"ชยันตี" มีความหมายอย่างไร


มีผู้สงสัยอยู่เนืองๆ ว่า ชยันตี หมายถึงอะไร โดยมากจะตอบกันว่า หมายถึงวาระครบรอบปี หรือการครบรอบวันเกิด แต่ครั้นถามว่าคำนี้มีที่มาอย่างไร ไปเปิดดูตามเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารอะไรๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ได้คำตอบที่แจ่มแจ้งแดงแจ๋ หรือได้คำตอบก็มักจะเป็นประเภทไปไหนมา สามวาสองศอก จนคนถามกับคนตอบร่ำๆ จะชกกัน

ในช่วงนี้ เราท่านคงได้ยินคำว่า ชยันตี บ่อยๆ  เพราะเป็นวาระที่พระพุทธศาสนาครบรอบ 2,600 ปี (มิใช่อายุพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าประสูติก่อน พ.ศ.80 ปี ปัจจุบันจึงเป็น 2555 + 80 = 2635 ปี) ซึ่งนับตั้งแต่ทรงตรัสรู้ และออกเผยแผ่พระศาสนา โดยเริ่มจากการเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์นั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา นับจากนั้นมาจนปัจจุบัน ก็เท่ากับ 2,600 ปี

(คณิตศาสตร์เบื้องหลังชยันตี  : เสด็จปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ 80 ชันษา – พระชนมายุเมื่อตรัสรู้ 35 = มีพระศาสนาได้ 45 ปีจึงปรินิพพาน, พระศาสนาในพุทธกาล 45 + พุทธศาสนาหลังพุทธกาล 2,555 ปี = 2,600 ปี)

 

ความหมายในพจนานุกรม

               เปิดพจนานุกรมสันสกฤต มีคำว่า ชยันตี (ชยนฺตี) ชัดๆ ตรงๆ แปลว่า ชัยชนะ, ผู้มีชัยชนะ, พระจันทร์, ชื่อเทพเจ้า ชื่อคน ชื่อเมือง และชื่อเฉพาะอื่นๆ ราว 20 ชื่อ, ธง, คืนวันเกิดของพระกฤษณะ ที่มีดาวโรหิณีขึ้นตอนเที่ยงคืน, คืนที่เก้าของเดือนกรรมมาส, คืนที่สิบสองของเดือนปุนรวสุ 

               เสียดายที่พจนานุกรมไม่ได้บอกอายุของศัพท์ แต่ก็พอจะเดาได้ว่า ความหมายหลังๆ คงจะเกิดในภายหลัง ความหมายแรกๆ คงจะใช้กันมานานกว่า

               เปิดพจนานุกรมภาษาฮินดี ชยันตี แปล jubilee

               ผมเองได้ลองคุยกับเพื่อนๆ ที่เรียนมาทางภาษา ก็ไม่มีใครฟันธง บอกได้แต่ความหมาย อย่างที่ทราบกันในปัจจุบัน ส่วนที่มานั้น ไม่ปรากฏชัด ทั้งหมดล้วนแต่สันนิษฐาน

               อย่างไรก็ตาม ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ชยันตี มาจากคำว่า “ชิ” ซึ่งเป็นกริยา หรือรากศัพท์กริยา

 

ดูที่รากศัพท์

               ชิ   โดยทั่วไปแปลว่า ชนะ และพจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ส่วนใหญ่ให้ความหมายของ ชิ ว่า “ชนะ, เอาชนะ, เหนือกว่า” ด้วยกันทั้งสิ้น คำนี้นำมาแปลงใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะกลายเป็นรูป ชย หรือ ชัย ไชย ในภาษาไทย (คำว่า ไชโย หรือ ชโย ก็คงมาจากคำนี้แหละ)

               ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการใช้ในฐานะกริยา             

               ราโช ชยติ. พระราชาทรงชนะ

                  (1. แปลงธาตุเป็นเค้าปัจจุบันกาล (อ)     ชิ + อ = ชย)

                  (2. เติมวิภักติเพื่อแสดงประธาน ปัจจุบันกาล (ติ)  ชย + ติ =  ชยติ)

                  นี่เป็นการใช้แบบกริยา

 

            คำว่า ชิ นี้ยังหมายมีความหมายอื่น เช่น “ชยตุ ชยตุ” เป็นคำที่ใช้ถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดิน หมายถึง ทรงพระเจริญ (long live the king) คำว่าเจริญในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเจริญรุ่งเรือง แต่หมายถึงมีอายุยืน เช่นในบทละครศกุนตลา ของกาลิทาส เมื่อเสนากราบบังคมลาท้าวทุษยันต์ ก็ถวายพระพรว่า “ชยตุ ชยตุ”

               ชยตุ. ขอให้พระองค์จงทรงพระเจริญ (กล่าวถึงบุรุษที่ 3 มิใช่บุรุษที่ 2)

                  (1. แปลงธาตุเป็นเค้าปัจจุบันกาล (อ)     ชิ + อ = ชย)

                  (2. เติมวิภักติเพื่อแสดงประธาน อาชญา (ตุ) ชย + ตุ = ชยตุ)

               ด้วยเหตุนี้ ชิ  จึงน่าจะหมายถึง มีอายุยืน, มีความเจริญ, มีความสำเร็จ  

               อันนี้เป็นธรรมชาติในภาษาของบาลีสันสกฤต

 

ทีนี้มาถึง ชยันตี

               คำว่าชยันตีนั้น มีผู้รู้(และผู้ไม่ค่อยรู้) เสนอความเห็นถึงที่มา ดังนี้

               1. ชยันตี ก็เหมือน ชยันโต แต่เปลี่ยนเสียงท้าย จากนามเพศชาย เป็นนามเพศหญิง โดยมีที่มาจาก ชิ ทำเป็นกริยาพิเศษ

            2. ชยันตี มาจากการสมาส ชย + อันต เป็น ชยันต แล้วเติมเสียง อิน เป็น ชยันติน (กระจายศัพท์ เป็น ชยันตี)

 

ชยันตี มาจากกริยา ชิ

               ภาษาบาลีสันสกฤต มีวิธีการสร้างนามจากกริยา โดยการเติมเสียงท้ายเข้าไป ชยันตี นี้ มีวิธีการประกอบศัพท์อย่างนี้

               1.ชิ  + อ = ชย กลายเป็นเค้ากริยา (เพื่อนำไปใช้ต่อไป)

               2. ชย + นฺตฺ = ชยนฺตฺ กลายเป็นเค้านาม (ภาษาอังกฤษว่า present active participle) เพื่อนำไปใช้แบบนาม

            3. ใช้เป็นเพศหญิงก็เติมเสียง อี เข้าไป กลายเป็ ชยนฺตี แปลว่า ผู้ชนะ (เมื่อใช้เป็นนาม) หรือ ...ที่กำลังชนะ (เมื่อนำไปขยายคำนามอื่น)

            ในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดาวรรณคดีสันสกฤต ปรากฏคำว่า ชยันตี ในความหมายว่า ผู้ชนะ ไม่เกี่ยวข้องกับวันเกิด หรือวาระครบรอบใดๆ

 

ชยันตี มาจากคำสมาส

               ข้อเสนอว่า ชยันตี เป็นสมาส ผมเพิ่งได้ยินเมื่อเร็วๆ นี้

               ชย (นาม) + อนฺต (ที่สุด) = ชยนฺต แปลว่าที่สุดแห่งชัยชนะ

               เติม อินฺ เพื่อหมายถึง “ผู้มี” = ชยนฺตินฺ แปลว่า ผู้มีที่สุดแห่งชัยชนะ หรือผู้มีชัยชนะอันเป็นที่สุด ฯลฯ เมื่อนำมาใช้เป็นนามเพศชาย เอกพจน์ จะได้รูป ชยนฺตี

 

               อนึ่ง ในเรื่องของที่มาของศัพท์นั้น หากไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีหรือไม่สนใจภูมิหลังเหล่านี้ ก็อาจสันนิษฐานได้เป็นสิบๆ อย่าง เพราะศัพท์บาลีสันสกฤตสามารถประสมกันได้ง่ายมาก และเพราะคำหนึ่งๆ มีความหมายได้มากมาย 

 

จาก “ชนะ” ไปสู่ “วันเกิด”

               ท่านจะเชื่อแบบไหนก็ได้ หรือไม่เชื่อแบบไหนก็ได้

               แต่สุดท้ายปัญหาก็มาตกอยู่ที่ ทำไม คำที่แปลว่าชนะ จึงนำมาใช้หมายถึงวันเกิด

               เรื่องนี้ผมยังไม่เจอหลักฐาน 

 

               ได้แต่ข้อเท็จจริงและข้อสังเกตดังนี้

               1. ชิ แปลว่าชนะ มีความหมายเกี่ยวกับมงคล ความเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นศัพท์ที่ใช้หมายถึง การขอให้อายุมั่นขวัญยืน  

               2. ชยันตี มีการใช้หมายถึงวันเกิด หรือวันสำคัญของเทพเจ้า อันเป็นฤกษ์ดี (ดังความหมายจากพจนานุกรม) และนำมาใช้ในโอกาสครบรอบที่สำคัญๆ หรือวันเกิด เช่น คานธี ชยันตี (วันเกิดของคานธี) คุรุนานัก ชยันตี, ศรีลักษมี ชยันตี เป็นต้น(แต่ใช้กับบุคคลผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ) ในภาษาฮินดีก็ใช้คำว่า ชยันตี หมายถึงวาระครบรอบเหตุการณ์ที่สำคัญ

               3. น่าจะมีการเชื่อมโยง จากความหมายว่า ชัยชนะ หรือรุ่งเรือง ไปสู่วาระสำคัญ ดังที่ใช้คำว่า ชยันตี หมายถึง วันเกิดของพระกฤษณะ เพราะถือว่าเป็นฤกษ์ดี แล้วนำมาใช้ในโอกาสสำคัญอื่นๆ

               4. หรืออาจเชื่อมโยงกับศัพท์ ชายันตี ซึ่งหมายถึง เกิด (จากศัพท์ ชนฺ, แปลว่า คลอด, เกิด) ข้อนี้สันนิษฐานดื้อๆ ไม่มีหลักฐานอะไร

              

               สรุปว่า ชยันตี น่าจะมาจาก "ชิ" ที่แปลว่าชนะ และมีความหมายกว้างขึ้นรวมถึงวันเกิดไปด้วย หรืออาจจะมาจากศัพท์อื่นที่แปลว่าเกิด ... ผิดถูกอย่างไรรบกวนชี้แนะด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 490306เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อาจารย์ค่ะหมูจ๋าค่ะเข้ามาดูความหมายและคาดว่าต้องออกในข้อสอบบรรจุครูผู้ช่วยด้วยแน่นอนมาเก็บไปตอบในห้องสอบค่ะอาจารย์อ้อหมูจ๋าจะไปสอบที่สพป.เชียงใหม่ เขต3 ค่ะขอคำอวยพรด้วยค่ะเป็นกำลังใจนะคะ

อาจารย์คะ .. ภาษาทมิฬเขาก็ใช้อักษรโรมันระบบ IAST เหมือนกันหรือไหมคะ ถ้าใช้แบบนั้นจริง การออกเสียงก็คล้ายกับสันสกฤตใช้ไหมตามพยัญชนะนั้น แต่เท่าที่ฟังๆมา สองภาษานี้ดูต่างกันโดยสิ้นเชิง

สวัสดีครับ อ.Blank หมูจ๋า

จะสอบแล้วเหรอครับ

ขออวยพรให้สอบได้ความที่ประสงค์

ได้ตำแหน่งที่ต้องการ และทำงานด้วยความสุขนะครับ

 

สวัสดีครับ Blank คุณ ศรี

ภาษาในอินเดียส่วนมากใช้ระบบนี้ได้หมดครับ

เสียงอาจแตกต่างไปบ้่่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง

แต่จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยทราบเกี่ยวกับภาษาทมิฬเท่าไหร่นะ

 

สวัสดีค่ะ

ประเด็นที่สงสัยคือ เพราะอะไรจึงเป็น พุทธชยันตี 2600 และได้คำตอบแล้ว (ดังที่คุณครูอธิบายเหมือนกัน)

ส่วนคำถามของคุณครูที่ว่า "ทำไม คำที่แปลว่าชนะ จึงนำมาใช้หมายถึงวันเกิด"

ตอบแบบคิดเองว่า เพราะกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นเรื่องยาก การได้เกิดหรือวันเกิด จึงถือเป็น "ชัยชนะ" นั่นเองค่ะ  :)

สวัสดีครับ คุณ Blank หยั่งราก ฝากใบ

ขอบคุณสำหรับข้อเสนอที่ว่าการเกิดเป็นชัยชนะ นับว่าเข้าทีครับ

จะเอาแนวคิดนี้ไปขาย เอ๊ย ไปขยายต่อครับ ;)

อาจารย์คะ ขอความแตกต่างระหว่างภาษาสันสกฤตและฮินดีคะ จะดูอย่างไรให้มันต่างกัน มีวิธีสังเกตอย่างไร ขอบพระคุณคะ

สันสกฤตกับฮินดี อันที่จริงดูง่าย (ถ้ารู้ภาษาใดภาษาหนึ่ง)

ทีนี้ ถ้าไม่รู้มากพอ ก็แยกไม่ออกนะสิ

งั้นเอาหลักการเดาไปนะครับ

1. ภาษาฮินดีคำจะสั้น ไม่ค่อยมีสมาสยาวๆ แบบสันสกฤต

2. ถ้ามีคำว่า है บ่อยๆ จะก็ ฮินดีแน่ สันสกฤตไม่เจอคำนี้

3. นอกจากนี้ก็มี के (ในสันสกฤตก็มี) หรือ से, और, की  ถ้าโผล่มาบ่อยๆ ก็ฮินดีล่ะ

4. ตัวหนังสือมีจุดข้างใต้ ज़ ढ़ อย่างนี้ ในสันสกฤตไม่มี

แ่ค่นี้ก็น่าจะดูออกแล้วครับ..

 

สวัสดีคะอาจารย์หมู หนูเพิ่งจะเอาคอมไปลงวินโดใหม่ เลยกะว่าจะโหลดโปรแกรมอักษรเทวนาครีมาใช้เวลาจะพิมพ์จะเขียน เลยอยากจะขอคำแนะนำจากอาจารย์หน่อยคะว่า โปรแกรมไหนที่ใช้ง่ายๆและจะหาโหลดได้จากที่ไหนดี ขอบพระคุณมากคะ

เมลมานะครับ จะส่งโปรแกรมไปให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท