PR CMU Network ดูงานจุฬา/SCG/ทีวีสี3


ปี พ.ศ. 2555 เครือข่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 33 คน มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชนค่ะ นั่นคือ

  • ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน หรือ SCG
  • สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่องสาม

            ในด้านการบริหารจัดการเพื่อการไปศึกษาดูงานนั้น เรามีการวางแผนการดำเนินงานไว้อย่างเป็นระบบค่ะ ทำให้ผลสรุปจากการเดินทางไปยังหน่วยงาน/องค์กรดังกล่าวบรรลุล่วง ส่งรายงานให้ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ต่อยอดใช้ประโยชน์ ตามแผนงานที่กำหนดไว้

            สรุปการดำเนินงานมีตามเอกสารนี้ค่ะ สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้ด้วยกันนะคะ

            อย่างไรก็ดี ใน "บันทึกรู้เพิ่ม(เติมที่ได้)" บทนี้ ก็ขอสรุปสิ่งดีที่ได้รับจากการศึกษาดูงานมาเผยแพร่ในฉบับย่อๆ ด้วยค่ะ

            ทั้งนี้จากการได้เข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ทำให้เราได้เรียนรู้โครงสร้างการบริหารงานศูนย์ การแบ่งภาระหน้าที่อย่างชัดเจนด้านการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ที่เป็นงานประจำ และการดำเนินงานด้านภาพลักษณ์ขององค์กร  สิ่งที่เหมือนกันคือ การผลิตและเผยแพร่สื่อสาร การมีเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพประชาสัมพันธ์ภายในคณะ/หน่วยงาน  และมีอุปสรรค ปัญหาด้านความร่วมมือภายในเครือข่าย ที่เป็นปัญหาเดียวกับเรา คือ สำหรับคณะใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพด้านบุคลากรและงบประมาณสูง เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น จะดำเนินการบริหารประสานงานสื่อมวลชนเองโดยไม่พึ่งพาศูนย์สื่อสารองค์กรซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก

            สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมคือ การบริหารจัดการและดำเนินงานภายในระหว่างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานได้แก่ การจัดทำสมรรถนะหลักผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพสำเร็จเรียบร้อยแล้ว การนำแนวคิด LEAN (การขจัดความสูญเปล่าทุกชนิดออกจากระบบงาน) มาบริหารจัดการ และการจัดโครงการอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากร ทีมงาน ระบบงาน ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

            ในส่วนของการเข้าศึกษาดูงาน ผ่านการบรรยายเรื่องการพัฒนาแบรนด์ (Modernize)  ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน หรือ SCG ณ สำนักงานสื่อสารองค์กร นั้น  โดยสรุปทำให้ได้แนวคิดในการพัฒนาแบรนด์เดิมโดยต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ได้แก่ ศึกษา วิเคราะห์ชื่อแบรนด์ ตราสัญลักษณ์ การให้บุคคลทั่วไปเป็นผู้มองและเปรียบเทียบแบรนด์ว่าเหมือนใครหรืออะไร และตอบคำถามองค์กรให้ได้ว่าเราต้องการเป็นเหมือนใครหรืออะไร และสร้าง Roadmap ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ SCG ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรและการสื่อสารภายในองค์กรอย่างมาก เน้นการสร้างบุคลากรให้มีความเป็น Brand Ambassador สามารถสื่อสาร ปกป้อง และบอก Brand Promise ซึ่งเป็นพันธะสัญญาขององค์กรที่สื่อสารผ่านภาพลักษณ์ Brand

            สำหรับการเข้าศึกษาดูงาน สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่องสาม สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกเหนือจากกระบวนการผลิตและเผยแพร่ออกอากาศข้อมูลข่าวสารแล้ว สิ่งน่าสนใจคือ การได้เรียนรู้ลักษณะการทำงานเป็นทีม การส่งมอบงานระหว่างฝ่ายผลิตรายการภาคสนามซึ่งกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคและต่างประเทศ ฝ่ายข่าว และฝ่ายรายการ โดยอาศัยเทคโนโลยีและการสื่อสารทันสมัย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควรได้นำมาหารือกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในลักษณะการดำเนินงานเครือข่ายร่วมกันต่อ

ไป

            ส่วนการรับฟังารบรรยายเกี่ยวกับมุมมองด้านงานประชาสัมพันธ์จาก ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ นั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมคือ การให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นศิษย์เก่าและประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับมหาวิทยาลัย การวางแผนกลยุทธ์ในการนำส่งข้อมูลข่าวสารไปยังสื่อมวลชน ซึ่งควรให้ความสำคัญกับจังหวะเวลาที่เหมาะสม เข้าใจสภาพแวดล้อมการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งในความคิดเห็นของบุคลากรงานประชาสัมพันธ์เห็นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว (กระบวนการผลิตข่าวสาร มช.รอบสัปดาห์ กำหนดเผยแพร่ทุกวันศุกร์) และการให้ความสำคัญกับสังคมออนไลน์ ที่นับวันจะมีอิทธิพลในการบริโภคข้อมูลข่าวสารของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งควรให้มีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ

            อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้รับจากการดูงานครั้งนี้คือ เป็นไปตามวัตุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะได้มีการร่วมปรึกษาหารือการสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งคณะผู้ศึกษาดูงานมีมติให้ตั้งคณะกรรมการเครือข่ายประชาสัมพันธ์เชิงรุก ขึ้น 1  ชุด ประกอบด้วย ผู้บริหารที่ดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์เป็นที่ปรึกษา หัวหน้างานประชาสัมพันธ์เป็นประธานเครือข่าย และตัวแทนจากกลุ่มคณะแบ่งตามสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนด ผู้แทนกลุ่มสถาบันและสำนัก รวมจำนวน 9-12 คน และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์จากทุกหน่วยงานเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งเราจะได้ประสานงานร่วมกับกองบริหารงานบุคคลเสนอขอมหาวิทยาลัยแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการฯ ต่อไป

            ทั้งหมดนี้ก็เป็นสรุปสิ่งที่ได้จากการเข้าศึกษาดูงานหน่วยงาน/องค์กรทั้งสามแห่ง ในปี พ.ศ. 2555 นี้ พบกันใหม่อีกสองปีข้างหน้าค่ะ

ปิดท้าย หลังเสร็จสิ้นภารกิจภาควิชาการ เราไม่ลืมเรื่องความบันเทิง ส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในระหว่างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์เดียวกันค่ะ

เพราะนั่นคือ...ผลพลอยได้ นี่คะ

หมายเลขบันทึก: 490879เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 04:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ มีความสุขกับหน้าที่ใหม่นะคะ ดูแล้วเหมาะสมกับบุคลิกเลยค่ะ ประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดถึงค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

  • ขอบคุณค่ะ ดาวลูกไก่ได้ทำหน้าที่ใหม่ในขวดใบเก่าค่ะ
  • รู้สึกดีที่มีเรื่องให้ลุ้นคิดลุ้นทำ ไม่เหมือนแต่ก่อน หลับตาก็รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหนยังไงในแต่ละช่วงเวลาค่ะ
  • สบายดีนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท