การคิดตามหลักพุทธวิธี


ประมวลความรู้ เรื่อง โยนิโสมนสิการ กับ การคิด


http://www.dmc.tv/images/articles/picture_article/20100825_02.jpg

          ลักษณะในการคิดทางพระพุทธศาสนาที่องค์ศาสดาได้พิจารณาไว้นั้น ประกอบด้วยลักษณะการคิด ๔ ประการที่สำคัญ คือ คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล และคิดมุ่งในสิ่งที่เป็นกุศล ซึ่งเรียกว่าเป็นการคิดแบบ โยนิโสมนสิการ

          คำ "โยนิโสมนสิการ" นั้น แบ่งได้เป็น ๒ คำ คือ "โยนิโส" มาจาก "โยนิ" แปลว่า เหตุ ต้นตอ แหล่งกำเนิด ปัญญา อุบาย วิธีทาง และ "มนสิการ" หมายถึง การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ตรึกตรอง ใส่ใจ พิจารณา ซึ่งแปลความรวมได้ว่า โยนิโสมนสิการ เป็นการพิจารณาในใจโดยแยบคาย คือ กาารคิดเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงโดยพิจารณาเหตุผลเป็นลำดับไปจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนเห็นความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย


http://www.dhammajak.net/board/files/wave_of_life_172.jpg

          ลักษณะการคิดแบบโยนิโสมนสิการที่สำคัญ ๔ ประการ

                 ๑. อุบายมนสิการ คือ ลักษณะการคิดแบบวิเคราะห์กระบวนการ ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ เป็นการคิดที่ช่วยให้เข้าถึงรากเหง้าแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ

                 ๒. ปถมนสิการ คือ ลักษณะการคิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง มีลำดับขั้นตอนเป็นเหตุเป็นผลกัน เป็นระเบียบไม่วกวน (หรือนัยหนึ่งคือการคิดหลายทาง หรือหลายแง่หลายมุมก็ได้ เพื่อนำไปใช้พิจารณาแนวทางที่ถูกต้อง)

                 ๓. การณมนสิการ คือ ลักษณะการคิดสืบสาวหาเหตุผล จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์

                 ๔. อุปปาทกมนสิการ คือ ลักษณะการคิดมุ่งในสิ่งที่เป็นกุศล คือ ลักษณะการคิดที่มุ่งแต่สิ่งที่ดี ตัดขาดจากสิ่งไร้สาระ หรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดทุกข์แก่ตนและผู้อื่น

  
           ในปัจจุบันได้มีการนำหลัก โยนิโสมนสิการ มาเรียบเรียงเป็นวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการได้ ๑๐ วิธี ดังนี้


ภาพของคุณหมอ Patama ปัทมา Gomutbutra โกมุทบุตร คลิกรูปเพื่อดูขนาดเต็ม
http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/746/046/original_yonisomanussikarnmap.jpg

                 ๑. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุผล เป็นการสืบหาสาเหตุของสิ่ง (ผล) ที่เกิดขึ้น เมื่อได้เหตุแล้ว ก็หาสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุ (ผล) นั้นต่อไป จนได้ความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการทดลองและอภิปรายกลุ่ม

                 ๒. วิธีคิดแบบแยกส่วนประกอบ มุ่งพิจารณาเรื่องต่างๆตามความเป็นจริง เพื่อให้รู้ว่าเรื่องนั้นๆ มีองค์ประกอบย่อยอะไรบ้าง ประกอบกันขึ้นมาได้อย่างไร

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อค้นหา คิดวิเคราะห์

                 ๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์หรือไตรลักษณ์ เป็นการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆตามกฏไตรลักษณ์ คือ ทุกข์ (ความไม่อาจคงสภาพอยู่อย่างเดิมได้) อนิจจัง (ความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่) อนัตตา (ความไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตน)

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อยอมรับ คิดวิพากษ์

                 ๔. วิธีคิดแบบอริยสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา เป็นการคิดแบบสืบสาวจากผลไปหาเหตุ แล้วพิจารณาวิธีการแก้ไขที่เหตุ ซึ่งมักเริ่มด้วยการกำหนดปัญหา (ทุกข์) ทำความเข้าใจกับปัญหา สืบหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข (สมุทัย) ในขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายให้แน่ชัด พร้อมกันนั้นจึงคิดวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา (มรรค) และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ (นิโรธ)

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อแก้ปัญหา

                 ๕. วิธีคิดแบบอรรถสัมพันธ์ เป็นการคิดตามหลักการ มุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างหลักการกับความมุ่งหมาย/วิธีการ เมื่อวิเคราะห์จนรู้สภาพของปัญหาแล้ว จึงพิจารณาจุดหมายที่ต้องการและวิธีการที่จะตอบสนองจุดหมายนั้น จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ)

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อสร้างวิธีการ คิดสังเคราะห์  คิดอนาคต
                 ๖. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก เป็นการคิดโดยมองความจริง ยอมรับความจริงตามสิ่งที่เป็นอยู่ เพื่อให้รู้คุณโทษ ข้อดีข้อเสียทุกด้าน แล้วจึงคิดหาทางออกของปัญหา เลือกหนทางที่ดีที่สุดของปัญหาในกรณีต่างๆ แล้วจึงนำไปปฏิบัติ

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อเลือกแนวทาง คิดเปรียบเทียบ คิดเชิงกลยุทธ์

                 ๗. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม เป็นการคิดที่สกัดหรือบรรเทาตัณหาของมนุษย์ โดยพิจารณาด้วย "สติ" และ "ปัญญา" แยกแยะให้ได้ว่าสิ่งนั้นๆ มี"คุณค่าแท้" หรือ "คุณค่าเทียม"

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อประเมินคุณค่า คิดลึกซึ้ง คิดประยุกต์

                 ๘. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม เป็นการคิดที่ใช้หลักการที่ว่า "บุคคลเมื่อประสบอารมณ์หรือรับรู้สิ่งใดก็ตาม แม้เป็นของอย่างเดียวกัน แต่การมองเห็นและนึกคิดอาจปรุงแต่งไปคนละอย่างตามโครงสร้างของจิตใจ"

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดอย่างสร้างสรรค์

                 ๙. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน เป็นการคิดในแนวทางของความรู้ ภายใต้อำนาจของปัญญา ไม่ตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ พิจารณา "ความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์" ไม่อาลัยอาวรณ์สิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรืออารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจ ยึดสัมมาสติ เป็นสำคัญ

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อการไม่ยึดติด คิดอย่างมีวิจารณญาณ

                 ๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท (วิภัชชวาท ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด แต่การคิดและพูดเป็นกรรมที่ใกล้กันมากที่สุด เพราะสิ่งที่พูดล้วนมาจากการคิด) โดย วิภัชชวาท มาจาก ๒ คำ คือ "วิภัชช" แปลว่า แยกแยะ จำแนก  และ "วาท" แปลว่า การพูด การกล่าว ซึ่งเราอาจให้ความหมายของวิภัชชวาท ได้เป็น การพูดแจกแจง จำแนก แยกแยะ ด้วยการมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละด้านของสิ่งนั้นๆครบทุกแง่มุม

ในชีวิตประจำวัน มักใช้ในการคิดเพื่อระดมสมอง คิดละเอียด

หมายเหตุ: บันทึกนี้เป็นการสรุปความจากการอ่านหนังสือ ครบเครื่องเรื่องการคิด พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ โดย ดร.สุวิทย์  มูลคำ ซึ่งครูปอนด์ได้รับเมื่อครั้งที่ท่านสุวิทย์ ได้จัดอบรมให้ครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต ๑ ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการอยู่ ณ ขณะนั้น (ตอนนั้นยังไม่แยก สพป./สพม.) ต้องขอขอบพระคุณท่านสุวิทย์ที่มีน้ำใจอธิบายโดยพิสดาร...

หมายเลขบันทึก: 490922เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับคุณครูที่ให้ข้อมูล

ตามที่ต้องการเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท