การใช้จุลินทรีย์ป้องกันและกำจัดโรค แมลง ไร ศัตรูเห็ด (๓)


เวลาในการหมักเชื้อที่เหมาะสมที่สุดประมาณ ๓๖ ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น หมักเชื้อเช้าวันที่ ๑ หมักจนถึงช่วงเย็นวันที่ ๒ (ครบประมาณ ๓๖ ชั่วโมง) เราสามารถนำมาผสมน้ำฉีดได้ทันที ในเห็ดตอนเย็น ไม่มีแสงแดดหรือแสงแดดอ่อนๆ ในพืชหากฉีดพ่นไปแล้ว ฝนตก หมักฉีดพ่นซ้ำ

โดย อาจารย์ดีพร้อม  ไชยวงศ์เกียรติ  

นายกสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย

ข้าราชการบำนาญภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์       

                  

สูตรการหมักเพื่อใช้ปริมาณมากๆ (เพิ่มเติม)

                   การหมักขยายเชื้อด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน (ขยายแบบจำนวนมากในคราวเดียว) ใช้น้ำมะพร้าวอ่อน ๕๐ ลูก (ที่เพิ่งเฉาะออกจากลูกใหม่ๆ ) เฉาะเทน้ำใส่กะละมังหรือถังที่สะอาด ใส่เชื้อ ๕ ช้อนแกง กวนให้เชื้อกระจายทั่ว เป่าอากาศแบบตู้ปลา (ใช้หัวทรายที่สะอาด ๒-๓ หัว เพื่อให้อากาศมากพอ) เป่าอากาศ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง ครบเวลานำไปผสมน้ำเปล่าอีก ๔๐-๕๐ ปิ๊บ  (๘๐๐-๑,๐๐๐ ลิตร) แล้วนำไปฉีด

                   การหมักขยายสูตรนมกล่องครั้งละมาก ๆ : ใช้นมผง ๕๐ กล่อง (เปิดเทออกจากกล่อง) เทใส่กะละมังหรืองถังสะอาด ใส่เชื้อบาซิลลัส ที่ต้องการหมัก ๕ ช้อนแกง กวนให้เชื้อกระจายทั่ว เป่าอากาศแบบตู้ปลา (ใช้หัวทรายที่สะอาด ๒-๓ หัว เพื่อให้อากาศมากพอ) เป่าอากาศ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง ครบเวลานำไปผสมน้ำเปล่าอีก ๔๐-๕๐ ปิ๊บ (๘๐๐-๑,๐๐๐ ลิตร) แล้วนำไปฉีด

                   การหมักขยายสูตรนมผงชงเลี้ยงเด็กครั้งละมาก ๆ : ใช้นมผง ๕๐ ช้อนแกง ชงในน้ำร้อน ๕๐ แก้ว เทรวมในกะละมังหรือถังที่สะอาด ชงเสร็จทิ้งให้เย็นหรืออุ่นๆ ใส่เชื้อ ๕ ช้อนแกง กวนให้เชื้อกระจายทั่ว เป่าอากาศแบบตู้ปลา (ใช้หัวทรายที่สะอาด ๒-๓ หัว เพื่อให้อากาศมากพอ) เป่าอากาศ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง ครบเวลานำไปผสมน้ำเปล่าอีก ๔๐-๕๐ ปิ๊บ (๘๐๐ – ๑,๐๐๐ ลิตร) แล้วนำไปฉีด

                   สูตรทั้งหมดนี้เกษตรกรสามารถเลือกสูตรใดก็ได้ตามความเหมาะสม สามารถหมักขยายเชื้อพลายแก้ว หรือบีทีชีวภาพ หรือไมโตฟากัส โดยหมักแยกกัน แล้วเวลาฉีดสามารถนำมารวมกันแล้วฉีดพร้อมกันได้

                   โดยปกติหมักสูตรนม เมื่อหมักไปแล้ว นมบางส่วนจะเกาะตัวเป็นก้อน เมื่อหมักครบเวลาพยายามบี้ กวน คนนมที่เป็นก้อนให้เละ เพื่อเวลาฉีดจะได้ไม่ติดหัวฉีด และเป็นการกวนบี้เชื้อก่อนฉีดให้เชื้อกระจายตัว และกรองก่อนฉีดเพื่อป้องกันก้อนนมอุดตันหัวฉีด แต่หากหมักด้วยสูตรน้ำมะพร้าวอ่อนจะไม่มีปัญหาเรื่องเกาะก้อน

                   ในการหมักที่ใช้เครื่องเป่าอากาศ หากมีฟองบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำหมัก อาจหมักในถังสูงเพื่อป้องกันฟองล้น แต่หากหมักในถัง เครื่องเป่าอากาศควรมีกำลังมากพอที่จะให้ฟองอากาศได้มาก และต้องเพิ่มจำนวนหัวทรายให้อากาศเชื้อที่เราหมักเป็นสิ่งมีชีวิตต้องฉีดในตอนเย็นจะดีที่สุด ฉีดให้เปียก แต่อย่าให้แฉะน้ำขัง มิฉะนั้น จะทำให้เส้นใยหรือดอกเห็ดเน่าได้ ถ้าดอกตอนเย็นจะดีที่สุด ฉีดให้เปียก แต่อย่าให้แฉะน้ำขัง มิฉะนั้น จะทำให้เส้นใยหรือดอกเห็ดเน่าได้ ถ้าดอกเห็ดเน่าแสดงว่า ฉีดแฉะไป ส่วนมากมักฉีดก้อนเห็ดตอนเก็บดอกออกหมด

                   เชื้อ หากเราหมักจนครบเวลา ๔๘ ชั่วโมง (เชื้อหมักนี้เป็นลักษณะเชื้อสด) ต้องฉีดครั้งเดียวให้หมด ไม่สามารถเก็บรอไว้ฉีดได้ เพราะหลังจากจาก ๔๘ ชั่วโมงไปแล้ว เชื้อจะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตามวงจรชีวิตของจุลินทรีย์ จึงควรวางแผนให้ดี

                   บีทีชีวภาพเมื่อหมักจะมีกลิ่นดึงดูดให้หนอนมากิน หากหนอนกินเชื้อได้มาก หนอนก็จะป่วย ตายเร็ว และตายมาก ดังนั้นเวลาฉีดจึงไม่ควรผสมพวกชีวภาพไล่หนอน เพราะจะทำให้หนอนกินเชื้อได้น้อย ฉีดวันแรกหนอนยังไม่ตาย แต่หนอนจะเริ่มช้าลง วันที่ ๒ หนอนหยุดทำลายพืช หนอนเล็กเริ่มตาย วันที่ ๓ หนอนตัวใหญ่เริ่มตาย วันที่ ๔ หนอนตายหมด

                   ในการฉีดควรเติมสารเปียกใบหรือสารจับใบ เพื่อฉีดน้ำหมักเชื้อไปแล้ว น้ำหมักเชื้อจะได้แผ่กระจายเปียกซึมทั่วถึงซอกมุมที่เราฉีด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเชื้ออีกทางหนึ่ง

                   หากโรคเชื้อรา หรือหนอน หรือไรระบาดในเห็ดมาก หมักฉีด ๓ – ๕ วันครั้ง ปกติฉีด ๗ วันครั้ง จุดไหนหรือบริเวณไหนที่มีปัญหามาก ๆ ควรฉีดเน้นอย่างประณีต

                   เวลาในการหมักเชื้อที่เหมาะสมที่สุดประมาณ ๓๖ ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น หมักเชื้อเช้าวันที่ ๑ หมักจนถึงช่วงเย็นวันที่ ๒ (ครบประมาณ ๓๖ ชั่วโมง) เราสามารถนำมาผสมน้ำฉีดได้ทันที ในเห็ดตอนเย็น ไม่มีแสงแดดหรือแสงแดดอ่อนๆ ในพืชหากฉีดพ่นไปแล้ว ฝนตก หมักฉีดพ่นซ้ำ

                   ปัญหาปลวก ปลวกทำลายและกัดกินถุงก้อนเชื้อเห็ด เราสามารถใช้จุลินทรีย์ ชื่อว่า เมธาไรเซียม เพื่อกำจัดปลวกและทดแทนสารเคมี

                   ราเมธาไรเซียม เป็นปรสิตของปลวก ในทางการค้าจะผลิตออกมาในรูปผงสปอร์ การใช้แกะดินที่ปลวกทำอุโมงค์หุ้มทางเดิน หากพบตัวปลวกไปมายิ่งดี โรยผงเชื้อเมธาไรเซียมให้โดนตัวปลวกหรือไม่เจอปลวกให้โรยกระจายรอให้ปลวกเดินผ่านมาสัมผัสเชื้อ ปลวกตัวแรกเปื้อน อีกตัวก็จะมาเลียทำความสะอาด เชื้อก็จะค่อยๆ กระจายไปทั่วปลกวทุกตัวในจอมปลวก เชื้อจะงอกเส้นใยออกมากินปลวก จนปลวกค่อยๆ หมดไป บางครั้งตัวตายก็จะถูกลากไปทิ้ง ตัวใหม่ก็เข้ามาทำงานแทน จึงต้องใช้เวลาในการกำจัดปลวกทั้งรัง โดยอาจโรยซ้ำ ๆ หลายครั้ง ๕-๗ วันครั้ง สัก ๓ – ๔ ครั้ง

                   เมื่อปลวกรังเก่าถูกกำจัด วงจรชีวิตปลวกรังใหม่จะเข้ามาแทนที่ โดยสังเกตได้จากแมลงเม่าที่บินกระจาย นั่นคือตัวบ่งชี้ว่าจะมีรังปลวกรังใหม่เกิดขึ้น จึงอาจมีการใช้เชื้อราเมธาไรเซียมหว่านโดยพื้นที่หรือบริเวณรอบๆ โรงเห็ดเป็นระยะๆ

(ที่มา : หนังสือ เห็ดไทย ๒๕๕๑, สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย, ISSN ๐๑๒๕-๘๓๑๑)

                   นอกจากจะได้ความรู้ในเรื่องการหมักขยายเชื้อแบบจำนวนมาก เรายังได้รับรู้เทคนิคการกำจัดปลวกแบบปลอดสารพิษเพิ่มเข้าไปด้วย ช่วยให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาในเรื่องปลวกทำลายสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือง สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้แก้ไขได้อย่างสบายไร้สารพิษ เพราะเชื้อเมธาไรเซียมนั้นเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อปลวกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกจากปลวก คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทกำจัดปลวกไปหลายพันหลายหมื่นบาทต่อปีเลยทีเดียว

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

                   

หมายเลขบันทึก: 489570เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 07:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท