วิทยากรกระบวนการ ..คุณ FA


คุณ FA..เป็นอะไรมากกว่าที่คิด

คุณ FA..เป็นอะไรมากกว่าที่คิด

“การสร้างสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุขหนทางหนึ่งคือ การสร้างวิทยากรกระบวนการที่มีคุณภาพให้เต็มแผ่นดิน” (ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี)          

โดยส่วนตัวแล้วฉันเองมีความสนใจที่จะเป็นวิทยากรกระบวนการ(Facilitator)มาตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำงานกับชุมชนได้ 2 ปี ได้รับการสั่งสอนมาว่าปัญหาที่มีอยู่ในชุมชนเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน มีหลายสิ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากมาย มุมมองของเราเพียงคนเดียวอาจจะไม่เห็นภาพรวมของปัญหา ไม่เข้าใจและอาจไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องได้ อีกทั้งการแก้ปัญหาของชุมชนจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนเอง เจ้าหน้าที่อย่างฉันจึงต้องปรับวิธีคิด ปรับวิธีการ เพื่อทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาของตนเอง โจทย์ของฉันก็คือทำยังไงให้ชุมชนได้เรียนรู้ ได้รู้จักกับตัวเอง เข้าใจตัวเอง ค้นพบศักยภาพของตัวเอง สามารถที่จะดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาเพื่อจัดการกับปัญหาของตนเอง ทำยังไงให้คนในชุมชนจำนวนมากมายหลากหลายความคิด ความเชื่อได้มาช่วยกันคิด ช่วยกันมองหาช่องทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งช่วยกันทำ และติดตามผลการกระทำ ด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า การกระทำอย่างนี้จะทำให้คนได้ค้นพบความสามารถของตัวเอง มีความภาคภูมิใจในตนเอง ได้แลกเปลี่ยน พูดคุย รับฟังกัน ทำความเข้าใจกัน อยากที่จะช่วยเหลือและร่วมมือกัน เกิดเป็นพลังจากแต่ละคน รวมเป็นพลังของชุมชนร่วมมือกันทำให้สำเร็จได้ โดยได้นำเอาหลักของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมาใช้เป็นแนวในการทำงาน ซึ่งก็เป็นการทำตามความคิดเข้าใจของตัวเองลำพัง  นับเวลาผ่านไป 13 ปี ฉันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากวิทยากรกระบวนการขั้นเทพในจังหวัดของตนเองคือท่านอาจารย์ศักดา เชื้ออินทร์ ซึ่งเป็นการจุดประกายและท้าทายให้ลองฝึกที่จะเป็นวิทยากรกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การติดตามและฝึกเรียนรู้อย่างจริงจังจึงได้เริ่มขึ้น     

เวทีแรกสำหรับการเรียนรู้และฝึกฝนที่จะเป็น คุณ FA มืออาชีพ เริ่มที่เวทีการสัมมนาวิชาการเรื่องสุรากับเยาวชน : สถานการณ์และมาตรการนำไปสู่การจัดการกับปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนในระดับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายๆฝ่าย เพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนเข้าถึงสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนามาจากตัวแทนภาคประชาชน ภาครัฐและผู้ประกอบการร้านค้า สิ่งที่ได้พบเห็นบทบาทของคุณ FA จากวิทยากรกระบวนการที่ดำเนินการสัมมนาในครั้งนี้ ทำให้ตัวเองรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลาที่นั่งสังเกตการณ์ มันเป็นอะไรที่บอกได้คำเดียวว่า “ไม่ใช่หมู” คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ได้ดี มีประสิทธิภาพต้องเป็นคนที่มีบารมีและอาวุโสพอสมควร พูดง่ายๆว่า “ต้องเก๋า” ต้องได้การยอมรับจากกลุ่มคนที่เข้าร่วมกระบวนการเป็นพื้นฐานก่อน ช่วงเสวนา FAได้ปรับให้จัดวางเก้าอี้สำหรับวิทยากรผู้ร่วมเสวนาได้นั่งชั้นล่างของเวที โดยไม่มีโต๊ะกั้น เพื่อทำให้ดูใกล้ชิดและเป็นกันเองกับผู้ฟัง เพราะทางฝ่ายสถานที่ได้จัดเตรียมเก้าอี้ไว้บนเวที มีโต๊ะวางเอกสาร เหมือนจะให้เป็นผู้บรรยายวิชาการอะไรประมาณนั้น พร้อมทั้งบอกว่าให้เป็นการพูดคุยแบบสบายๆเหมือนสภากาแฟ คนพูดก็พูดไป คนฟังก็ฟังไป จิบกาแฟไป เริ่มต้นด้วยการแนะนำพื้นหลังของวิทยากรที่ร่วมเสวนาพอให้รู้คร่าวๆก่อนที่จะโยนไมค์ให้วิทยากรพูดเอง ด้วยการใช้น้ำเสียงที่นุ่ม ชวนฟัง ในจังหวะที่ไม่ช้า ไม่เร็วเกินไปและทุกคำที่พูดออกมาจะไม่มีคำพูดในเชิงลบไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น เช่นในจังหวะที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเก้าอี้นั่ง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีการซักซ้อมความเข้าใจมาแล้วล่วงหน้า ว่าให้วางเก้าอี้ไว้บนพื้นไม่ใช่บนเวที แต่ทีมงานอาจจะเข้าใจไม่ชัดเจนทำให้ไปวางเก้าอี้ไว้บนเวที FA ก็จะชวนพูดคุยอย่างอื่นไปก่อนในขณะที่มีการปรับเปลี่ยนสถานที่อยู่นั้นด้วยคำพูดที่สร้างบรรยากาศในเชิงบวกแสดงความคุ้นเคยกับทุกคนในห้องสัมมนา บวกกับสีหน้าที่ยิ้มแย้ม การแต่งกายที่กึ่งสบายๆไม่เป็นพิธีการขนาดถึงกับใส่สูท ทำให้บรรยากาศในห้องดูเป็นกันเอง ผ่อนคลายแต่ก็ฮึกเหิมพร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้ร่วมกัน

หลังจากการแนะนำตัววิทยากรและส่งมอบเวลาให้เป็นหน้าที่ของวิทยากรที่จะเป็นผู้พูด นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน FA จะเป็นผู้ที่คอยติดตามการพูดของวิทยากร ซักถามเพิ่มเติมในกรณีที่วิทยากรพูดไม่หมด เช่น เมื่อถามประสบการณ์การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่จากตัวแทนที่มาจากตำบลสำเภาลูน อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ได้ใจความว่า ที่ตำบลนี้จะมีร้านค้าสะดวกยิ้ม ซึ่งเกิดมาจากการที่เด็ก เยาวชน ผู้นำหมู่บ้าน อบต. ร้านค้า ตำรวจ หมอจาก รพ.สต.และกลุ่มอื่นๆ มาประชุมทำข้อตกลงกันทุกปีเพื่องดขายเหล้าให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี FA ก็จะใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้คิดและแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเช่น “มีร้านค้าที่ไม่เห็นด้วยมั้ย แล้วเราทำยังไง ลองเล่าวิธีการที่ทำให้ร้านค้าเห็นด้วยกับเราให้ฟังหน่อย ทำกิจกรรมอะไรกับการประชุมทุกๆปี” สังเกตดูว่าลักษณะคำถามจะเป็นปลายเปิด เพื่อให้ผู้ตอบมีอิสระทางความคิดสามารถเลือกตอบได้อย่างเต็มที่โดยไม่ตัดสินว่าผิดถูก แม้ว่าบางคำตอบอาจจะผิดไปจากประเด็นคำถาม FA  ก็จะอดทน รับฟังความคิดเห็น ยืดหยุ่นให้พูดไปได้สักระยะแล้วค่อยๆควบคุม กำกับทิศทางให้กลับมาอยู่ในประเด็นเพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เมื่อวิทยากรได้ทำการแลกเปลี่ยนไปได้ 2-3 คน และมีประเด็นพาดพิงไปถึงคนกลุ่มอื่นที่นั่งฟัง FA จะเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนด้วย เช่นวิทยากรหลายท่านให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการร้านค้าควรจำหน่ายสุราด้วยความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกที่ดี ไม่ขายให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  FA จึงหันมาถามประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดสุรินทร์(ร้านโคคา) ว่า “ ท่านมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร”  หรือในกรณีร้านสะดวกยิ้มหรือรูปแบบสำเภาลูน “ใครคิดว่าจะเอา Model สำเภาลูนไปใช้ในชุมชนได้บ้าง”  ซึ่งเป็นลักษณะคำถามที่ท้าทาย คมชัด และแตะใจให้คนเกี่ยวข้องอยากตอบ คนฟังอยากรู้ อยากติดตามฟัง  

ในการทำหน้าที่ของ FA  จะมีการวิเคราะห์ สรุปความคิดเห็นที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเป็นระยะๆ เช่นในประเด็นการหลีกเลี่ยง ละเมิดที่จะทำตามกฎหมาย FA ได้เสริมข้อคิดและสรุปว่า “ถึงแม้ว่ากฎหมายจะเกี่ยวข้องกับตำรวจก็จริง แต่เราทุกคนควรบังคับใช้กฎหมายนั้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ตำรวจมาบังคับใช้” หรือในหัวข้อการดูแลเยาวชนในสถานศึกษาซึ่งวิทยากรได้แสดงข้อมูลและความคิดเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้สุราในนักเรียน  สาเหตุที่ทำให้นักเรียนใช้สุรามาจากเพื่อนและครอบครัว ผลกระทบของการใช้สุรานำไปสู่การใช้ยาเสพติดประเภทอื่น อุบัติเหตุ มีเพศสัมพันธ์ เอดส์ ทะเลาะวิวาท  FA จึงได้เพิ่มเติมว่า “โรงเรียนอยู่ในชุมชน โรงเรียนจะไม่แปลกแยก แต่จะเชื่อมโยงบ้าน วัดและหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่รอบโรงเรียนให้จับมือกัน คุยกัน ทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน” เมื่อการเสวนาจบลง FA ได้ออกแบบให้มีการเรียนรู้ร่วมกันโดยแบ่งกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมออกเป็นกลุ่มย่อยตามสถานที่ต้นสังกัดให้เป็นภาคประชาชน ภาครัฐ สถานศึกษา เพื่อหามาตรการป้องกันการเข้าถึงสุราของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้มีการจัดเตรียมสถานที่ สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้มีการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร เป็นอิสระ แล้วนำความคิดที่ได้ออกไปนำเสนอต่อกลุ่มใหญ่ในตอนท้าย โดยตัวแทนจากภาคประชาชนและสถานประกอบการร้านอาหารได้เสนอมาตรการร้านค้าไม่จำหน่ายเหล้าในวันพระ สถานศึกษาเสนอให้โรงเรียนปลอดเหล้าในวันพระ และภาครัฐเสนอให้คนในตำบลงดดื่มเหล้าในวันพระ  ซึ่งในช่วงนี้เอง FA ได้ทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการคิดในเชิงลึก เป็นการคิดให้สุดๆไปพร้อมๆกัน และท้าทายว่า “จะเอามั้ยถ้าจังหวัดสุรินทร์ของเราจะมีนโยบายให้ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน งดเหล้าวันพระ ร้านค้างดขายเหล้าวันพระ ปฐมฤกษ์ในวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้” และมีการตอบรับที่ดีจากทุกภาคี

บทบาทของ FA เป็นผู้ที่ดำเนินรายการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ดูจากภายนอกอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ดำเนินรายการให้คนนั้นคนนี้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน และหาข้อสรุปของที่ประชุมเพื่อนำไปปฏิบัติร่วมกัน แต่แท้ที่จริงแล้วในความเป็น FA มีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าที่คิด นอกเหนือไปจากทักษะต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังควรมีคุณลักษณะส่วนตัวที่เป็นคนจริงจัง มุ่งมั่น ใฝ่รู้ มองโลกแง่บวก เป็นตัวอย่างทั้งการกระทำและคำพูด น่าเชื่อถือ น่าเคารพนับถือ เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เห็นคุณค่าของความแตกต่างและความขัดแย้งว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา มีความเป็นกลาง ความเป็นตัวของตัวเอง ความยืดหยุ่น และมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบเวทีการเรียนรู้ให้คนทุกระดับได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ให้คนได้ค้นพบพลังและศักยภาพของตนเอง สามารถดึงเอาพลังที่เขามีนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกับผู้อื่นได้....โอ้..คุณ FA

คำสำคัญ (Tags): #fa
หมายเลขบันทึก: 492652เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท