เรียนวิชาปรัชญาอย่างไร ? จึงจะไม่บ้าและโง่


เรียนวิชาปรัชญาอย่างไร ? จึงจะไม่บ้าและโง่

เรียนวิชาปรัชญาอย่างไร ?  จึงจะไม่บ้าและโง่

 

หลายท่านคงจำชีวิตตอนเป็นนักศึกษากันได้ มักจะมีการกล่าวขานกันว่า   “...ถ้าใครเรียนปรัชญารู้เรื่อง  ถ้าไม่โง่ ก็ใกล้บ้า...”  หรือไม่ก็ “...ถ้าใครเรียนวิชาปรัชญาได้ A   มักเพี้ยนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง...”  แล้วพวกเราจะเรียนวิชาปรัชญาไปทำไม   เรียนไปถ้าไม่โง่ก็ต้องบ้าแน่ๆ

ผู้ที่เริ่มศึกษาวิชาปรัชญาครั้งแรก ส่วนมากจะมึนงงจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เป็นวิชาอย่างไรกันแน่  เพราะดูเหมือนคนทั่วไปมักพูดถึงปรัชญาในแง่ต่าง ๆ  เช่น ปรัชญาชีวิต  ปรัชญาการเมือง ปรัชญาการบริหาร  ปรัชญาการศึกษา  ฯลฯ  จึงทำให้วิชาปรัชญาดูจะเป็นวิชาที่สูงส่ง  เพราะอะไร ๆ ถ้าไม่มีปรัชญานำหน้า  จะดูเป็นของธรรมดาสามัญ  ไม่ลึกซึ้ง หรือไม่มีคุณค่าน่าศึกษาแต่อย่างใด

แต่เมื่อเริ่มเรียนกับอาจารย์ผู้สอน หรือศึกษาไปเรื่อยๆ  ดูเหมือนว่าปรัชญามีแต่การถกเถียง มีความคิดเห็นมากมายเหลือเกินในแต่ละคำถาม  และที่เถียงกันก็ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบหรือไม่   เพราะตอบไปอย่างหนึ่ง  คนอื่นๆ ก็หาทางโต้แย้งคำตอบเราได้อีก   ซึ่งบางครั้งก็ดูน่าทึ่งที่มีคนสามารถคิดต่างมุม  แปลกใหม่ไปได้แบบคิดไม่ถึง  หรือแบบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็ยังเป็นไปได้

ต่อมาเมื่อผมได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยนเรศวรให้สอนวิชาปรัชญาในระดับปริญญาโท  เพื่อไม่ให้นักศึกษาที่ผมสอนต้องเป็นคนโง่  หรือเป็นบ้า  หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง   ผมจึงได้ศึกษา  ค้นคว้า  ทบทวนการสอนของอาจารย์ปรัชญาที่ผมเคยเรียน  และได้สอบถามเพื่อนๆบ้าง   คนรู้จักที่เคยเรียนปรัชญาทั้งในระดับปริญญาตรี  และปริญญาโท   แล้ววิเคราะห์หาสาเหตุที่คนส่วนมากมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชาปรัชญา   เพื่อหาแนวทางในการสอนปรัชญาให้ได้ประโยชน์กับนักศึกษามากที่สุด    

ซึ่งผมได้สรุปผลการวิเคราะห์สาเหตุไว้  4  ประการ  ดังนี้ 

     1. การสอนปรัชญาของอาจารย์ส่วนมาก   มักเป็นการสอนในลักษณะเชิงประวัติศาสตร์  เช่น  สอนให้รู้จักประวัติอริสโตเติล แนวคิดของอริสโตเติล  ฯลฯ  เวลาออกข้อสอบก็มักถามว่า  อริสโตเติลเป็นใคร  เกิดที่ไหน  มีแนวคิดอย่างไร  หรือไม่ก็ยกแนวคิดหรือคำพูดบทหนึ่งวรรคหนึ่งมาถามว่า  เป็นคำกล่าวหรือแนวคิดของใคร เป็นต้น นักศึกษามีหน้าที่ท่องจำประวัตินักปรัชญาเพื่อไปตอบข้อสอบให้ได้เท่านั้น

     2. นานๆทีก็จะมีอาจารย์ที่สอนในลักษณะปุจฉาวิสัชนา (อุปนัย-นิรนัย)   คือ อาจารย์เป็นผู้ตั้งคำถาม  แล้วให้นักศึกษาช่วยกันหาคำตอบ   แล้วอาจารย์หรือนักศึกษาคนอื่นๆก็จะช่วยกันโต้แย้งคำตอบ  จนไม่สามารถสรุปได้ว่าคำตอบใดดีที่สุด  เพราะไม่ว่าวิชาใดล้วนมีคำตอบที่แน่นอน    แต่วิชาปรัชญาไม่มีคำตอบที่แน่นอนสักที   และสิ่งที่ถกเถียงกันก็กว้างขวางหาข้อยุติยากมาก   แต่เนื่องจากการเรียนมีเวลาจำกัด  บางทีอาจารย์ผู้สอนก็ลืมสรุปว่าที่ทำอย่างนี้เพื่ออะไร  เพราะมัวแต่เสียเวลาในการถกเถียงหาคำตอบที่ดีที่สุด  มีเหตุผลที่สุด  หรือ เป็นคำตอบที่แน่นอนตายตัว

     3.  อาจารย์บางท่านก็สอนในชั่วโมงไปเรื่อยๆ  ด้วยการเล่าประวัตินักปรัชญาคนนั้นบ้าง  หรือเล่าเรื่องนั้นบ้าง  เรื่องนี้บ้างที่เกี่ยวกับเนื้อหาปรัชญา   แล้วให้งานนักศึกษาไปค้นคว้าประวัติและนักคิดปรัชญาสมัยต่างๆ ทำเป็นรายงานมาส่ง   ซึ่งก็ดูดี เพราะจะได้ทำให้นักศึกษารู้จักใฝ่รู้ค้นคว้าอย่างกว้างขวางมากขึ้น  แต่อาจารย์ส่วนมากท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างพอที่จะอ่านในสิ่งที่นักศึกษาทำรายงานมาส่งอย่างละเอียด  ได้แต่เซ็นชื่อรับทราบว่าส่งแล้ว (แต่เขียนว่าตรวจแล้ว)  จึงทำให้นักศึกษาส่วนมากรู้ทางไม่ไปศึกษาค้นคว้าจริงๆ  แต่ใช้วิธีคัดลอกจากเพื่อนๆบ้าง  แค่เปลี่ยนไฟล์  เปลี่ยนฟ้อนต์นิดหน่อย   หรือคัดลอกเนื้อหาปรัชญาจากเว็บไซด์ต่างๆมาทำเป็นรูปเล่มส่งเท่านั้น     

     4.  อาจารย์บางท่านก็เน้นถึงความสูงส่งของวิชาปรัชญาว่า หมายถึง แนวทางหรือหลักในการดำเนินชีวิต  เช่น ปรัชญาเต๋า  ปรัชญาเซ็น  ฯลฯ ซึ่งสามารถนำความรู้ในสาขาวิชานี้ไปมีส่วนในการช่วยพัฒนาสร้างสรรค์สังคม  สร้างสรรค์รากฐานของความคิดและจิตใจ   และเพื่อศึกษาว่าคนในปัจจุบัน  โดยเฉพาะคนในสังคมที่เขาร่วมอยู่นั้น ถูกกำหนดโดยหลักคิด หลักชี้นำการปฏิบัติด้วยปรัชญาระบบใดอยู่     

เมื่อผมพอจะทราบสภาพปัญหาในการเรียนวิชาปรัชญาบ้างแล้ว   ผมจึงทำแบบสอบถามความคิดเห็นสภาพปัญหาของนักศึกษาที่มีต่อการเรียนวิชาปรัชญา  ซึ่งผลสำรวจก็ตรงกับที่ผมวิเคราะห์และจัดลำดับไว้แล้ว    ผมจึงได้ลองนั่งคิดต่อไปว่าแล้วผมควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรดีจึงจะได้ผล   ครั้งแรกผมได้ลองรวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาการด้านนี้  โดยการตั้งคำถามนำทางความคิดว่า 

    1.  ปรัชญา คือ อะไร  

    2.  ปรัชญามีประโยชน์อย่างไรกับผู้ศึกษา 

    3.  ถ้าไม่มีปรัชญาหรือไม่เรียนปรัชญาจะเสียหายอย่างไร

เมื่อรวบรวมคำอธิบายของนักวิชาการด้านปรัชญาที่มีมากมาย  ทั้งจากทางวิเคราะห์คำศัพท์  หรือตำราของนักปรัชญาเก่าๆ ผมยิ่งกลับมึนไปใหญ่ ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี แต่ผมได้จำแนกความหมายของปรัชญาไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้

     1. ปรัชญา  หมายถึง  แนวทางหรือหลักในการดำเนินชีวิต

     2. ปรัชญา  หมายถึง  การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลเพื่อสร้างความชัดเจนแก่สิ่งที่ยังคลุมเครือ  หรือ กระบวนการในการคิด  วิเคราะห์  วิจารณ์  สังเคราะห์  ตรวจสอบทุกสิ่งและประเมินอย่างมีระบบ  มีเหตุผล

     3. ปรัชญา หมายถึง ความเชื่อ หรือแนวความคิดของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในยุคหนึ่งๆ ซึ่งมนุษย์กลุ่มนั้นๆรับเชื่อและสร้างวัฒนธรรม (วัตถุวัฒนธรรม และจิตวัฒนธรรม) ตามความเชื่อนั้นๆขึ้นมาใช้เป็นวิถีดำเนินชีวิตร่วมกัน ของกลุ่มคนในสังคมแห่งตน ตามภาวะแวดล้อมนั้นๆ และก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย 

     4. ปรัชญา หมายถึง ความรักในการแสวงหาความรู้ มีจุดมุ่งหมายแสวงหาคำตอบหรือความจริง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่สงสัย 

ผมยังได้คำตอบที่ไม่แน่ใจนัก   ลองเอาไปถามนักศึกษาก็ยังแตกต่างทางความคิดเหมือนกับ 4 กลุ่มข้างต้น   ผมจึงลองเปลี่ยนคำถามใหม่  โดยตั้งคำถามใหม่ว่า  “ตัววิชาปรัชญานี้  ใครเป็นผู้กำหนดว่าหมายถึงอะไร  ทำไมกำหนดให้มีความหมายอย่างนั้น   มีจุดประสงค์หลักในการเรียนครั้งแรกอย่างไร  และนำมาให้นักศึกษาไทยเรียนที่ไหน  เมื่อไหร่...”    เมื่อผมได้คำตอบแล้วผมจึงถึง "บางอ้อ" ว่า  วิชาปรัชญาที่ใช้สอนกันต่อมาๆ ในยุโรปหรือสหรัฐนั้น  มักเน้นไปที่ "การคิด"   จึงทำให้ผมสรุปเองว่า...วิชาปรัชญา  คือ วิชาว่าด้วยการคิดในเรื่องสงสัยหรือสิ่งต่างๆ อย่างมีระบบ   โดยใช้เหตุผลและความเป็นไปได้พิสูจน์  แต่...วิชาปรัชญาไม่สามารถช่วยหาคำตอบที่แท้จริง  หรือคำตอบที่ชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งได้   การที่จะได้คำตอบที่ชัดเจนจากวิชาปรัชญาจึงเป็นไปไม่ได้   เพราะปรัชญาแสวงหาคำตอบจากการคิดเท่านั้น 

เมื่อผมคิดว่า...ผมหาคำตอบเกี่ยวกับการสอนวิชาปรัชญาได้แล้วว่า “ ปรัชญาเป็นวิชาว่าด้วยการคิด”   ตัวปรัชญาก็คือผลของการคิด    นักปรัชญาก็คือนักคิด    แต่นักปรัชญาต่างกับนักคิดโดยทั่วไป หรือนักฝัน  ตรงที่นักปรัชญาจะคิดอะไรต้องมีหลักเหตุผล(ตรรกะ)รองรับ และหลักความเป็นไปได้ตรวจสอบ  

ผมก็ลองสอนตามแนวทางนี้  โดยเอาตัวอย่างสถานการณ์ปัจจุบันมาหาเหตุผลและความเป็นไปได้ตามหลักวิชาปรัชญา  เช่น  ในปีการศึกษา 2538  ผมสอนนักศึกษาปริญญาโท  สาขาบริหารการศึกษา  ประมาณ 175  คน  ผมยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ดังมากในยุคนั้น  “....มีข่าวว่ามีผู้หญิงระดับสูงของสังคมไทยคนหนึ่งหายไปนาน   ทำให้เกิดข่าวลือมากมายหลายด้าน   แต่มีข่าวลือหนึ่งลือกันอย่างกว้างขวางว่า  ขณะนี้ถูกจับติดคุกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  เพราะถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอังกฤษจับในข้อหาค้ายาเสพติด....”  ผมจึงถามนักศึกษาทั้งหมดว่า  เชื่อข่าวนี้หรือไม่   มีเหตุผลอะไรรองรับความเชื่อนั้น    ร้อยละ 90.27(158 คน)   ตอบว่าเชื่อ   แต่เหตุผลที่ให้มา  ทำให้เห็นว่าขนาดผู้บริหารสถานศึกษายังให้เหตุผลที่ไม่น่าเป็นเหตุผลและน่าเป็นไปได้รองรับ   พวกท่านเหล่านั้น  ตอบกันว่า  (ขอเรียงลำดับจำนวนที่ตอบนะครับ)  1. จริง เพราะเห็นหายหน้าไปนาน    2. จริง เพราะต้องมีมูลบ้าง ธรรมดาไม่มีมูลฝอย  หมาไม่ขี้    3. จริง  เพราะมีข่าวว่าถูกไล่ออกจากยศศักดิ์และขับออกนอกประเทศไปแล้ว  เป็นต้น    แต่ละคำตอบ  ผมก็ขออนุญาตนักศึกษาค้านตามหลักวิชา  เช่น  ถ้าจริง  เพราะหายหน้าไปนาน  ถ้าอย่างนั้น  คนที่เราไม่เห็นหน้าหลายๆปี  แสดงว่าติดคุกอังกฤษนะสิ (ที่จริงผมยกตัวอย่างชื่อคนหลายคน เช่น คุณทะนง  คุณศิริวรรณ  คุณนงนุช ฯลฯ แย้ง )   หรือถ้าจริง เพราะต้องมีมูล  ผมก็แย้งว่าสมัยนี้กุข่าวก็มี เช่น คดีฆ่ารัฐมนตรี  คดีจ้างฆ่าคนดัง) และเดี๋ยวนี้หมายังขี้กลางถนน ไม่มีมูลฝอยก็ขี้   เป็นต้น  สุดท้ายนักศึกษาก็คงหงุดหงิดย้อนว่าอะไรๆ ผมก็ไม่ยอมรับ  แล้วความจริงข่าวนี้เป็นอย่างไร    ผมก็บอกว่าผมไม่ได้ต้องการหาความจริง  แต่ผมต้องการทราบแนวคิดและเหตุผลของนักศึกษาว่ามีเหตุผลเป็นไปได้หรือไม่   แต่ถ้าอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร  ถ้าเจอหน้าสามีผู้หญิงระดับสูงคนนั้น  ก็ลองถามเขาดูสิ   ก็เลยได้ฮากัน  

สอนแนวทางอย่างนี้  หลายๆ สถานการณ์  ทั้งด้านการศึกษา  การเมือง  หลากหลายวงการ  ส่วนมากจะเป็นการมาหาคำนิยามของคำ เช่น ตำรวจ  ครู  พยาบาล  พระ  ฯลฯ ก็ทำให้เห็นผลเชิงประจักษ์ว่าทั้งผมและนักศึกษาสนุกกับการเรียน  และมองเห็นประโยชน์การเรียนวิชาปรัชญาว่าช่วยให้การคิด  และการนิยามความหมายของแต่ละคำที่ใช้กันอยู่ ได้ชัดเจนขึ้นเป็นอย่างมาก   ซึ่งผลพลอยได้ทำให้นักศึกษาบริหารการศึกษา  เข้าใจว่าปรัชญาการศึกษา  ก็คือ แนวคิดในการจัดการศึกษา  ปรัชญาโรงเรียน ก็คือ แนวคิดในการดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้นตามไปด้วย

.  

สุดท้ายทำให้เกิด "ปัญญา-ความเข้าใจ" เป็นผลพลอยได้ว่า  การที่โรงเรียนหรือสังคมไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ  อย่างเป็นเอกภาพ   แม้ผู้บริหารจะเข้าใจแล้วก็ตามได้นั้น     ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในโรงเรียน หรือสังคมยังคิดหรือเชื่อไม่ตรงกัน    ถ้า...แนวคิดของคนโรงเรียนยังไม่ชัดเจนและตรงกัน   ก็จะทำให้การปฏิบัติมักขัดแย้งกัน  เช่น  คำว่า "ครู"  ควรเป็นใคร  ควรมีบทบาทหรือทำหน้าที่ใด  แค่คำนี้ก็ขัดแย้งกันแล้ว  เพราะแต่ละคนก็ตอบไม่เหมือนกัน   อาทิ

       บางพวกบอกว่า  "ครู"  คือ  แม่พิมพ์

       บางพวกบอกว่า  "ครู"  คือ  ผู้จัดประสบการณ์        

       บางพวกบอกว่า  "ครู"  คือ  ผู้ถ่ายทอดความรู้

       บางพวกบอกว่า  "ครู"  คือ  ผู้จัดการเรียนรู้

       บางพวกบอกว่า  "ครู"  คือ  ผู้ฝึกอบรม ขัดเกลา 

                               ฯลฯ

      ดังนั้น  หน้าที่ผู้บริหารการศึกษา  ถ้าจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในโรงเรียน หรือสถาบันทางการศึกษา  จะต้องทำให้ความคิดของคณะครูและบุคลากรทุกคนเป็นเอกภาพให้ได้  เช่น ทำให้เชื่อว่า "ครู" คือใครตามนโยบายของโรงเรียน  หรือ ตามเจตนารมณ์กฏหมายการศึกษาแห่งชาติ หรือ หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้  เช่น  ปัจจุบันเราประการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับ 2551  หลักการจุดหมายของหลักสูตรนี้  ต้องการให้ "ครู"  คือ  "ผู้จัดการเรียนรู้"   แต่...หน่วยงานบริหารการศึกษาหรือผู้บริหารโรงเรียน  ยังทำให้ครูส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับทัศนคติ  ความเชื่อให้เป็น "ผู้จัดการเรียนรู้"  ได้เลย   ครูส่วนมากเขายังเชื่อว่า  "ครู" ที่ดี  ต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้  แล้วเป้าหมายตามหลักสูตร 2551 จะบรรลุผลไหมครับ

.    

        ตัวอย่างเช่น  หลักสูตร ๒๕๒๑  มีหลักการแนวคิดว่า "การศึกษา คือ การทำให้มีประสบการณ์"  ครู ตามหลักสูตรนี้ ก็ต้องเป็น "ผู้ฝึกประสบการณ์ หรือผู้จัดประสบการณ์" ให้กับเด็ก   หรือ หลักสูตร 2533 มีหลักการแนวคิดว่า  "การศึกษา คือ การทำให้มีประสบการณ์อย่างเป็นกระบวนการ หรือ ด้วยกระบวนการ"  ครูตามหลักสูตร 2533  ก็ต้องฝึกหรือจัดประสบการณ์ต่างๆให้เด็กอย่างมีกระบวนการ/ขั้นตอน เป็นต้น  

        แต่...ไม่ว่าจะเปลี่ยนหลักสูตรไปกี่ฉบับ  ครูส่วนใหญ่ของเมืองไทย  ยังเชื่อและยึดมั่นว่า "การศึกษา  คือ การถ่ายทอดความรู้"  ตัวครูเอง ก็คิดว่า "ตัวเองมีหน้าที่สอนความรู้  ถ่ายทอดความรู้" แล้วการจัดการศึกษาจะบรรลุตามที่หลักสูตรที่พยายามจะปรับปรุงไปแล้วทั้งในอดีต และที่จะปรับปรุงอีกต่อไปในอนาคตหรือไม่ครับ    

.

        แถมทุกวันนี้  ครูก็ยังเชื่อและปฏิบัติหน้าที่สอนความรู้ และถ่ายทอดความรู้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง   ทั้งๆที่ หลักสูตร 2551 มีหลักการว่า  "การศึกษา คือ การเรียนรู้"  ครูก็ควรเป็น "ผู้จัดการเรียนรู้ หรือ ผู้วางเงื่อนไขการเรียนรู้" ก็ตาม

.
 

       คราวนี้เห็นประโยชน์ของการเรียนวิชาปรัชญาหรือยังครับ   ประโยชน์แรกที่เห็นได้ชัด คือ การนิยามความคิดสิ่งที่เราทำให้ชัดเจน    ถ้าผู้บริหารการศึกษาให้ครูทุกคนช่วยกันนิยามความหมายแต่ละเรื่องในโรงเรียน เช่น  การศึกษา หลักสูตร ครู นักเรียน การเรียน การสอน สื่อ ฯลฯ ออกมาตามวิธีการทางปรัชญา  ก็จะช่วยให้ทุกคนเห็นความคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ   เมื่อเห็นแล้วก็สามารถแก้ไข หาวิธีการตะล่อมความคิดให้ตรงกัน  ซึ่งจะช่วยให้ลดความขัดแย้งได้มากมาย   แล้วค่อยสรุปกันอีกครั้งว่าจะเลือกนิยามข้อไหนเป็นแนวทางการดำเนินการของสถานศึกษาต่อไป

มีครั้งหนึ่งในการสอนวิชาหลักสูตรและการสอน  ผมถามนักศึกษาว่า  “หลักสูตร” คืออะไร   ทุกคนรีบตอบว่า  “หลักสูตร คือ มวลประสบการณ์”  ผมก็แย้งว่านั่นเป็นคำตอบที่พวกเขาเคยเรียนมาสมัย ปกศ. เมื่อ 30 ปีมาแล้ว  บางคนก็บอกว่า  “หลักสูตร คือ แผนที่ในการจัดการศึกษา”  ผมก็บอกว่า  นั่นเป็นคำตอบหนึ่ง  ซึ่งมีส่วนถูกและเป็นไปได้  แต่ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่ถูกต้อง  เพราะ”หลักสูตร คืออะไร” เรายังให้คำตอบทันทีไม่ได้   จนกว่าเราจะตอบได้ว่า  “การศึกษาในทัศนะของเขา  หรือของโรงเรียน  หรือของสังคมเป็นอย่างไร  หมายถึงอะไรก่อน”    เช่น   ถ้า.....

การศึกษา  เราตกลงให้นิยามหมายถึง  ความรู้,    หลักสูตร  ก็จะหมายถึง  มวลความรู้

การศึกษา  เราตกลงนิยามให้หมายถึง  ประสบการณ์,   หลักสูตร  ก็จะหมายถึง  มวลประสบการณ์

                                                           ฯลฯ

      ทุกการกระทำในสถานศึกษา หรือสังคมที่จะมีคุณภาพหรือประสิทธิภาพอย่างไรนั้น  จึงขึ้นอยู่กับการนิยามคำว่า “การศึกษา” ไว้ตั้งแต่แรกว่าเป็นอย่างไร   แล้วสิ่งต่างๆ ก็จะดำเนินการไปตามหลักการแนวคิดนั้นเอง

       ผมขอสรุปแนวคิดในการจัดการศึกษาที่ปรากฏอยู่ในสังคมโลก  (ขอย้ำว่า ปรัชญาเป็นแค่ "แนวคิด"  ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกต้อง  แต่ถ้านำแนวคิดไปทดลองใช้ปฏิบัติ  มันจะไม่ใช่ปรัชญาอีกแล้ว   แต่จะกลายเป็นหลักการ หรือ วิทยาการในที่สุด ( Science  หรือ Logy)  ดังนี้

กลุ่มที่ 1  แนวคิดปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)

การศึกษา คือ การศึกษาชีวิต, ประสบการณ์ชีวิตที่ควรรู้
ครู คือ ผู้จัดประสบการณ์, ผู้กระตุ้น, ผู้ชี้แนะ, นักแนะแนว
นักเรียน คือ ผู้แสวงหาประสบการณ์, ผู้เรียนรู้ประสบการณ์
โรงเรียน คือ แหล่งประสบการณ์, สังคมประชาธิปไตย, สังคมร่วมมือ
หลักสูตร คือ มวลประสบการณ์ หรือ แนวทางการจัดประสบการณ์
การเรียนการสอน คือ เน้นการปฏิบัติจริงจากปัญหา, การทดลองค้นคว้า
การวัดผลประเมินผล คือ วัดตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ต้องการ    

 

 กลุ่มที่ 1 แนวคิดปรัชญานิรันตรวาตนิยม (Perennialism)

การศึกษา  คือ การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มี-ใช้เหตุผล, มีศีลธรรม, เป็นผู้ดี, เตรียมตัวเพื่อชีวิตที่ดีงาม-สงบสุข
ครู  คือ ผู้รอบรู้, ผู้มีคุณธรรม, ผู้ทรงศีล, ผู้อบรมสั่งสอน  
นักเรียน คือ ผู้ที่ต้องรับการฝึกอบรม ขัดเกลากิริยา และจิตใจให้ดีงาม
โรงเรียน  คือ ที่ฝึกฝนคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม, ที่พัฒนานิสัยจิตใจ
หลักสูตร คือ คัมภีร์-ตำราที่เน้นการฝึกจิตใจ ยกระดับจิตใจ ความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น
การเรียนการสอน คือ เน้นการฝึกฝนจิตใจ, มารยาท, การเคารพเชื่อฟัง
การวัดผลประเมินผล คือ การจดจำความรู้ตามคำสอนได้มากเพียงใด

 

กลุ่มที่ 3 แนวคิดปรัชญาสารัตถนิยม(Essentialism)

การศึกษา  คือ การถ่ายทอดความรู้, วัฒนธรรม, สิ่งที่ดีงามของสังคม
ครู  คือ ผู้เป็นตัวอย่าง, แม่พิมพ์, ผู้สาธิต, ผู้ถ่ายทอด
นักเรียน คือ ผู้ตั้งใจเรียน, หนักเรียน
โรงเรียน  คือ แหล่งความรู้, ที่ถ่ายทอดความรู้ แนวคิด วิธีการของคนรุ่นก่อนๆ
หลักสูตร คือ ความรู้, มวลความรู้ของสังคม
การเรียนการสอน คือ การท่องจำความรู้, การปฏิบัติตาม
การวัดผลประเมินผล คือ การจดจำความรู้ได้เพียงใด

 

กลุ่มที่ 4 แนวคิดปรัชญาบูรณาการนิยม,ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)

การศึกษา  คือ การพัฒนา และ การปฎิรูปสังคมและตนเอง
ครู  คือ ผู้ชักจูง ผู้โน้มน้าว  ผู้นำสถานการณ์, นักสร้างกรณีศึกษา 
นักเรียน คือ ผู้ฝึกฝนเป็นนักคิดวิเคราะห์, นักปฏิบัติ, นักวิจัย, นักปฏิรูป,นักพัฒนานวัตกรรม 
โรงเรียน  คือ เป็นที่จำลองสังคมอนาคต, สถานการณ์ในการเรียน 
หลักสูตร คือ ใช้กรณีศึกษา, ไม่มีตายตัว แล้วแต่สถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมในอนาคต
การเรียนการสอน คือ ฝึกทดลอง-วิจัย-ประชุมวางแผนเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาเปลี่ยนแปลง, ทำโครงงาน 
การวัดผลประเมินผล คือ ประเมินจากผลงานแก้ปัญหา, ผลการปฏิบัติ, ผลการปฏิรูป, การผลิต-พัฒนานวัตกรรม

 

กลุ่มที่ 5 แนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(Existentialism)

การศึกษา  คือ การเรียนรู้, การค้นพบตัวเอง, การเข้าใจตนเอง 
ครู  คือ ผู้กระตุ้น, ผู้จัดการเรียนรู้, ผู้แนะแนว
นักเรียน คือ ผู้ใฝ่รู้, รักการเรียนรู้
โรงเรียน  คือ แหล่งเรียนรู้, ที่เตรียมสถานการณ์ หรือจำลองสภาพปัญหาให้ฝึกเรียนรู้
หลักสูตร คือ ใช้วิธีถาม–ตอบ คำถามบางครั้งไม่มีคำตอบ มีเสรีภาพในการตอบ
การเรียนการสอน คือ สาระการเรียนรู้, เรียนจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ประสบการณ์รอบตัว
การวัดผลประเมินผล คือ สะท้อนความเป็นตัวเอง หรือแนวคิดออกมาทางกระบวนการสื่อสาร,การปฏิบัติ

 

แนวความคิดแต่ละปรัชญาต่างก็มีแนวคิดพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกปรัชญาล้วนมีจุดยืนอันเดียวกันในเรื่องชีวิต การดำรงชีวิตให้ดี และพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้น

ดังนั้น การได้ศึกษาทำความเข้าใจปรัชญาก่อน จะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นไปอยู่ในสังคมและจะได้ให้ผู้ศึกษาสามารถสร้างแนวทางปรัชญาของตนเองได้ในที่สุด

สรุปอีกครั้ง  ผมได้ลองสอนปรัชญาในขอบเขต “ ปรัชญาเป็นวิชาว่าด้วยการคิด”   นักปรัชญาก็คือนักคิด   ปรัชญาก็คือแนวความคิด    แต่นักปรัชญาต่างกับนักคิดโดยทั่วไป หรือนักฝัน  ตรงที่นักปรัชญาจะคิดอะไรต้องมีหลักเหตุผล(ตรรกะ) และหลักความเป็นไปได้ตรวจสอบ ได้ผลดีมาก  ก็จึงขอโอกาสแนะนำคนรุ่นหลังต่อไปครับ

อย่างนี้่วิชาปรัชญาจะไม่เกิดความคลุมเครือ หรืองง  ทำให้คนเรียนโง่ เพี้ยนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง หรือเป็นบ้าอีกเป็นแน่

หมายเลขบันทึก: 491922เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2024 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

..พุทธวิถี..เป็น..พุทธปรัชญา...ที่..ถกเถียงและมี..คำ..ตอบให้.เป็น..ตรรกะ..ตลอดมา..สองพันกว่าปีมาแล้ว..และคงมีอยู่สืบไป..(ยายธี)

ขอบคุณครับความเห็นของคุณยาย แต่...พุทธศาสนา ไม่ใช่ปรัชญาหรอกครับ เพราะทุกคำสอนของพระพุทธองค์ มีคำตอบแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุผลหรือวาทะของใคร สามารถพิสูจน์ได้โดยต้องลงมือปฏิบัติดู ไม่ใช่เกิดจากการนั่งคิดหาคำตอบ หรือเหตุผล (ตรรกะ) แบบนักปรัชญา ถ้าเทียบกับคำที่ใช้ในปัจจุบัน พระพุทธศาสนา เป็น "ศาสตร์" ถ้าคำในสมัยเก่า ก็คือ เป็น "สัจธรรม" (พุทธศาสนาจักคงอยู่ตลอดไป ถ้ามีผู้ปฏิบัติตามแล้วได้ผล)

โดนใจจริงๆ สมัยเป็นนักเรียนงงมาก แต่พอได้เค้าว่าวิชาปรัชญาสอนให้เป็นนักคิดรอบด้าน(คม ชัด ลึก๕๕๕)(คิดแนวข้าง แนวทแยง แนวเฉียง ทุกเส้นรุ้ง เส้นแวง) ผลผลิตที่ได้จากคนเรียนจบวิชาปรัชญา หรือจบปริญญาทุกระดับที่มีคำว่า ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขา... ปรัชญามหาบัณฑิต สาขา.... น่าจะได้คนประเภท คุยกับคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตนเองได้อย่างมีความสุข (ประเทศไทยคงมีคนเรียนปรัชญารุู้เรื่องน้อย ถึงได้วุ่นวายแบบนี้ ๕๕๕)

คือว่า พระพุทธศาสนา ไม่ได้มาจากการนั่งคิดก็จริงคือว่ามันเหนือกว่านั้นอะครับใช้ปัญญาอีกระดับเอาก็เลยรู้ได้เลยบางอย่างนั่งคิดให้ตายก็ไม่ออกหรอกครับเพราะว่าไม่สามารถคิดให้ถึงได้ ที่สุดของปรัชญาก็คือสัจธรรมของสิ่งนั้นๆหรือก็คือความจริงของธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ชัดเจนแล้วจึงเป็นปรัชญาเป็นที่สุดครับ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ของการเรียนปรัชญาจนบ้า โง่ ปัญญาอ่อน ก็คือ "หลุยส์ ฟาน กัล" นี่เอง คุมทีมแมนยูของเราไม่ชนะติดตั้งหลายครั้งจนตก Top4 ดีแต่โฆษณาปรัชญาของตัวเองไปวันๆ พอแพ้ก็เหวี่ยงใส่คนอื่น ทั้งๆที่รู้ว่าจริงๆแล้วความพ่ายแพ้ต่างๆนานานั้นเกิดขึ้นมาจากปรัชญาโง่ๆของท่านเอง แค่นี้นะครับสำหรับความโง่ของผู้จัดการทีมแมนยูคนปัจจุบัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท