-อนีย แปลว่า พึง, ควร


คำศัพท์ภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทยมีหลายคำที่ดูซับซ้อน เพราะสร้างจากการเติมเสียงตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง ดูยืดยาว แต่คำเหล่านี้เมื่อมีด้วยกันหลายคำ เราจึงเห็นลักษณะที่คล้ายคลึงกัน พอจะจัดเป็นกลุ่ม เป็นพวกได้

คำศัพท์จำพวกที่จะนำมาเล่าในคราวนี้ ขอเรียกว่า พวกที่เติม “อนีย” ก็แล้วกัน

        ศัพท์เหล่านี้ เมื่อเติม อนีย แล้ว ในภาษาไทย อาจจะใส่การันต์ที่ ย เช่น รมณีย์ เสาวนีย์ ไปรษณีย์ พจนีย์ ศันสนีย์ หรือไม่ก็นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำประสม (เรียกว่าสมาส) โดยยังคง ย เอาไว้ เช่น ปูชนียบุคคล สัมโมทนียกถา กรณียกิจ อย่างนี้

        คำที่เติม อนีย จะมีความหมายว่า “ควรทำ, พึงทำ” เมื่อใช้เรียกสิ่งใด/ผู้ใด ก็หมายความว่า สิ่งนั้น/ผู้นั้น ควร/พึง “ถูก” กระทำ เช่น ปูชฺ แปลว่า บูชา เติม อนีย เป็น ปูชนีย แปลว่า (สิ่ง/ผู้) ที่ควรถูกบูชา นี่เป็นการแปลแบบตรงๆ เพื่อให้เข้าใจตัวศัพท์ 

        เหตุที่ต้องมีคำว่า “ถูก” ก็เพราะสิ่งนั้น/ผู้นั้น มิได้กระทำกริยาด้วยตนเอง  แต่โดยทั่วไป เราเรียกตามความสะดวก และเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีคำว่า “ถูก”

 

        คำศัพท์ที่เติม –อนีย ที่นำมาใช้ในภาษาไทย มีดังนี้

กรณีย      ที่ควรกระทำ           กฺฤ (ทำ) +อนีย (แปลง กฺฤ เป็น กรฺ, แปลง น เป็น ณ ตามอิทธิพลของ ร ข้างหน้า)

ทรรศนีย   ที่ควรมอง            ทฺฤศฺ (ดู) + อนีย (แปลง ทฺฤศ เป็น ทรฺศฺ) (ในภาษาไทยใช้รูป ทัศนีย มากกว่า)

ปูชนีย      ที่ควรบูชา               ปูชฺ (บูชา)              

ไปรษณีย  ที่ควรส่ง                 ปฺร+อิษฺ (ส่ง) เป็น เปฺรษณีย (แปลง เอ เป็น ไอ)

พจนีย      ที่ควรพูด                วจฺ (พูด)  เสียง ว และ พ สลับกันได้

โภชนีย     ที่น่ากิน(อาหาร)      ภุชฺ (กิน) แปลง อุ เป็น โอ

มัทนีย      ที่น่าหลงใหล           มทฺ (เมา, หลงใหล)

รมณีย      ที่น่าเพลิดเพลิน       รมฺ (เพลิดเพลิน)

ศรวณีย์     ที่น่าฟัง, ควรฟัง      ศฺรุ (ฟัง)  คำนี้ (ตรงกับศัพท์บาลี สวนีย์ หรือ เสาวนีย์ จากธาตุ สุ ในภาษาบาลี)

ศันสนีย    ที่น่าสรรเสริญ         ศํสฺ (สรรเสริญ)

ศาสนีย      ที่น่าสั่งสอน          ศาสฺ (สอน, ปกครอง)

สัมโมทนีย  ที่น่ายินดี              สํ+มุทฺ (ยินดี) แปลง อุ เป็น โอ

 

        [ต่อไปนี้เป็นเรื่องไวยากรณ์]

        คำว่า “อนีย” นี้ ตามหลักภาษาสันสกฤตถือว่าเป็น ปัจจัย เพราะไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่จะนำมาใช้จริงๆ แต่ต้องนำไปเติมเข้ากับคำอื่น คำที่เป็นแกนให้เติม คือ ธาตุ ศัพท์ที่ได้นั้นมี “ความหมาย” เสมือนเป็นกริยา แต่เมื่อนำไปใช้จะต้องนำไปแจก “รูป” อย่างคำนามเสียก่อน ส่วนการนำมาใช้ในภาษาไทย เรานำรูปสำเร็จมาใช้โดยไม่ต้องแจกรูปอีก 

        ความจริงแล้วในตำราไวยากรณ์สันสกฤตบอกว่า ปัจจัยตัวนี้คือ “อนียรฺ” (เมื่อนำมาใช้จะเหลือแค่ อนีย) ซึ่งมีรูปย่อยอีกสองรูป คือ “ย” และ “ตวฺย” แต่สองรูปหลังไม่ค่อยเห็นในภาษาไทย

        ปัจจัย อนีย นี้ มีใช้ในภาษาบาลีเช่นเดียวกัน ศัพท์ที่ยกมาหลายคำจึงพบในภาษาบาลีด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 491863เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

อาจารย์หมูหนูส่งเมลไปแล้วคะ ยังไม่ได้โปรแกรมเลย หรือหนูต้องเช็คตรงไหนคะ ใช้งานเวปนี้ยังไม่ค่อยจะเป็นอิอิ

เอ ได้รับเมลสองวันก่อน และส่งกลับไปแล้วนะครับ งั้นจะส่งใหม่อีกที

อาจารย์คะ ได้รับแล้วนะคะ โทษทีคะ เพิ่งจะเห็น ขอบพระคุณมากๆคะ

อาจารย์คะ ว่าแต่ลิ้งนี้ก็ดีนะค่ะ หนูค้าไปค้นมาเลยเจอ

http://www.google.com/transliterate/sanskrit

ขอบคุณครับ ลองใช้ดูแล้ว เข้าทีดีทีเดียว

แต่พอโหลดมาแล้วไม่เวิร์ก มันไปตั้งคีย์บอร์ดให้เปลี่ยนภาษา

ทีนี้เราต้องวน ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต

อาจจะเอาไว้ใช้เวลาพิมพ์เอกสารโดยเฉพาะ ก็ดีเหมือนกันครับ

สวัสดีคะอาจารย์หมู คือหนูไม่เข้าใจการเขียนอักษรเทวนาครีแบบที่พยัญชนะมันขึ้นคร่อมกันอะคะเช่น dma - ddha - dda กับอีกแบบคือพวกตัวติดกันเช่น न्न - त्र - และอีกเยอะคะว่ามันใช้ยังไงและออกเสียงแบบไหน ขออาจารย์ได้โปรดอธิบายพร้อมยกตัวอย่างด้วยจะดีมากคะ อิอิ หนูลองอ่านเองแล้วไม่เข้าใจ เข้าใจเป็นบ้างตัว ขอบพระคุณมากคะ

สวัสดีครับ เขาเรียกพยัญชนะสังโยคครับ

มีหลักว่า

ถ้าพยัญชนะตัวหน้าไม่มีสระ (ถ้าอักษรไทย ก็คือพยัญชนะที่มีจุดข้างใต้)

แล้วมีพยัญชนะตามมา(กี่ตัวก็ตาม) พยัญชนะตัวที่ไม่มีสระนั้นต้องลดรูป

เช่น รตฺน ratna ตัว ตฺ นี้ต้องลดรูป

จากเดิม त ก็จะเหลือแต่ตัวโค้งๆ ไม่มีขีดข้างบน

 

เทียบนะครับ
रत्न รตฺน ratna
रतन รตน ratana...

การลดรูปนั้น มีหลายแบบครับ แต่สรุปก็คือ มันจะไปเกาะกับตัวที่ตามมากลายเป็นตัวเดียวกัน คือมีประทุนข้างบนห้อยลงมาขีดเดียว

 

ทีนี้มาดู ทฺ ตามด้วย ย เช่น

วิทฺย vidya เขียนอย่างนี้ विद्य
แต่ถ้า วิทย vidaya จะเขียนอย่างนี้ विदय

 

การเขียนตัวย่อ บางทีก็หดตัวหน้า บางทีตัวหน้าเต็ม แต่ไปหดตัวหลัง

บางทีก็ใช้วิธีเรียงแนวดิ่ง บางทีก็เรียงแนวนอน

เช่น ห ถ้าไม่มีสระ มันก็ยังเขียนเต็มตัว แต่ตัวที่ตามมาจะลดรูป

 

ตัวอย่าง วาหฺน वाह्न จะเห็นว่า ห ปรากฏเต็มตัว แต่ไปลดรูป น

 

ทีนี้ ตัวไหนลดรูปยังไง สงสัยต้องเขียนเต็มๆ บทความแล้วละ (และท่องให้จำได้)

เพราะพยัญชนะบางตัว เมื่อตัวนี้ตามมา ก็เขียนแบบหนึ่ง อีกตัวตามมา เขียนอีกแบบ

เช่น ก เมื่อไม่มีสระ จะเขียน ก ครึ่งตัว แต่ถ้า ต หรือ ก ตามมา มันจะมีอีกรูป

(รูปธรรมดา) ศกฺน शक्न, วากฺย वाक्य (ตัว क เหลือครึ่งหนึ่ง)

แต่ถ้า ตามด้วย ต, หรือ ษ จะเป็นอย่างนี้

ศกฺติ शक्ति, ลกฺษ लक्ष นั่นคือ ใช้ตัวพิเศษเลย

นอกจากนี้ ตัวที่ใช้บ่อยก็เ้ช่น ชฺ ज् +ญ ञ = ज्ञ

 

ผมก็จำไม่ได้ว่าตอนเรียน ใช้วิธีจำแบบไหน

แต่ว่าอ่านๆ ท่องๆ ไปก็จำได้ไม่นานครับ ;)

 

การออกเสียงก็ออกเสียงเฉพาะตัวที่มีสระครับ

ตัวไหนไม่มีสระ ก็ออกเสียงในลำคอ

เช่น รตฺน ออกเสียง รัต(ออกเสียง ตะ เบาๆ)-นะ

ทฺฤษฺฏ (ออกเีสียง ทริษฺ(ออกเสียง สส เบาๆ)-ตะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากคะ แต่ถ้าจะให้ดีและถ้าไม่เป็นการรบกวนอาจารย์มากเกินไปก็ขอแบบเต็มๆพร้อมสูตรให้ท่องด้วยคะ อิอิ ช่วงนี้หนูว่างๆพอจะมีเวลาท่องได้อยู่ ทุกวันนี้เวลาอ่านเทวนาครีก็จะติดๆขัดๆกับตัวพวกนี้ละคะ อ่านแล้วไม่ค่อยจะลื่นไหล ไหนจะรูปย่อของตัว र อีก มีตั้งสามอันเยอะไปหมดใช้ไม่ถูก หนูก็อาศัยอ่านเอาจากเวปนี้คะ http://kksongs.org/language/sanskrit/lesson06.html แต่ก็ยังมิเข้าใจอยู่ดี ถ้ามีคนมาอธิบายแบบอาจารย์ค่อยโล่งหน่อย ถึงแม้ว่าจะไม่เข้าใจในครั้งเดียวตามระดับสติปัญญาหนู แต่ก็จะพยายามอ่านไปอ่านมาคะ ฮ่าๆ ขอบพระคุณอาจารย์หมูมากๆนะคะ หนูคงยังต้องรบกวนอาจารย์ไปอีกนาน จริงๆอยากไปให้เร็วๆ เรื่องการอ่านตัวอักษรไทยโรมันเทวนาครีป่านี้หนูสมควรจะอ่านได้ทะลุปุโปร่งหมดแล้ว นี่แกรมม่าก็อ่านยังไม่ถึงไหนเลยคะ ... เฮ้ออ

ใ้ช้ตัวนี้แก้ขัดไปก่อนนะครับ

http://bond.in.th/octrabond/text-tools/25-devanagari-transcriptor

ใส่เทวนาครีเข้าไป ออกมาเป็นไทย/โรมัน

สวัสดีคะอาจารย์หมู วันนี้หนูมีมนต์เทวีสรัสวตีมาให้อาจารย์ลองช่วยแปลคร่าวๆให้ดูหน่อย ถ้าหนูทำเองเกรงว่าภาษาจะไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่

oṃ bhadrakālyai namo nityaṃ sarasvatyai namo namaḥ vedavedāngavedānta vidyāsthānebhya eva ca

I always bow to excellent remover of darkness. again and again I bow down to the goddess sarasvati. She's the wisdom of Veda and Vedanta , the highness wisdom and the repository of all knowledge.

สวัสดีครับ

 

โอมฺ... (คำโอมไม่ได้อยู่ในคาถา)

ภทฺรกาลฺไย นโม นิตฺยํ สรสฺวตฺไย นโม นมะ ฯ

เวทเวทางฺคเวทานฺตวิทฺยาสฺถาเนภฺย เอว จ ฯ

 

แปลศัพท์

   นโม (ความนอบน้อม) ภทฺรกาลฺไย (แด่พระภัทรกาลี, หรือพระแม่ทุรคา)

   นิตฺยํ (เสมอ, ทุกวัน) นมะ  (ความนอบน้อม) สรสฺวตฺไย (แด่พระสรัสวตี)

   จ (และ, ทั้ง) นมะ (ความน้อยน้อม) เวท-เวทางฺค-เวทานฺต-วิทฺยาสฺถาเนภฺยสฺ (แด่ความรู้ทั้งหลาย อันได้แก่ พระเวท, เวทางคะ และเวทานตะ) เอว (นั่นแล)

 

ความหมาย

   (ข้า)ขอนมัสการพระภัทรกาลี ขอนมัสการพระสรัสวดีอยู่เนืองนิตย์ ทั้งขอบูชาความรู้ทั้งหลาย อันได้แก่ พระเวท เวทางคะ (แขนงต่างๆ ของพระเวท) และเวทานตะ (ความรู้อันเป็นที่สุดของพระเวท) ฉะนี้แล..

   (คำแปลอาจพลิกแพลงได้)

   คำว่า "วิทฺยาสฺถาเนภฺย" เป็นพหูพจน์ ในที่นี้จึงแปลแบบนี้ แต่อาจแปลอย่างภาษาอังกฤษก็ได้ว่าพระสรัสวดี ผู้ทรงเป็นที่สถิตของความรู้ทั้งหลาย... (เมื่อใช้เป็นการยกย่อง จะใช้รูปพหูพจน์)

 

โห..จะร้องไห้คะ กราบขอบพระคุณในความกรุณาของอาจารย์มาก ขอพระเป็นเจ้าอวยพระพรคะ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท