วิธีทำตะไลของชาวบ้าน บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว นครสวรรค์


ตะไล เป็นพลุที่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าแบบควงเป็นเกลียวสว่าน จุดประทุและใช้แรงขับจากดินปืน ชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆจะทำขึ้นในโอกาสต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นงานรื่นเริงและงานมงคล เช่น งานทอดกฐินผ้าป่า งานเฉลิมฉลองการสร้างบุญกุศลและสาธารณสมบัติ งานเทศมหาชาติ งานประจำปีและงานในเทศกาลต่างๆ พบมากในวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านอีสาน และอาจพบได้บ้างในบางแห่งของภาคเหนือและภาคกลาง

ที่บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว นครสวรรค์นั้น มักทำตะไล พลุบั้งไฟ โคมลอย ในงานบูชาและเฉลิมฉลองเทศกาลที่ยิ่งใหญ่บางเทศกาล คือ งานเทศมหาชาติ งานทอดกฐิน และงานประจำปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว ผู้ที่ทำตะไลได้และยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเหลืออยู่คนเดียวคือน้าบุญช่วย มีแสง อายุกว่า ๗๕ ปีแล้ว เมื่อวานนี้ผมไปบวชหลานที่บ้านเกิดและได้มีโอกาสเจอท่าน จึงถือโอกาสขอสัมภาษณ์และนำสูตรการทำตะไลมารวบรวมไว้

สูตรการคำนวณดินตะไล : ดินบาท  มาดเฟื้อง  ถ่านสลึง
รายละเอียด :                     ดินประสิว                 น้ำหนัก     ๑   บาท
                                         มาด หรือกำมะถัน       น้ำหนัก     ๑   เฟื้อง
                                         ถ่าน                         น้ำหนัก     ๑   สลึง

วัสดุอุปกรณ์สำหรับทำตัวตะไล :
        ๑. แกนตะไล  ทำด้วยไม้รวกหรือไม้รวกป่า และต้องเป็นไม้ไผ่สด
        ๒. ปีกวงกลมของตะไล ทำด้วยไม้ไผ่ตง
        ๓. ถ่าน เป็นถ่านที่เผาจากไม้สัก ไม้ฉำฉา และเลือกเนื้อถ่านอย่างดี

โครงสร้างและรูปทรงโดยประมาณ ดังภาพ

 

การทำดินปืนสำหรับบรรจุตะไลและการทดสอบ

       ๑. เผาถ่านจากไม้สักหรือไม้ฉำฉาให้สุก จากนั้นดับและนำไปตากแดดจนแห้งสนิท เลือกก้อนถ่านที่มีความเป็นเนื้อถ่านสมบูรณ์ที่สุด
       ๒. แยกตำมาดหรือกำมะถัน ดินประสิว และถ่าน ทีละอย่างจนละเอียด หลังจากตำละเอียดแล้ว นำไปตากแดดให้ไม่มีความชื้นซึ่งจะทำให้คำนวณน้ำหนักคลาดเคลื่อน
       ๓. ผสมดินประสิว มาด และผงถ่านตามสัดส่วนข้างต้น จากนั้นค่อยตำและพรมน้ำเพื่อช่วยลดแรงเสียดทานให้ดินติดไฟ 
       ๔. เมื่อตำละเอียดดีแล้ว นำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท
       ๕. ทดสอบโดยหยิบดินปืนวางบนพื้นเรียบและจุดไฟ ดินปืนที่พร้อมสำหรับบรรจุแกนตะไลจะต้องติดไปลุกพรึ่บเดียวโดยเหลือเพียงเขม่าและไม่เหลือผงดินปืนเป็นก้อนแม้แต่น้อย
       ๖. การจุดไฟแล้วจ่อใส่ดินปืนเพื่อทดสอบนั้น ต้องให้ไฟสามารถแตะถึงเนื้อดินปืน หากดินปืนติดไฟเร็วเกินไปโดยเพียงจ่อเข้าใกล้แต่ยังไม่แตะดินปืน ก็จะทำให้ตะไลแรงและระเบิดง่าย

ขั้นตอนในการทำ

        ๑.  ลำดับในการทำ หาไม้ทำถ่านและทำถ่านก่อน จากนั้นจึงทำดินปืน ทดสอบดินปืน เก็บดินปืนไว้พร้อมใช้
        ๒. หาไม้ทำแกนตะไล เลือกแกนตะไลจากไม้รวกหรือไม้รวกป่าที่แก่ สด เนื้อแข็ง ลักษณะสมบูรณ์ กลม ผิวเรียบสม่ำเสมอ ไม้รวกที่เลือกไม่ดีจะแตก ระเบิด และไม่มีความสมดุล
        ๓. หาไม้ไผ่ตงและทำปีกตะไล
        ๔. บรรจุดินปืนใส่แกนตะไล ค่อยๆใส่และตำอัดแน่นทีละนิด สม่ำเสมอ ในการตำต้องไม่ตำแรงจนเกินไปเพราะจะทำให้กระบอกไม้ไผ่ถูกแรงอัดจากดินปืนดันให้ปริแตก
        ๕. ดินปืนที่ตำและอัดใส่แกนตะไล ต้องไม่แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ระเบิดในขณะจุด
        ๖. หลังจากดินปืนเต็มบ้องไม้ไผ่แกนตะไลแล้ว นำปีกวงกลมของตะไลตามสัดส่วนที่คำนวณดีแล้วมาติดกับแกนตะไล
        ๗. หาจุดสมดุลของแกนตะไลและคำนวณจุดสำหรับเจาะรูปประทุ
        ๘. ตบแต่งให้เรียบร้อย ได้ตะไลที่พร้อมจะจุดตามที่ต้องการ

สูตรการคำนวณขนาดและการเจาะ :

        ๑. ใช้เชือกวัดเส้นรอบวงของรูบ้องไม้ไผ่ที่เลือกมาทำแกนตะไลวน ๒ รอบ ความยาวของเชือกที่วัดเส้นรอบวงรูบ้องไม้ไผ่ทำแกนตะไลนี้ ถือเป็นสัดส่วนการคำนวณโครงสร้างของตะไลอีก ๒ ส่วน คือ ใช้เป็นความยาวของแกนตะไล และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของปีกวงกลมตะไล
        ๒. หลังจากบรรจุดินปืนใส่ในกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นแกนตะไล และประกอบชิ้นส่วนต่างๆของตะไลดังภาพเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ใช้เชือกมัดแกนตะไลเพื่อหาจุดสมดุลของตะไลบนแกนตะไล
        ๓. เมื่อได้ตำแหน่งจุดสมดุลแล้ว ใช้นิ้วหัวแม่มือทาบ ๒ นิ้วหัวแม่มือจากจุดสมดุล จะเป็นระยะของการเจาะรูประทุ
        ๔. ที่ระยะ ๒ นิ้วหัวแม่มือและตัวตะไลอยู่ในแนวระนาบขนานกับพื้นราบนี้ ใช้นิ้วหัวแม่มือทาบต่ำลงไปด้านล่างอีก ๑ หัวแม่มือ ซึ่งจะเป็นตำแหน่งเฉียงประมาณ ๑๕ องศา(ประมาณโดยผู้เขียน) จะเป็นตำแหน่งสำหรับเจาะรูประทุ ทำให้แรงขับจากดินปืนพุ่งเฉียงออกด้านล่าง และดันให้ตะไลพุ่งขึ้นด้านบนแบบควงเป็นเกลียวสว่าน

การจุดและปล่อยตะไล 

         ๑. ใช้ดินปืนหยอดใส่รูที่เจาะเป็นรูประทุบนแกนตะไลเพียงเล็กน้อย แล้วใช้นุ่นหรือสำลีอุดใส่รูเพื่อเป็นเชื้อจุดชนวนไม่ให้ดินปืนในตัวตะไลติดไฟเร็วเกินไป
         ๒. คว่ำมือขวาถือตะไลโดยจับปีกวงกลม แล้วหงายมือขึ้นให้ระนาบวงกลมของปีกตะไลขนานกับพื้น เมื่อหงายมือขึ้นนี้ จะทำให้รูประทุหงายขึ้นอยู่ด้านบนเพื่อจุด
         ๓. จุดตะไล เมื่อดินปืนตะไลติดและพุ่งจนเกิดแรงดันให้มือสบัดพอสมควรแล้ว คว่ำมือขวาที่ถือตะไลลง รูประทุจะกลับไปอยู่ด้านล่าง ทำให้เกิดแรงดันจำนวนมากพุ่งเฉียงลงด้านล่าง เบี่ยงมือและแขนขวาที่ถือตะไล เหยียดออกไปทางด้านซ้ายของลำตัวเหมือนท่าเงื้อง่าเพื่อสบัดมือเล่นขว้างจักรหรือจานบิน
         ๔. สบัดมือออกตามจังหวะแรงดันที่เกิดขึ้นของตะไล เหวี่ยงออกไปในแนวขนาน ตะไลจะลอยตัวและพุ่งขึ้นสู่เบื้องบนเป็นเกลียวสว่าน

หมายเลขบันทึก: 488613เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

- ตะไล คือ บ่องไฟ ... ใช่หรือเปล่าค่ะ ... งง ค่ะ ว่าคืออะไร? ... คนปัญญาน้อยก็อย่างนี้แหละคะ

- ขอบคุณ สำหรับบทความดีๆๆ นี้นะคะ

Thank you for the detailed recipe! How do they mix ดินตะไล is kept out for "safety reasons" ;-)

I think ตะไล is more like 'flying saucer' while บ่องไฟ is rocket.

เท่าที่ผมไปสัมภาษณ์ หมอตะไลอีสานมาหลายคน ก็ประมาณนั้ันครับ เสียแต่ว่าบางคนนิ้วเล็กนิ้วใหญ่ต่างกัน :-)

หรือนั่นอาจเป็นเหตุผลให้หมอตะไลหลายคน มีแผลเป็นเต็มตัว เต็มหน้า ..เพราะโดนตะไลระเบิดใส่ บางคนนิ้วกุด ตาบอดข้างหนึ่ง ถามไปถามมา เพราะตะไลระเบิดทั้งสิ้น ......ไม้ถ่านที่ตำใส่ผสมดินประสิว บางคนใช้ไม้ระกำ บางคนไม้้เพกา ไม้พริก ก็มี ล้วนแต่ไม้เบาๆ ...กำมะถันนั้นบางคนเีรียกดินมาด

เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวหนองบัว..

สวัสดีครับดร.หมอเปิ้ลครับ หลักการทำและลักษณะการทำงานก็เหมือนกับบ้องไฟเหมือนกันครับ แต่บ้องไฟจะพุ่งไปตรงๆในทางตรงกันข้ามกับแรงดันของดินปืนที่จุดระเบิดให้พลังงาน ส่วนตะไลนี้จะพุ่งขึ้นแบบควงเป็นเกลียวสว่านน่ะครับ 

สวัสดีครับคุณ sr ครับ

เมื่อก่อนนี้ผมเคยนั่งเฝ้าดูเขาทำเหมือนกันครับ แล้วก็เกิดคำถามในใจตรงที่คุณ sr สนใจนี้ด้วยเช่นกัน เท่าที่เห็นก็คือ หลังจากผสมดินปืนครบสูตรแล้ว เขาจะพรมน้ำในขณะตำอัดดินปืนใส่บ้องไม้ไผ่ไปด้วยครับ และในการตำ ก็จะลงน้ำหนักมือไม่มาก ในชั้นนี้ ก็จะให้ความปลอดภัยได้ครับ ผมเองนั้น ก็เคยทดลองทำดู แต่หลังจากตำเสร็จและทดสอบจุดดูแล้ว มันก็พลอยทำให้ไม่ติดพรึ่บอย่างที่ครูบ้องไฟเขาทำ

อีกทางหนึ่ง เท่าที่เห็นแถวบ้านเกิดผมนั้น สูตรการทำดินตะไล กับขนาดของแกนตะไลซึ่งจะกำหนดไปตามขนาดบ้องไม้รวกนั้น สูตรดินตะไลจะไม่แรง ขนาดแกนตะไลก็จะไม่ใหญ่ไปกว่าบ้องไม้รวก หากเกิดระเบิดก็จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ผมเคยเห็นตะไลแถวชุมชนบ้านเกิดผม เกิดระเบิดในขณะจุดอยู่เสมอ และบางครั้งก็ระเบิดบนมือในขณะเตรียมปล่อย แต่ไม่น่ากลัวและไม่เคยเห็นทำให้คนบาดเจ็บเลยแม้แต่ผู้จุด

การเรียกที่แสดงถึงความแตกต่างกันของตะไลกับบ้องไฟอย่างที่คุณ sr ให้นี่ ก็ชัดเจนดีนะครับ ในบันทึกของท่านอาจารย์คนถางทางที่ผมเคยอ่าน และก็ทำให้ตามไปดูรายละเอียดตามคลิปต์ต่างๆของบ้องไฟอีสาน ก็ให้ความรู้และอธิบายให้เข้าใจในรายละเอียดต่างๆได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์คนถางทางครับ
ผมนำเอารายละเอียดมาบันทึกเพิ่มอีกครับ เมื่อวานนี้นั่งแกร่วรอรถไฟกลับจากนครสวรรค์ไปเชียงใหม่จากบ่ายสองโมงไปจนถึง ๔ ทุ่มกว่า เลยนั่งวาดรูปและบันทึกเรื่องพวกนี้เก็บไว้ ลงรายละเอียดต่างๆไว้เรียบร้อยเหมือนกันครับ แต่พอกำลังจะโพสต์ไฟแบตเตอร์รี่คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คก็หมด เปิดมาดูอีกทีก็มีแต่รูป ต้องมานั่งเขียนใส่เข้าไปใหม่เพราะเสียดายที่ไปถามมาครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
บัวสัตตบงกชของพี่ใหญ่ปลูกได้สวยจังเลยครับ ปลูกและดูแลยากเหมือนกันนะครับ ผมกำลังหาทางแยกเหง้าบัวฉัตรแดงหรือบัวสัตบงกชซึ่งมีอยู่ในกระถาง เอาไปลงในสระและบ่อดินอีกรอบหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่าน่ะครับ เคยทำกันแล้วแต่ไม่ได้สักที

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตอนเด็ก ๆ หนูเคยได้ยินเสียงจุดตอนพิธีเปิดแข่งขันกีฬาด้วยนะคะ

ส่วนงานศพ ไม่แน่ใจว่าใช่เสียงตะไลหรือเปล่า

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ที่เห็นดังตูมตามในงานฌาปนกิจศพนี่เป็นพลุครับ ไม่ใช่ตะไลหรอกครับ ในงานเปิดกีฬาต่างๆก็คงจะเป็นพลุเหมือนกันนะผมว่า ตะไลนั้นจะไม่ดังตู๊มมม ม ดังๆหรอกครับ แต่จะดังแช่ด แช่ด แช่ด แช่ด แช่ด ๆๆๆๆๆๆ แล้วก็หมุนควงเป็นเกลียวขึ้นฟ้า มองดูควันที่พวยพุ่งออกมาของตะไล ก็จะเป็นเกลียวเหมือนริ้วผ้าบิดเป็นแนวยาว สวยมากครับ

อยากทราบว่าตะไลมีมานานแคไหนแล้ว บ้างว่ามีเป็นพันปีก่อนฝรั่งสร้างจรวด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท