คนชอบติ-ยกตนข่มท่าน กับวิธีการแก้ไข


คนชอบติ ยกตนข่มท่าน

คนชอบติ
        
       “คนชอบติ” หมายถึง คนที่คอยจ้องแต่จะจับผิด มองเห็นแต่สิ่งไม่ดี ไม่ค่อยพอใจอะไรง่ายๆ จนกลายเป็นคนที่น่ารำคาญ พาลสร้างความหงุดหงิดให้คนรอบข้างได้ แต่การติอย่างสร้างสรรค์ก็มี เรียกว่า ติเพื่อก่อ คือติด้วยเจตนาที่หวังจะให้ผลออกมาดียิ่งขึ้น สมบูรณ์มากขึ้น
       
       ถ้าคิดว่าคุณเป็นคนชอบติเพื่อก่อ อยากจะให้อะไรๆ ดีขึ้น คุณก็ควรมีเทคนิคในการติด้วย อาจจะเริ่มด้วยการพูดชื่นชมในสิ่งที่ดีของอีกฝ่ายก่อน และตามด้วยสิ่งที่อยากจะให้เขาแก้ไข พร้อมๆ กับบอกเหตุผลหรือจูงใจให้เขาคล้อยตาม และอย่าลืมถามความคิดเห็นของอีกฝ่ายเสมอว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งแสดงถึงการให้เกียรติ และพร้อมที่จะรับฟังเหตุผล ท่าทีที่แสดงออกควรสุภาพ น้ำเสียงนุ่มนวล และพูดกันสองคน อย่าทำให้เขารู้สึกอับอาย เสียหน้า วิธีการนี้จะทำให้คนถูกติ ไม่ต่อต้าน แต่จะรู้สึกขอบคุณและยินดีที่จะทำตาม
       
       แต่ถ้าคุณเป็นคนช่างติพร่ำเพรื่อ เอาแต่พูดถึงความไม่ดีของคนอื่น หรือติไม่เลือกจนเป็นนิสัย ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง เช่น
       
       >> เลือกติเฉพาะสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้ บางอย่างแก้ไขปรับปรุงไม่ได้ เป็นเรื่องสุดวิสัย ก็อย่าไปติ เป็นการสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจเปล่าๆ
       
       >> ลดความสมบูรณ์แบบของตัวเองลง ดูว่าสิ่งนั้นมีผลเสียหายมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มากและไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ก็ควรปล่อยไปบ้าง
       
       >> ฝึกมองในมุมกลับ ลองมองซิว่า คนที่คุณอยากติมีอะไรดีบ้าง หรือจุดดีของงานชิ้นนั้นอยู่ตรงไหน
       
       >> คิดย้อนกลับเข้าหาตัวเองว่า คุณเคยเป็นหรือเคยทำในสิ่งที่คุณกำลังติบ้างหรือเปล่า มองดูตัวเองก่อนที่จะไปมองคนอื่น และถ้าจะให้ดีควรทำเป็นตัวอย่างให้เห็น หรือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนอื่น บางครั้งการบอกด้วยการกระทำก็ดีกว่าและชัดเจนกว่าบอกด้วยคำพูด
       
       และถ้าคุณอยู่ใกล้กับคนชอบติ ก็ควรชี้ให้เขาเห็นมุมมองที่ดีของคนหรือสิ่งที่เขากำลังติ บ่อยๆ เข้าเขาก็อาจจะซึมซับไปได้บ้าง และมีมุมมองที่ดีขึ้น

คนชอบยกตนข่มท่าน
       
       การยกตนข่มผู้อื่นเป็นทางออกของคนที่มีปมด้อย และมีความรู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น จึงพยายามแสดงออกถึงสิ่งที่คิดว่าเป็นจุดเด่นของตัวเอง แต่แสดงออกในเชิงโอ้อวด เพื่อลดความรู้สึกด้อยในใจ และยกความสำคัญของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมักสร้างความรำคาญใจให้คนรอบข้าง เป็นนิสัยที่ทำลายสัมพันธภาพ และอาจก่อให้เกิดศัตรูได้
       
       ไม่มีใครหรอกที่ชอบฟังคำพูดเชิงยกตัวเหนือคนอื่น อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ยิ่งพูดในลักษณะข่มผู้อื่นด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่เป็นมิตรให้เกิดขึ้นได้ง่าย
       
       แต่ถ้าจะแก้ไข ต้องอาศัยคนที่มีอำนาจสูงกว่า หรือคนที่มีบุญคุณและมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า เป็นผู้ตักเตือนด้วยความเมตตาและหวังดี ส่วนคนรอบข้างก็อาจช่วยปรับพฤติกรรมด้วยการไม่สนใจ ไม่แสดงความชื่นชม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเสริมแรงให้นิสัยดังกล่าวคงอยู่ต่อไป
       
       สำหรับคนที่มีนิสัยชอบยกตนข่มท่าน ก็คงต้องพยายามปรับปรุงตัวเองด้วย อาจใช้วิธีเตือนสติ บอกย้ำกับตัวเองว่าคุณรู้อยู่แก่ใจว่าคุณมีดีอะไร ไม่จำเป็นต้องแสดงให้คนอื่นรู้ ให้เขารับรู้ด้วยตัวเองหรือรับรู้จากคนอื่น จะเพิ่มความนิยมชมชอบได้มากกว่า แต่ถ้าไม่มีใครรู้ก็มิใช่เรื่องที่คุณจะต้องไปแคร์ ถ้าคุณแคร์ แสดงว่าคุณให้ความสำคัญกับคนอื่นมาก จนยอมให้คนอื่นมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของคุณ ให้พยายามสร้างความรู้สึกพอใจ เต็มอิ่มและภาคภูมิใจกับสิ่งที่คุณเป็น และสิ่งที่คุณมีอยู่ อย่าดูถูกตัวเอง เพราะคนที่ดูถูกตัวเองก็มักจะคิดว่าคนอื่นจะดูถูกคุณไปด้วย ถ้าคุณปรับความคิดของคุณได้ คุณก็จะปรับพฤติกรรมของคุณได้เช่นเดียวกัน
       
       การปรับพฤติกรรมและพัฒนาบุคลิกภาพ
       
       การพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีให้แก่ตนเองที่สำคัญมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ภายในจิตใจ ได้แก่ การเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง และส่วนที่ปรากฏภายนอก ได้แก่ ทักษะการเข้าสังคม คนที่รู้จักพัฒนาบุคลิกภาพ ย่อมไม่ทำตนเจ็บป่วย ไปเที่ยวติคนอื่น หรือยกตนข่มผู้อื่น
       
       การเสริมสร้างความมั่นใจ...เริ่มจากการที่คุณรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีจุดดี จุดด้อยตรงไหน ยอมรับความสามารถของตนเองว่าบางอย่างตัวเองทำได้ดี บางอย่างก็มีข้อจำกัด ทำได้ไม่ดี การคิดสิ่งต่างๆ โดยยึดหลักของเหตุผลและความเหมาะสมตามกาลเทศะ ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นได้ เพราะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปให้การยอมรับ
       
       นอกจากนี้ ควรฝึกฝนทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวของคุณเอง การพึ่งตัวเองบ่อยๆ ก็ทำให้คุณทำสิ่งต่างๆ ด้วยความมั่นใจมากขึ้น คนที่ทำสิ่งต่างๆ ย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา คำตำหนิติเตียนที่คุณได้รับอาจจะทำให้เสียความมั่นใจไปบ้าง คุณต้องไม่ท้อถอย แต่ต้องพยายามป้องกันแก้ไขไม่ให้ความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดซ้ำอีก จะช่วยสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้น การเสริมสร้างความมั่นใจต้องอาศัยเวลา ต้องการมีความมั่นใจเรื่องใดก็ต้องทำเรื่องนั้นบ่อยๆ ความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นได้
       
       ในส่วนของการพัฒนาทักษะทางสังคมนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้มีโอกาสเข้าสังคมบ่อยๆ เช่น ไปงานพบปะสังสรรค์เลี้ยงรุ่น เป็นต้น ดังนั้นคุณจึงควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ไปงานกับเพื่อนหรือคนรู้จักใกล้ชิดแล้วเรียนรู้โดยการสังเกตดูว่า ในงานนั้นคนทั่วไปเขาแต่งตัวกันอย่างไร เริ่มต้นทำความรู้จักหรือทักทายกันอย่างไร มารยาทสังคมที่จำเป็นมีอะไรบ้าง ท่าทีการวางตัวทำอย่างไร นอกจากนี้ควรสังเกตเรื่องที่พูดเนื้อหาที่พูด เรื่องใดเป็นเรื่องที่คนสนใจ สำหรับคนที่เริ่มเข้าสังคม ทักษะแรกที่คุณสามารถทำได้คือ การฟังด้วยความตั้งใจ และจากประสบการณ์ที่ได้รับ คุณก็สามารถเลือกทำในสิ่งที่จะเหมาะสมกับตัวคุณได้ต่อไป
       
       การพัฒนาบุคลิกภาพทั้งการเสริมสร้างความมั่นใจและการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความสนใจและความตั้งใจที่จะฝึกฝนอย่างจริงจัง

หมายเลขบันทึก: 493022เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบบทความนี้ค่ะ อ่านแล้วมีสองมุม ให้เราปรับปรุงตัวเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท