โยนกล้าในนาข้าวบ้านหนองผือ


ครูนิรุตใช้ดินเหนียวผสมดินปลวกผสมตามสูตร

โยนกล้าในนาข้าวบ้านหนองผือ

      การปรับเปลี่ยนวีธีการปลูกข้าวในโรงเรียน จากการใช้วิธีตกกล้า หรือไปขอต้นกล้าในชุมชน มาให้นักเรียนดำนา ซึ่งดูเป็นเรื่องง่าย เสร็จเร็ว แต่ดูแล้ว นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานน้อย และการทำอะไรแบบเดิมๆ ซ้ำๆ น่าจะไม่สนุกตื่นเต้น ปีนี้ จึงปรับเปลี่ยนเป็นการโยนกล้าแทน

     สอบถามผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น ด้านการทำนา เขาบอกว่าน่าจะดำนาวันแม่ แล้วไปเกี่ยววันพ่อ เราเองก็เพิ่งจะได้ยินคำนี้ฟังแล้วดูดี เข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมทั้งน้ำฝน อากาศ หรือเป็นช่วงฤดูการทำนาอย่างแท้จริง แต่ที่บ้านหนองผือทำนาก่อนเวลาได้ เนื่องจากน้ำในสระโรงเรียนมีอยู่อย่างมากมาย

     ภารกิจโยนกล้า แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการเตรียมแปลงนา ต้องขอความร่วมมือผู้ปกครอง ให้ช่วยนำรถไถนามาไถในแปลงที่มีดินนุ่มๆ ไถกลับไปกลับมาประมาณชั่วโมงเศษ เห็นดินสีดำจับเป็นก้อนโต ครูนิรุตลงมือสูบน้ำใส่จนเต็ม ได้ยินครูบอกเด็กว่าดินในนาต้องแช่น้ำไว้ให้เป็นเลน เวลาโยนกล้าลงมา ต้นกล้าจะได้ปักลงดิน

     สามวันผ่านไป น้ำในนาเริ่มแห้งขอด พบว่าผืนนาสูงๆต่ำๆไม่เท่ากัน นักเรียนชั้นป.5-6 ต้องช่วยกันลงไปใช้จอบโกยดินใช้แผ่นไม้คราดดินจากขอบคันนา ที่เป็นเนินลงไปสู่ที่ต่ำกว่ากว่าจะเสร็จได้ก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่พอเห็นครูนิรุตสูบน้ำใส่จนเต็มนาอีกครั้ง เห็นน้ำแล้วความสดชื่นก็กลับมาอีกครั้ง

     ในส่วนของการเพาะต้นกล้า ตอนแรกซื้อถาดหลุมพลาสติกสีดำให้ครูนิรุต ครูบอกว่าใช้ไม่ได้ ต้องใช้หลุมเล็กกว่านี้ จึงสั่งซื้อทางไปรษณีย์ พอได้ถาด 10 ใบ ครูนิรุตใช้ดินเหนียวผสมดินปลวก คลุกเคล้าดินตามสูตรของครู ใส่ดินลงหลุมเล็กแล้วปาดดินให้เสมอ ให้นักเรียนหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิจากบุรีรัมย์ หลุมละ 3 เมล็ด รดน้ำแล้ววางซ้อนกันในเรือนเพาะชำ ได้สามวัน ครูนิรุตให้เด็กนำถาดที่เพาะกล้าออกมาเรียงเดี่ยวให้ถูกแดด รดน้ำเช้าเย็น 7-10 วันต้นกล้าสีเขียวสดใสก็งอกออกมาอย่างสวยงาม

     28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ฤกษ์งามยามดี ศึกษานิเทศก์จากเขตมานิเทศและประเมินโรงเรียนพอดี จึงเชิญชวนร่วมกิจกรรมโยนกล้าพาเพลินพร้อมกัน ตั้งแต่ อนุลาล 1 - ป.6 ก่อนอื่นให้ครูนิรุตสาธิตก่อน เห็นครูโยนสูง โคนต้นกล้ามีก้อนดินกลมๆติดอยู่ พุ่งลงนาอย่างสวยงาม ปักติดแน่นในผืนนาที่เป็นดินเลน นักเรียนมองว่าโยนไม่ยาก ก็เลยโยนกันอย่างสนุกมือ ราวครึ่งชั่วโมง แปลงนาก็เต็มไปด้วยต้นกล้า ต้อนรับปีการศึกษา 2555

     นักเรียนชั้นอื่น กลับเข้าห้องไปเรียนหนังสือ เหลือนักเรียนชั้นป.5-6 ไว้ ได้ยินเสียงนักเรียนวิพากษ์วิจารณ์ ถึงผลงานการโยนกล้าของตัวเอง อย่างมีความสุข ผอ.ก็เลยเพิ่มรางวัลแห่งความสุขวันนี้ ให้นักเรียนเก็บผักบุ้งจีน กลับบ้านคนละกำใหญ่ๆ งานนี้ครูขาดทุนแต่เห็นกำไรระยะยาวเลยทีเดียวเชียว

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 493257เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
กนิษฐา ดวงสูงเนิน

...ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมท่าน ผอ. คุณครูทุกคนนะคะที่ปลูกฝังให้เด็กรู้จักการปลูกข้าววิธีใหม่ๆ ที่ได้ทั้งความสามัคคี ความสนุกสนาน การมีส่วนร่วมของทุกคน จากการที่ได้อ่านบทความ "โยนกล้าในนาข้าวบ้านหนองผือ"ทำให้ยิ้มตามแบบไม่รู้ตัว...เมื่อวันก่อนครูนิรุตได้พาไปชมแปลงนาผืนน้อยที่เพิ่งปลูกข้าวเสร็จ ต้นข้าวต้นอ่อนกำลังพยายามเกาะผืนดินเพื่อการเจริญเติบโต ตอนนี้ต้นกล้ายังอ่อนอยู่ ยังต้องการการดูแล...แต่พอถึงระยะเวลาหนึ่งต้นกล้าเหล่านี้จะแข็งแรงและเติบโตเป็นต้นข้าวที่สวยงามเต็มผืนนาแห่งนี้แน่นอน...ถึงวันนั้นเด็กๆ คงภูมิใจในผลงานของตัวเอง..เคยถามครูนิรุตว่าทำไมไม่ใช้วิธีปักดำ(พ่อกับแม่เคยทำแล้วได้ผลผลิตดี) ครูนิรุตบอกว่าวิธีนั้นเด็กๆ คงเคยเห็นและรู้จักมาบ้างแล้ว แต่อยากใช้วิธีที่เด็กๆ ทำแล้วเกิดความภาคภูมิใจใน เกิดความสามัคคี และสนุกสนาน ได้เห็นผลงานของตัวเองมากกว่า ผลผลิตอาจได้ไม่เต็มที่แต่ผลผลผลิตทางจิตใจมีค่ามากกว่า

  สุดท้ายก็ขอฝากทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ได้เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เด็กๆ ได้รู้จักอาชีพทางการเกษตร และอยู่อย่างพอเพียงตามรอยเท้าพ่อ นะคะ

สุดยอดการจัดการเรียนการสอน ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ได้ปฏิบัติจริงของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ถาวร และสนุกสนาน ขอบคุฯบันทึกที่ดี ๆ ครับ

  • ผอ ครับ
  • รอดูผลงานตอนข้าวโตครับ
  • มาชื่นชมก่อนครับ

ขอบคุณข้อคิดดีๆ จากคุณกนิษฐา และกำลังใจจาก"แว่นธรรมทอง" ตลอดจนท่านอาจารย์ขจิต ที่เป็นแบบอย่างด้านการจัดการความรู้ อยากเรียนว่า มีเวลาอ่านและเขียนน้อยลง เนื่องจาก นำนักเรียนสู่ภาคปฏิบัติ ทั้งเรื่องปุ๋ยหมัก ปลูกมะนาว และเลี้ยงกบ รวมทั้งงานสั่งสมคุณภาพ ในช่วงเวลาที่ สพฐ.เริ่มไม่เหลี่ยวแลโรงเรียบนขนาดเล็กเสียแล้ว

ยอดเยี่ยมเลยครับ เป็นการฝึกให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของตนเอง ตอนเด็กๆ เขาอาจจะยังไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่ครั้นเมื่อเขาเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แล้วเขาจะได้รู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ครูฝึกสอนได้อย่างชัดเจน

ขอบคุณครับ อักขณิช ผมก็คิดเหมือนกัน มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อเขา บางครั้งผลออกมาไม่ชัดเจน บางทีอาจต้องอดทนและรอคอย ถึงเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ประโยชน์หรือคุณค่า ในการทำเกษตรระบบใหม่ จะทำให้เขาตระหนักยิ่งขึ้น ขอบคุณอีกครั้งครับ

  • เยี่ยมมาก
  • จะติดตามให้กำลังใจต้นข้าวเป็นระยะๆ (ถือเป็นการช่วยใส่ปุ๋ย "ทางใจ" อ่ะครับ)
  • ขอรูปเยอะๆหน่อยละกัน
  • แบบว่าเห็นต้นข้าวทุกต้นเลยยิ่งดี
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท