สร้างเครื่องมือ KM ด้วย KM


สร้างเครื่องมือ KM ด้วย KM

       ผมเพิ่งกลับมาจากเกาะลันตา  จ.กระบี่   ระหว่างวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค.   ไปเยี่ยมโครงการแผนที่คนดีของมูลนิธิอาศรมศิลป์   นำโดย รศ. ประภาภัทร  นิยม   สนับสนุนโดยศูนย์คุณธรรม   เหนื่อยแต่ชื่นใจครับ

       มองจากมุมของอาศรมศิลป์   นี่คือโครงการใช้การสื่อสารเชื่อมใจคนโดยการเข้าไปค้นหาความดีหรือความสามารถพิเศษที่แต่ละคนในชุมชนมี   และสื่อสารออกมาง่าย ๆ   คือทำเป็นโปสเตอร์เล็ก ๆ มีภาพประกอบคำบรรยายความดีหรือความสามารถพิเศษ   ทำให้ผู้ร่วมโครงการและชาวบ้านเห็นพลังของการสื่อสาร   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสารความดีหรือภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน   เรื่องนี้ผมเคยเอาบันทึกของคุณมิรา  ชัยมหาวงศ์ลงบล็อกไว้แล้ว (click)   และได้นำลงจดหมายข่าวถักทอสายใยแห่งความรู้  ฉบับที่ 14   อ่านได้ที่นี่ (click)

        แต่มองจากมุมของ สคส.   โครงการนี้เป็นการสร้างเครื่องมือ KM ด้วยกระบวนการ KM

        ย้ำกับคณะผู้ทำงานในโครงการนี้   ว่าผมมองผลงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น   เป็นช่วงของการพัฒนาเครื่องมือเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกาะลันตา

        เกาะลันตาได้รับภัยพิบัติจากสึนามิ   มีหน่วยงานภาครัฐ   เอกชน   เอ็นจีโอ   และองค์การระหว่างประเทศ (UNDP) เข้ามาช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบ   จนในหลายกรณีทำให้ชาวบ้านเป็นโรค "รอรับความช่วยเหลือ"   และเกิดการเล่นพวกในการแจกความช่วยเหลือ   จนเกิดความร้าวฉานในชุมชน

        แต่โครงการแผนที่คนดีเป็นการช่วยเหลือคนละแบบ   คือช่วยให้ชุมชนมีความสามารถช่วยตัวเองได้   และมีการรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

        เริ่มด้วยการสร้างเครื่องมือสำหรับใช้ทำให้คนในชุมชนรวมตัวกัน   คือการทำแผนที่คนดี

        ในช่วง 2 เดือนนี้ (ส.ค.-ก.ย.48) เป็นช่วงของการฝึกหรือการเรียนรู้ของอาสาสมัครซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวในเกาะลันตา 5 คน   ให้รู้จักวิธีการสื่อสารแบบใหม่คือการฟัง   ฟังให้ได้รับสารและเห็นตัวตนของผู้พูดหรือผู้สื่อจนเกิดการสื่อสารในลักษณะ "ใจถึงใจ"

        ผมมองว่าการเรียนรู้ที่เข้มข้นในช่วง 2 เดือนแรกนี้อยู่ในกลุ่มอาสาสมัคร 5 คนกับนักวิจัยคือคุณมิรา  ชัยมหาวงศ์   เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของการทำ KM   คือแต่ละคนลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วเก็บเอาข้อมูล (ซึ่งก็คือปฏิกิริยาตอบรับหรือคำพูด   และพฤติกรรมของชาวบ้านต่อกิจกรรมที่อาสาสมัครเข้าไปดำเนินการ) มา ลปรร. กัน    นี่คือการทำ KM ในกลุ่มอาสาสมัคร 5 คนกับคุณมิรา   โดยมี รศ. ประภาภัทรคอยแนะอยู่ห่าง ๆ   และมีคณะผู้ไปเยี่ยมเป็นครั้งคราวเป็นกองเชียร์ให้กำลังใจ

        ผมมีความเห็นว่าอาสาสมัครแต่ละคนจะเรียนรู้ได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า   หากจะขยันจดบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึก  ความคิด ให้มากกว่าที่ผ่านมา   และจะยิ่งดีถ้าอาสาสมัครแต่ละคนจะ  (1) บันทึกความคิด   ความรู้สึก   โดยเชื่อมโยงกับคำสอนหรือความเชื่อในศาสนาอิสลามหรือศาสนาอื่นหลักคำสอนอื่นที่ตนเชื่อถือ   (2) ฝึกหัดจดบันทึกลงในบล็อก   โดยเริ่มจากคุณมิราฝึกหัดเขียนบล็อก   แล้วสอนอาสาสมัครอีกต่อหนึ่ง   คุณมิราจะมาฝึกที่ สคส. ให้คุณเพชรฝึกให้ก็ได้

         รศ. ประภาภัทรได้ให้โจทย์ไว้ว่า   ให้ทำ mapping ใน 4 ชั้นคือ
- resource mapping
- skill mapping
- community mapping
- people mapping

         และระบุว่าถ้าชุมชนไหนทำ mapping ได้เองก็ให้ทำเลย   เป็นการแสดงความพร้อมของชุมชน   ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมองเห็นประเด็น (ปัญหาหรือความต้องการ) สำหรับให้คนในชุมชนรวมตัวกันแก้ปัญหา

         โดยกระบวนการ mapping หวังให้เกิด strategic planning, community development และ organizational development  โดยกระบวนการต่อไปต้องก่อให้เกิดสิ่ง เหล่านี้
1. คนทุกคนในชุมชนเกิดการย้อนคิดถึงคุณค่าของตัวเองและคุณค่าของการจัดวางตัวเองต่อชุมชน
2. การมีส่วนร่วมของชุมชนในงานพัฒนา
3. ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างคนในชุมชน
4. Open Space ที่เป็นเวทีเปิดให้คนในชุมชนมีพื้นที่
5. ทีมงานที่ทำงานชุมชนเชื่อมโยงสัมพันธ์   แลกเปลี่ยนข้อมูล   สร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน
6. องค์ความรู้ในรูปของ model การจัดการองค์กรด้านการพัฒนาชุมชน   การให้ชุมชนมีส่วนร่วม

        ความงดงามของโครงการนี้อยู่ที่ปณิธานความมุ่งมั่น (purpose) ชัดเจนมาก   แต่ให้อิสระผู้ดำเนินการในพื้นที่ให้คิดวิธีทำงาน   ลองผิดลองถูกเอาเอง   จัดทีมทำงานและช่วยเหลือกัน   และที่สำคัญคือเอาประสบการณ์การทำงานลงพื้นที่ทำ "กระบวนการปฏิสันถาร  สร้างมิตร  และรับรู้คุณค่า" มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในทีมงาน   นี่คือ KM แบบธรรมชาติ

        แต่ KM เฉพาะในกลุ่มทีมงาน 6 คนไม่เพียงพอที่จะเกิดประโยชน์ต่อชาวเกาะลันตาได้   ในการเสวนาเมื่อวันที่ 2 ต.ค.48 ผมดีใจมากที่อาสาสมัครมีแผนจะเข้าไปเชื่อมกับโรงเรียน   ครู   และนักเรียน

        และอย่าลืมหาวิธีทำงานให้นักเรียนเป็นผู้เชื่อมต่อไปยังพ่อแม่ด้วย   ให้พ่อแม่บางคนลุกขึ้นมารวมตัวกันแก้ไขปัญหาของชุมชน   โดยร่วมกันปฏิบัติและร่วมกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ

        ก็จะเกิด KM ในโรงเรียน   เชื่อมโยงกับ KM ในชุมชน   เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชุมชนร่วมกัน   และเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชน

        ผมชอบแนวคิดสภากาแฟที่เราะห์ (อาสาสมัครที่เป็นหญิงสาวคนเดียว) คิดและปรึกษาชาวบ้านที่บ้านหัวแหลมว่าอยากจัดหรือไม่   เพราะจะเป็น "พื้นที่สาธารณะ" สำหรับการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของชาวบ้าน   และอาสาสมัครสามารถจุดประกายความคิดให้เกิดการรวมตัวกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์แก่ชุมชน

        ต้องไม่ลืมว่าสภากาแฟไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย   แต่เป็น "เป้าหมายรายทาง" ที่นำไปสู่เป้าหมายต่อไป   คือการรวมตัวกันของชาวบ้าน   ทำเรื่องดี ๆ ที่จะเป็นคุณประโยชน์ที่ยั่งยืน   และเกิดทักษะในการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ

        มองในมุมหนึ่ง   นักวิจัย (มิราและชวณัฏฐ์) และอาสาสมัครทั้ง 5 คน   กำลังฝึกทำงานและเรียนรู้ทักษะของการเป็น "คุณอำนวย" (Knowledge Facilitator) ของการจัดการความรู้นั่นเอง

        ผมกลับมา AAR กับตัวเอง   ว่าผมยังต้องปรับปรุงตัวเองในการลงพื้นที่ดูงาน   คือผมเข้าไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่น้อยไป   กลับมาทบทวนเหตุการณ์จึงนึกขึ้นได้ว่า    ตอนบ่ายวันเสาร์ตอนไปดูโครงการปลูกป่าชายเลน   และทำโครงการท่องเที่ยวป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเพ็ง   และพวกเราติดฝนอยู่ที่ศาลาริมน้ำนั้น   ผมน่าจะได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ทำสะพานทางเดินชมป่าและทิวทัศน์  รวมทั้งคนในบริเวณนั้นด้วย   น่าจะได้ถามความรู้สึกนึกคิดของเขาเกี่ยวกับป่าชายเลน   และเกี่ยวกับโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้น   ผมจึงขอฝากข้อคิดเห็นไปยังคณะนักวิจัย   ว่าน่าจะลองหาทางพูดคุยเลยจาก "ความดี" ในระดับบุคคล   ไปสู่ "ความดี" ระดับโครงการ (เช่นโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนบ้านทุ่งหยีเพ็ง) ว่าโครงการนั้นดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างไร   ชาวบ้านจะรวมตัวกันทำให้โครงการนั้นดีต่อชาวบ้านและดีต่อสภาพแวดล้อม   ดีแบบมั่นคงถาวรได้อย่างไร   ก็จะเป็นการค่อย ๆ เริ่มจาก "ความดี" ภายในคน   ออกสู่พื้นที่สาธารณะ   เป็นการเชื่อมโยงความดีออกสู่การอยู่ร่วมกันในชุมชน

        ที่จริงมีเรื่องจะบันทึกอีกมาก   แต่ยาวเกินไปแล้ว   จึงจะบันทึกเพิ่มเติมในวันหลัง

 

   
แผงติดโปสเตอร์ เรื่องราวของคนดี

ทีมวิจัยกำลังอธิบายที่หน้าบอร์ดติดโปสเตอร์ 

หมู่บ้านสังกาอู้ 

   
 ทีมอาสาสมัคร  บ้านของชาวไทยใหม่ หมู่บ้านสังกาอู้

วิจารณ์  พานิช
4 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 4904เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2005 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท