พื้นฐานสิ่งแวดล้อม : ประชากร


การเปลี่ยนแปลงประชากรเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

ประชากร

 

การเปลี่ยนแปลงประชากรมนุษย์

            การเพิ่มจำนวนของมนุษย์เป็นที่น่าสังเกตว่าในอดีตก่อนปี พ.ศ.2493 มีอัตราการเพิ่มต่ำมาก และเป็นเช่นนั้นมาเป็นเวลานานแต่หลังจากปี พ.ศ. 2493  อัตราการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังภาพ

 

     ภาพ  การคาดคะเนจำนวนประชากรแต่ละยุคของโลก.

    ที่มา : World Population Growth.  On-line.  2008.  (7 October 2008) 

 

            ตั้งแต่ปี พ.ศ.2250 เป็นต้นมามนุษย์ได้เริ่มก้าวเข้าสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และได้เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยมา   ความรู้เบื้องต้นทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเป็นรากฐานสำคัญในการค้นคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ตามมาอย่างมากเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และความอยู่รอดของมนุษย์  โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางการสาธารณสุขและการแพทย์  ส่งผลให้โอกาสรอดชีวิตของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา  ต่อมาความรู้เหล่านี้กระจายออกไปสู่สังคมอื่น ๆ ทั่วโลก  เป็นเหตุให้อัตราการตายลดลงและอัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้น  ทำให้ประชากรมนุษย์เพิ่มอยู่ในอัตราสูง   โดยเฉพาะจะเพิ่มอย่างรวดเร็วมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493  เป็นต้นมา  เราจะเรียกช่วงนั้นว่าระยะประชากรระเบิด  (Population Boom) หรือ  (Baby Boom)   การเพิ่มประชากรเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ต้องค้นหาทรัพยากรรอบด้านเพิ่มนำมาตอบสนองความต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน   ดังนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งปัจจัยสี่ เช่น มีความต้องการพื้นที่ในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น  ต้องการทรัพยากรน้ำเพิ่มขึ้น   ต้องการสัตว์และพืชมากขึ้น  เป็นต้น  กิจกรรมเหล่านี้ส่งผลให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อย่างรุนแรงตามมา  การลดลงของพื้นที่ป่าไม้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าลดลง  เกิดการลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ไปได้   การสูญพันธุ์ของพืชธรรมชาติ  การชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชัน   การแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ  ให้เห็นอยู่ทั่วไปขณะนี้

 

ภาพ  การคาดคะเนการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ระหว่าง พ.ศ. 2293 – 2693

ที่มา : David King.  2006.  On-line.   (6 October 2006)

 

            เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มประชากรนั้นระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (More Developed Countries) กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Less Developed Countries) แตกต่างกันอย่างมาก  ดังภาพข้างบน    กล่าวคือ

          1.   ประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการเพิ่มประชากรมีอัตราเพิ่มค่อนข้างต่ำ  

          ในประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้วคาดการณ์ว่าเมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2543  มีแนวโน้มว่าอัตราการเพิ่มจะเป็นลบ    และเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบ ยุโรป เช่น เยอรมนี  เดนมาร์ก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านี้มีมาตรฐานของชีวิตค่อนข้างสูง  มีการศึกษาดี  เข้าใจภาวะของครอบครัวและสังคม   มีฐานะทางเศรษฐกิจดีรายได้สูง  และอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมาก  ดังนั้นในรอบวันชีวิตจะมีกิจกรรมหลากหลายรัดตัว  การจะมีลูกแต่ละครั้งจะต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบถึงความรับผิดชอบในการเลี้ยงดู  การให้การศึกษา  การอบรม  และการวางอนาคตของเยาวชน  อีกประการหนึ่งภาวะสังคมของประเทศพัฒนาแล้วนั้นประชากรชายหรือหญิงต่างก็มีอาชีพของตนเอง  ผู้หญิงไม่ได้มีภาวะต้องพึ่งพาสามีเป็นผู้เลี้ยงดูอีกต่อไป สามารถยังชีพด้วยตนเองได้  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาคู่ครองเพื่อให้เลี้ยงดูตน การแต่งงานจึงลดน้อยลงไป คนโสดมีมากขึ้น  สิ่งเหล่านี้ทำให้แนวโน้มว่าในอนาคตประชากรจะลดลงเรื่อย ๆ  ภาวะเช่นนี้กลับสร้างปัญหาให้กับประเทศเหล่านี้ตามมา  คือ  ขาดแคลนแรงงาน   ค่าแรงราคาแพง  ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง  เสียเปรียบการแข่งขันในตลาดโลก และทำให้มีแรงงานต่างชาติอพยพเข้ามา  เกิดภาวะความขัดแย้งทางสังคมตามมาได้

         2.  ประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการเพิ่มประชาสูงอย่างต่อเนื่อง    

          ในประเทศกำลังพัฒนากลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493  เป็นต้นมามีอัตราการเพิ่มที่น่าตกใจ   แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาอัตราการเพิ่มเริ่มลดลงในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก  เอเชีย และ ลาตินอเมริกา  ยกเว้นทวีปแอฟริกา  โดยอัตราการขยายตัวของประชากรโลกโดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.31% กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการเกิดเพียง 0.31% ขณะที่แอฟริกาอัตราการเกิดมีอัตราเพิ่มลดลง แต่ยังถือว่าสูง ถึง  2.31%  (อนุช  อาภาภิรม. 2543)  จากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงประชากรดังกล่าวถ้าพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น  จะพบว่าส่งผลต่อโครงสร้างของประชากรที่สำคัญ คือ สัดส่วนระหว่างวัยทำงาน (19-60 ปี)  กับวัยที่อยู่ภาวะพึ่งพิง (วัยเด็ก (0-19 ปี) และวัยชรา(มากกว่า 60 ปี)   ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะประสบปัญหากับประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น  เพราะความก้าวหน้าทางการสาธารณสุข  ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโภชนาการ  การออกกำลังกายที่ถูกต้อง  สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งให้คนในประเทศพัฒนาแล้วมีอายุยืนยาวมากขึ้นตลอดเวลา   ในขณะที่อัตราการเกิดของทารกลดลง   แต่ในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้เป็นไปเช่นนี้   วัยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเป็นวัยเด็กมากกว่าวัยชรา  อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดสูงนั่นเอง  ขณะที่คนชรามีจำนวนไม่มากเพราะสาเหตุการตายที่มีอัตราสูงด้วยระบบการสาธารณสุขยังไม่ได้มาตรฐาน และ กระจายการบริการไม่ทั่วถึง  จึงมีคนจำนวนมากต้องตายก่อนวัยอันควร  ปรากฏการณ์ทางประชากรของโลกส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเช่นนี้มาร่วม  2 ทศวรรษแล้ว  ลักษณะของโครงสร้างประชากรจะมองเห็นได้ชัดเจนจากปิรามิด ประชากร ดังภาพข้างล่างนี้

 

 

 

                  ภาพที่ 3-3 ปิรามิดประชากร (Population Pyramid)

                  ที่มา : Anne Hoeper. 2008. On - line.

 

        จากภาพปิรามิดประชากรของประเทศเคนยาซึ่งมีอัตราการเพิ่มประชากรสูง (Rapid Growth) จะมีฐานกว้างเพราะมีประชากรวัยต่ำกว่า  19  ปีเป็นจำนวนมากเกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศและประชากรวัยชรามีไม่มากนัก ในขณะที่ปิรามิดประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอัตราการเพิ่มประชากรเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ (Slow Growth) จะมีฐานค่อย ๆ แคบเข้า   ในขณะที่ประเทศอิตาลีซึ่งมีอัตราการเพิ่มประชากรเป็นลบ  (Negative growth) จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับประเทศเคนยามาก คือ ฐานของปิรามิดแคบเพราะมีอัตราการเกิดของต่ำมากกว่าอัตราการตาย  และ  ประชากรในวัยสูงอายุมีจำนวนมากใกล้เคียงกับวัยเด็ก  ปรากฏการณ์เช่นนี้สร้างภาระให้กับสังคมของประเทศเหล่านั้นทั้งสิ้น  ประเทศที่อัตราการเพิ่มสูงจะมีภาระในการเลี้ยงดูประชากรก่อนวัยทำงาน  ในขณะที่ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มประชากรลดลงจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต และ มีภาระเลี้ยงดูคนวัยชรามากขึ้นอีกด้วย  ดังนั้นการฉายภาพประชากรในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนกำลังคนเพื่อการพัฒนาสังคมของประเทศนั้นๆ  

 

การกระจายตัวของประชากรมนุษย์

          การกระจายของประชากรก็เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งเพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  

          ประชากรบางบริเวณอาศัยอยู่หนาแน่นบางบริเวณก็เบาบาง  ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการดำรงชีวิตยากง่ายอย่างไรนั่นเอง  จะพบว่าบริเวณที่ประชากรหนาแน่นมักเป็นแหล่งที่มีความมั่นคงทางอาหาร เช่น พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ   พื้นที่ผุพังของหินซากภูเขาไฟเก่า  พื้นที่ริมฝั่งทะเลและอากาศไม่หนาวเกินไป  เป็นต้น  โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นโลกเก่าซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานมานานจะหนาแน่นมากเป็นพิเศษ  เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำของประเทศจีน  อินเดียและยุโรป    ในปัจจุบันทำเลที่ตั้งที่อยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมเส้นทางขนส่งและความได้เปรียบเชิงอุตสาหกรรมก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งให้ประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่น   ส่วนบริเวณที่ประชากรเบาบางเป็นพื้นที่ที่หาอาหารได้ค่อนข้างลำบาก เช่น พื้นที่ทะเลทราย  ทุ่งหญ้า ที่สูงหรือหนาวจัด    ดังภาพข้างล่าง

 

 

          ภาพการกระจายตัวของประชากรโลก

          ที่มา : Population distribution.  On – line.  2008.

 

         จากการเพิ่มประชากรและการกระจายตัวของประชากรเป็นผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม  การเพิ่มประชากรเราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าคนเหล่านั้นต้องการปัจจัยสี่เป็นเบื้องต้นเพื่อการดำรงชีพ  ดังนั้นการเพิ่มจำนวนย่อมต้องการทรัพยากรมาใช้มากขึ้นเป็นเงาตามตัวซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วแตกต่างกันออกไป  ประเทศเหล่านั้นมีจำนวนประชากรไม่มากนัก และอัตราการเพิ่มประชากรก็อยู่ในอัตราต่ำ  แต่มีมาตรฐานการครองชีพสูงมาก  ดังนั้นย่อมมีอัตราการใช้ทรัพยากรมากตามระดับการพัฒนา  ตัวอย่างเช่นพลังงาน  จากภาพ 3.5 จะเห็นได้ชัดว่าทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นใช้พลังงานมากกว่าทวีปอื่นใดในโลก มองเห็นแสงสว่างได้ชัดเจน ทั้งที่รวมกันแล้วมีประชากรประมาณ 1,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของประชากรโลกเท่านั้น

 

ประเทศไทยกับการเพิ่มประชากรคงที่

          จำนวนประชากรมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศ นับตั้งแต่ปริมาณอาหารที่บริโภค แรงงานในระบบเศรษฐกิจ การอยู่อาศัย การกำจัดของเสีย การทำลายสิ่งแวดล้อม กำลังป้องกันประเทศ เป็นต้น ดังนั้นการพยากรณ์จำนวนประชากรในอนาคตจึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีนัยหลายประการ

          สถาบันวิจัยประชากรและสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ฉายภาพเมื่อปีให้เห็นว่าใน พ.ศ. 2568 คาดว่า จะมีประชากรไทยรวม  65,088,800  ล้าน โดยมีส่วนประกอบดังตารางข้างล่าง

 

      ตารางการคาดคะเนประชากรในปี พ.ศ. 2568

วัย

อายุ (ปี)

จำนวน (คน)

เปอร์เซ็นต์

วัยเด็ก

0-14

       10,441,200

16.04

วัยทำงาน

15-59

       41,746,500

64.14

วัยเกษียณ

60-79

       11,581,200

17.79

วัยชรา

>80

         1,319,900

2.03

รวม

 

       65,088,800

100.00

 

         

 

 

 

 

 

         ที่มา : ดัดแปลงจาก Institute for Population and Social Research Mahidol University. [On-line].  2010.

 

           จะเห็นชัดเจนว่า สังคมไทยในอีกประมาณ  15  ปีจากนี้ไป  จะเป็นสังคมของผู้สูงอายุโดยแท้ จะมีคนแก่มากกว่าเด็ก  กล่าวคือ  อายุต่ำกว่า 15 ปีมีอยู่ 10.4 ล้านคน หรือร้อยละ 16.04  ในขณะที่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวน 12.9 ล้านคน หรือร้อยละ 19.82   ในขณะคนที่เป็นหลักในการทำมาหากินของสังคม คือผู้ที่อยู่ในวัย 15-59 ปี  จะมีจำนวน 41.7 ล้านคน หรือร้อยละ 64.14  ซึ่งต้องทำงานหนัก เพราะเลี้ยงดูคนจำนวน 23.34  ล้านคน (10.44+12.9) หรือ ในสัดส่วน 1.78  คนหนุ่มสาววัยทำงานต้องเลี้ยงดูเด็กและคนแก่ 1 คน   ตัวเลขคนสูงอายุนี้น่าสนใจมาก เมื่อพิจารณาจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2546  ที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ 6.6 ล้านคน ดังนั้น จึงเท่ากับใน 15  ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุในวัยเกิน 60 ปีเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวของปี  พ.ศ. 2546  (พ.ศ. 2568  มีจำนวน 12.9 ล้านคน)  หรือเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวในเวลา 20 ปีเศษเท่านั้น

           ในอีก  15  ปีข้างหน้าประชากรไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นเป็นผู้หญิง 80 ปี (ปัจจุบัน 74.9 ปี) ผู้ชาย 75 ปี (ปัจจุบัน 69.9)  สำหรับผู้สูงอายุตอนปลายคือ อายุ 80 ปีขึ้นไปนั้นจำนวนจะเพิ่มจากไม่ถึง 7 แสนคนในปัจจุบัน เป็น 1.3 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งเท่ากับเพิ่มเกือบ 2 เท่าตัวใน 20 ปี  เมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ก็จะมีจำนวนคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีประชากรสูงอายุที่ถึงวัยจะต้องจากไปเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันมีคนตายปีละประมาณ 3 แสนกว่าเกือบๆ 4 แสนคน แต่ในปี พ.ศ. 2568 จะมีคนตายปีละประมาณ 6.7 แสนคน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนเด็กเกิดก็จะลดน้อยลง เนื่องจากหญิงไทยโดยเฉลี่ยแต่ละคนมีลูกน้อยลง ในปัจจุบันเฉลี่ยมีคนละ 1.8 คน แต่ในปี พ.ศ. 2568 จะมีคนละเพียง 1.4 คนเท่านั้น  ปัจจุบันเด็กเกิดในแต่ละปี มีจำนวนประมาณ 8 แสนกว่าคน แต่ในอีก 15 ปีข้างหน้า อัตราเด็กเกิดในแต่ละปีจะลดลงเหลือเพียง 7 แสนกว่าคน ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขจำนวนคนตายปีละประมาณ 6.7 แสนกว่าคนในเวลาเดียวกัน หมายความว่าในเวลา 15 ปีจากนี้ไป ประชากรไทยจะมีจำนวนคงที่อยู่ที่ 70 ล้านคน เพราะอัตราการเกิดและอัตราการตายเท่ากัน จำนวนประชากร 70  ล้านคงที่เช่นนี้  เรียกว่า “STEADY STATE” 

          เมื่อการเพิ่มประชากรคงที่จะเป็นผลดีอย่างมากในการวางแผนพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการเศรษฐกิจ  การสาธารณสุข  การศึกษา  สังคม  การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพราะจำนวนคงที่จะสามารถคาดคะเนความต้องการด้านต่าง ๆ ได้ค่อนข้างถูกต้องแม่นยำขึ้น   ดังนั้นรัฐจึงสามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้ถูกต้องตรงความจริงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เบียดบังทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างปัจจุบันจะลดลงไปและเน้นไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของระบบธรรมชาติมากขึ้น

         การเปลี่ยนแปลงประชากรเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เพราะประชากรมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบนโลกนี้  จำนวนประชากรและพฤติกรรมการบริโภคของประชากรส่งผลโดยตรงต่อการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตตอบสนองความต้องการของมนุษย์  ซึ่งมีกระบวนการต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การสำรวจ  การขุดค้น  การเตรียมการผลิต  การผลิต การแจกจ่ายและการบริโภค   ทุกขั้นตอนของกระบวนการเหล่านี้ล้วนแต่ทิ้งสิ่งของเหลือใช้ (Waste) ลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

หมายเลขบันทึก: 490238เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีคับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท