ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

"หนึ่งจอคอมพ์กับเมาส์ 40 ตัว" เรียนสนุกได้ไม่ต้องพึ่งแท็บเล็ต


ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามที่ว่า การแจกแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 ของรัฐบาล ด้วยมูลค่ามหาศาลนั้นคุ้มหรือไม่คุ้ม บางทีเทคโนโลยีมัลติพอยท์ที่ใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิด อาจเป็นนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ เติมเต็มภูมิปัญญา และเป็นคำตอบของวิธีแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไทยก็เป็นได้

ปัญหาสำคัญด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนหลายแห่งในสังกัด สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 5 คือการอ่านหนังสือ เนื่องจากเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา เช่น เผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งมกจะใช้ภาษาชนเผ่าของตัวเองเป็นหลัก ทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง  ทาง สพป.เชียงใหม่ เขต 5 จึงได้กำหนดนโยบายให้แต่ละโรงเรียนในสังกัดต้องส่งเสริมการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ 100%

            ดังนั้นกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายในสังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 5 จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย ร.ร.บ้านห่างหลวง  ร.ร.บ้านขุนแม่ตื่นน้อย  ร.ร.ตรีมิตรวิทยา  ร.ร.บ้านห้วยหล่อดูก ร.ร.บ้านตุงติง  ร.ร.บ้านทุ่งจ่าเริง  ร.ร.บ้านยางแก้ว  ร.ร.บ้านวังกอง  ร.ร.บ้านดอยคา และ ร.ร.บ้านแม่ตื่น จึงร่วมกันจัดทำ โครงการสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกันด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ ขึ้น โดยได้รับทุนจากโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 1/2554 ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

            “มัลติพอยท์” คือ เทคโนโลยีที่ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนใช้เมาส์ควบคุมการใช้งานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ร่วมกันบนหน้าจอเดียว เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันบนสไลด์ที่ออกแบบมา โดยใช้แอพลิเคชั่น Mouse Mischief PowerPoint add-in เป็นตัวที่ช่วยให้สามารถใช้เมาส์หลายๆ อันร่วมกันได้ ซึ่งในหนึ่งหน้าจอสามารถรองรับการใช้งานได้ถึง 40 เมาส์ โดยครูผู้สอนจะใช้โปรแกรม วินโดว์มัลติพอยท์ เพื่อควบคุมการอนุญาตให้เมาส์เคอร์เซอร์อันไหนสามารถแสดงสถานะใช้งานได้หรือไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

เทคโนโลยีมัลติพอยท์ สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมที่ครูออกแบบได้หลายประเภท เช่น   กิจกรรมลากแล้ววาง การแสดงความคิดเห็น  จิ๊กซอว์  เลือกตอบ 4 ทาง เลือกถูกผิด การวงแล้วอธิบาย การเติมคำในประโยค การเติมคำในรูป การแยกส่วนประกอบรูป การพิมพ์ตอบคำถาม และการจัดหมวดหมู่โดยลาก-วาง เป็นต้น

            สมพงษ์ แสนสำโรง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห่างหลวง ต.ห่างหลวง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ประธานโครงการฯ เล่าว่า เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ถือเป็นนวัตกรรมช่วยส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิ์ภาพการเรียนการสอนให้แต่ละโรงเรียนอย่างมาก โดยตัวนักเรียนเองได้ทำสิ่งแปลกใหม่ มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และสนใจการเรียน ทำให้เด็กพัฒนาความรู้ความสามารถในการเรียนได้อย่างรวดเร็ว ไม่รู้สึกเบื่อในการเรียนวิชายากๆ เช่น คณิตศาสตร์ และอังกฤษ นอกจากนั้นแล้วยังช่วยให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาด้านการอ่าน การเขียนและการคิดคำนวณ

ส่วนครูผู้สอนที่ได้มีการฝึกการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ส่งผลให้ครูมีความรู้ ความสามารถในด้านของการผลิตสื่อและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และยังทำให้ครูมีประสบการณ์ใหม่และนำมาปรับใช้ในกาเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวครูเองและเด็กนักเรียนอีกด้วย

ตัวชี้วัดถึงความสำเร็จที่ชัดเจนภายหลังจากการนำเทคโนโลยีมัลติพอยท์มาใช้ในหลายโรงเรียน พบว่า ผลการสอบ O-NET ของ ป.6 ผลการสอบ NT ของ ป.3 และ ผลการเรียนของนักเรียนทุกระดับชั้นในปีการศึกษา 2554 เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

            “หากเปรียบเทียบมัลติพอยท์กับโครงการแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 ของรัฐบาลนั้น มัลติพอย น่าจะคุ้มค่าและมีประโยชน์มากกว่า เพราะเข้าถึงเด็กได้ง่าย ใช้งานง่าย และเด็กก็ยังได้ฝึกใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นอีกด้วย” ครูสมพงษ์ บอกและว่า การแจกแท็บเล็ตนั้น ต้องมองถึงบริบทรวมด้วยว่าเหมาะสมกับเด็กพื้นที่ห่างไกลหรือไม่ เพราะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเท่าที่ควร แล้วการใช้งานมันยุ่งยากสำหรับเด็กหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัวนานมาก อีกทั้งเด็กวันนี้ยังไม่เติบโตพอที่จะรับรู้สิ่งแปลกๆใหม่ ที่มันซับซ้อนเกินไป

            ขณะที่ สิริลักษณ์ ธรรมบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหล่อดูก ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่ทางโรงเรียนได้นำเทคโนโลยีมัลติพอยท์มาปรับใช้ในทุกชั้นเรียนนั้น พบว่าผลการประเมินการอ่าน วิเคราะห์และเขียน ร้อยละ 80 สามารถพัฒนาผ่านเกณฑ์ประเมินจากระดับดีเป็นดีเยี่ยม โดยเฉพาะหลังจากใช้สื่อมัลติพอยท์มาใช้ประกอบการเรียนการสอน นักเรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องการสร้างโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งต้องใช้ สมาธิ ความอดทน การลองผิดลองถูก ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหากว่าจะประสบความสำเร็จในการประกอบหุ่นยนต์ควบคุมโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปแข่งในเวทีระดับชาติ  ซึ่งสิ่งที่เป็นแรงผลักดันก็คือ แรงจูงใจจากการเรียนรู้สื่อมัลติพอยท์ นั่นเอง

            ทางด้าน ด.ช.สดใส โสมสุริยา ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านหล่อดูก บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้ใช้มัลติพอยท์  และมีความผูกพัน เพราะเคยเล่นมาก่อนจนชิน แม้ที่บ้านไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ตาม จึงรู้สึกสนุกและอยากเรียนในวิชาที่ได้ใช้มัลติพอยท์ทุกครั้ง เพราะจะได้เล่นคอมพิวเตอร์ด้วย เวลาเรียนก็ไม่เบื่อ ได้เรียนรู้กับเทคโนโลยี  คณิต วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ถือว่าสนุกและได้ความรู้ได้อีกด้วย

            ส่วน ดร.อุบล เล่นวารี ประธานโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในโรงเรียน สสค. ให้ความเห็นว่า โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถม ศึกษา ครั้งที่ 1/2554 เน้นการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมศึกษา ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.การพัฒนาสมรรถนะการอ่าน (Literacy) 2.ความสนุกกับการเรียนรู้ (Play and Learn) และ 3.การพัฒนาคุณลักษณะที่ดีงามของผู้เรียน

            โครงการสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกันด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ ของกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายในสังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 5 นั้น ถือว่า ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วจากการประเมินพบว่า อยู่ในระดับดีเด่น  เป็นโครงการที่ได้รับความชื่นชมเนื่องจากบริบทของพื้นที่จากการที่นักเรียนเป็นชาวเขามีปัญหาทางการเรียนการสอนมากแต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมัลติพอยท์มาใช้เป็นการทะลายปัญหาให้หมดไป และช่วยแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอได้อีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพราะคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวสามารถใช้งานได้หลายคนร่วมกัน

            ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามที่ว่า การแจกแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 ของรัฐบาล ด้วยมูลค่ามหาศาลนั้นคุ้มหรือไม่คุ้ม บางทีเทคโนโลยีมัลติพอยท์ที่ใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิด อาจเป็นนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ เติมเต็มภูมิปัญญา และเป็นคำตอบของวิธีแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไทยก็เป็นได้

 

หมายเลขบันทึก: 491626เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมว่ามันคนละเรื่องเดียวกันเลยนะครับ เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ !

otpc มาจาก olpc ที่ได้เคยนำมาทดลองใช้กับเด็กไทยก่อนเกิดกบฏปี 2549 มีผลการวิจัยลองไปค้นดูนะครับ เป้าหมายที่แท้จริงของโครงการไม่ใช่แค่พัฒนาเด็กให้เรียนรู้กับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการศึกษาให้กับเด็กไทยทั่วประเทศให้มีความเท่าเทียมกันโดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด

เป็นเรื่องทางการบริหารจัดการระดับชาติ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ถ้าเปรียบกับเรื่องของเศรษฐศาสตร์ก็เป็น macroeconomics ไม่ใช่ microeconomics

ที่จริงผมว่ารัฐบาลเจ้าของนโยบายเองก็มั่ว เพราะโครงการนี้เหมาะกับเด็กที่อยู่ห่างไกลและขาดโอกาสมากกว่าเด็กในเมือง

"What children lack is not capability, it is opportunity and resources." http://one.laptop.org/about/education

ถ้าเราค่อยๆทำความเข้าใจกับ "mission" ของเขาให้ลึกซึ้งบางที่เราอาจเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมต้องเป็น "laptop" หรือ "taplet" http://one.laptop.org/about/mission

Learning media (and devices) are just tools for learning. Multipoint mouse can teach chilfren to take turn rather than be instantaneous and selfish. In taking turn, we can learn an important skill in life --how to respect the right of other people--.

ผมเห็นด้วยว่าเป็นคนละเครื่องมือที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ครับ แล้วเรื่อง tablet เป็นเรื่องระดับโลกที่ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรจะมองข้ามการเมืองของไทยกันได้แล้วนะครับ

ตอนนี้มาเลย์เซียก็แจก tablet แล้วนะครับ specification ของเครื่องใกล้เคียงกับของไทย (และของที่อื่นๆ ทั่วโลก)

อย่างไรก็ตาม multipoint mouse system นี่น่าสนใจมากครับ

การใช้เครื่องมือไม่ใช่ว่าเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราต้องเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท