ใบความรู้ที่ 2 เรื่อง วัสดุห้องสมุด (3)


วิชาการใช้ห้องสมุด

4.3  หนังสือพิมพ์  (News  Papers)  คือ  สิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าว  เหตุการณ์ความเคลื่อนไหว ใหม่สด  ทั้งภายในและนอกประเทศ  เป็นทรัพยากรสารนิเทศประเภทวัสดุตีพิมพ์ที่มีกำหนดการจำหน่ายสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันไปเป็นลำดับ  มีทั้งรายวัน  รายสัปดาห์  และรายปักษ์          แต่ส่วนใหญ่จะพิมพ์เผยแพร่เป็นรายวัน   หนังสือพิมพ์มีลักษณะเป็นกระดาษขนาดใหญ่  ประมาณ  16 X 22  นิ้ว  หลายแผ่นวางเรียงซ้อนกันและพับกลางในแนวดิ่ง  ไม่มีการเย็บเล่ม  ชื่อ   หรือหัวหนังสือพิมพ์  พร้อมด้วยวัน  เดือน  ปีที่ออกจะอยู่หน้าแรก  หนังสือพิมพ์เป็นสื่อสารมวลชนประเภทหนึ่งที่เสนอข่าว  และรายงานเหตุการณ์ทั้งภายในภายนอกประเทศ  ข่าวความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ  สังคม  กีฬา  วิชาการและบันเทิง  มีบทความเสนอความคิดเห็น  เนื้อหาสาระที่นำเสนอมีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม  เป็นสิ่งพิมพ์เพื่อคนทุกระดับความรู้ ไม่จำกัดผู้อ่าน  สามารถอ่านจบได้ในเวลาอันสั้น  และอ่านได้ทุกเวลาและทุกสถานที่  จึงเป็นสิ่งพิมพ์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจากผู้อ่านมากกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น ๆ   มีคอลัมน์ประจำที่เป็นเรื่องราวเบ็ดเตล็ด  และโฆษณา  ประชาสัมพันธ์  กำหนดออกมีทั้งรายวัน  รายสัปดาห์  เช่น  ไทยรัฐ  เดลินิวส์  ข่าวสด  ดาวสยาม  มติชน  วัฎจักร   เดลิมิเล่อร์  ประชาชาติธุรกิจ  Student  Weekly   The  Nation   Bangkok  Post  เป็นต้น

 ส่วนประกอบของหนังสือพิมพ์

                หนังสือพิมพ์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ  ที่สำคัญดังนี้

                1.  พาดหัวข่าว  (Headlines)  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสือพิมพ์  พิมพ์ไว้หน้าแรก  คือ  การเลือกข่าวที่สำคัญและน่าสนใจมากที่สุดมาย่อสรุปให้สั้น  พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่  สะดุดตา  เพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้อ่านและเพื่อประหยัดเวลาของผู้อ่าน  ที่ไม่มีเวลาพอที่จะอ่านได้ทุกข่าว  พาดหัวข่าวจะช่วยให้ผู้อ่านเลือกอ่านข่าวที่ตนสนใจมากที่สุด  หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะพาดหัวข่าวเพียงหนึ่งหรือสองข่าว  และมักไม่เกินสามข่าว  โดยจัดขนาดตัวพิมพ์ลดหลั่นกันลงมาตามระดับความสำคัญของข่าว

                2.  เนื้อหา  เนื้อหาในหนังสือพิมพ์  ประกอบด้วย

                     2.1  ข่าว (News)  คือ  รายงานเหตุการณ์  สถานการณ์หรือเรื่องราวที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น        สด ๆ  และเป็นปัจจุบันของคน  ของประเทศ  หรือของโลก  ข่าวมี 2 ประเภท  คือ ข่าวแข็ง (Hard  News)  ได้แก่  ข่าวที่มีประโยชน์  เช่น  ข่าวเศรษฐกิจ  ข่าวการศึกษาวัฒนธรรม  การบริหารประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และข่าวอ่อน (Soft  News)  ได้แก่  ข่าวกีฬา  ข่าวอุบัติเหตุ  ข่าวอาชญากรรม  ข่าวธุรกิจบันเทิง  และข่าวสังคม

                     2.2  บทนำหรือบทบรรณาธิการ  เขียนโดยบรรณาธิการ  เป็นบทความบทวิจารณ์ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวหรือเรื่องที่น่าสนใจในขณะนั้น

                     2.3  สารคดี  คือ  เรื่องที่ให้ความรู้  สาระต่างๆ  หรือเป็นวิชาการ

                     2.4  คอลัมน์ประจำ  จะมีผู้เขียนประจำ  และมีชื่อตามความเหมาะสม  เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตีพิมพ์เป็นประจำในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ

                     2.5  บันเทิงคดี  เช่น  ลงนวนิยายเรื่องยาวเป็นประจำ

                3.  ภาพประกอบ  เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ  และน่าสนใจในข่าวและคอลัมน์ต่างๆ  มากยิ่งขึ้น  ภาพประกอบการเสนอข่าวสดส่วนมากเป็นภาพที่ถ่ายมาโดยตรงจากเหตุการณ์  หรือสถานที่ที่ปรากฏเป็นข่าว  อาจเป็นภาพสีหรือขาว-ดำ

                4.  โฆษณาประชาสัมพันธ์  เป็นโฆษณาแจ้งความของบริษัทห้างร้าน  เช่นเดียวกับวารสาร  เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำหนังสือพิมพ์  ประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์จะช่วยให้ผู้อ่านทราบว่าจะซื้อสินค้าหรือบริการได้ที่ไหน  รู้แหล่งที่จะหางานทำหนังสือพิมพ์ที่ดีจะต้องไม่มุ่งกอบโกยแต่ผลประโยชน์  และลงโฆษณาแจ้งความมากจนเกินไป  ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้อ่าน 

4.4  จุลสารหรืออนุสาร  (Pamphlets)  เป็นทรัพยากรสารนิเทศประเภทวัสดุตีพิมพ์ขนาดเล็ก  มีความยาวไม่มากนัก  คือตั้งแต่  5 -  60  หน้า  รูปเล่มไม่แข็งแรงถาวร  ปกอ่อน  อาจเป็นกระดาษแผ่นเดียวพับไปมาหรือเป็นเล่มบางๆ  เนื้อหากล่าวถึงเรื่องราวเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวจบสมบูรณ์ในตัว  มีวิธีเขียนที่อ่านเข้าใจง่าย   เป็นเนื้อเรื่องที่น่าสนใจในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยจะเสนอเรื่องใหม่ ๆ เป็นบทความทางวิชาการ  สุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญ  บทความที่เคยลงในวารสารแล้วคัดเลือกนำมาพิมพ์ซ้ำ  ระเบียบข้อบังคับของสมาคมหรือสถาบัน  เรื่องที่พิมพ์เนื่องในพิธีการหรือโอกาสสำคัญ  เรื่องราวที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ๆ  แนะนำ  เผยแพร่  หรือสรุปรายงานของหน่วยงานนั้น ๆ  ให้บุคคลภายในหน่วยงาน  และบุคคลอื่นๆ  ได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาความก้าวหน้าของหน่วยงาน  เป็นทรัพยากรสารนิเทศที่ให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพราะมักมีการจัดพิมพ์ใหม่โดยเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุด

                    จุลสาร (Pamphlets)  คือ  สิ่งพิมพ์ที่ประกอบด้วยเรื่องใหม่ ๆ  ที่น่าสนใจเพียงเรื่องเดียว  อาจเย็บติดกัน  มีปกกระดาษหรือไม่มีก็ได้  บางครั้งเป็นกระดาษแผ่นพับไปมา  อาจเป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นเล่มเดี่ยว ๆ  หรือสิ่งพิมพ์ที่ออกติดต่อกันเป็นชุด

                    จุลสารใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญแหล่งหนึ่ง  เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ๆ  ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป  หรือเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญในแขนงวิชาการต่างๆ  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  โดยจะให้เรื่องราวและข้อเท็จจริงที่ควรทราบ  หน่วยราชการต่างๆ มักจะจัดทำจุลสารเผยแพร่ให้ประชาชนได้ติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์อยู่เสมอ  เช่น  จุลสาร        ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ   เป็นต้น

4.5   กฤตภาค (Clippings)  เป็นวัสดุที่ห้องสมุดแต่ละแห่งจัดทำขึ้น  แล้วรวบรวมเก็บเอาไว้  โดยการตัดเรื่องสำคัญ ๆ  ที่น่าสนใจ  ไม่ล้าสมัย  เป็นภาพที่มีคุณค่า  มีประโยชน์น่าเก็บไว้ศึกษาจากวารสาร  หนังสือพิมพ์  หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ  อาจเป็นข่าวการเมือง  การศึกษา  ชีวประวัติภาพสำคัญทางประวัติศาสตร์  ภาพศิลปกรรม  ฯลฯ  นำมาผลึกด้วยการลงบนกระดาษอัดสำเนามีแบบฟอร์มที่ห้องสมุดจัดทำไว้  แล้วรวมเอาเรื่องประเภทเดียวกันเก็บไว้ในแฟ้มเดียวกัน  จัดเรียงแฟ้มไว้ในตู้จุลสารตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง

     กฤตภาค (Clippings)  คือ  ข้อมูลที่ตัดจากหนังสือพิมพ์  วารสารหรือจุลสาร  แล้วผนึกลงบนกระดาษและเก็บเข้าแฟ้ม  พร้อมทั้งบอกแหล่งที่มาและให้หัวเรื่องกฤตภาค  ถือเป็นเครื่องมือประกอบการค้นคว้าที่ห้องสมุดสามารถจัดทำขึ้นเสริมหนังสือที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี

5.  วัสดุประเภทไม่ใช่สิ่งตีพิมพ์ (Non-Printed Material)

     5.1  วัสดุกราฟิก (Graphic  Materials)  หมายถึง  วัสดุที่เสนอข้อมูล  ข่าวสารความรู้  ความคิดที่สำคัญในรูปของลายเส้น  ตัวอักษร  ตัวเลข  สัญลักษณ์  และภาพประกอบเข้าด้วยกัน  อาจจะทั้งหมดหรือเฉพาะอย่างก็ได้  วัสดุกราฟิกช่วยให้ผู้อ่านผู้ดูเข้าใจเรื่องราวและข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นอาจแบ่งได้เป็น  5  ประเภท  คือ

                        5.1.1  แผนภูมิ (Charts)  ใช้แสดงความสัมพันธ์ของข้อมูล  เรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ง่าย ต่อการเข้าใจและเป็นที่น่าสนใจ  แผนภูมิมีหลายลักษณะ  เช่น  แบบตาราง  แบบอธิบายภาพแบบองค์การ  แบบต่อเนื่อง  แบบวิวัฒนาการ  ฯลฯ

                        5.1.2  แผนภาพ (Diagrams)  คือ  วัสดุที่ใช้แสดงโครงสร้างและความสัมพันธ์ภายในโครงสร้าง  หรือแสดงกระบวนการต่างๆ  โดยใช้ลายเส้นและสัญลักษณ์แสดง  มีคำบรรยายประกอบ 

                        5.1.3  แผนสถิติ (Graphs)  ใช้แสดงข้อมูลที่เป็นตัวเลข  จำนวนหรือสัดส่วนที่มีความสัมพันธ์กัน  เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจข้อมูลที่แสดงได้อย่างรวดเร็ว  และถูกต้อง  จุดมุ่งหมาย ที่สำคัญของแผนสถิติ  คือ  แสดงให้เห็นการเปรียบเทียบ  แนวโน้ม  หรือความเปลี่ยนแปลงและปริมาณของข้อมูลในแบบที่ง่ายและเร็วที่สุด  แผนสถิติมีหลายลักษณะ  เช่น  แบบแท่ง  แบบวงกลม  แบบเส้น  ฯลฯ 

                        5.1.4  ภาพโฆษณา (Posters)  เป็นวัสดุที่จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารข้อมูล  โดยใช้ภาพ  สี   และคำ  หรือข้อความประกอบเข้าด้วยกัน  และมีการออกแบบอย่างดี  เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น  และจูงใจให้มีความเห็นคล้อยตาม

                        5.1.5   แผนที่ (Maps)  เป็นภาพแสดงลักษณะภูมิประเทศและอาณาเขตบนพื้นผิวโลก

         5.2   ภาพนิ่ง (Still  Pictures)  ภาพนิ่งช่วยในการเรียนรู้และให้ประสบการณ์แก่ผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี  ภาพนิ่งมีหลายลักษณะ  คือ

                       5.2.1  รูปภาพ (Flat,  Opaque  Pictures)  คือ  ภาพนิ่งทึบแสงที่แสดงเรื่องราวเหตุการณ์  วัตถุ  หรือบุคคล  รูปภาพอาจเป็นภาพถ่าย  ภาพวาด  ภาพเขียน  หรือภาพพิมพ์ในหนังสือเรียน  นิตยสาร  วารสาร  หนังสือพิมพ์  ภาพเหล่านี้สามารถใช้กับเครื่องฉายภาพทึบแสง (opaque  projector)  ขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นได้

                     5. 2.2  สไลด์ (Slides)  คือ  ภาพนิ่งที่บันทึกลงบนฟิล์มโปร่งแสง  หรือกระจกและนำมาเข้ากรอบกระดาษหรือพลาสติก  มีทั้งภาพขาวดำ  และภาพสีต้องใช้กับเครื่องดูสไลด์ (slide  preview )  หรือเครื่องฉายสไลด์ (slide  projector)  ซึ่งอาจจะมีเทปคำบรรยายประกอบ

                    5.2.3  ฟิล์มสตริป (Filmstrips)  เป็นภาพนิ่งจำนวนหนึ่งที่ถ่ายเรียงลำดับติดต่อกันบนฟิล์ม  ซึ่งอาจเป็นภาพสีหรือภาพขาวดำก็ได้  บางครั้งเรื่องราวอาจยาวมาก  มีคำอธิบายภาพแต่ละภาพด้วยอักษร  หรืออาจจะมีเทปบันทึกเสียงบรรยาย  ตัวฟิล์มบรรจุในกล่องโลหะ  หรือ  พลาสติกไม่เปลืองเนื้อที่ในการเก็บ  ต้องใช้กับเครื่องฉายฟิล์มสตริป (filmstrip  projector)

                    5.2.4  แผ่นโปร่งใส (Transparencies)  แผ่นโปร่งใสเป็นแผ่นพลาสติกหรือแผ่นอาซีเตท  และเข้ากรอบกระดาษแข็งใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ  (overhead  projector)  ภาพในแผ่นโปร่งใส อาจมาจากการเขียน  การถ่าย  หรือพิมพ์ก็ได้  มีทั้งภาพสีและขาวดำ  อาจมีตัวอักษร    และสัญลักษณ์ประกอบ   นอกจากนี้  ภาพในแผ่นโปร่งใสอาจมาจากการซ้อนภาพ  (overlay)   ด้วยแผ่นโปร่งใสหลายแผ่นเพื่อเสนอเรื่องราวหรือข้อมูลทีละขั้นตอนจนได้เรื่องราวหรือข้อมูลที่สมบูรณ์

      5.3  วัสดุย่อส่วน (Microforms)  เป็นวัสดุที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการมีเอกสารสิ่งพิมพ์ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยไม่อาจขยายสถานที่ของห้องสมุดเพิ่มขึ้นได้ทัน  รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องหนังสือเก่า  ขาด  ชำรุด  ซ่อมไม่ได้และหนังสือหายากอีกด้วย  ความหมายกว้างๆ  ของวัสดุย่อส่วนคือ  การย่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  ให้เล็กลงกว่าเดิมหลาย ๆ  เท่าแล้วบันทึกลงแผ่นฟิล์ม  หรืออัด ลงบนบัตร  มีทั้งทึบและโปร่งแสง  การอ่านข้อความจากวัสดุย่อส่วนต้องใช้เครื่องอ่าน (microform  readers)  ที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ  เครื่องอ่านี้จะขยายส่วนที่ย่อไว้ให้พอเหมาะกับสายตาผู้อ่าน  นอกจากนี้  ยังมีเครื่องอ่านที่สามารถพิมพ์เนื้อหาหน้าที่ต้องการได้อีกด้วย

                        5. 3.1  ไมโครฟิล์ม (Microfilms)  เป็นภาพถ่ายย่อส่วนของภาพหรือข้อความจากสิ่งพิมพ์  เช่น  หนังสือพิมพ์  หนังสือหายาก  โดยการถ่ายลงบนม้วนฟิล์ม 

                        5.3.2  ไมโครฟิช (Microfiches)  เป็นการย่อส่วนหน้าหนังสือลงบนแผ่นฟิล์มโปร่งแสง  แต่ละขนาดจะมีจำนวนแถวและกรอบภาพแตกต่างกันออกไป  ไมโครฟิชแต่ละแผ่นบรรจุข้อมูลเอกสารเพียงเรื่องเดียว  แต่ถ้าเอกสารมีความยาวมากต้องบรรจุแผ่นต่อ ๆ ไป

                        5.3.3  ไมโครโอเพค (Microopaques)  เป็นการย่อส่วนหน้าหนังสือลงบนกระดาษ          ทึบแสงด้วยการพิมพ์  วัสดุย่อส่วนประเภทนี้มีหลายขนาด  และมีชื่อเรียกดังนี้  คือ

                                 5.3.3.1  ไมโครการ์ด (Microcards) 

                                 5.3.3.2  ไมโครพริ้นท์ (Microprints)

                 5.4.  ภาพยนตร์ (Motion  Picture)  เป็นภาพนิ่งที่ถ่ายทำต่อเนื่องกันไปตามแนวตั้งของฟิล์ม  เมื่อนำมาฉายด้วยอัตราเร็วที่ถูกต้อง  จะเห็นภาพที่แสดงความเคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติฟิล์มภาพยนตร์มีทั้งชนิดสีและขาวดำ  มีหลายขนาด  มีทั้งฟิล์มขนาดธรรมดาและขนาดพิเศษที่ให้ ภาพคมชัด  มีทั้งชนิดบรรจุอยู่ในล้อโลหะหรือพลาสติก (reel)  และชนิดตลับ (loop)  ซึ่งเป็นตลับพลาสติก  ปลายทั้งสองของฟิล์มติดต่อกัน  จึงทำให้ฟิล์มเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลาที่ฉาย  คือ  ฉายได้หลายรอบโดยไม่ต้องกรอฟิล์มกลับ 

                5.5  วีดิทัศน์ (Video  Tape)  เป็นวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงไว้ในเส้นเทปในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  สามารถลบแล้วบันทึกใหม่ได้เช่นเดียวกับเทปบันทึกเสียง  มีทั้งชนิดม้วน (reel) และตลับ (cassette)  และสามารถนำรายการที่บันทึกไว้มาใช้ได้ทันที  เทปบันทึกภาพที่บันทึกรายการแล้วสามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงและเพื่อการศึกษาได้ตลอดไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว 

                5.6  วัสดุบันทึกเสียง (Audio  Recordings) วัสดุบันทึกเสียงผลิตออกมาในรูปร่างและลักษณะต่างๆ  กัน  ได้แก่

                        5.6.1  แผ่นเสียง (Audio  Recordings) วัสดุบันทึกเสียงผลิตออกมาในรูปร่างและลักษณะต่างๆ  กัน  ได้แก่

                        5.6.2  เทปบันทึกเสียง (Phonotapes)  เป็นการบันทึกเสียงลงบนแถบเสียงมีทั้งชนิดม้วน (reel)  และตลับ (Cassette)  ใช้ประโยชน์ทั้งทางวิชาการ  นันทนาการ  สุนทรพจน์  ปาฐกถา การสัมภาษณ์  ดนตรี  ละคร  การอ่านทำนองเสนาะ  และการเรียนภาษา  การบันทึกเสียงลงใน        แถบเสียงหรือการเปิดฟังเสียง  จะต้องอาศัยเครื่องบันทึกเสียง (tape  recorders)

                5.7  ลูกโลก  หุ่นจำลอง  และของตัวอย่าง ( Gropes,  Models,  Specimens) 

                        5.7.1  ลูกโลก (Globes)  มักมีประจำห้องสมุด  เพื่อใช้ประกอบการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับภูมิประเทศ  อาณาเขต  แม่น้ำ  ภูเขา  มหาสมุทร  ลูกโลกจะช่วยให้เข้าใจสภาพของโลกได้ใกล้เคียงกับรูปพรรณสัณฐานจริง ๆ กว่าแผนที่

                        5.7.2  หุ่นจำลอง (Models)  คือ  วัสดุสามมิติที่สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะเหมือนของจริงหรือเลียนแบบของจริง  หุ่นจำลองบางชนิดสร้างให้มีขนาดเล็กกว่าของจริงเพื่อสะดวกในการจัดเก็บและเพื่อให้มีราคาถูก  และบางชนิดก็จัดทำให้ใหญ่กว่าของจริงเพื่อสะดวกในการศึกษา

                        5.7.3  ของตัวอย่าง (Specimens)  ให้ประโยชน์ในการเรียนรู้ได้มาก  เนื่องจากผู้เรียนได้ประสบด้วยตนเองโดยตรง  ของจริงที่จะพบในห้องสมุดเป็นประเภทของตัวอย่าง  เช่น  ตัวอย่างหิน  ตัวอย่างแร่ หรือตัวอย่างเงินตราต่างประเทศ  เป็นต้น

 5.8 เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic  Documents) นับเป็นสื่อใหม่ในการบันทึกและสื่อสารนิเทศ  รู้จักกันในชื่อ  “สื่ออิเล็กทรอนิกส์”  (Electronic  media)  เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำไปพัฒนาคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคม  ได้แก่ 

                        5.8.1  ฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ( Computerized  Databases)

                                   5.8.1.1  ฐานข้อมูลที่ห้องสมุดเฉพาะแห่งพัฒนาขึ้นใช้เอง

                                  5.8.1.2  ฐานข้อมูลจากแหล่งอื่น  เช่น  ฐานข้อมูลเพื่อการค้า  และฐานข้อมูล             ที่เครือข่าย สารนิเทศพัฒนาขึ้นใช้ร่วมกัน

                        5.8.2  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic  Journals)  หมายถึง  วารสารที่จัดทำและเผยแพร่โดยใช้คอมพิวเตอร์และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นตัวเลือกคู่กับวารสารที่พิมพ์ด้วยกระดาษ

                        5.8.3  ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic  Mail,  E-mail)  คือ  ระบบการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์  โดยทั้งผู้สงและผู้รับมีเลขประจำตัวในระบบการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์  เมื่อผู้ส่งบันทึกข้อความที่คอมพิวเตอร์ต้นทาง  ผู้รับปลายทางซึ่งอาจอยู่ห่างไกลกันข้ามประเทศหรือข้ามทวีปจะได้รับข้อความในเวลาอันรวดเร็วเพียงไม่กี่วินาที และสามารถเรียกอ่านข้อความจากคอมพิวเตอร์ปลายทางในเวลาที่สะดวก  ห้องสมุดใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ในงานต่างๆ  ของห้องสมุด  เช่น   การติดต่อในและระหว่างห้องสมุด  การสั่งซื้อทรัพยากรสารนิเทศ  การยืมระหว่างห้องสมุดการบอกรับวารสารอิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น

                        5.8.4  โทรสาร (Facimile,  Fax)  คือ  การส่งเอกสารผ่านสื่อโทรคมนาคม (โทรศัพท์  หรือโทรศัพท์และการสื่อสารผ่านดาวเทียม)  ไปยังผู้รับปลายทาง  โดยผู้รับปลายทางได้รับเอกสารเหมือนต้นฉบับที่ส่ง  ห้องสมุดใช้โทรสารในงานต่างๆ  ของห้องสมุดที่ต้องการความรวดเร็ว  เช่น  การติดต่อ  การยืมระหว่างห้องสมุดด้วยวิธีขอทำสำเนาเอกสารจากห้องสมุดอื่น

                        5.8.5  สื่อผสม (Multimedia)  คือ  สื่อที่มีทั้งอักษร (ข้อความ)  ภาพ (ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้)  และเสียงรวมอยู่ด้วยกัน  บันทึกไว้ในหน่วยความจำหลายรูปแบบ  คือ คอมพิวเตอร์  แผ่นบันทึก (diskette,  floppy  disk)  จานคอมแพกต์ (CD)  ห้องสมุดจัดสื่อผสม           เป็นสื่อสารนิเทศที่บันทึก  ถ่ายทอด  และรับสารนิเทศด้วยประสาทสัมผัสทางตา  ทางหู  มีเนื้อหาที่เป็นทั้งสารคดีและบันเทิงคดี

                         5.8.6  เคเบิลทีวี (Cable  Television)  เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกประเภทหนึ่งที่มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการจัดการศึกษาในบางประเทศ  เช่น  สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ให้เป็นทรัพยากรสารนิเทศของศูนย์สื่อการสอน (instructional  media  center)  ในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา  ซึ่งศูนย์ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นห้องสมุดโรงเรียนด้วย  เคเบิลทีวีแต่เดิม มีชื่อเรียกว่า  CATV (Community  Antenna  Television)  สำหรับประเทศไทย  เคเบิลทีวีเป็นสื่อที่ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายค่าบริการ  ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายส่งสัญญาณถึงผู้รับ  ตามบ้านเรือน  สำนักงาน  และห้องสมุดโดยสายเคเบิลคู่  (coaxial  cable)  แต่อาจส่งสัญญาณทางสื่อดาวเทียมคู่กับสายเคเบิลที่เดินสายต่อเข้าเครื่องรับ  หรือส่งสัญญาณทางสื่อดาวเทียมถึงเครื่องรับโดยตรงผ่านเสาอากาศก็ได้  รับได้ทั้งภาพและเสียงเหมือนโทรศัพท์ทั่วไป  สาระที่สื่อสารมีความรู้และบันเทิงให้เลือกรับได้ตามต้องการ  ห้องสมุดอาจใช้สื่อประเภทนี้เป็นสื่อเสริมทรัพยากรสารนิเทศประเภทอื่นของห้องสมุด

 

หมายเลขบันทึก: 488397เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท