ลักษณะของงานวิจัยทางไทยคดีศึกษา


...

        เมื่อกล่าวถึงคนเรานี้มีลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ  ความสงสัยใคร่อยากรู้อยากเห็น  บางครั้งมุ่งแสวงหาความรู้ย้อนรอยถอยหลังลงไปหาต้นตอของเรื่องที่อยากรู้นั้น  แต่บางครั้งก็ค้นคว้าไปในอนาคตอันหาที่สิ้นสุดของความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้    เมื่อมองในแง่ศาสตร์ทางไทยคดีศึกษาก็คงหนีไม่พ้นขอบข่ายทางการวิจัยในกลุ่มวิชาสาขาสังคมศาสตร์  (  Social  Science ) ซึ่งวัลลภ  ลำพาย  ( 2547 : 3  ) ได้แบ่งตามองค์การ  UNESCO  สามารถจำแนกออกเป็น  5 สาขาใหญ่ ๆ ดังนี้

 

        1 . มนุษย์ศาสตร์  ได้แก่  วิชาโบราณคดี  ประวัติศาสตร์  ภาษาศาสตร์  บรรณารักษศาสตร์  ปรัชญา  จิตวิทยา  ศาสนศาสตร์  อักษรศาสตร์  และวิชาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

 

        2 . การศึกษา  ได้แก่  วิชาทางการศึกษา  พลศึกษา  และวิชาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

 

        3 . วิจิตรศิลป์  ได้แก่  วิชาทางสถาปัตยกรรม  จิตรกรรม  ประติมากรรม  การวาดภาพ  วาทศิลป์  การละคร  และวิชาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

 

        4 . สังคมศาสตร์  ได้แก่  วิชาการธนาคาร  พาณิชยศาสตร์และการบัญชี  รัฐศาสตร์  ภูมิศาสตร์  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  วารสารศาสตร์  รัฐประศาสนศาสตร์  สังคมวิทยา  สถิติ  และวิชาอื่น ๆ  ที่คล้ายคลึงกัน

 

        5 . นิติศาสตร์  ได้แก่  วิชาที่เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ

 

        การวิจัยทางสังคมศาสตร์  เป็นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในด้านพฤติกรรมตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์  การวิจัยทางสังคมศาสตร์มีข้อเสียเปรียบ  เมื่อเทียบกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในหลายด้านด้วยกันที่เห็นชัดคือ

 

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับทางกายภาพหรือทางด้านวัตถุ  อุปกรณ์ต่าง ๆ และเครื่องมือที่ใช้มีความแม่นยำในผลการวัด  เช่นเครื่องมือในการวัดแสง  เสียง  อุณหภูมิ  เป็นต้น  การควบคุมสภาพแวดล้อมขณะทำการทดลองในห้องทดลอง  ก็กระทำได้อย่างสมบูรณ์  ส่วนการวิจัยทางสังคมศาสตร์นั้น  เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ศึกษา  สร้างให้มีความแม่นยำได้ยาก  การควบคุมสภาพแวดล้อม  หรือตัวแปรที่จะมีอิทธิพลต่อมนุษย์ก็ทำได้ยากเพราะเป็นการศึกษาจากสภาพที่เป็นจริงตามธรรมชาติ

 

        ดังนั้นข้อค้นพบที่นำไปสร้างเป็นกฎเกณฑ์  และทฤษฎีต่าง ๆ ทางสังคมศาสตร์จึงยืดหยุ่นได้  และมีข้อยกเว้นเสมอ  แต่ถึงอย่างไรการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์นี้ก็ยังมีกระบวนการตามขั้นตอนเพื่อค้นหาความจริงที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน

 

โดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ดูเหมือนจะง่ายแต่ด้วยความที่มนุษย์มีจิตวิญญาณที่ยากจะคาดเดาได้ในบทสรุปที่ยังมีตัวแปรตามอีกมากมาย  จึงทำให้นักวิจัยสายนี้หันมาสนใจวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ  ซึ่งเน้นความถูกต้องและความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์และอธิบายข้อค้นพบมากขึ้น. มนัส  สุวรรณ  ( 2544 : 20 ) .

 

        สำหรับงานวิจัยทางไทยคดีศึกษานั้นก็อยู่ในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมของเผ่าชนคนไทที่มีอยู่ในโลกนี้  โดยศึกษาตั้งแต่เกิดจนตายก็ว่าได้  โดยศึกษาวิจัยทางไทยคดีศึกษาเพื่อความรู้วิถีคนไท  ความเชื่อของคนไท  ลักษณะนิสัยใจคอ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย  ความชอบความไม่ชอบ  วัฒนธรรม  ศาสนาที่เคารพนับถือ ความเป็นอยู่ในทางสังคม  วิถีชุมชนคนไทกลุ่มต่าง ๆ การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของไท  รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นไททั้งมวล  อย่างนี้เป็นต้น.

หมายเลขบันทึก: 491822เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท