บันทึกถึงดวงดาว 9


เป็นงานเขียนใน"วิทยาจารย์"(คุรุสภา)นิตยสารที่ไม่ไ้ด้วางจำหน่ายในท้องตลาด ขอนำมาเผยแพร่ครับ อาจจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย-(ขอสละสิทธิ์ในการรับรางวัลใดๆ ครับเพราะเป็นงานที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว--ปณิธิ)

บันทึกถึงดวงดาว  9

กระท่อมดาริกา

น้องดาวที่รัก  

       วันที่พี่กำลังเขียนบันทึกนี้   ตรงกับวันที่ 29  กรกฎาคมพอดี   คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะครูภาษาไทยย่อมรู้ดีว่าเป็น  วันภาษาไทยแห่งชาติ”   ซึ่งนับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของชาติ ภาษาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษรังสรรค์ให้ลูกหลานได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยมีภาษาเป็นของตนเอง จะพูดจะเขียนจะสื่อสารกันก็ใช้ภาษาของตนไม่ต้องไปหยิบยืม ภาษาของใครมาใช้

     ที่พูดมาทั้งหมดนี้เพียงอยากจะบอกน้องดาวว่าปัจจุบันนี้ภาษาไทยของเรานับวัน “ดูเหมือน” จะลดความสำคัญลงไปทุกที ๆ ยิ่งมีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเพียงใดการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง ก็มีให้มองเห็นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอินเทอร์เนตหรือโทรศัพท์มือถือ    ที่มักส่งหรือพิมพ์ข้อความ สื่อสารกันแบบห้วน ๆ สั้น ๆ  แทนการเขียนด้วยลายมือ   การทำการบ้านของนักเรียน ครูหลายคน  นิยมให้พิมพ์ จัดเป็นรูปเล่มสวยงามกันแทบทุกวิชา พี่สังเกตดูลายมือของลูกศิษย์มาหลายรุ่นแล้ว   ตั้งแต่ที่เขาเข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ใหม่ ๆ ลายมือส่วนใหญ่สวยงามเป็นระเบียบ อ่านง่าย    มีหัวมีหางพอเหมาะพอควร  แต่พอเรียนสูงขึ้นลายมือกลับ  “แย่ลง” งคนแทบดูไม่ออกเลยว่าเขียนเป็นภาษาไทย

            พี่ไม่ได้โทษคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เนตหรือโทรศัพท์มือถือหรอกนะ  เพราะหากมองในแง่การใช้ประโยชน์ก็นับว่าคุ้มค่า   แต่หากใช้จนเกินพอดี   บางทีก็อาจไปทำลายบางสิ่งบางอย่างได้เช่นกัน   ดังนั้น ลูกศิษย์ของพี่จึงต้องทำงานด้วยลายมือของตัวเอง แต่พี่ไม่ได้สั่งให้ทำจนลืมนึกถึงวิชาอื่นหรอกนะ   เพราะวิชาอื่นเขาก็ต้องสั่งให้ทำเหมือนกัน    บางทีอาจจะมากกว่างานที่พี่ให้ทำด้วยซ้ำ

      สำหรับเรื่องลายมือและเรื่องการบ้าน พี่ขอ “บ่น”   ไว้แค่นี้ก่อนนะ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่   เกี่ยวข้องกับภาษาไทยของเราก็คือ “การเขียนหรือการแต่งบทประพันธ์” พี่รู้สึกว่านักเรียนไม่ค่อยมีทักษะและมักทำคะแนนได้ไม่ดีนัก  ส่วนใหญ่เกิดจากไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร จะเริ่มอย่างไร  จบอย่างไร อับจนถ้อยคำ และที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสะกดคำง่าย ๆ ผิดเป็นประจำ   พี่จึงกังวลและเป็นห่วงว่า ต่อไปนักเรียนของเราจะคิดไม่ได้  เขียนไม่เป็น แล้วสุดท้าย “งานฉันทลักษณ์”   ที่นับวันเด็กรุ่นใหม่มองว่าล้าสมัยจะกลายเป็นเพียง “มรดกบนหิ้ง” ไร้คนสืบทอดในที่สุด

            น้องดาวลองอ่านเรื่องนี้นะ แล้วช่วยตอบพี่ด้วยว่าหากพี่สอนลูกศิษย์อย่างนี้ ในอนาคตเราจะมีนักเขียนหรือนักประพันธ์เป็นดาวประดับฟ้าวรรณกรรมมากขึ้นหรือไม่  เขาจะธำรงวัฒนธรรมทางภาษาของชาติให้อยู่ยั้งยั่งยืนได้หรือเปล่า...

.................................................................

สำเริง (ไม่) สำราญ

      ถ้านายสำเริงเป็นแมว  ก็ต้องเป็นแมวขี้อ้อน ร้องเหมียว เหมียว... พันแข้งพันขา ดักหน้า-ดักหลังเจ้าของไม่ยอมห่าง สำเริงเป็นคน เป็นชายวัยรุ่นและต่างกับแมวตรงที่ต้องมาโรงเรียน อ่านเขียนหนังสือ ถึงคาบเรียนวิชาการแต่งคำประพันธ์ สำเริงจะคอยถามโน่นถามนี่เป็นระยะๆ   ฉันนั่งสอนอยู่หน้าห้องที่ยกพื้นขึ้นมาประมาณ 20 เซนติเมตร  จำลองว่าเป็นเวทีเพื่อให้นักเรียนได้ออกมาทำกิจกรรมหน้าห้องในบางคาบได้สะดวก     สำเริงพร้อมกับเพื่อนอีก 2-3 คนก็จะมานอนพังพาบกับเสื่อน้ำมัน อยู่ใกล้แข้งใกล้ขา…เป็นประจำ

    “จารย์ครับ นอน กับ จร  สัมผัสกันได้ไหมครับ”  สำเริงเคยถามขณะทำแบบฝึกเรื่องสัมผัสสระ                                                      

     “เรียกชามเลยซีพ่อคุณ” ฉันประชด

      “นอนสระอะไร สะกดด้วยมาตราอะไรล่ะ”                 

      "สระออ แม่กนครับ"

      ถูกต้อง หน้าตาขี้เหร่แต่ฉลาดนะเนี่ย  แล้วคำว่าจรล่ะ”               

       “สระออ แม่…” สำเริงออกอาการอ้ำอึ้ง                                         

      “งงเหรอ อ้าวนักเรียน  คำว่า  จร   สะกดด้วยแม่อะไร”     

        ฉันถามนักเรียนคนอื่น ๆ  แล้วก็ได้คำตอบที่ถูกต้อง                          

       “ใช่ - ใช่ แม่กน ผมลืมจริง ๆ”   สำเริงถึงบางอ้อ พร้อมกับยกกำปั้นเคาะหัวตัวเองสองสามที…  คงไม่ใช่การประจาน หากจะบอกว่าสำเริงขี้ลืมและเรียนไม่เก่ง

        คาบแรกของวิชานี้ กว่าสำเริงจะเขียนเรียงลำดับ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกได้ถูกต้อง  ก็ลุ้นกันแทบเหงื่อตก   (ที่จริงไม่ใช่สำเริงคนเดียวหรอกยังมีอีกครึ่งห้องในชั้น ม.4 นี้ที่พื้นฐานความรู้ใกล้เคียงกับสำเริง โธ่…มีเด็กมาเรียนก็นับว่าบุญนักหนาแล้ว สำหรับโรงเรียนมัธยม ฯ ประจำตำบลแห่งนี้) ภาคเรียนที่ผ่านมา สำเริงติด 0 หลายวิชา   พอถึงภาคเรียนนี้ ตัวของสำเริงยังดิ้นกระแด่ว ๆ  เพราะหัวติดศูนย์กระดิกกระเดี้ยไปไหนไม่ได้…

       “ผมชอบเรียนกับจารย์” สำเริงเคยคุยกับฉัน “จารย์ใจดี ไม่เคยดุด่าเด็ก” 

      “เฮ่ย จะให้พี่ดุไหมน้องพี่ทำได้นะ” ฉันทำหน้าถมึงทึงเข้าใส่             

       “ไม่เอาหรอกครับ…ยังงี้แหละสนุกดี  เรียนไป  ฟังเพลงไป ร้องเพลงก็ได้ นอนก็ได้นั่งก็ได้ เดินก็ได้ – ไม่เครียด”

      “อ๋อ เห็นชั่วโมงครู เป็นชั่วโมงระบายความใคร่  เอ๊ย  ความเครียดรึไง”

      ก็จริง ๆ จารย์ เนี่ย เวลาผมนอนเรียนได้ฟังเพลงด้วย   ผมแต่งกลอนได้จริง ๆ นะครับ –มันได้อารมณ์  สำเริงทำท่าเป็นศิลปิน

        จริงอย่างที่สำเริงว่า  ฉันเคยเห็น เวลาให้นักเรียนแต่งคำประพันธ์  สำเริงจะมานอนใกล้ ๆที่ฉันนั่ง มือถือปากกา  เอาคางเกยกับท่อนแขน ดวงตาจ้องมองที่กระดาษ    บางคราวก็เหม่อมองเหมือนปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับเสียงเพลง     คล้าย ๆ กับกำลังค้นหาถ้อยคำและเรื่องราวหลากหลายในโลกแห่งจินตนาการ เพื่อนำมาร้อยเรียงลงบนกระดาษสีขาวตรงหน้าขณะนั้น โลกของสำเริงคงระบายด้วยสีขาวบริสุทธิ์เหมือนกระดาษที่ขาวสะอาด

        ฉันอยากให้สำเริงอยู่ในโลกสีขาวใบนั้น นานเท่านาน...

        ปลายภาคเรียน….สำเริงขาดเรียนหลายวัน ฉันถามเพื่อน ๆ ในห้องก็ได้คำตอบว่าสำเริงไปรับจ้างทำงานก่อสร้างที่ต่างจังหวัด   ยังไม่ทันที่ฉันจะตามเรื่องนี้   แม่ของสำเริงก็มาลาออกจากโรงเรียนเสียก่อนแล้ว  ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีเงินและหัวสำเริงไปไม่ไหว – เรียนไม่ได้

        วันนี้    ฉันไม่มีหนุ่มร่างผอม ๆ ผิวขาว ๆ ปากบาง ๆ ช่างประจบเอาใจ มานอนเคล้าแข้งเคล้าขาอีกแล้ว

         ป่านนี้–มือบาง ๆ ที่เคยจับปากกา คงไปจับจอบจับฆ้อนจนพองและแตกเป็นแผล

         ป่านนี้–บ่าที่เคยสะพายกระเป๋าหนังสือ ก็คงแบกอิฐแบกปูนจนด้านหนา

         และป่านนี้ – ผิวขาว ๆ ก็คงเกรียมไหม้เพราะแดดแผดเผา

         สำเริง เธอเคยสำราญในห้องเรียน–เขียนบทกวี วันนี้ เธอยังมีความสำราญหลงเหลืออยู่บ้างไหมหนอ…

        ฉันหยิบกลอนชิ้นหนึ่งที่สำเริงเขียนส่งให้ตรวจในช่วงวันขึ้นปีใหม่  ตอนหนึ่งสำเริงเขียนว่า...

                         “ว่าไปแล้วอาจารย์ก็น่ารัก                  

                   อยากรู้นักว่าน่ารักจริงหรือไม่

                   พอไปดูจริงจริงก็ชื่นใจ                                               

                   ตอนได้ไปเที่ยวกับอาจารย์นะ

                   พาผมไปเที่ยวอย่างสนุก                     

                   ผมมีความสุขมากด้วยจ้ะ

                   อาจารย์พาไปกินหมูกระทะ                            

                   ผมก็กินอย่างตะกละ ตะเกียกตะกาย…”

        เมื่ออ่านจบ ฉันบันทึกไว้ท้ายกลอนว่า

 “กลอนชิ้นนี้ แม้จะไม่ไพเราะ   คำจะไม่งดงาม   แต่ก็สดสวยและมีเสน่ห์เหมือนดอกไม้ช่องามที่เธอบรรจงตัดแต่งมาจากสวนสวรรค์ มอบไว้ให้ครู และที่สำคัญเธอแต่งกลอนสองบทนี้ที่พื้นห้อง ข้าง ๆ โต๊ะครู ครูจำได้....ครูคิดถึงเธอนะ…สำเริง”

………………………………………….

     น้องดาวอ่านจบแล้วคิดว่าจะเป็นอย่างที่พี่พูดมาเหมือนข้างต้นหรือเปล่าล่ะ บอกให้พี่รู้บ้างนะ

      ก่อนจบ   พี่ขอฝากภาพบ้านของนักเรียนคนหนึ่งที่โรงเรียนพี่ (ซึ่งคล้าย ๆ กับสภาพบ้านของสำเริง)  ให้น้องดาวจินตนาการเอาเองว่าเขามาโรงเรียน อยู่ในโรงเรียนด้วยสภาพเช่นไร และอนาคตเขาจะเป็นเช่นไร

    ...และใครบ้างจะช่วยสร้างอนาคตที่งดงามให้เขา...

    …มือใครบ้างที่จะปั้นดินให้เป็นดาว...


รักและคิดถึง

               พี่ดิน

...............................................................

(วิทยาจารย์ ธันวาคม ๒๕๕๓)


คำสำคัญ (Tags): #ดาวดวงที่ 9
หมายเลขบันทึก: 491625เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ÄÄ...มือของเขา..เท่านั้น..ที่จะ..ปั้นดิน..ให้เป็นดาว....หากอนาคต..เขาไม่ได้..คิดคำนึง..ถึง..มันคือ..ความสุข..ของเขา..ที่..ใครก็แย่งไปไม่ได้...(แอบคิด...ยายธี)....ขอบคุณเจ้าค่ะ..

เด็กอย่างสำเริง ถ้าเป็นไปได้อยากส่งเขาเรียนนะคะอาจารย์ จะให้การสนับสนุนเขาให้ถึงที่สุดเลยค่ะ หวังว่าคงจะเจอบ้างในชีวิตนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท