Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทที่ 1 ภูมิภาคนิยม


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

          อาเซียน (ASEAN) คือ องค์กรการเมืองระหว่างชาติ (International Governmental Organization: IGO) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคเช่นนี้เรียกว่าภูมิภาคนิยม ดังนั้น ในบทที่ 1 จึงจะกล่าวถึงพัฒนาการในการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศแบบภูมิภาคนิยมประกอบด้วย 2 หัวข้อ โดยหัวข้อที่ 1 ว่าด้วยพัฒนาการการรวมตัวของกลุ่มประเทศแบบภูมิภาคนิยม ประกอบด้วย ความหมายและความสำคัญ แนวคิดและทฤษฎี พัฒนาการ อุปสรรคและโอกาส หัวข้อที่ 2 ว่าด้วยภูมิภาคนิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ประกอบด้วย ยุโรป เอเชียและเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา     

 

1.1 พัฒนาการการรวมตัวของกลุ่มประเทศแบบภูมิภาคนิยม

          1.1.1 ความหมายและความสำคัญ (อาจมีการอ้าง[i])[ii])

                        คำสำคัญที่หมายถึงการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศในภูมิภาค (regional integration) มี 3 คำ คือ คำว่าภูมิภาค ภูมิภาคนิยม และภูมิภาคาภิวัตน์ ซึ่งแต่ละคำมีความหมายและความสำคัญ ดังนี้

                        1.1.1.1 ภูมิภาค (region) ในความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง ประเทศจำนวนหนึ่งที่มีอาณาเขตเชื่อมติดต่อกันและมีการพึ่งพาอาศัยกันในระดับหนึ่ง (Nye, 1968)    

                        1.1.1.2 ภูมิภาคนิยม (regionalism) หมายถึง การรวมมือกันอย่างเหนียวแน่นของประเทศในภูมิภาคนั้น ๆ อย่างน้อย 3 ประเทศ ทั้งอย่างเป็นทางการและ/หรือไม่เป็นทางการของภาครัฐหรือเอกชนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน (Alagappa, 1994)[iii] ซึ่งโดยปกติภาครัฐเป็นผู้ริเริ่ม จึงเรียกการร่วมมือแบบนี้ว่า “ความร่วมมือแบบบนลงล่าง (above-down)” คือ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นพยายามร่วมกันก่อตั้งหน่วยงานหรือนโยบายภาครัฐร่วมกันแล้วจึงรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตาม                      

                   1.1.1.3 ภูมิภาคาภิวัตน์ (regionalization) หมายถึง กระบวนการความร่วมมือกันของภาคประชาชนของประเทศในภูมิภาคนั้น ๆ อย่างน้อย 3 ประเทศ ด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นหลักโดยจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จึงเรียกกระบวนการความร่วมมือแบบนี้ว่า “ความร่วมมือแบบล่างขึ้นบน (below-up)” (Hurrell, 1995)[iv]

                        คำจำกัดความของคำทั้ง 3 นี้ ไม่มีข้อกำหนดตายตัวด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ การเป็นปรากฏการใหม่ยังไม่มีคำอธิบายที่ตกผลึกในทางทฤษฎี และการเป็นกระบวนการที่เกื้อหนุนกัน ดังนั้น คำจำกัดความที่ให้ไว้ในที่นี้จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเพื่อใช้ทำความเข้าใจอาเซียน

                        คำจำกัดความดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายภูมิภาค ภูมิภาคนิยม และภูมิภาคาภิวัตน์ ในบริบทของอาเซียนได้ดังนี้

                        (1) ภูมิภาค หากอาเซียนหมายถึงประเทศ 10 ประเทศ ความเป็นภูมิภาคของอาเซียนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประเทศทั้ง 10 มีการพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้น ในยุคที่ประเทศเหล่านี้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นปฏิปักษ์กับอีกประเทศหนึ่งความเป็นภูมิภาคย่อมยังไม่เกิดขึ้น เช่น ในยุคสงครามเย็นที่ประเทศในภูมิภาคแบ่งเป็น 2 ค่าย ตามลัทธิการเมือง คือ ค่ายคอมมิวนิสต์ และ ค่ายประชาธิปไตย เป็นต้น

                        (2) ภูมิภาคนิยม และ ภูมิภาคาภิวัตน์ เมื่ออาเซียนเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2510 ภูมิภาคนิยมได้เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคเพราะมีประเทศสมาชิก 5 ประเทศ แต่ภูมิภาคาภิวัตน์อาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังภูมิภาคนิยมก็ได้ คือ ถ้าภาคประชาชนมีการร่วมมือกันก่อนการก่อตั้งอาเซียนแสดงว่าภูมิภาคาภวัตน์เกิดก่อนภูมิภาคนิยม ซึ่งเท่ากับว่าความร่วมมือในภูมิภาคมีภาคประชาชนเป็นฝ่ายนำ ถ้าภาคประชาชนร่วมมือกันหลังการก่อตั้งอาเซียนแสดงว่าภูมิภาคนิยมเกิดก่อนภูมิภาคาภวัตน์ ซึ่งเท่ากับว่าความร่วมมือในภูมิภาคมีภาครัฐเป็นฝ่ายนำ

                        การกำหนดว่าภาครัฐหรือภาคประชาชนฝ่ายใดเป็นผู้นำฝ่ายใดเป็นผู้ตามนั้นทำได้ยากซึ่งสอดคล้องกับที่กล่าวข้างต้นว่าภูมิภาคนิยมกับภูมิภาคาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่เกื้อหนุนกัน แต่ทั้ง 2 กระบวนการนี้ต้องมีความเป็นภูมิภาคเป็นฐานเหมือนกันซึ่งเป็นกรณีเดียวที่จะนำไปสู่การเกิดภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัตน์ ดังนี้ 

                        (1) ประเทศไม่ติดกัน       และ ไม่พึ่งพาอาศัยกัน     ภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัตน์  ไม่เกิด

                        (2) ประเทศไม่ติดกัน       แต่   พึ่งพาอาศัยกัน        ภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัตน์  ไม่เกิด

                        (3) ประเทศติดกัน           แต่   ไม่พึ่งพาอาศัยกัน     ภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัตน์  ไม่เกิด

                        (4) ประเทศติดกัน           และ พึ่งพาอาศัยกัน        ภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัตน์ เกิด

                        ด้วยเหตุที่คำว่าภูมิภาคนิยมเป็นคำที่นิยมใช้ในการเรียกการร่วมตัวกันของประเทศในภูมิภาคนั้น ๆ และด้วยเหตุที่การร่วมตัวของประเทศในภูมิภาคนั้นยากที่จะสำเร็จหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จึงในที่นี้จะใช้คำว่าภูมิภาคนิยมโดยหมายร่วมถึงภูมิภาคาภิวัตน์ด้วย

           

          1.1.2 แนวคิดและทฤษฎี

                   แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการอธิบายลักษณะของภูมิภาคนิยมยังไม่เป็นที่ตกลงแน่นอนว่าจะใช้แนวคิดและทฤษฎีใด เพราะเหตุที่ภูมิภาคนิยมเป็นปรากฏการณ์ใหม่ และเพราะเหตุที่ภูมิภาคนิยมมีลักษณะที่ไม่ตายตัวดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ภูมิภาคนิยมหนึ่งอาจต้องใช้แนวคิดทฤษฎีมากกว่าหนึ่งแนวคิดในการอธิบาย ในทางวิชาการจึงนิยมใช้กลุ่มแนวคิดและทฤษฎี (a set of theories) เพื่อทำความเข้าใจลักษณะของภูมิภาคนิยมหนึ่ง ในที่นี้จะแสดงแนวคิดและทฤษฎีเฉพาะที่อธิบายภูมิภาคนิยมที่ใช้ได้กับอาเซียนซึ่งมีจำนวน 4 แนวคิด ดังนี้

                             1.1.2.1 Neo-realism

                             เรียลิสม์ คือ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการถ่วงดุลอำนาจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก หากตนยังได้ผลประโยชน์การรวมตัวกันก็ยังคงอยู่ หากต้องเสียผลประโยชน์การรวมตัวกันก็อาจสิ้นสุดลง ดังนั้น การที่ประเทศในภูมิภาครวมตัวกันก็เพราะต้องการสร้างอำนาจในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก แต่หากประเทศสมาชิกหนึ่งใดเห็นว่าตนเสียประโยชน์ก็อาจบอกเลิกการเป็นสมาชิกได้

                                    ในกรณีอาเซียน รัฐสมาชิกรวมตัวกันเพราะเห็นว่าจะเพิ่มอำนาจการต่อรองและป้องกันภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจภายนอกซึ่งอาจเข้ามาแทรกแซงอำนาจของรัฐสมาชิก แต่เมื่อบางครั้งรัฐสมาชิกเองก็ไม่ยึดมั่นในข้อตกลงของอาเซียนเมื่อเห็นว่ารัฐผลประโยชน์ของรัฐตน เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับการปักปันเขตแดน เป็นต้น

                                     

                             1.1.2.2 Constructivism

                                      คอนสทรัคติวิสม์ คือ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างเพราะโครงสร้างแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของสิ่งนั้นซึ่งโครงสร้างนี้จะเปลี่ยนไปตามความคิดของผู้สร้าง ดังนั้น การที่ประเทศในภูมิภาครวมตัวกันก็เพราะต้องการสร้างโครงสร้างของภูมิภาคให้มีเอกลักษณ์ร่วมกัน ในทางกลับกันเมื่อโครงสร้างร่วมสำเร็จแล้วก็จะมีอิทธิผลเหนือรัฐสมาชิก

                                                ในกรณีอาเซียน รัฐสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดโครงสร้างของอาเซียนว่าต้องประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นประชาคมที่มีวิสัยทัศน์และเอกลักษณ์เดียวกัน

 

                             1.1.2.3 Neo-liberalism

                                      นีโอลิเบอรอลิสม์ คือ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการเกื้อหนุนกันโดยเห็นว่าประเทศทุกประเทศล้วนต้องการความมั่นคงและความมั่งคั่งเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ดังนั้น การที่ประเทศในภูมิภาครวมตัวกันก็เพราะต้องการทำความหวังของประเทศสมาชิกให้สำเร็จเร็วขึ้นกว่าการที่ต่างคนต่างทำ

                                                ในกรณีอาเซียน รัฐสมาชิกได้ตระหนักถึงความหวังของตนซึ่งก็เหมือนกับประเทศสมาชิกอื่นคือความผาสุกของประชาชนดังนั้นจึงหันมารวมมือกันเพื่อที่จะหาแนวทางทำความหวังนั้นให้สำเร็จโดยเร็วและร่วมกัน

 

                             1.1.2.4 Functionalism

                                      ฟังก์ชันนอลิสม์ คือ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน โดยเห็นว่าทุกประเทศล้วนมีทั้งปัญหาและเป้าหมาย ทำอย่างไรปัญหาจะไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาก็ยกไว้ก่อน ส่วนใดที่เป็นเป้าหมายร่วมกันก็ดำเนินการไปก่อน เมื่อร่วมมือกันมากขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้ในภายหลัง

                                                ในกรณีอาเซียน รัฐสมาชิกโดยมากมีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนกับประเทศที่มีอาณาเขตติดกัน ครั้นจะให้ความสำคัญกับการปักปันเขตแดนก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งจนถึงเกิดสงครามได้เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ดังนั้น จึงหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายร่วมกันแล้วพักเรื่องที่มีปัญหาไว้โดยหวังว่าวันหนึ่งเมื่อความร่วมมือมีมากขึ้นก็จะนำไปสู่การเห็นอกเห็นใจกัน ยอมกันได้ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันได้

 

          1.1.3 พัฒนาการ

                   ภูมิภาคนิยม คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 50 กว่าปีที่ผ่านมาแล้วก็พัฒนามาตามลำดับ โดยพัฒนาการของภูมิภาคนิยม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ตามลักษณะของภูมิภาคนิยมเองซึ่งสอดคล้องกับเวลาและบริบทที่เกิดขึ้น คือ ภูมิภาคนิยมเก่า และภูมิภาคนิยมใหม่

                   1.1.3.1 ภูมิภาคนิยมเก่า

                             ภูมิภาคนิยมเก่าเกิดและพัฒนาการอยู่ในยุคสงครามเย็น เมื่อสงครามเย็นใกล้จะคลี่คลาย ภูมิภาคนิยมใหม่ก็เริ่มก่อตัวขึ้น ดังนั้น ภูมิภาคนิยมเก่าจึงเป็นการรวมตัวกันของประเทศตามลัทธิการเมืองที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วประชาธิปไตย และขั้วคอมมิวนิสต์

                                    การรวมกลุ่มของประเทศในช่วงนี้มักจะมาจากการริเริ่มของประเทศอภิมหาอำนาจที่ผลักดันให้ประเทศในภูมิภาครวมตัวกันเพื่อสนับสนุนลัทธิการเมืองฝ่ายตนและต่อต้านลัทธิการเมืองฝ่ายตรงข้าม เช่น องค์การซีโต (SEATO: Southeast Asian Treaty Organization) ที่ก่อตั้งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่มีประเทศสมาชิกมาจากนอกภูมิภาคด้วย คือ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อังกฤษ นิวซีแลนด์ ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคมีเพียง 2 ประเทศที่เป็นสมาชิก คือ ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งที่แท้จริงขององค์การนี้คือเพื่อให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และต่อต้านการปกครองระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคอยู่ในเวลานั้น โดยผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งคือประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศอภิมหาอำนาจและมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

 

 

                   1.1.3.1 ภูมิภาคนิยมใหม่

                             เมื่อยุคสงครามเย็นเริ่มคลี่คลาย ภูมิภาคนิยมใหม่ก็เริ่มก่อตัวขึ้น ซึ่งมักจะเป็นการริเริ่มของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ และมักจะเป็นไปเพื่อถ่วงดุลกับประเทศอภิมหาอำนาจ เช่น อาเซียน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันที่ไม่มีการแทรกแซงจากประเทศอภิมหาอำนาจทั้งจากฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพราะเหตุนี้ทำให้ลดการต่อต้านจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์คือประเทศเวียดนามและประเทศลาว

                        ลักษณะของภูมิภาคนิยมเก่าและใหม่เห็นได้จากตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคนิยมเก่ากับภูมิภาคนิยมใหม่

ภูมิภาคนิยมเก่า

ภูมิภาคนิยมใหม่

1.ก่อตั้งตาม 2 ขั้วลัทธิการเมือง   คือ  ประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์

ก่อตั้งในบริบทของโลกที่มีหลายขั้วการเมืองและต่างก็เติมเต็มซึ่งกันและกัน

2.การก่อตั้งมาจากการริเริ่มของที่มีอำนาจเหนือกว่าโดยมักจะเป็นการแทรกแซงของประเทศอภิมหาอำนาจ

การริเริ่มมาจากภายในภูมิภาคเองและมักจะเป็นไปเพื่อถ่วงดุลกับประเทศอภิมหาอำนาจ

3.มีวัตถุประสงค์เดียวในการก่อตั้งซึ่งอาจเป็นความมั่นคงหรือเศรษฐกิจ

มีหลายวัตถุประสงค์และมีกระบวนการที่หลากหลาย

4.ให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ

ภาคเอกชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทยิ่งกว่าภาครัฐ

ที่มา: Hettne, Bjorn (2003), The New Regionalism Revisted, in Fredrik Soderbaum   and Timothy M. Shaw (eds.) Theories of New Regionalism. New York:   Palgrave Macmillan.

                  

          1.1.4 ปัจจัยขับเคลื่อน และอุปสรรค/โอกาส

                   กระบวนการของรวมตัวของประเทศแบบภูมิภาคนิยมจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยขับเคลื่อนว่าจะสามารถฝันฝ่าอุปสรรคแล้วบรรลุถึงโอกาสอันเป็นเป้าหมายที่รออยู่ข้างหน้าได้หรือไม ปัจจัยขับเคลื่อน และอุปสรรค/โอกาส โดยภาพรวมของภูมิภาคนิยมมีดังนี้

                        1.1.4.1 ปัจจัยขับเคลื่อนภูมิภาคนิยม มี 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยด้านการเมืองหรือความมั่นคง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ นอกจากปัจจัยหลักแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยรอง ดังนี้

                                    (1) ปัจจัยด้านการเมืองประกอบด้วย เอกลักษณ์ ภัยคุกคาม กลุ่มการเมือง และผู้นำ อธิบายว่า 1) เอกลักษณ์ ภูมิภาคนิยมจะเกิดได้เพราะประเทศสมาชิกเห็นว่าภูมิภาคควรมีเอกลักษณ์ร่วมกัน 2) ภัยคุกคาม ภัยคุกคามที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลที่มาจากทั้งภายในและภายนอกผลักดันให้รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนั้นร่วมมือกันเพื่อหาทางป้องกันและกำจัดภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงของประเทศ 3) กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ภายในประเทศผลักดันให้รัฐบาลของตนทำความตกลงเพื่อเอื้อให้มีการขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 4) ผู้นำ ภูมิภาคนิยมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดผู้นำไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรหรือประเทศหนึ่งใดที่ต้องเป็นผู้ริเริ่ม

                                    (2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เกิดมาจากการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การต่อรองของประเทศสมาชิกกับประเทศคู่เจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

                             (3) ปัจจัยอื่น ๆ นอกจากปัจจัยด้านการเมืองหรือความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจแล้วซึ่งเป็นปัจจัยหลักแล้ว ยังไม่ปัจจัยอื่นซึ่งถือเป็นปัจจัยรอง 2 อย่าง ได้แก่ เช่น สังคมและวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทั้ง 2 นี้ มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในแง่ที่เป็นหาซึ่งประเทศสมาชิกต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ปัญหาจากสิ่งเสพติดซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศอื่น ปัญหาอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

                    1.1.4.2 อุปสรรค และโอกาส

                             (1) อุปสรรค สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเกิดขึ้นของภูมิภาคนิยมมี 2 อย่าง คือ ชาตินิยม (nationalism) และโลกนิยมหรือสากลนิยม (internationalism / globalism) 1) ชาตินิยม หากมีระดับสูงมากจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่ยอมร่วมมือกับชาติอื่นแม้อยู่ในภูมิภาคเดียวกันซึ่งอาจจะเป็นเพราะความถือตัวว่าตนดีกว่าชาติอื่น 2) โลกนิยม โดยเฉพาะกระแสโลกาภิวัตน์ที่ก้าวข้ามภูมิภาคไปสู่การเชื่อมโยงปัจเจกบุคคลเข้ากับโลกโดยไม่ต้องคำนึงถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนบ้านที่ไม่พึงประสงค์

                                    (2) โอกาส เมื่อภูมิภาคร่วมตัวกันได้ประโยชน์จะเกิดขึ้นตามมาอย่างน้อย 2 ด้าน คือ ความมั่นคงและมั่งคั่งในภูมิภาค และอำนาจการต่อ 1) ความมั่นคงและความมั่งคั่งเป็นเป้าหมายที่จะบรรลุร่วมกันของภูมิภาคนิยมทั่วโลก ซึ่งความมั่นคงและความมั่งคั่งนี้ประเทศหนึ่งใดเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคจะมีฝ่ายเดียวเป็นไปได้ยากเพราะประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในสถานที่แย่กว่าจะก็ปัญหาทั้งด้านความมั่นคงและบั่นทอนความมั่งคั่งของชาติ ดังนั้น จึงต้องร่วมกันสร้าง 2) อำนาจการต่อรองจะเกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นทันทีซึ่งจะทำให้ลดทอนการแทรกแซงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจากประเทศภายนอกภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศอภิมหาอำนาจ

 

1.2 ภูมิภาคนิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก

            1.2.1 ภูมิภาคนิยมในยุโรป

            1.2.2 ภูมิภาคนิยมในเอเชียและแปซิฟิค

            1.2.3 ภูมิภาคนิยมในตะวันออกกลาง

            1.2.4 ภูมิภาคนิยมในลาตินอเมริกา

            1.2.5 ภูมิภาคนิยมในแอฟริกา

 

1.3 สรุป

          1.3.1 พัฒนาการการรวมตัวของกลุ่มประเทศแบบภูมิภาคนิยม

                        ภูมิภาคนิยมเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การแบ่งด้วยวัตถุประสงค์ และแบ่งด้วยกระบวนการ

                        1.3.1.1 ภูมิภาคนิยม แบ่งด้วยวัตถุประสงค์มี 2 แบบ คือ ภูมิภาคนิยมที่มีวัตถุประสงค์เดียว และวัตถุนิยมที่มีหลายวัตถุประสงค์ ในกรณีอาเซียนเดิมการร่วมตัวกันมีวัตถุประสงค์เดียวคือด้านการเมืองและความมั่นคง แต่เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปก็เพิ่มเป้าหมายเข้าด้านเศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาทำให้บัดนี้กลายเป็นภูมิภาคนิยมประเภทหลายวัตถุประสงค์

                        1.3.1.2 ภูมิภาคนิยม แบ่งด้วยกระบวนการมี 2 แบบ คือ แบบที่รัฐเป็นผู้ริเริ่ม(regionalism) หรือ แบบบนลงล่าง และแบบที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม (regionalization) หรือ แบบล่างขึ้นบน โดยทั่วไปภูมิภาคนิยมวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้นจึงจะกำหนดลงไปได้ค่อนข้างชัดว่าเป็นแบบรัฐบาลหรือประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม ปัจจุบันภูมิภาคนิยมใหม่มีหลายวัตถุประสงค์บางวัตถุประสงค์รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่ม บางวัตถุประสงค์ประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม และวัตถุประสงค์นั้นจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อทั้งรัฐบาลและประชาชนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในกรณีอาเซียนก็เช่นเดียวกัน

 

          1.3.2 ภูมิภาคนิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก

                   ภูมิภาคนิยมเกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จนบางครั้งนำมาซึ่งคำถามว่า ความเป็นรัฐจะยังคงอยู่ไหมเพราะรัฐสมาชิกให้อำนาจแก่องค์กรเหนือรัฐที่สมาชิกร่วมกันก่อตั้งขึ้น และว่าภูมิภาคนิยมจะขัดขวางการร่วมมือกันระดับโลกหรือไม่เพราะภูมิภาคต่าง ๆ อยู่ได้ด้วยการพึ่งพารัฐสมาชิกในภูมิภาคนั้น ๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐนอกภูมิภาคหรือแม้แต่การเห็นภูมิภาคอื่นเป็นคู่แข่งหรือศัตรู

            ความกังวลใจเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์แล้วว่าภูมิภาคนิยมไม่ได้เป็นทั้งตัวทำลายอำนาจอธิปไตยของรัฐและไม่ได้ขัดขวางโลกาภิวัตน์ ในทางตรงกันข้ามภูมิภาคนิยมกลับเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับโลก คือ เมื่อประเทศยังไม่เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันหรือร่วมมือในระดับโลกก็ร่วมมือกับรัฐในภูมิภาคเมื่อเข้มแข็งแล้วก็สามารถร่วมมือกับรัฐนอกภูมิภาคได้ นอกจากนี้ภูมิภาคนิยมเองก็ไม่ได้อยู่ลำพังกับประเทศสมาชิกแต่ยังแสวงหาความร่วมมือกับประเทศและกลุ่มประเทศนอกภูมิภาคด้วย

 

คำถามท้ายบท

1. ให้ความหมาย และชื่อภาษาอังกฤษของคำต่อไปนี้

            1.1 ภูมิภาค ……………………………………………………………………………………………

            1.2 ภูมิภาคนิยม ........................................................................................................................

            1.3 ภูมิภาคาภิวัตน์ ....................................................................................................................

2. ระบุปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยขับเคลื่อนภูมิภาคนิยมและภูมิภาคาภิวัตน์

            2.1 ปัจจัยพื้นฐาน ......................................................................................................................

            2.2 ปัจจัยขับเคลื่อน

                        2.2.1 ปัจจัยหลัก

                                    (1) ...................................................................................................................

                                    (2) ...................................................................................................................

                        2.2.1 ปัจจัยรอง

                                    (1) ...................................................................................................................

                                    (2) ...................................................................................................................

3.อธิบายความแตกต่างระหว่างแนวคิดและทฤษฎีภูมิภาคนิยม ดังต่อไปนี้

            3.1 Neo-realism กับ Neo-liberalism ……………………………………………………………….

            3.2 Constructivism กับ Functionalism ……….…………………………………………………….

4. ระบุข้อดีและข้อเสียพร้อมทั้งเหตุผลประกอบของภูมิภาคนิยมมาอย่างละ 3 ข้อ

            4.1 ข้อดีและเหตุผลประกอบ

                        (1) ...............................................................................................................................

                        (2) ...............................................................................................................................

                        (3) ...............................................................................................................................

            4.1 ข้อเสียและเหตุผลประกอบ

                        (1) ...............................................................................................................................

                        (2) ...............................................................................................................................

                        (3) ...............................................................................................................................

5. ให้ทำกิจกรรมหัวข้อที่ 2.1



[i] Griffiths, Martin and O’Callaghan, Terry. (2004). Key Concepts in International Relations. First Indian Reprint. Chennai: Chennai Micro Print.

[ii] Karns, Margaret P. and Mingst,  Karen A.. (2005). International Organizations: The Politics and Processes of Global Governance. New Delhi: Viva Books.

[iii] Alagappa, Muthiah. (199). “Regionalism and Security: A Conceptual Investigation”, in Andrew Mack and John Ravenhill (eds), Pacific Cooperation: Building Economic and Security Regimes in the Asia-Pacific Region. Boulder: Westview Press.

[iv] Hurrell, Andrew. (1995). “Regional in Theoretical Perspective”, in Louise Fawcett and Andrew Hurrell, Regionalism in World Politics: Regional Organization and International Order. New York: Oxford University Press.

คำสำคัญ (Tags): #อาเซียน#e-trust
หมายเลขบันทึก: 490884เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท