การบ่มเพาะนักศึกษา


การกล่อมเกลาตนเอง และกล่อมเกลากันเองของนักศึกษา ต้องทำผ่านการปฏิบัติ ผ่านกิจกรรมที่ทำเพื่อผู้อื่น


          ในการประชุมสภาวิชาการ มอ.   เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 49  มีการนำเรื่องการบ่มเพาะนักศึกษาเข้าพิจารณาในฐานะเรื่องนโยบายทางวิชาการ

          ทาง มอ. คิดเรื่องนี้มาอย่างดี  มีเป้าหมายที่สูงส่งมาก  คือต้องการพัฒนาให้บัณฑิตของ มอ. มีคุณลักษณะองค์ 4 คือ

  • เป็นคนดี อยู่ที่ศูนย์กลางของเป้าหมาย
  • มีความรู้ในศาสตร์ของสาขา   เป็นวงถัดออกมาจากศูนย์กลาง
  • มีความรอบรู้ เป็นวงที่ 3
  • เข้มแข็งภาษาต่างประเทศและ IT เป็นวงที่ 4 นอกสุด

          ผมชื่นชมกับแนวคิดนี้มาก  และยิ่งชื่นชมเมื่อทาง มอ. นำเสนอแนวคิด  ยุทธศาสตร์  และแนวปฏิบัติอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม

          ผมทำหน้าที่หย่อนระเบิดเข้าไปกลางวงว่าที่เสนอมานี้เป็น  supply-push  development  approach จะใช้ไม่ได้ผล  เพราะไม่ตรงกับจิตวิทยาพัฒนาการของเยาวชน   ที่ต้องการเป็นผู้กระทำ เป็นเจ้าของกิจกรรม   ต้องการคิดเอง  ต้องการภูมิใจกับผลงานของตน

          ผมเสนอให้เปลี่ยนไปใช้ demand-pull  development  approach   ให้นักศึกษาคิดดำเนินการกันเอง   ให้เป็นผลงานของนักศึกษา  โดยมหาวิทยาลัยเข้าไป empower   ไม่ใช่เข้าไปจัดการ 
         
          และหัวใจของการบ่มเพาะด้วยกิจกรรมนักศึกษา คือ  การทำกิจกรรมอาสาสมัคร เพื่อกล่อมเกลาจิตใจของตนเอง    เพราะเอาเมล็ดพันธุ์ด้านดีของตนเองออก ฝึกฝนผ่านการปฏิบัติ   เพื่อขยายธรรมชาติด้านดีที่มีอยู่แล้วออกไปครอบครองจิตใจตนเอง   ไปเบียดพื้นที่ของธรรมชาติด้านชั่วที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนไม่ให้ขยายตัว

          ผมยังได้เสนอให้ร่วมมือเป็นเครือข่ายกับทาง มน.  ในการใช้  KM Workshop  ในการเริ่มกิจกรรมแบบนี้   แบบที่เอาผลงานดีๆ ที่มีอยู่แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผล

          ขอย้ำว่า การกล่อมเกลาตนเอง   และกล่อมเกลากันเองของนักศึกษา   ต้องทำผ่านการปฏิบัติ ผ่านกิจกรรมที่ทำเพื่อผู้อื่น   คือ voluntarism   หรือกิจกรรมอาสาสมัคร   ซึ่งสามารถคิดกิจกรรมเพื่อมหาวิทยาลัย   เพื่อเพื่อนนักศึกษา  เพื่อชุมชน   เพื่อท้องถิ่น   เพื่อประเทศไทย  ได้มากมายไม่สิ้นสุด

          การกล่อมเกลาจิตใจนักศึกษา  จะควบคู่ไปกับการใช้พลังสร้างสรรค์  พลังเหลือใช้  ของความเป็นคนหนุ่มคนสาว

          นี่คือเรื่องอนาคตของสังคมไทยเชียวนะครับ

 

วิจารณ์   พานิช
2  ก.ย.  49

หมายเลขบันทึก: 48983เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2006 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ 

ตอนนี้ที่ งานบริการสนับสนุนนิสิตพิการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ผลักดันให้มีชมรมเพื่อนแก้วค่ะ  เป็นชมรมหรือกลุ่มนิสิตอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้พิการค่ะ

เพื่อนแก้ว  คำว่า แก้ว มาจาก  แก้วกัลยา อันเป็นดอกแก้วพระราชทานให้เป็นสัญลักษณ์ของคนพิการทุกประเภทค่ะ

ดีใจจังเลยค่ะที่ได้อ่านblog ของอาจารย์นี้  ทำให้ได้กำลังใจค่ะว่า  เราทำมาถูกทางแล้ว

 

 

ต้องหาทางปลูกฝังจิตวิญญาณของการทำเพื่อผู้อื่น    วิญญาณอาสาสมัคร     ว่าเมื่อปฏิบัติแล้ว ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือตัว "ผู้ให้" เอง     เป็นการให้ หรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นเพื่อสร้าง "พุทธะ" ขึ้นในหัวใจตนเอง      เป็นการกระทำเพื่อขยายวิญญาณด้านดีของตนเอง

ต้องอย่าแค่คิดว่าเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น   ในแบบที่ผู้อื่นได้รับประโยชน์  

ลองศึกษาแนวคิดของมูลนิธิพุทธฉือจี้ แล้วหาทางประยุกต์ใช้ จะเป็นประโยชน์มาก    ค้นด้วยคำหลักว่า ฉือจี้ ก็น่าจะหาบันทึกต่างๆ ได้     ผมก็เคยบันทึกไว้มาก  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท