เหตุใดวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ จึงสู้ ไสยศาสตร์ทางการแพทย์ไม่ได้


         ในฐานะที่ผู้เขียน  เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ เต็มๆ  บอกตรงๆ ว่า ไม่เคยเชื่อไสยศาสตร์  ไม่เคยดูดวง  ไม่เคยผูกดวง  เรื่องที่ทำมีเรื่องเดียว  เกี่ยวกับดวงคือ นวัตกรรมกราฟชีวิตลิขิตเบาหวาน  ซึ่งที่คิดที่ทำนี้ในตอนแรก  ออก แนว บ๊องที่เกิดจากการประชดเล็กๆ  ประมาณ ว่า เชื่อดวงใช่มั๊ย  จัดให้  ซึ่งมันก็ได้ผลนะ  อืมม์ น่าคิด  ....

ก็เลยลองมานั่งวิเคราะห์ดูว่า  เหตุใดวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์  จึงสู้ไสยศาสตร์ทางการแพทย์ไม่ได้สักที  ทั้งๆที่ แนวทางการรักษาในทางการแพทย์ นั้น  เป็นแนวทางที่ ว่าไปตามเหตุตามผล  หรือ fact  คือความจริงนั่นเอง 

      เท่าที่ตัวเองสังเกต การรักษาโรคหลายๆอย่างนั้นเช่น มะเร็ง  โรคเลือด  การผ่าตัดรักษาต่างๆ  แพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ทุกวันมากมาย  แต่ไม่ยักกะมีใครล่ำลือว่า เฮ้ย  รพ.เจ็งว่ะ 

         แต่กลับกันในเรื่องไสยศาสตร์ทางการแพทย์  เพียงแค่รักษาโรคอะไรก็ตามที่ end stage จาก รพ. แล้ว แพทย์ NR (  non resuscitation = ปล่อยแกไปตามยฐากรรมนั่นเอง ) เพียงรายเดียว จากอีกไม่รู้กี่พันรายที่ไม่สำเร็จ  แต่กลายเป็นความมหัศจรรย์  ชนิดคนแห่ ไปรักษาจนไม่มีแม้ที่จะนั่งนอน

        เกิดอะไรขึ้น   การป่วยของเรานั้น  ป่วยกายหรือใจกันแน่ที่หนักหนากว่ากัน  มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า ทุกกายนั้นทรมานนักยากจะทน  แต่ทุกข์ใจแค่เปลี่ยนวิธีคิดก็หายทุกข์แล้ว 

          ผู้เขียนจึงลองวิเคราะห์เล่นๆ ว่า เหตุที่วิทยาศาสตร์ ยังคงแพ้ไสยศาสตร์นั้นอาจเนื่องมาจาก 

          1.วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ทุกเรื่อง  ยกตัวอย่างเช่น  ผู้เขียนเคยเขียนบทความหนึ่งว่า  สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงมั๊ย  วิทยาศาสตร์บอกให้พิสูจน์  แต่ ไสยศาสตร์บอกจะพิสูจน์ทำไม  ในเมื่อมันพิสูจน์ไม่ได้  เช่นมีคนถามว่า ความรักมีจริงมั๊ย   วิทยาศาสตร์ก็ ไม่เถียง ว่า ความรักไม่มีจริง  แล้วท่านลองพิสูจน์ความรักออกมาเป็นวิทยาศาสตร์ซิท่านจะพิสูจน์อย่างไร  วิทยาศาสตร์บอกได้มั๊ยว่า  พ่อแม่ที่ตีลูก  จะรักลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่ไม่ตีลูก  ก็วนไปถึงไสยศาสตร์ เรื่องเวรกรรมมีจริงมั๊ย  คำตอบก็คงเหมือนกับความรักนั่นแหล่ะว่ามีจริงมั๊ย

          2.  ความเชื่อ ความเชื่อ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่ยึดมั่น และยอมรับในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ เช่น เชื่อเรื่องผีหรือเทวดา จิตวิญญาณ การระลึกชาติ เชื่อกฎแห่งกรรม

        ความเชื่อถือเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมจะทำให้บุคคลนั้นกระทำแต่ความดี ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สังคมจะเกิดความสงบสุข  ซึ่งต่อให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์มาคัดค้าน  ก็ไม่สามารถลบความเชื่อออกไปได้ง่ายๆ เช่นกัน

          3.ผู้ให้ความรู้ทางสุขภาพ  ยังไม่สามารถ เอาตัวเองออกมาจากความเชื่อ  เดิมที่มีได้  จึงทำให้กระบวนการให้ความรู้ ไม่บรรลุเป้าหมาย  อีกทั้ง ไม่รู้ลึกในสิ่งที่ต้องให้ความรู้  เมื่อมีการ ถามกลับ  จึงไม่อาจอธิบายเหตุผลที่กระจ่างได้  ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยน แนวความคิดหรือวิธีปฏิบัติได้

          4.  ช่องว่างทางความคิด ที่เป็นไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ของคนไข้ต่อผู้ให้บริการ  เนื่องจาก  ผู้ป่วยยังเห็นแพทย์พยาบาล เป็นคนอื่นที่ ทำได้แค่เพียงโฆษณาชวนเชื่อ  แต่สิ่งที่เราพูดนั้น  เขา ไม่แน่ใจว่านี่คือหวังดีจริงมั๊ย หรือพูดไปตามวิชาการ  แต่ในขณะเดียวกันญาติพี่น้องที่อยู่คลุกคลีกันมา ตั้งแต่เกิด  ถึงจะพาไปผิดทางเขาก็พร้อมที่จะเดินไปด้วยเพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่า เป็นคนอื่นนั่นเอง   

          มีกรณีตัวอย่าง คนไข้ case หนึ่ง เป็น MG ( myasthenia  gravis )  ซึ่งโรคนี้ไสยศาสตร์ช่วยไม่ได้แน่  ผู้ป่วยถูกส่งจาก รพ.ชุมชนไปรักษาที่ รพ.จังหวัด  ไม่รู้ว่า  ไปยังไงมายังไง  หายไปจากระบบการรักษา ผู้เขียนเจอคนไข้อีกที  มาด้วยสภาพย่ำแย่  ถามกลับบอกไปรักษาทางไสยศาสตร์  แต่ผู้เขียนนั้นควบคุมอารมณ์ได้พอควร  จึงถามกลับไปแล้วผู้เขียนก็อึ้ง ว่า 

          “ตอนนี้เราเหมือนคนตาบอด แล้วทำไมเราถึงยอมให้คนคาบอดด้วยกันจูงไป  ถ้าเขาพาตกเหว จะไม่ตายกันหมดหรือ”

          คนไข้ตอบว่า “ใช่ฉันตาบอด  แต่คนที่จูงฉันไปนั้นตาบอดแต่เป็นพ่อกับแม่ที่เลี้ยงฉันด้วยความรักมา 20 กว่าปี  ถ้าจะให้ฉันเลือกฉันก็เลือกไปกับคนตาบอดที่ฉันอยู่ด้วยมา 20 กว่าปี  คนตาดี ฉันเพิ่งเห็นหน้าครั้งแรก  ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่า  จะพาฉันกลับบ้านหรือจะพาไปเป็นขอทาน”

       ผู้เขียนอึ้งแบบพูดอะไรไม่ออก  “ถามกลับว่าแล้ววันนี้ ถ้าคนตาดีคนนี้จะพาทั้งครอบครัวไปด้วยกันจะไปมั๊ย”  ผู้ป่วยบอก"ถามแม่ก่อน"

          เห็นมั๊ยค่ะว่า แม้เราจะแสดงความปรารถนาดี กับคนไข้เพียงใด  แต่ด้วยช่องว่างซึ่งเป็นไสยศาสตร์ของความไว้วางใจ นั้น เองที่ทำให้เขาไม่เลือกเชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นความจริง

        ปัญหาการต่อสู้ทางการแพทย์ ระหว่างวิทยาศาสตร์ กับไสยศาสตร์ ยังไม่จบ  แล้วผู้เขียนจะนำมุมมองของผู้เขียนมาแชร์ให้ทุกท่านช่วยคิดอีก 

        สำหรับเรื่องนี้อยากให้มีข้อเสนอแนะเข้ามามากๆ  เพื่อ ประโยชน์ ในการปรับกระบวนการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องของประชาชน  ต่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในด้านสุขภาพอนามัยของตัวเอง  ที่สุดท้ายแล้วจะทำให้ เมืองไทยเราเข้มแข็งที่เริ่มจากการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของประชาชนเป็นพื้นฐานนั่นเอง 

 

ชลัญธร  ตรียมณีรัตน์

         

หมายเลขบันทึก: 492420เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ชอบบทความแนววิเคราะห์ใคร่ครวญแบบนี้จังค่ะ

แม้เราจะแสดงความปรารถนาดี กับคนไข้เพียงใด แต่ด้วยช่องว่างซึ่งเป็นไสยศาสตร์ของ "ความไว้วางใจ" นั้นเอง ที่ทำให้เขาไม่เลือกเชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นความจริง"ความไว้วางใจ"

ชวนให้คิดต่อว่า ทำไมคนเราถึงไว้วางใจ (trust) พร้อมจะเชื่อโดยไม่ลังเลสงสัย เหมือนเราไว้วางใจพ่อแม่ เพราะคำว่า "พ่อแม่" แปลว่าจะไม่มีวันทำร้ายเรา แต่คำนี้ สำหรับวิชาชีพสุขภาพ ดูจะสั่นคลอนไปมากแล้ว..

ความเชื่อทางไสยฯ เกิดมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจของคนที่เชื่อ

;)...

  • ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือเยียวยารักษาจิตใจสำหรับผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่เราทีเดียวเลยค่ะ สิ่งที่เราอาจจะทำได้ คงเพียงแนะนำว่าถึงอย่างไร ถ้าสองวิธีไม่ขัดกัน ตามแนววิทยาศาสตร์ ก็ไม่ควรทิ้ง สองวิธีเสริมกัน อาจจะสร้างความมั่นใจในการรักษาแค่คนไข้ที่มีความเชื่อเช่นนี้ก็ได้ค่ะ พูดจากประสบการณ์น่ะค่ะ คุณพ่อก็เคยได้รับการรักษาทางไสยศาสตร์มาก่อน แต่ก็ได้แนะนำให้รักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ด้วย ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้อง 
  • สิ่งที่ฝังรากลึกในความเชื่อมาอย่างยาวนาน เปลี่ยนยากเหลือเกินนะคะ เห็นใจคุณหมอ พยาบาลทุกท่านค่ะ 

เราคิดว่าเรา "ปรารถนาดี" ในมองมุมของเรา.. แต่มุมมองของผู้ป่วย มันขึ้นอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง-ครอบครัว-สิ่งแวดล้อม-สังคมของเค้าด้วย.. เราเสนอได้แต่การตัดสินใจก็แล้วแต่ผู้ป่วยจะเลือก.. น้องชลัญทำดีที่สุดแล้วค่ะ

 

  • ก็ไม่น่าสู้นะคะ  เป็นเพื่อนร่วมทางกันไป
  • ค้นหาไสยศาสตร์ที่เอื้อกันและกัน  ช่วยให้ใจเข้มแข็ง (mind)  ร่างกายแข็งแรง (body)  ครอบครัว  สังคมเกื้อกูล (social support).....อบอุ่น  สุขสบายดี
  • อย่าถึงขนาดให้บุคลากรทางการแพทย์ตัดขาดจากความเชื่อ  สังคมเดิม (ก่อนมาเป็นหมอ) เลยนะคะ  บางสิ่งดั้งเดิมดีงาม  ก็ยังอยู่ในใจ
  • เพียงจะขยายสิ่งดีให้งอกงาม  ลดสิ่งที่ส่งผลร้ายมากกว่า...อันนี้เหมาะกับนักวิจัยอย่างคุณชลัญมากนะคะ...แฮ่ม

ไม่รู้สินะ ถ้าถามให้ตอบแบบจริงใจตรงไปตรงมา แบบที่ไม่รักษาภาพลักษณ์หรือความรู้ใดใดที่ร่ำเรียนมา ก็ขอสารภาพไปตามตรงว่า สำหรับตนเองแล้ว มีความเชื่อว่าไสยศาสตร์ คือศาสตร์ที่ยังหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ มาอธิบายหรือให้คำตอบไม่ได้

อาจจะเป็นเพราะตนเอง เจอเรื่องหลายๆเรื่องมากับตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้คำอธิบาย แต่รู้แค่เพียงว่า "มันเกิดขึ้นหรือว่ามันมีจริงๆ" ดังนั้นจึงเชื่อว่า "ไสยศาสตร์มีจริง" แต่ก็จะไม่ได้ยึดหรืองมงายกับสิ่งที่เป็นไสยศาสตร์ ในทางปฏิบัติจะยึดหลักทางวิทยาศาสตร์ หรือแนวทางที่มีเหตุผลมีคำอธิบายมาปฏิบัติ ยกเว้นในบางเรื่องที่มันไม่มีหลักทางวิทศาสตร์ที่จะยึดก็จะเอาไสยศาสตร์เข้ามาช่วย (บ้าง)

อาจจะเป็นเพราะตนเองมีความเชื่อว่าพลังลึกลับมีจริง และเชื่อว่าจิตของคนเรามีพลังเร้นลับมากมายซ่อนอยู่ นอกจากนั้นยังเชื่อว่าจิตยังส่งผลถึงกาย ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับต่อภาวะสุขภาพ ดังนั้นจึงมีหลายครั้ง ที่มักเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่มีคนมาบอกว่า ยาวัดนั้นดี ยาผีบอก ถ้าให้เอามาใช้กับตัวเอง ก็คงไม่เอา เพราะตัวยาคือสิ่งที่จับต้องได้ เอามาพิสูจน์ได้ ว่าจะประกอบด้วยสารอะไรบ้าง รักษาโรคได้จริงไหม หรือแม้แต่คนใกล้ชิด คนในครอบครัว จะเอามากิน ก็จะแย้งติง เพราะมันมีตัวอย่าง เกี่ยวกับสมุนไพรบางตัวที่อยู่ในตัวยาหม้อเหล่านั้น ที่อาจจะมีผลเสียต่อร่างกาย เช่นพวกสเตียรอยด์ต่างๆ

แต่ถ้าเป็นพวกน้ำมนต์ ผ้ายันต์ ที่เอามาใช้ช่วยปกป้องหรือทำให้หายไวๆ อันนี้ยอมรับ เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว น้ำมนต์ก็คงเป็นน้ำเปล่าๆ ผ้ายันต์ก็เป็นแค่ผ้า ไม่ได้มีสารอะไรที่ให้โทษต่างร่างกาย แต่สามารถให้ผลต่อจิตใจ ทีส่งเสริมพลังเร้นลับให้มันขับออกมาต่อสู้กับโรคหรืออาการเจ็บป่วยได้

แม้กระทั่ง..เวลาที่ดูแลคนไข้ บ่อยครั้งก็จะดึงพลังทางไสยศาสตร์มาใช้ โดยประเมินความเชื่อและศรัทธาของคนไข้ก่อน จากนั้นดึงเข้ามาประสมประสานกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกับคนไข้ที่มีความกลัว คนที่กำลังเผชิญความเจ็บปวด หรือแม้กระทั่งความตาย ยกตัวอย่างเช่น คนไข้กำลังจะไปผ่าตัด มีความกลัวต่อการผ่าตัด ให้กินแวเลี่ยม หรือบรรยายสรรพคุณความสามารถของหมอผ่าตัดหรือการดุแลในห้องผ่าตัดว่าดีแค่ไหน ความกลัวก็คงลดลงไปไม่หมดหรอก แต่สังเกตพอบอกว่า 'ท่าน'องค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ มีคนไข้หลายคนไปขอพรบนบานให้ท่านช่วยคุ้มครอง มีคนหายหลายคนแล้วไปแก้บนท่าน พบว่าความรู้สึกของคนไข้จะมั่นคงขึ้นมาก

อีกตัวอย่างหนึ่ง(แต่หลายเคสแล้ว) อย่างเช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องรับการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ คนไข้จะมีความรู้สึกที่แย่มากๆ ทั้งรู้สึกผิดทั้งกลัว และทั้งหมดก็นำไปสู่ความเจ็บปวดหลังการเหน็บยาเร่งคลอด ได้ลองใช้วิธีที่ให้คนไข้ใช้วิธีการอธิษฐานภาวนา การขออโหสิกรรม ดึงเอาการเกิดใหม่มาปลอบโยน และพิธีกรรมทางศาสนา การทำบุญอุทิศส่วนกุศล มีอยู่เคสนึง จากที่เคยร้องทุรนทุราย ก็มีอาการสงบลงกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ

บางทีไสยศาสตร์อาจจะมีพลังบางอย่างที่ทำให้จิตใจของคนป่วยซึ่งไม่มั่นคง กลับมาเข้มแข็งขึ้น ไสยศาสตร์คงต้องแยกออกจากบางเรื่องที่เป็นเรื่องหลอกลวง แต่จะว่าไปถ้ามันพิสูจน์ได้ว่าหลอกลวง มันก็คงไม่ใช่ไสยศาสตร์แล้วสินะ ทั้งนี้เพราะไสยศาสตร์คือเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ไม่ใช่หรือ

เอ่อ..พิมพ์มาเสียยาว บรรทัดนี้จึงสรุปสั้นๆว่า ตนเองแม้จะเชื่อว่าไสยศาสตร์มีจริงแต่พิสูจน์หาเหตุผลไม่ได้ แต่ก็จะไม่งมงายกับสิ่งที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้และใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เหมือนกัน ^__^

As a simile water and oil mixed into cream. That is how science and 'magic' mixed in our life and our community.

We can take a 'witch hunt' (they are different - burn them) or a 'Galileo way' (if it is true - there is a way to prove it over and over) or a middle way (let us learn the truth together). We are not always a witch, always a Galileo but one at one time and another at another time. As someone once said "at extraordinary time, we can do extraordinary thing".

Our aim to make lives (including our own life) in community better to live. We don't know everything yet. We are learning and there are more of what we don't know to learn. In any community we have: In the Sciences basket, we have tools built from what we have learned and tested. In the magic basket, we have people's beliefs, illusions, unexplained phenonema and other psychological gadgets built on imagination and superstition. We can try to beat the other side to submission or extinction. But what would be the costs of winning or losing? We can try (like religions have done) converting. But we may end up with the same 2 sides with people moving from one side to another side depending on their experience. Again (like religions have done), we can work out a culture that allows blending that lets people 'participate' in either side without having to 'commit' to one side only. This way is as we can agree, a way to 'walk together', live together and grow old together (like children do, before they become trapped in one side!).

In sum, this long and winding talk says: the goal is better community; wars among us because of our beliefs are not the way; but a cultural platform that all can participate in their own custom seems a better community.

ไสยศาสตร์ ก็เหมือนหวย ซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาตราบนานเท่านาน ตั้งแต่ แม่น้ำเกิดและคิดว่าจนถึงตาย ก็คงไม่หมดจากคนไทยไปได้เป็นอย่างแน่แท้ คิดว่ารอบข้างใครๆ (ที่ไม่เชื่อแต่ไม่ลบหลู่) มีคนเชื่อไสยศาสตร์ที่คุณรู้จักอย่างน้อย 5 คน ....เปลี่ยนชื่อ-สกุล หวย ดูดวง หาฤกษ์ยาม บนบานศาลกล่าว น้ำมนต์ คนทรง หรืออื่นๆ อย่างเช่นที่หมู่บ้านที่แม่น้ำอาศัยอยู่เกือบ 300 หลังคาเรือน มีคนทรง 6 เจ้า ทุกวันที่ 1 และ 16 จะมีตัวแทนขายหวย(ที่ไปส่งเจ้าใหญ่อีกที ) ที่นับได้เกือบ 10 มีพระใบ้หวย 1 มีหมอน้ำมนต์อยู่หมู่บ้านใกล้เคียง 4 หมอดูฤกษ์-ยาม 2 แค่นี้ก็กินไป 90 % ของหมู่บ้านแล้วจ๊ะ

ไสยศาสตร์ แซง วิทยาศาสตร์มีให้เห้นทุกวัน ยกมือไว้ลูกวัวสองหัว ปลีกล้วยออกข้าง ๆ ลำต้น กราบไหว้คนทรง จนมาถึงการรักษา ความป่วยไข้ ที่ต้องใช้ไสยศาสตร์ ลึก ๆ ส่วนหนึ่ง ก็มาจากการสอน วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ตั้งแต่ประถม มัธยม ที่ยังต้องทำอะไร กันอีกมากมาย ที่จะให้ผู้คนมีจิตวิทยาศาสตร์ อย่างแม่ของไจ่ไจ๋ ปู่ชัด ก็พยายามด้วย นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งครับ กทน.ชลัญธร http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487394

ÄÄÄ...หาก..ไสยศาตร์และวิทยาศาตร์.เปรียบเหมือน..เส้นทางขนาน.....ทางสายกลาง...ก็น่าจะเป็นทางเลือก..ที่ไม่ต้องการบทพิสูจน์..ก็ว่าได้...บางที.ผลลัพท์..จึงออกมาอย่างที่เห็นๆ..(เมื่อแพทย์..วินิฉัย..ว่า..คุณจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน)"จะต้องตาย แหงๆ"..ซึ่ง"อาจผิด"แต่ก็บอกไปแล้ว..ว่าอย่างนั้น..(ตามความเชื่อของตน)...คนไข้..ไม่เชื่อ..และยังมีพลังพอ..ที่จะไม่เชื่อหมอ..จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม...เขามีชีวิตอยู่รอด..แถม..เป็นปรกติ..(ด้วยซ้ำ..เหตุ..เพียงไม่ได้..เชื่ออย่างหมอ..บอก..อิอิ)....(ยายธี)

พี่โอ๋เห็นด้วยกับน้องจูน Blank มากๆค่ะ คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัจเจกนะคะ เราไปตัดสินความคิดความเชื่อคนอื่นไม่ได้ เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังของแต่ละคนแต่ละประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่การผสมผสานโดยไม่ต้องหักล้างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์จะดีที่สุด หมอหรือพยาบาลเก่งแค่ไหน ถ้าคนไข้ไม่เชื่อก็แทบจะไม่มีความหมายเลย ในขณะที่บางครั้งบางอาการแทบไม่ต้องรักษาอะไร แค่หมอหรือพยาบาลคุยด้วย จับจุดถูก เผลอๆคนไข้หายสนิทไปเลยก็มี เราทุกคนเคยเห็นกันมาแล้ว คิดว่าถ้าเราเป็นคนดูแลคนอื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้ประโยชน์จากความเชื่อของคนไข้มาสร้างความมั่นใจน่าจะดีที่สุดนะคะ น้องชลัญธรช่างคิดจริงๆค่ะ เปิดประเด็นได้น่าสนใจมาก

กลับมาอีกที....... เรื่องไสยศาสตร์ / วิทยาศาสตร์ กับ ผม

ตอนเรียน ป.4 เดินกลับบ้าน ผ่านร้านขายกาแฟของครูปาน ที่ลูกของท่านก็อยู่ ป.4 ด้วยกัน มาถึงหน้าบ้าน มีผูใหญ่บอกให้ไป ดูครูปานอยู่ที่ครัวหลังบ้าน ยกเสาสูง แกกำลังใช้เสียมขุดอะไรก็ไม่รู้ อยู่ใต้เสาด้วยอาการเหมือนคนทรงเจ้า ตัวสั่น ครางไปด้วย พร้อมๆ กับใช้เสียมขุด แล้วค่อย ๆ ดึง ลังไม้ออกมา แกออกมาพวกเด็ก ๆ วิ่งตามไปดุที่หน้าบ้าน แกเอาไปวางที่หน้าพระหมอ ที่ชื่อว่าหมอเริ่ม หมอเริ่มบอกว่า หยุดได้แล้ว แกค่อยๆ หยุดพร้อมกับรับบุหรี่ไปสูบ เหตุการณ์นั้นจำติดตาจนถึงวันนี้

ความว่าแกทะเลา กับเพื่อนบ้าน แล้วถูกของทางไสยศาสตร์ แกเสียสติอยู่นาน จึงจะหาย

นี่คือไสยศาสตร์ที่เห้นกับตา และจำไม่รู้ลืม

555 แม้จะเห็นจริงมากับตา ผมก็จะไม่เชื่อไสยศาสตร์โดยเด็ดขาด มีคนสนิทที่เชื่อทางไสยศาสตร์ ก็ดีใจที่ทำให้ท่านสบาย แต่ที่ที่ร้าย ก็คือท่านจะให้เราเชื่อด้วย 555 แนะให้ทำนั่น ทำนี่ ล้วนแต่น่าปวดหัว จึงเลิกโดยเด็ดขาด ตายเป็นตาย ยังไง ๆ คิดว่า เชื่อความคิดของตัวเองดีที่สุด เมื่อไร ไปเชื่อเขา เราก็ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดเมื่อไรชีวิตเรา ให้เขากำหนดได้ไง

  • โอ้โห ....ความเห็นล้นหลาม
  • ขอบคุณหมอ ป.Blank
  • เดี๋ยวจะมาเล่าต่อว่า ไสยศาสตร์ทางการแพทย์ มันทำให้ สุขภาพดีถ้วนหน้าของคนไทย  กลายเป็นเพียง อุดมการณ์ไปซะแล้วค่ะ

ขอข้ามท่านอื่นก่อนอยากเล่าปู่่ชัด หน่อย

สมัยชลัญยังรับผิดชอบหมู่บ้านอยู่นั้น ออกหมู่บ้านตอนเย็นไปบ้านผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่ง ขณะกำลังคุยกิจกรรมรณรงค์กันอยู่นั้น ก็มีชาวบ้านมาเรียกผู้ใหญ่ ให้ไปไล่ผี เข้า ชาวบ้านผู้หญิงชื่อเรียม

" ผู้ใหญ่ ผีเข้า อีเรียมไปไล่ให้หน่อย"

ชลัญถึงกับสงสัย หา!  ผู้ใหญ่ไล่ผีเป็นเหรอ  ผู้สบาย ถ้าเข้าผู้หญิงต้องผมเท่านั้น  แกขี้โม้สมทบ

    " แล้วผู้ใหญ่ไล่ยังไง"  ชลัญถาม

    "ผมเอากะไดไปล่อ"  ผู้ใหญ่บอก

   " เอากะไดไปล่อยังไง ?  ทำไมผีออก " ชลัญงง

ผู้ช่วยฯ อสม.พากันหัวเราะกิ๊กกั๊ก  ชลัญยิ่งงงใหญ่  จน ประธาน อสม. บอก หมอ ต้องผวน " เอากะไดไปล่อ "  "เอากะ....ไปไล่"

เท่านั้นแหล่ะ ชลัญ ฮา....ก๊าก ๆ  อ๋อ ! รู้ล่ะ  ผีกลัวกะได

นี่ไงปู่ชัด  วิทยาศาสตร์  ชนะไสยศาสตร์

ฮา................................ 

 

 

 

hahahahahaha

กทน.ชลัญธร จะขอเอาเรื่องวิทยาศาสตร์นี้ไปเขียนต่อ กรณี น่าซ่า ที่กำลังเป็นข่าว นะครับ ไม่รู้ว่าใครนำวิธีการของผู้ใหญ่ฯ ไปใช้ 5555

...แวะมา..๕๕๕...เรื่องไสยศาตร์..อิอิ..อ่านเรื่องกะไดกับ ผี..นึก.."สงสาร"..ย้อนหลัง..บังเอิญไปได้เห็น..เขาไล่ผีที่เข้าผู้หญิงสาวคนหนึ่ง..ที่เกาะเสม็ด..ตอนนั้นยังไม่มี..ฝูง(ผี)นักท่องเที่ยว..ไปสิงสู่...(ผู้ใหญ่..มาไล่..เพราะเราไปนั่งอยู่ตรงกระได..เขาบอกว่า..นั่งไม่ได้ตรงนี้..มันเป็นทางผีออก..อ้ะะๆ....เพิ่งรู้ว่า..กะได..กับผี...มันเกี่ยวข้อง..ซับซ้อนดี.จริงๆ...(เด็กสาวที่ผีเข้า..เพราะผัว..เป็นตังเก..ออกทะเล..แล้วไม่ยอมกลับ..อ้ะะ.....)....ตรงนี้..ขอ..ให้..คุณหมอ..ช่วยวิจัย..ต่อหน่อย..เจ้าค่ะ..(ยายธี)

พื้นฐานวิธีคิดของมนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการฝึก มักทำตามใจ ตามจิตใต้สำนึก ทำตามสัญชาติญาน ภายในสมองเราเอง ถ้าเรายังไม่ตระหนักรู้ หรือมีสติกำหนดรู้ภายในตัวเรา แถมยังไปเจอสิ่งเร้าภายนอก ประเพณี ความเชื่อ ระเบียบ ต่างๆจากภายนอกอีกทำให้เราทำตามโดยที่เรายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ทำเพียงเพราะไม่อยากดูแตกต่าง ทำให้มนุษย์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เค้าก็จะออกจากความทุกข์ไม่ได้ มาดูสิ่งต่างๆในจิตใต้สำนึก ๕ อย่างที่ทำให้มนุษย์ต้องตาย (Five Hazzard Attitute) ที่นักบินทุกคนจะต้องถูกฝึกไม่ให้ทำตามใจกันครับ 1.Anti Authority ความรู้สึกต่อต้านกฎเกณฑ์ อยากทำตัวสบายๆไม่อยากให้ใครมาบังคับ อยากปล่อยผมยาว มีรูอยู่ข้างฝา เขียนว่าอย่าแอบดู อีกข้างเปนห้องชาร์ตไฟมีไอน้ำกรดแบตเตอรรี่ฟุ้ง ตาก็อักเสบได้ เชื่อเถอะว่าอยากดูทุกคน 2.Macho คิดว่าเราแข็งแรง ไม่มีทางอ่อนแอ แต่เมื่อเจอสิ่งๆต่างๆ เราก็รู้ว่ามีคนแข็งแรงกว่าเราเยอะ มีบางสิ่งทำให้เราอ่อนแอได้เสมอ 3.Innuvabilities เชื่อว่าสิ่งไม่ดีจะไม่เกิดกับเรา ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ทำให้ไม่เข้มงวดในการป้องกันในระดับที่พอเพียง ประเมินสถาณการณ์ต่ำกว่าความเปนจริง กำหนดแผนเตรียมพร้อมระดับต่ำเกินไป 4.ความหุนหันพลันแล่น กระทำตามความคิดแรก ขาดสติ อารมณ์ชั่ววูบ ต้องฝึกสติ นับเลข ให้ใจเย็นลง 5.ทำตามความเคยชิน คิดว่าทำเหมือนเดิมที่เคยทำ เดี๋ยวก็เสร็จ การปฏิบัติอย่างเดิม ในบริบทรอบข้างไม่เหมือนเดิม ควบคุมสิ่งแวดล้อมไม่ได้เหมือนเดิม ย่อมมีความแตกต่างในการกระทำไม่เหมือนกัน ต้องเปนนักบริหารการเปลี่ยนแปลง ต้องรับรู้การเปลี่ยนบริบทให้เร็ว ลงมือแก้ไว แก้แล้วดูแนวโน้มของผลลัพธ์ นำมาจัดการความเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ณ เวลานั้นๆ ผมว่าข้อ 1,3,5 อาจทำให้เขาผู้นั้นหรือทั้งครอบครัว พลาดสิ่งต่างๆที่ดีดีในชีวิตไปครับ

เอ! ผู้เขียน เขียนไว้ 4 ข้อ แล้วข้อ 5 มียอยู่ตรงไหนหว่า ........หรือ ไสยศาสตร์มีจริง ......กึ๋ยยยยยยย์ ...กลัวแล้วง่ะ...อยู่คนเดียวด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท