หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (การค้นพบ) ...เรื่องบางเรื่องในระหว่างเส้นทางการเรียนรู้ของนิสิต ฯ


ถึงแม้กิจกรรมจะยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เราก็ควรต้องมีระบบการประเมินผลเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เห็นถึงจุดเด่น จุดอ่อนของการเรียนรู้ที่ต้อง “ต่อยอดและปรับแต่ง” ให้ดีขึ้น และนั่นก็คือกลไกของการประเมิน หรือทบทวนบทเรียนในระหว่างการดำเนินงาน (During Action Review : DAR)

เมื่อวาน (20 มิถุนายน 2555)  เป็นอีกวันที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมเนื่องในโครงการ “การจัดการโรงอาหารของโรงเรียนตามาตรฐาน GMP” ของภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 13 และ 16 มิถุนายน 2555 ณ โรงเรียนพระกุมารมหาสารคาม

โดยหลักของวันนี้  เป็นการเรียนรู้ในแต่ละฐานเหมือนครั้งที่ผ่านมา  แต่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าเรียนรู้ก็คือนักเรียนในระดับชั้นประถมปีที่ 4-6

แต่กว่าจะถึงเวลาจริงของการปฏิบัติการ  นักเรียน ป.1-3  ก็กรูมาหาพี่นิสิตอย่างเนืองแน่น  ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่เคยเรียนรู้ในแต่ละฐานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา  พอเป็นเช่นนั้นนิสิตจึงไม่อิดออด หรือรีรอที่จะพบปะ ละเล่น หรือแม้แต่ทบทวนความรู้กับน้องๆ นักเรียน

 

 

ในห้วงๆ หนึ่ง  ผมมีโอกาสได้พบปะพุดคุยกับนิสิตอย่างไม่เป็นทางการหลายท่าน   รวมถึงการสัมภาษณ์นิสิตแกนนำที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วพลอยรู้สึก  “อิ่มใจ” อยู่อย่างมากโข

ถึงแม้กิจกรรมดังกล่าวนี้จะยังไม่เสร็จสิ้น  เพราะยังต้องดำเนินไปเป็นระยะๆ  รวมถึงการประเมินผลในอีกห้วงหนึ่งถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง อันเป็น “ผลพวง” ของการขับเคลื่อนโครงการ  ทั้งในมิติการเปลี่ยนแปลงของ “ชุมชน/โรงเรียน” รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวตนของ “นิสิต/อาจารย์” 

  • แต่มาทั้งทีเพื่อมิให้เสียโอกาส  ผมก็เลยสอบถามถึงผลพวงของการเรียนรู้ของนักเรียนและนิสิตนอกรอบ

 

 

น้องๆ นักเรียนบอกเล่าอย่างใสซื่อว่า  การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ...

 

...ได้รับความสนุก สนานไปพร้อมๆ กับการได้รับความรู้ที่แปลกใหม่
ทำให้เกิดความสนใจที่จะสังเกตโรงอาหารของตัวเองมากขึ้น
และยังนำเรื่องความรู้ที่ได้กลับไปเล่าให้พ่อกับแม่ฟังที่บ้าน...

 

 

  

  

ส่วนนิสิตก็บอกเล่าผลพวงของการเรียนรู้ในระยะต้นนี้ในทำนองเดียวกันว่า

  • ได้รับความสุขจากการเรียนรู้และให้บริการแก่ชุมชน
  • ได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับชุมชน
  • ได้เรียนรู้กิจกรรมภาคสนาม  โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ทำ “กิจกรรมนอกชั้นเรียน”  ใดๆ ในทำนองนี้ มาก่อน
  • ได้ทำงานกันเป็นทีม ซึ่งแตกต่างไปจากความเป็นทีมที่เคยเจอในชั้นเรียน เช่น การทำรายงานกลุ่ม
  • ได้เรียนรู้แนวทางของการบริหารจัดการโครงการแบบมีส่วนร่วม ทั้งกับอาจารย์และเพื่อนๆ ในกลุ่ม
  • ได้ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเองร่วมกับเพื่อนๆ  โดยมีอาจารย์คอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง
  • ได้ฝึกความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
  • ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละครั้ง  เช่น  ปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  ปรับรูปแบบกิจกรรมและเนื้อหาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย (นักเรียน/ครู/แม่ครัว/ผู้ปกครอง)
  • ได้ค้นคว้าข้อมูล และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง ผ่านระบบต่างๆ
  • ได้เรียนรู้ระบบการจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ความรู้
  • ได้เรียนรู้ระบบการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก
  • ได้เรียนรู้กระบวนการแบ่งปันความรู้
  • ได้ซึมซับความสดใสและความน่ารักของเด็กนักเรียน
  • ได้อธิบายให้คนอื่นเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรที่กำลังศึกษา เป็นการประชาสัมพันธ์หลักสูตร/คณะ และมหาวิทยาลัยฯ ไปในตัว

 

 

ครับ  กระบวนการถามทักถึงผลพวงที่ได้จากการเรียนรู้เช่นนั้น ผมถือว่าเป็นการประเมินในอีกมิติหนึ่ง  ถึงแม้กิจกรรมจะยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์  เราก็ควรต้องมีระบบการประเมินผลเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เห็นถึงจุดเด่น จุดอ่อนของการเรียนรู้ที่ต้อง “ต่อยอดและปรับแต่ง” ให้ดีขึ้น  และนั่นก็คือกลไกของการประเมิน  หรือทบทวนบทเรียนในระหว่างการดำเนินงาน (During Action Review : DAR)

 

สำหรับผมแล้ว  กรณีของนิสิตนั้น  หากไม่นับการประเมินผลตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ  หรือแม้แต่ทักษะการบริหารโครงการ (project management) กระบวนการของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (learning by doing)  ฯลฯ  ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความสุขของผู้เรียน”  เป็นอย่างมาก  และสิ่งที่ผมให้ความสำคัญนั้น  ก็ถูกค้นพบอย่างชัดแจ้งโดยตัวของนิสิตเอง  ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ได้ปรุงแต่ง  หรือสร้างภาพ  เพราะในคำบอกเล่า หรือแม้แต่พฤติกรรมของนิสิตก็ฉายชัดถึง “ความสุข” นั้นอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรม

และยิ่งได้รับรู้ว่ากิจกรรมครั้งนี้  กลายเป็น “แรงขับ” ให้นิสิตสนใจที่จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องในทำนองเดียวกัน  ทั้งในสถานที่แห่งนี้  หรือแม้แต่การสัญจรไปยังโรงเรียนในชนบทอื่นๆ –ผมก็ยิ่งปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก

 

สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่านิสิตได้ค้นพบคุณค่าของตัวเอง (self awareness)  ไปพร้อมๆ กับการค้นพบคุณค่าของคนอื่น (emphaty) รวมถึงค้นพบพันธกิจอันเป็นจิตอาสาที่เป็นคุณค่าของสังคม (social awareness)

 

 

 

และท้ายที่สุด  ก่อนละวางเพื่อการเดินทางไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง  ผมฝากให้นิสิตสังเคราะห์ประเด็น  “ปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จ”  รวมถึง “ปัจจัยอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และนำพาไปสู่ความสำเร็จ”  หรือแม้แต่กระบวนการของการ “คลี่คลายวิกฤต" ต่างๆ  

  • และนั่นก็หมายรวมถึง “หมุดหมาย” ที่จะดำเนินการในครั้งต่อไปด้วยเช่นกัน

 

 



ความเห็น (5)

เห็นความสดใสของเด็กแล้วมีความสุขค่ะ

เรียนรู้จาก ความจริงที่ไม่ปรุงแต่ง...

ตอนเป็นอาจารย์ใหม่ๆ หลงคิดว่า "curriculum" สำคัญที่สุด
ตอนนี้ เปลี่ยนมุมมอง
ขอเพียงมีเวที มีประสบการณ์ ที่ปลอดภัย
แล้วเฝ้ามองเขาเรียนรู้อย่างมีความสุข 

  • ชอบมากค่ะ ความสุขที่มาจากหัวใจสัมผัสได้จากรอยยิ้มระหว่างการเรียนรู้และดูผู้อื่นเป็นครูที่สะท้อนความรู้ซึ่งกันและกัน
  • ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความสุขของผู้เรียน”  เป็นอย่างมาก  และสิ่งที่ผมให้ความสำคัญนั้น  ก็ถูกค้นพบอย่างชัดแจ้งโดยตัวของนิสิตเอง  ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ได้ปรุงแต่ง  หรือสร้างภาพ  เพราะในคำบอกเล่า หรือแม้แต่พฤติกรรมของนิสิตก็ฉายชัดถึง “ความสุข” นั้นอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรม

แวะมาส่งกำลังใจให้น้องคนดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท