ถ้าจะลำเอียง ก็ลำเอียงวันยันค่ำ


ในยุคนี้ เรื่องของการประเมินผลงานเริ่มที่จะนำเอาสิ่งที่สามารถวัดได้มาใช้ เพื่อให้การประเมินออกมาอย่างชัดเจน เที่ยงตรง และลดความรู้สึกของคนประเมินลงให้มากที่สุด หลายๆ บริษัท ต่างก็พยายามที่จะหาทางลดความรู้สึกลำเอียงของผู้ประเมินลง โดยการพยายามนำเอาตัวชี้วัดผลงานมาใช้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรม

บริษัทส่วนใหญ่ จะนึกถึงการนำเอาตัวชี้วัดผลงานมาใช้ในการประเมิน และเข้าใจว่า เมื่อเราสามารถกำหนดตัวชี้วัดผลงานของแต่ละตำแหน่งได้แล้ว การประเมินผลงานจะเปลี่ยนจากความรู้สึกมาเป็นแบบที่ไม่มีความรู้สึกเลย และจะกลายเป็นระบบการประเมินผลงานที่มีประสิทธิภาพทันที ผมอยากบอกว่า ตัวชี้วัดผลงานมันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ขนาดนั้นนะครับ จริงๆ แล้วมันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่นำเข้ามาช่วยในการทำให้เกิดความชัดเจนในการประเมินผลงานมากขึ้น โดยพิจารณาจากผลของงานที่ออกมา เอาแบบว่าวัดกันให้เห็นจะจะ กันไปเลย ซึ่งโดยแนวคิดแล้วตัวชี้วัดผลงานถือเป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่ง แต่เวลาใช้จริงกลับมาปัญหาตามมาอีกจนได้ ปัญหาที่ว่าก็คือ ความลำเอียงอีกเช่นกันครับ ก่อนใช้ก็อยากจะลดความลำเอียงลง แต่ใช้แล้วกลับไม่ได้ทำให้ลดลงเลย

  • ตั้งตัวชี้วัด และเป้าหมายแบบที่พนักงานทำได้อยู่แล้ว ตัวชี้วัดผลงานจริงๆ แล้วจะต้องตั้งในลักษณะที่ท้าทาย และยังทำไม่ได้ แต่ผู้ใช้บางคนก็ตั้งเฉพาะตัวที่ตนเองทำได้ ส่วนที่ยังทำไม่ได้ก็ไม่ต้องตั้ง สุดท้ายมันก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการประเมินผลงานอยู่ดี
  • ตั้งเป้าหมายให้ต่ำๆ เข้าไว้ เพื่อพนักงานจะได้บรรลุเป้าหมาย นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เวลากำหนดตัวชี้วัด พนักงานเองก็อาจจะมองเป้าหมายว่ายากเกินไป หัวหน้างานเองก็ยังคงไม่เลิกลำเอียง แบบว่าอยากให้พนักงานคนไหนได้ A ก็ตั้งเป้าหมายไว้แบบต่ำๆ เข้าไว้ เอาว่าพนักงานสามารถทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดแน่นอน แล้วแบบนี้จะแก้ไขปัญหาเรื่องการประเมินผลงานได้อย่างไร เพราะมันก็กลับมาเหมือนเดิมเมื่อก่อนใช้ตัวชี้วัดอยู่ดี
  • ตั้งตัวชี้วัดที่ไม่มีประโยชน์ต่อความสำเร็จของงาน เช่น ตั้งเรื่องของกำหนดวันส่งรายงาน หรือตั้งให้มีการส่งรายงานตรงเวลา และถูกต้อง ซึ่งการส่งรายงานนั้นไม่ได้ทำให้เป้าหมายของตำแหน่งงาน หรือหน่วยงาน หรือแม้แต่องค์กรบรรลุเป้าหมายได้เลย แต่ที่ตั้งตัวชี้วัดเหล่านี้ก็เพราะมันง่ายดี และพนักงานสามารถบรรลุได้ไม่ยากนัก

ประเด็นเรื่องตัวชี้วัดผลงานที่จะสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องความรู้สึกของหัวหน้าในการประเมินผลงานก็เป็นอันตกไป แก้ไม่ได้อยู่ดี คำถามก็คือ แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเรื่องความรู้สึก หรือความลำเอียงของหัวหน้าในการประเมินผลงานได้อย่างไร คำตอบก็คือ จะต้องพัฒนาผู้ประเมินให้เข้าในเรื่องของการประเมินผลงานอย่างดี รวมทั้งพัฒนาภาวะผู้นำ และทักษะในการเป็นหัวหน้างาน เพื่อให้รู้ว่าหัวหน้างานที่ดีนั้นจะต้องมี Integrity ในการทำงานไม่ว่าจะในเรื่องอะไรก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงเรื่องการประเมินผลงานนี้ด้วยเช่นกัน รวมทั้งให้ความรู้เรื่องของการกำหนดตัวชี้วัดผลงานว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ใช่กำหนดกันขึ้นมาเฉยๆ ต่างคนต่างกำหนดกันเอง แบบนี้ก็จะไม่สำเร็จในการนำตัวชี้วัดผลงานมาใช้ในการประเมินผลงานครับ

คำสำคัญ (Tags): #บริหารผลงาน
หมายเลขบันทึก: 489566เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 06:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท