พระอูวิสาระ : วีรชนฝ่ายสงฆ์(พม่า)


อูวิสาระ : วีรชนฝ่ายสงฆ์

                พระอาจารย์อูวิสาระ (U Wisara) คือ วีรชนฝ่ายสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางการเมืองรูปหนึ่งและโดดเด่นในประวัติศาสตร์เมียนมา  พระอาจารย์นั้นเป็นผู้ต่อกรกับรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษโดยใช้วิธีอหิงสา

File:U Wisara Statue standing on top of pile of bamboo sticks.JPG

                พระอาจารย์เกิดที่บ้านกางเน่ง  เขตอะมยีงมะโย่ะ  อำเภอโมงยะหว่า   มีนามในวัยเยาว์ว่า  หล่องละจ่อ พออายุได้ ๒๐ ปี  ก็บวชเป็นพระภิกษุ  พระอาจารย์ให้ความสนใจทางการเมืองมากขึ้นนับจากที่ได้ทราบข่าวที่รัฐบาลอังกฤษจับองค์ทานอูอุตตะมะจำคุก  อันเนื่องจากได้เทศนาทางการเมือง ในเวลานั้น คณะผู้รักชาติ  และคณะสังฆาสามัคคีกำลังมีบทบาทในทางการเมืองในประเทศเมียนมา  พระอาจารย์ได้เข้าร่วมกับคณะสังฆาสามัคคี  และเทศนาทางการเมือง  พร้อมกับร่วมมือกับคณะผู้รักชาติ

Ven.U Wisara

                พระอาจารย์อูวิสาระได้เข้าร่วมในการประชุม  Indian National Congress ที่เมืองคะยา  ประเทศอินเดียพร้อมกับองค์ท่านอูอุตตะมะ ในช่วงที่อยู่ในประเทศอินเดียเป็นเวลา ๒ ปี  นั้นท่านได้สั่งสมความรู้ความเข้าใจทางการเมือง  หลังจากที่พระอาจารย์กลับจากอินเดีย  ท่านได้ปฏิบัติการอย่างแข็.ขันเพื่อเอกราชของเมียนมาอย่างไม่ลดละจากการชี้นำของพระอาจารย์มวลประชาจึงเริ่มตื่นตัวในความรักชาติและการรับรู้ทางการเมืองในขณะที่พระอาจารย์จาริกเทศนาอยู่ ณ เขตตายาวดีนั้น รัฐบาลอังกฤษได้ห้ามมิให้ท่านเทศนา ในหนังสือคำสั่งห้ามเทศนานั้นปรากฏถ้อยคำที่หยาบคายว่า “เจ้าหนูจงสดับ” พระอาจารย์เมินเฉยต่อถ้อยคำนั้นแล้วเทศนาต่อไป ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงลงโทษจำคุกพระอาจารย์ด้วยข้อหาฝ่าฝืนอำนาจรัฐ

                 ven. Ottama และ Ven.Uwisara

หลังจากที่พระอาจารย์ออกจากการคุมขังแล้วก็ยังคงเทศนาต่อต้านอาณานิคมต่อไป ทั้งนี้เพราะมีความรังเกียจระบอบอาณานิคม ดังนั้นจึงถูกจับเป็นครั้งที่สอง ในขณะที่อยู่ในคุกนั้น นอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้ครองจีวรแล้ว ยังถูกทรมานต่าง ๆ นานา  นอกจากนี้ยังส่งพระอาจารย์ไปไว้ที่อินเดีย  ตามกฎหมายอาณานิคมพระอาจารย์มิใช่นักโทษถึงขั้นติดคุก ดังนั้นเมื่อพ้นจากคุกเป็นครั้งที่สองก็ได้ออกเทศนาเรื่อง “ไม่กลัวพวกอาณานิคม” ในการประชุมคณะผู้รักชาติที่จัดขึ้น ณ บ้านพะโยงก่าง ตำบลโตงควะ  อำเภอหันตาวดี

                ฝ่ายจากอังกฤษนั้นก็เฝ้าดูอยู่มิได้คลาดสายตา  พระอาจารย์ก็ถูกจับอีกครั้ง ขณะอยู่ในเรือนจำกลางในเมืองย่างกุ้ง  พระอาจารย์ได้ร้องขอที่จะครองจีวรและถือศีลอุโบสถ  แต่ว่าเจ้าหน้าที่กลับไม่อนุญาต  และก็ไม่ถวายอาหารเป็นเวลานานถึง ๑๖๖  วัน พระอาจารย์จึงมรณภาพในปี ๑๙๒๙   ในเวลาที่พระอาจารย์ใกล้มรณภาพนั้น  ท่านได้กล่าวสั่งเป็นวาระสุดท้ายต่อมวลประชาชนทั้งหลายว่า “ ขอจงอยู่อย่างฉลาด”  คำกล่าวนั้นเป็นโอวาทที่ทิ้งเพื่อชี้แนะแนวทางให้กับประชาชน (พม่า : การปฏิวัติด้วยชายจีวร ?)

                จากการต่อสู้อย่างแสนเจ็บปวดของพระอาจารย์นั้น   ในท้ายที่สุดพระสงฆ์ถูกจำคุกจึงได้รับอนุญาตให้ครองจีวร และถือศีลอุโบสถได้ พระอาจารย์นั้นมิได้ต่อต้านอาณานิคมด้วยวิธีรุนแรงหากใช้วิธีอหิงสามวลประชามีความตื่นตัวทางการเมือง ก็ด้วยเพราะความพยายามของพระอาจารย์

                ด้วยเหตุนี้   พระอาจารย์จึงโดดเด่นในฐานะนักต่อสู้ที่ยืนหยัดเพื่อประเทศและประชาชนด้วยเวลาอันยาวนานที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระอาจารย์  จึงได้หล่อรูปปั้นของพระอาจารย์แล้วนำไปตั้งไว้บนเสาหินอูวิสาระอยู่บนถนนด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ชะเวดากอง และให้เรียกถนนนั้นว่า “ถนนอูวิสาระ”

(แปลจากแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา เกรด ๖ หน้า ๑๒-๑๔) 

 

ที่มา โดยวิรัช  นิยมธรรม คิดแบบพม่า: ว่าด้วยชาติและวีรบุรุษในตำราเรียน (มหาสารคาม :  สนพ.ม.๒๕๕๑) หน้า . ๑๙๗-๑๙๙.

หมายเลขบันทึก: 489569เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท