หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การเสริมสร้างสมรรถนะนักสร้างเสริมสุขภาพจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน (คณะสาธารณสุขศาสตร์)


การดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง ควรต้องเริ่มจากตัวตนของ “ชาวบ้าน” (ชุมชน)เป็นที่ตั้ง เสมือนให้แต่ละคนเชื่อว่าตนเองคือ “หมอ” ที่ดีที่สุด ชาวบ้านจึงต้อง “เรียนรู้” และ “เพิ่มพูน” ทักษะการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องผ่านระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

ในทุกครั้งที่แต่ละหลักสูตรสัญจรลงจัดกิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม ผมมักติดตามลงพื้นที่ด้วยเสมอ  เว้นเสียแต่ติดภารกิจ หรือได้รับการประสานที่ค่อนข้างกระชั้นชิด จนไม่สามารถบริหารจัดการ หรือสับหลีกใดๆ ได้

เฉกเช่นกับเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕  เป็นอีกวันที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์โครงการ “พัฒนาสมรรถนะของนักสร้างเสริมสุขภาพ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต”  ณ บ้านลิ้นฟ้า หมู่ที่ 6 ตำบลกุดใส้จ่อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

  • ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของคณะสาธารณสุขศาสตร์ที่ขับเคลื่อนตามนโยบายเชิงรุก “๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน”

 

 

การสังเกต (Observation) ที่ว่านั้น ผมวางบทบาทตนเองเป็นเพียงผู้สังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant Observation) ด้วยการเฝ้ามองกิจกรรมและกระบวนการของอาจารย์ นิสิตและชาวบ้านอยู่วงนอก  ถึงแม้ผู้เกี่ยวข้องจะมาบอกกล่าวและเชิญผมเข้าสู่พิธีการ  หรือแม้แต่แนะนำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชนได้รู้จัก  แต่ผมก็ออกตัวขอเป็นเพียง “ผู้สังเกตการณ์”  เพื่อให้ “พระเอกและนางเอก” ตัวจริงได้ขับเคลื่อนงานของตัวเองอย่างสง่างาม

 

 

จากชั้นเรียนสู่ชุมชน >>

โครงการดังกล่าว ผู้รับผิดชอบหลักคือ ผศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต ซึ่งท่านปักธงการ “เรียนรู้คู่บริการ”  ไว้ชัดเจนว่า (๑) เพื่อพัฒนาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต  โดยวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติในชุมชน ในการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของนักสร้างเสริมสุขภาพ และมุ่งสู่ความเป็นวิชาชีพ (๒) พัฒนาสมรรถนะหลัก (Core Competency) ของนักสร้างเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และเพื่อมุ่งสู่ความเป็นวิชาชีพ (๓) ปรับปรุงรายวิชาให้มีเนื้อหาครอบคลุมแนวคิด และสร้างทักษะด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยเน้นภาคปฏิบัติร่วมกับชุมชน

ซึ่งนั่นก็เป็นแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนผ่านเหตุการณ์จริง โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning : PBL) ของการเรียนรู้


ผศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต

 

กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมยกแรกๆ ที่เกิดขึ้น และยังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือน  ซึ่งในวันดังกล่าวมี “กิจกรรมหลัก” นำร่องคือการ ออกหน่วยให้บริการด้านสุขภาพแก่กลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง และประชาชนทั่วไปแบบเชิงรุกในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพที่ดีให้กับประชาชนชาวตำบลกุดใส้จ่อ

 

 

 

 

ทุกๆ อย่างเริ่มต้นจากชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน >>

ผมชื่นชอบกิจกรรมในทำนองนี้มาก เพราะเห็นกิจกรรมเชิงรุกที่แตกต่างไปจากเวทีอื่นๆ ที่ผมไปพบไปเจอมาอยู่พอสมควร  กล่าวคือ แทนที่จะดุ่มเดินแบกความรู้ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพดี (Healthy) ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ (Quality of Life) ผ่านกลไกสำคัญๆ คือแนะนำ แจกเอกสาร ตรวจโรค จ่ายยา ฯลฯ  หากแต่ครั้งนี้พลิกมุมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง “อาจารย์-นิสิต-ชาวบ้าน” อย่างน่าสนใจ

การแลกเปลี่ยนที่ว่านั้น หมายถึงอาจารย์และนิสิต ไม่ได้ปักหลักให้ความรู้แต่เพียงฝ่ายเดียว ตรงกันข้ามกลับพยายามกระตุ้นให้ชาวบ้านได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเอง  เปิดพื้นที่ให้กลุ่มเสี่ยง หรือแม้แต่กลุ่มเปราะบางได้บอกเล่า “วิธี” การ “ดูแลตัวเอง”  ให้มากที่สุด เพราะนั่นคือ “ปัญญาปฏิบัติ” ที่ทรงคุณค่าทั้งในมิติของ “ภูมิปัญญา” และ “แพทย์แผนใหม่” ที่บางทีแม้แต่ชาวบ้านเองก็อธิบายไม่ถูกว่าวิธีการที่สั่งสมมาอย่างยาวนานนั้น “คืออะไร และมีศัพท์แสงทางวิชาการอย่างไร”

 


กระบวนการเช่นนั้น ผมมองว่าเป็นเจตนารมณ์ที่อาจารย์และนิสิตเชื่อมั่นว่า การดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง ควรต้องเริ่มจากตัวตนของ “ชาวบ้าน” (ชุมชน)เป็นที่ตั้ง เสมือนให้แต่ละคนเชื่อว่าตนเองคือ “หมอ” ที่ดีที่สุด ชาวบ้านจึงต้อง “เรียนรู้” และ “เพิ่มพูน” ทักษะการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องผ่านระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ  เพราะ “รัฐ” หรือ “คนอื่น” เป็นเพียงผู้มา “หนุนเสริม”  หรือแม้แต่ไม่ใช่คนที่จะดูแลและให้บริการด้านสาธารณสุข (Public Health) เสียทั้งหมด หากแต่ชาวบ้านนั่นแหละ คือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลตัวเอง (people-Centered Health) ให้มาก และให้ดีที่สุด  โดยไม่จำเป็นต้องเฝ้ารอ หรือฝากชะตากรรมไว้ในอุ้งมือของคนอื่น

ผมมองว่า นี่คือกลไกหนึ่งที่หนุนนำให้ชุมชนได้ทบทวนศักยภาพตัวเอง เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งภายใต้บริบทของตัวเองด้วยเหมือนกัน  ทั้งยังเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิด “นักสร้างเสริมสุขภาพ” ประจำครอบครัวและชุมชนไปพร้อมๆ กัน

 

 

เครือข่าย พลังสร้างสรรค์ พลังสุขภาพ >>

กิจกรรมครั้งนี้ผมเห็นความโดดเด่นในเชิงการทำงานแบบเครือข่ายที่ดีเยี่ยมเพราะเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Participation) ของผู้คนในท้องถิ่น (Local People) ซึ่งต่างขยับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน นับตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. รพ.สต. อสม. ไม่เว้นแม้แต่ครู นักเรียน และพระสงฆ์ก็มีส่วนร่วมด้วยกันทั้งนั้น ทั้งการร่วมคิด>ร่วมตัดสินใจ>ร่วมลงมือทำ หรือแม้แต่มาเพื่อรับบริการล้วน ก็ถือว่าไม่ผิด

ผศ.ดร.วรพจน์ฯ  เคยเล่าถึงสาเหตุของการเลือกชุมชนแห่งนี้ให้ผมฟังประมาณว่า   

... ชุมชนแห่งนี้ มีความสนใจเรื่องการสร้างระบบสุขภาพมาก
เคยไปดูงานในชุมชนต่างๆ เห็นผลงานที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมทำกับชุมชนต้นแบบ
จึงอยากให้มหาวิทยาลัยมาช่วยสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้บ้าง
เมื่อลงชุมชน  ก็ได้รู้ว่าชุมชนยังไม่เคยได้เรียนรู้ระบบสุขภาพ
ในลักษณะของการพัฒนาสมรรถนะหลักเพื่อเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพเลย
เพราะที่ผ่านมาเคยแต่การมาตรวจสุขภาพและรับยาไปทาน ...

 

 


หรือแม้แต่   

...ผู้นำชุมชนที่นี่เข้มแข็งมาก ใ
ห้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของชาวบ้านเป็นพิเศษ
พอแลกเปลี่ยนกันก็ผุดแนวคิดเชิงรุกร่วมกัน
ดังจะเห็นได้จากเวทีวันนี้
ผู้นำจากภาคส่วนต่างๆ ก็เป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น
และที่สำคัญคือกิจกรรมเหล่านี้ถูกบรรจุเข้าเป็นแผนของ อบต.ด้วย...

 

 

ครับ ผมมองว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะเกิดจากความต้องการของชุมชน อันหมายถึง “ชาวบ้านและส่วนราชการในท้องถิ่น” (อปท.) กอปรกับเมื่อชาวบ้าน-ผู้นำ-มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เครือข่ายต่างๆ มีอุดมการณ์ร่วมกัน (Shared Ideal)  กระบวนการขับเคลื่อนต่างๆ จึงก่อเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างมีพลัง  โดยมี “เป้าหมาย” (Goal) หลักคือชุมชนมีสุขภาวะ หรือมี  “นักสร้างเสริมสุขภาพ” ที่มีศักยภาพนั่นเอง

 

 

 

างสิ่งบางอย่างที่ยังต้องหนุนเสริมการเรียนรู้ของนิสิต >>

แน่นอนครับ การจัดกิจกรรมเรียนรู้และให้บริการวิชาการแก่สังคมในแต่ละครั้ง  ผมไม่เคยละเลยการตั้งคำถามกับนิสิตว่า “เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร...ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เห็น สิ่งที่รู้สึก หรือได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ลงมือทำ”

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน  เมื่อเวลาผ่านพ้นมาซักระยะหนึ่ง  ผมจึงถือโอกาสแลกเปลี่ยนกับอาจารย์วรพจน์ฯ อีกครั้ง  โดยถามทักถึงกระบวนการเรียนรู้ชุมชนไปในตัว  เพราะเกรงว่านิสิตจะมุ่งไปแต่เฉพาะเรื่องราวในสาย “วิชาชีพ”  จนลืมบริบทชุมชนในทาง “สังคมศาสตร์” ไป  เป็นต้นว่า ชื่อบ้านนามเมือง  อาชีพ  สถานที่สำคัญ  ความเชื่อ  ตำนาน ประเพณี การละเล่น สมุนไพร  ฯลฯ

 


ด้วยเหตุนี้ผมจึงฝากประเด็นให้อาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมให้กับนิสิตอีกครั้ง  เป็นการเติมเต็ม หรือหนุนเสริมการเรียนรู้ให้กว้างและหลากหลายขึ้น หรืออาจยกระดับถึงขั้นทำกระบวนการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (Critical Recovery of History) ด้วยยิ่งดี

(หรือจะเป็นเพียง "เรียนเพื่อให้รู้"  โดยไม่ต้องหยั่งลึก-ก็ไม่ผิด)

 

ซึ่งกรณีดังกล่าว ผมถึงขั้นออกตัวขันอาสาเป็นหนึ่งในทีมงานที่จะลงแรงช่วยติดอาวุธให้กับนิสิตก่อนลงสู่ชุมชนอีกรอบ

 

 

หมายเลขบันทึก: 490908เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 01:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เรียนอาจารย์ แผ่นดิน ...สาธารณสุขชุมชน (ทุกๆ อย่างเริ่มต้นจากชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน )

เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เอาคนในชุมชนเป็นศูนย์ ร่วมเรียนรู้ สร้าง พัฒนา แท้ที่จริงแล้ว

พระเอกนางเอกผู้แสดงตัวจริงคือชาวบ้าน นักศ฿กษา อาจารย์ เป็นตัวประกอบ และกำกับ คือเรื่องสร้างสุขให้ชุมชน

พัทลุง เขาคิดจะ "บัดสาด"ทางการเมือง ภาคพลเมืองแล้วครับ

พี่พนัส นู๋ได้รับรายละเอียดโครงการแล้วนะคะ ^_^

เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ทำงานเพื่อชุมชน กลุ่มงานกิจกรรมนิสิตได้ปรับแผนงาน... โดยการให้นิสิตได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมกับชุมชน โดยการผ่านเวทีโครงการธรรมะในสถานศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่การพัฒนาชุมชน

สวัสดีครับ พี่บังวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

นิสิต อาจารย์ ชาวบ้าน-เครือข่ายต่างๆ เป็นตัวจริงเสียงจริงครับ
และก็เป็นจริงเหมือนบังบอก "ชาวบ้าน" คือ "พระเอก" โดยแท้
ส่วนมหาวิทยาลัย หรืออื่นๆ คือผู้หนุนเสริมแบบมีส่วนร่วม
ซึ่งผมเลยยกเครดิตให้เป็นพระเอกนางเอกร่วมกัน

ครับ-ด้วยความที่ผมเป็นคนไม่ชอบงานพิธีการ 
ไม่ปรารถนาเข้าไปคั่นกลางกระบวนการใดๆ เป็นพิเศษ
ถึงแม้อาจารย์ที่รับผิดชอบหลักจะเข้ามาเชิญ เพื่อแนะนำให้ชาวบ้านรู้จัก
แต่ผมก็ปฏิเสธ และขอแทรกตัวเรียนรู้เงียบๆ  เพราะอยากให้ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีของมัน

นั่นคือสไตล์ถนัดที่ผมชอบทำ ...เสมอมา

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ เจน

ขอบคุณสำหรับการมาหนุนเสริมเรื่องกระบวนการประชาสัมพันธ์นะครับ เพราะไม่เพียงเติมพลังให้คนทำงานเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการเป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ร่วมกับสังคมภายนอกได้เป็นอย่างดี  พี่เชื่อว่า หากถอดบทเรียนดีๆ จะได้ชุดความรู้ที่ว่าด้วยกลไก/วิธีการ/กระบวนการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม/ให้บริการ/เรียนรู้ชุมชนได้เป็นอย่างดี  หรืออย่างน้อยก็เห็นแนวทาง รูปแบบ สไตล์ของ "มมส" ในเรื่องดังกล่าว

สวัสดีครับ คุณแดนไท

เห็นดีด้วยกับกิจกรรมที่จะมีขึ้นนะครับ อาจจัดได้ทั้งในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในหมู่บ้านรอบๆ มหาวิทยาลัย ผูกโยงไปจนถึงเทศกาลเข้าพรรษา  พานิสิตไปทำวัตร ปฏิบัติธรรมเป็นระยะๆ  มีการร้อง หรือสรภญญะร่วมกันระหว่างนิสิตกับชาวบ้านด้วยก็ดี

ที่สำคัญการเคลื่อนตัวออกสู่ชุมชนนั้น  จะทำให้นิสิตได้เกิดโลกทัศน์ใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย  เห็นคลังความรู้ในชุมชน เห็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง

ให้กำลังใจนะครับ-

อยากจะบอกว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" จริงๆๆ

กระบวนการในการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้อยู่ที่มีนักวิชาการที่เก่งกาจอยู่ในชุมชน แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ได้โดยชุมชน เพื่อชุมชน และคนในชุมชนเท่านั้นที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงข้อมูลพื้นฐานชุมชนได้ดีที่สุด

   เห็นการทำงานในแบบฉบับมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้หวนคิดถึงเมื่อครั้งยังทำงานกิจกรรมแบบล้มลุกคลุกคลาน (คลำทาง) จนมาวันนี้เรามีแนวทางที่แน่ชัด

  ขอเป็นกำลังใจให้บอสส เดินทางเพื่อการพัฒนาต่อไปครับ...ขอบคุณถนนสายนี้ที่ผมเคยร่วมเคียงบ่าเคียงใหล่ และจะอยู่เคียงข้างตลอดไป

 

บริการวิชาการสู่สังคม สรรค์สร้าง เสริมพลังนิสิตสู่ชุมชน 

เยี่ยมจังเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้กับคนทำงานทุกท่านค่ะ

สวัสดีครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังอย่างสม่ำเสมอ นะครับ...

สวัสดีครับ เล็ก

อยากจะบอกว่าในทางกระบวนการนั้น  จุดแข็งคือการทำงานแบบมีส่วนร่วม ดังจะเห็นได้จากทีม รพ.สต. และ อสม. ยกทีมมาหมดเลยก็ว่าได้  ขณะที่นิสิตก็ทำงานและเรียนรู้การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น  ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ...

ส่วน ทีมผู้นำที่มาจากระบบท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. สมาชิกต่างๆ นั้น ก็พาเหรดมาช่วยงานกันอย่างคึกคัก นั่นคือภาพที่น่าภาคภูมิใจครับ  เหลือแต่การหนุนเสริมด้วยกิจกรรมอื่นๆ อีกรอบ พร้อมกับประเมินผลการดำเนินงาน  ซึ่งเหลือเวลาอีกร่วมๆ 3 เดือน..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท