกเวิร์คชอพช่วงบ่ายวันแรกกันในเวลาเกือบหกโมงเย็น พวกเรา 3 คนที่เป็นกรรมการ เป็นคนปิดตึกห้องประชุมหน่วยวิศวะซ่อมบำรุงกันเอง เพราะเกินเวลาทำงานเจ้าหน้าที่ประจำเขากลับกันหมดแล้ว

จากงานนี้ทำให้ได้คิดถึงเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคลขึ้นมาว่า เราคนไทยค่อนข้างมีจิตสำนึกในเรื่องนี้น้อยนะคะ ไม่รู้ว่าเราเป็นคนชอบเสี่ยงกันจริงหรือเปล่า แต่ตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจังกันมากกว่า อ.Trevor ผู้สอนภาษาอังกฤษของหน่วยเรา ก็เพิ่งจะเล่าให้พวกเราในแล็บฟังว่า แกไม่เคยเห็นคนขี่มอเตอไซค์ล้อเดียว (ยกล้อ) แบบใกล้ชิดอย่างที่เห็นในบ้านเรามาก่อนเลย มีให้เห็นกันบนถนนในหาดใหญ่ยามดึกนี่เอง 

จะเห็นว่าเด็กของเราหัดขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์กันแบบตัวเปล่าๆ ในขณะที่เด็กฝรั่งที่เคยเห็นเขาต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันให้รัดกุมเสียก่อน เขาสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยกันแต่เล็กแต่น้อย ในขณะที่เรามาบังคับโดยใช้กฎเกณฑ์  (ที่ย่อหย่อนเพราะใครทำผิดก็ไม่โดนจับปรับจริงจัง) ต้องใส่หมวกกันน้อค ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ต้องฯลฯ ซึ่งดูเหมือนที่ทำกันเพราะกลัวการถูกจับ ถูกปรับมากกว่าจะคิดว่ามันคือการรักษาความปลอดภัยของตัวเอง แม้แต่คนในห้องแล็บเองก็ยังมีที่ไม่ใส่ถุงมือเวลาหยิบหลอดเลือด ไม่ใส่เสื้อกาวน์เวลาทำงานกับสิ่งส่งตรวจ เพราะคิดว่าตัวเองระวังเอาได้ คนที่ไม่ใส่หมวกกันน้อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็คงเพราะไม่ได้คิดว่านั่นคือการดูแลตนเอง เป็นประโยชน์ของตัวเอง ขาดจิตสำนึกในเรื่องนี้นั่นเอง 

จะเห็นว่าทุกเหตุการณ์รุนแรงที่อาจช่วยได้หากมีการป้องกันอันตรายไว้ก่อนนั้น ก็คือเหตุการณ์ที่ทุกคนคิดว่าคงไม่เกิดกับเรา ทำแบบนี้มาเป็นร้อยครั้งแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไร แต่คนที่ประสบเหตุเหล่านั้นก็คือครั้งที่พลาดเพียงครั้งเดียวนั่นเองนะคะ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างจิตสำนึกว่า มาตรการความปลอดภัยส่วนบุคคลง่ายๆเหล่านี้เป็นของที่จำเป็นและต้องทำให้เป็นนิสัยได้ในคนไทยเรา มาเริ่มเอากับคนโตๆทั้งหลายนี่คงจะไม่ทันนะคะ คงต้องเริ่มกันตั้งแต่ในเด็กเล็กๆของเรา จะเป็นไปได้ไหมหนอ...

หมายเลขบันทึก: 493889เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เห็นด้วยครับ เราต้องสร้างจิตสำนึกตั้งแต่เด็กๆ อยู่ที่ครอบครัวนี่แล่ะครับ แต่คงอีกนาน เพราะก็จะมีข้ออ้างอีกล่ะครับ ต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลา หรือบางทีก็มีความคิดแปลกๆว่า เจ็บตัวบ้างโตขึ้นจะได้เข้มแข็ง หรือบางคนก็ได้พระดีมาเต็มหน้ารถ เลยไม่กลัวและอีกมากมายกับความเห็นผิดๆของสังคมไทยเรา เฮ้อเหมือนบ่นเลย... แต่ก็ยังหวัง.....

เห็นด้วยกับอาจารย์...เพราะตอนนี้สังเกตเห็นชาวบ้านของผม...พ่นยาอ้อย...ไม่ชอบใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเอง...และยังสูบบุหรี่-ดื่มเหล้าระหว่างพ่นยา ฯลฯ ...แต่ก็หวัง..เหมือน คุณ พ.แจ่มจำรัส ครับ

พี่โอ๋คะ ที่รพ.มีป้ายไม่สวมหมวกกันน็อคห้ามเข้า

จนท.รพ.ขี่ MC แขวนหมวกกันน็อคไว้ทีแฮนด์รถ พอมาถึงประตูรพ.รีบนำหมวกมาใส่ก่อนเข้ารพ. kunrapee เห็นกับตาเลยค่ะ (จะกลายเป็นปนะจานรพ.ตัวเองรึป่าว ก็ไม่รู้)


 

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

  • เป็นไปได้ครับ :-)
  • อีกอย่างหนึ่งคือ ความปลอดภัยทางจิตวิญญาณ (ไม่ใช่พระเทศน์นะครับ หากแต่ความคิดเกิดเมื่ออ่านข้อเขียนครับผม) ทำอย่างไรให้องค์กรเป็นองค์กรที่สร้างความปลอดภัยให้จิตวิญญาณ โดยที่ภายในองค์กรมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมจิตวิญญาณให้ปลอดภัยจากความโหดร้าย เห็นแก่ตัวและพวกพ้อง ฯลฯ
  • ขอบคุณครับที่ทำให้ได้ความคิด

สำนึกเรื่องความปลอดภัยจะเกิดได้ต่อเมื่อ คนๆนั้นพบเหตุจากการไม่ระมัดระวัง ดั่งเช่นครั้งหนึ่งผมฝืนทนขับรถต่อในขณะที่ตัวเองง่วงมาก ๆ ประกอบกับเป็นทางลงจากภูเขา ณ วันนั้น ผมผ่านทางแยกเข้าสู่ทางตรง โดยเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายค้างไว้ แต่ไม่รู้ตัวเลยว่า ผ่านทางแยกนั้นเมื่อใด (หลับในครับ แค่วูบเดียว) ยังโชคดีที่ตัวเองยังไม่ต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เหตุครั้งนั้น ทำให้ผมต้องจัดการกับตัวเองให้สมบูรณ์ ก่อนออกเดินทางที่เข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นหลายเท่่า

สอนจากการปฏิบัติตัวของผู้ปกครองที่้บ้าน ตั้งแต่ยังเยาว์วัย นะครับ ได้ผลเยอะครับ ตำรวจจับกันถี่ก็ดีครับ

ฝรั่งเขาปฏิบัติมาจากการฝึกตั้งแต่เด็ก ตรงกับกรณีตัวอย่างของคุณครับ

อีกอย่าง วิธีปฏิบัติในสังคมเขาก็เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นต่อๆ ไปในตัว อย่างการเข้าคิวของฝรั่ง เข้ากันจนเป็นนิสัย ส่วนมากไม่รู้ว่า เป็นกฎหมายมาตั้งเมื่อราวห้าร้อยปีก่อนให้เข้าแถว จนคนลืมไปแล้ว

คล้ายกับเรื่อง ระเบียบวินัย ความละเอียดของชาวญี่ปุ่น สังคมก็ทำกันจนเป็นนิสัย มายังพ่อ แม่ คนไทยขาดการอบรม พ่อ แม่ มือใหม่ก็ไม่ค่อยรู้อะไรว่าควรไม่ควรนัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท