ใบความรู้ที่ 2 เรื่อง วัสดุห้องสมุด (2)


วิชาการใช้ห้องสมุด

ส่วนประกอบของหนังสือ     

                การใช้หนังสือเพื่อการศึกษาค้นคว้าให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และรวดเร็วนั้น  ผู้ใช้จำเป็นจะต้องรู้จักส่วนต่าง ๆ  ของหนังสือว่า  หนังสือมีส่วนประกอบอะไรบ้าง  และแต่ละส่วนมีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร  ส่วนประกอบของหนังสือโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 3  ส่วน  คือ  ส่วนประกอบตอนต้น  ส่วนเนื้อเรื่อง  และส่วนประกอบตอนท้าย ดังนี้

                ส่วนประกอบตอนต้น  ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ  ดังนี้

                1.  ใบหุ้มปก (Book  Jacket  หรือ  Dust  Jacket)  คือ  กระดาษที่ใช้ห่อหุ้มปกนอกของหนังสือที่เป็นปกแข็ง  ใช้กระดาษตีพิมพ์มีสีสันสวยงาม  เพื่อดึงดูดความสนใจ  มีชื่อหนังสือ  และชื่อผู้แต่งปรากฏอยู่  ประโยชน์ของใบหุ้มปก  คือ  ช่วยป้องกันไม่ให้ปกหนังสือสกปรก  และช่วยรักษาปกให้ใหม่อยู่เสมอ  และให้รายละเอียดบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน  เช่น  อาจมีประวัติสั้น ๆ ของ ผู้แต่งและผลงาน  รวมทั้งมีเรื่องย่อหรือคำวิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น  ซึ่งมีผู้ติชมเอาไว้ในที่ต่าง ๆ 

                2.  ปกหนังสือ (Cover  หรือ  Binding)  มีทั้งปกหน้าและปกหลัง  โดยมีสันหนังสือ  (Spine)  เป็นส่วนช่วยยึดให้ปกหน้าและปกหลังเข้าด้วยกัน  ปกหนังสือมีทั้งชนิดที่เป็นปกแข็ง  ซึ่งทำจากกระดาษแข็งหุ้มด้วยผ้าแรกซีน  หรือหุ้มด้วยผ้า  หรือหุ้มด้วยหนัง  และชนิดปกอ่อน  ซึ่งทำด้วยกระดาษหนาหรือบางตามที่ผู้ผลิตจะกำหนด  ปกหน้าตามปกติจะปรากฏชื่อหนังสือ  ชื่อผู้แต่ง  และชื่อสำนักพิมพ์  หนังสือที่มีสันหนาจะพิมพ์สันหนังสือตามรายละเอียดเช่นกับปกหน้า ถ้าเป็นหนังสือของห้องสมุดจะมีเลขเรียกหนังสือกำกับไว้ที่สันด้วย แต่ถ้าเป็นหนังสือสันบางเลขเรียกหน้าหนังสือของห้องสมุดจะเขียนไว้ตรงปกหน้า  ประโยชน์ของปกหนังสือ  คือ  ช่วยรักษารูปเล่มของหนังสือ ให้คงทน  และหยิบจับได้สะดวก

                3.  สันหนังสือ (Spine)  สันหนังสือจะมีเฉพาะหนังสือหนา  ๆ  เป็นส่วนเชื่อมระหว่างปกหน้าและปกหลัง  ที่สันอาจมีชื่อเรื่องและชื่อผู้แต่ง

                4.  ใบรองปก หรือใบยึดปก  (End  Papers)  เป็นแผ่นกระดาษที่มีความเหนียวเป็นพิเศษ  ทนทาน  พับครึ่งหน้ากระดาษ  ด้านหนึ่งผนึกติดกับปกนอก  อีกด้านหนึ่งผนึกติดเป็นแผ่นเดียวกับใบรองปก  ช่วยทำให้หนังสือแน่นหนาขึ้น  สันหนังสือบางเล่มส่วนนี้อาจพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์  เช่น  แผนที่  แผนภูมิ  ตารางหรือลวดลายต่าง ๆ  ใบรองปกส่วนมากเป็นกระดาษขาวว่างเปล่า  มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  ทำหน้าที่ช่วยยึดปกกับตัวเล่มหนังสือให้ติดกัน

                5.  หน้าชื่อเรื่อง (Half  Title  Page)  อยู่ถัดจากใบรองปก  หน้านี้จะบอกแต่เพียงชื่อหนังสือไว้อย่างเดียว  หรือถ้าเป็นหนังสือชุดก็จะบอกชื่อชุด (Series)  เอาไว้ด้วย  ปัจจุบันหนังสือส่วนมากไม่มีหน้าชื่อเรื่อง  เนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

                6.  หน้าภาพพิเศษ  หรือหน้าภาพนำ  (Frontispiece) เป็นหน้าที่มีภาพสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้น  ลักษณะเป็นภาพขนาดใหญ่เต็มหน้ากระดาษ  ถ้าเป็นหนังสือชีวประวัติอาจเป็นภาพของบุคคลสำคัญ  หรือภาพของผลงานชิ้นเด่น ๆ ทางด้านศิลปกรรมของหนังสือ ทางด้านศิลปะ  ส่วนหนังสือทั่ว ๆ ไปจะไม่มีหน้านี้

                7.  หน้าปกใน (Title  Page)  ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของหนังสือ  เพราะจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ๆ  อย่างสมบูรณ์  ดังนี้

                     7.1  ชื่อเรื่อง (Title) ชื่อเรื่องของหนังสือที่ปรากฏในหน้าปกในนี้ ถือว่าเป็นชื่อเรื่อง ของหนังสือที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด  หนังสือบางเล่มชื่อที่ปกนอกกับที่หน้าปกในไม่เหมือนกัน  เพราะอาจมีชื่อเรื่องย่อยหรือชื่อเรื่องรองซึ่งเป็นข้อความที่อธิบายชื่อเรื่อง  หรือข้อความที่ช่วยขยายความหมายของชื่อเรื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                     7.2  ผู้แต่ง (Author)  บอกชื่อและนามสกุลของผู้แต่งหนังสือและผู้แต่งร่วมคนอื่น ๆ หากหนังสือเล่มนั้นมีผู้แต่งหลายคนและบอกชื่อผู้รวบรวม  ชื่อผู้แปล  ผู้วาดภาพประกอบ หรือบรรณาธิการ  สำหรับหนังสือบางเล่ม

                     7.3  ผู้แปล (Translator)  จะมีในกรณีผู้แต่งเป็นชาวต่างประเทศ

                     7.4  บรรณาธิการ (Editor)  เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องในเล่ม  ไม่ใช่ผู้เขียนเรื่องเอง

                     7.5  ผู้เขียนภาพประกอบ (Illustrator)  จะมีในหนังสือที่มีภาพประกอบเป็นองค์ประกอบสำคัญ  เช่น  หนังสือสำหรับเด็ก  เป็นต้น

                     7.6  ครั้งที่พิมพ์ (Edition)  จะแจ้งครั้งที่พิมพ์เอาไว้ตั้งแต่มีการพิมพ์ครั้งที่ 2  เป็นต้นไป (พิมพ์ครั้งแรกไม่แจ้งเอาไว้)  และถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมก็จะบอกเอาไว้ด้วย  เช่น  พิมพ์ครั้งที่ 3  แก้ไขและเพิ่มเติม

                     7.7  พิมพลักษณ์ (Imprint)  คือลักษณะการพิมพ์หรือรายการที่เกี่ยวกับการพิมพ์  ได้แก่  สถานที่พิมพ์  ชื่อเมือง  หรือ  จังหวัด   ผู้จัดพิมพ์  หมายถึง  สำนักพิมพ์  หรือหน่วยงานที่จัดพิมพ์และปีที่พิมพ์

                     7.8  เลขมาตรฐานสากล  (ISBN    International  Standard  Book  Number)  คือ เลขมาตรฐานหนังสือสากล  แต่ละเล่มจะไม่ซ้ำกัน  มีประโยชน์ในการสั่งซื้อ  เมื่อใช้เลขนี้สั่ง  จะได้เล่มที่ตรงตามข้อมูลที่ต้องการ  เช่น  ISBN  974-8262-90-1  เป็นเลขมาตรฐานหนังสือสากลของหนังสือที่พิมพ์ในประเทศไทย  (974  -   เลขประเทศไทย,  8262- เลขสำนักพิมพ์,  90 – เลขประจำหนังสือ,  1 – เลขตรวจสอบในคอมพิวเตอร์)

                8.  ลิขสิทธิ์ (Dedication  Page)  จะอยู่ด้านหน้าของหน้าปกใน  เป็นหน้าที่บอกให้ทราบถึง  มีจดลิขสิทธิ์จำนวนครั้งที่จดลิขสิทธิ์ไว้  โดยใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์  ของหนังสือเล่มนั้น  หากมี การคัดลอกตัดตอน  ดัดแปลง  ส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือแปล  หรือพิมพ์ซ้ำ  จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน  มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์  เจ้าของลิขสิทธิ์อาจเป็นผู้เขียน หรือสำนักพิมพ์ซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือเล่มนั้นจากผู้เขียนก็ได้

                ถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษจะมีข้อมูลบัตรรายการห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library  of  Congress  Cataloging  in  Publication  Data)  ซึ่งเป็นข้อมูลที่อำนวยความสะดวกให้แก่บรรณารักษ์ ในการวิเคราะห์เลขหมู่และทำบัตรรายการ  หรือสั่งซื้อบัตรรายการสำเร็จรูปของหนังสือเล่มนั้นได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการจัดทำ  หากห้องสมุดมีงบประมาณมากเพียงใด

                9.  หน้าคำอุทิศ (Dedication  Page) จะอยู่ก่อนถึงหน้าคำนำ  เป็นข้อเขียนที่ผู้แต่งกล่าว คำแสดงถึงความกตัญญูแก่ผู้มีอุปการคุณ  บุคคลที่รักใคร่ให้กำลังแรงใจในการเขียนหนังสือเล่มนั้น ได้สำเร็จ  ส่วนมากจะเป็น บิดามารดา  สามี  ภรรยา  ลูก  ครูอาจารย์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว

                10.  หน้าคำนำ (Preface  หรือ  Foreword  หรือ  Introduction)  เป็นส่วนแรกของหนังสือ ที่ผู้อ่านจะต้องอ่านอย่างละเอียดก่อนที่จะอ่านเนื้อหาของหนังสือจริง ๆ เพราะคำนำจะทำให้ผู้อ่านทราบถึงแนวทางของเนื้อหา  ขอบเขตของหนังสือที่เสนอในเล่ม

                บางครั้งคำนำอาจเป็นส่วนที่ผู้เขียนแจ้งให้ผู้อ่านได้ทราบถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ในการแต่งหนังสือเล่มนั้น  รวมทั้งขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุน  แต่ถ้าหากในกรณีที่ผู้เขียน จะต้องกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก  เช่น  ในการทำวิทยานิพนธ์  มักจะแยกคำกล่าวขอบคุณออกจากคำนำ  และเรียกชื่อว่า  “ประกาศคุณูปการ  หรือ  กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement)”  ซึ่งจะอยู่ในหน้าถัดไปจากคำนำ

                หนังสือบางเล่มอาจมี  “คำนิยม”  เป็นข้อความของบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  เขียนชมหรือแนะนำเกี่ยวกับผู้แต่งหรือเนื้อหาของหนังสือต่อผู้อ่านใส่ไว้เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่งานเขียนนั้น ๆ  คำนิยามนี้จะอยู่ก่อนหน้าคำนำที่ผู้แต่งเขียนขึ้นมาเอง

                11.  ประกาศคุณูปการ (Acknowledgement)  คือ  ส่วนที่ผู้เขียนกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือ ในการแต่งหนังสือเล่มนั้น  ถ้ามีหลายคนนิยมแยกไว้อีกหน้าหนึ่ง  (ไม่กล่าวรวมในคำนำ)  บางตำราเรียกส่วนนี้ว่า  กิตติกรรมประกาศ  ซึ่งนอกจากจะแสดงมารยาทของผู้แต่งแล้ว  ผู้อ่านยังได้ประโยชน์ที่ได้ทราบคุณวุฒิ  หรือตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้มีส่วนในหนังสือเล่มนั้น  ทำให้พิจารณาได้ว่าเนื้อหาน่าเชื่อถือหรือไม่

                12.  หน้าสารบัญ  หรือ  สารบาญ  (Contents  หรือ  Table  of  Contents)  บางครั้งเขียนว่า  สารบาญจะอยู่ต่อจากหน้าคำนำเป็นหน้าที่บอกให้ผู้อ่านทราบว่าหนังสือเล่มนั้นมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง  จัดลำดับบทหรือตอนไว้อย่างไร  และภายในบทหรือตอนนั้นมีสาระขอบเขตไว้อย่างไร  พร้อมทั้งมีเลขหน้ากำกับแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าหนังสือเล่มนั้นมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด  มีเรื่อง ที่ตนต้องการศึกษาค้นคว้าหรือไม่  อยู่ที่หน้าใด  สารบัญจึงช่วยให้ผู้อ่านค้นหาเรื่องราวที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็ว

                13.  รายชื่อแผนที่  ตารางและภาพประกอบ (List  of  Maps,  Table  and  Illustration) หนังสือที่มีแผนที่  ตาราง  หรือภาพประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก  และมีส่วนสำคัญต่อเนื้อหา  เช่น  หนังสือภูมิศาสตร์  หนังสือประวัติศาสตร์  หนังสือสถิติและวิจัย  หนังสือศิลปะ  เป็นต้น  ผู้เขียนจะจัดทำบัญชีรายชื่อของแผนที่  ตาราง  หรือภาพประกอบ  พร้อมทั้งเลขหน้ากำกับไว้เพื่อช่วยให้ผู้อ่านค้นหาสิ่งที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็ว  เช่นเดียวกับสารบัญ

                ส่วนเนื้อเรื่อง  เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากส่วนประกอบตอนต้น  นับว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสือ  ในส่วนนี้ประกอบด้วย  เนื้อเรื่อง  และเชิงอรรถ

                1.  เนื้อเรื่อง (Text หรือ Body  of  the  Book)  เป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือ    ผู้เขียนมักแบ่งเนื้อเรื่องของหนังสือออกเป็นบทหรือเป็นตอนซึ่งจะเริ่มตั้งแต่บทที่หนึ่งไปจนถึงบทสุดท้ายตามที่ปรากฏในสารบัญ  มีเลขกำกับหน้าเรียงลำดับติดต่อกันไปโดยตลอด

                2.  เชิงอรรถ (Note หรือ  Footnote)  เป็นหลักฐานการอ้างอิงข้อความที่นำมาจากที่อื่น เพื่อประกอบการเขียนอาจพิมพ์ไว้ที่ส่วนล่างของหน้ากระดาษที่ข้อความนั้นปรากฏอยู่  หรือใส่ไว้ในวงเล็บแทรกอยู่กับเนื้อหา  หรืออาจรวบรวมไว้ท้ายบทหรือท้ายเล่มเลยก็ได้แล้วแต่ความถนัด และความเหมาะสมของผู้ประพันธ์และงานเขียนชั้นนั้น  เชิงอรรถมี 3 ประเภท  คือ

                     2.1  เชิงอรรถอ้างอิง (Citation  Footnote)  คือ  เชิงอรรถแหล่งที่มาของข้อความที่นำมาประกอบการเรียบเรียงในเนื้อเรื่อง

                     2.2  เชิงอรรถเสริมความ (Contents  Footnote)  คือ  เชิงอรรถซึ่งอธิบายเรื่องราวข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในบางตอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  หรืออาจเป็นการอธิบายคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง

                     2.3  เชิงอรรถโยง (Cross  Reference  Footnote)  คือ  เชิงอรรถที่แจ้งให้ผู้อ่านได้ดูเพิ่มเติมข้อความ  หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันในหน้าอื่น  หรือบทอื่นของหนังสือเล่มเดียวกันซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้วและไม่ต้องการกล่าวซ้ำอีก  หรือแนะนำผู้อ่านให้ไปดูเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ก็ได้

                ส่วนประกอบตอนท้ายเล่ม  เป็นส่วนที่ผู้แต่งจัดทำเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้หนังสือมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ประกอบด้วย

                1.  บรรณานุกรม (Bibliography) คือ รายชื่อหนังสือและวัสดุทุกประเภทที่ผู้เขียนใช้แหล่งข้อมูลศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงในการเขียนหนังสือเล่มนั้น  อาจอยู่ท้ายเล่มหรือท้ายบทของแต่ละบทก็ได้  บางแห่งเรียกว่าเอกสารอ้างอิง  บรรณานุกรมจะเรียงลำดับตามตัวอักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่ง  ตั้งแต่อักษร  ก.  เป็นต้นไป  จนถึง  ฮ.  ในบรรณานุกรมภาษาไทย  ส่วนถ้าเป็นบรรณานุกรมหนังสือภาษาต่างประเทศจะเรียงลำดับตามตัวอักษรตัวแรกของนามสกุลผู้แต่ง  ประโยชน์ของบรรณานุกรม  คือ  เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าผู้เขียนได้มีความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้าในการเขียนหนังสือเล่มนั้นมาเป็นอย่างดี  ทำให้มีความน่าเชื่อถือเรื่องราวต่างๆ  ในหนังสือ  อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติ แก่เจ้าของหนังสือที่ผู้เขียนได้ใช้ค้นคว้าอ้างอิงอีกด้วย  และบรรณานุกรมยังเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้อ่านที่ต้องการค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมจากรายชื่อหนังสือ  และวัสดุอื่น ๆ  ที่ปรากฏอยู่ในบรรณานุกรมนั้น

                2.  ดัชนี (Index)  หรือ  ดรรชนี  คือ  บัญชีคำ  หรือหัวข้อย่อย ๆ ที่สำคัญที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนั้น ๆ  นำมาจัดเรียงตามลำดับอักษรพร้อมทั้งบอกเลขหน้าที่มีคำนั้นๆ  ปรากฏอยู่  มีประโยชน์  คือ  ช่วยให้ผู้อ่านค้นหาข้อความหรือคำเหล่านั้นได้สะดวกรวดเร็ว  ดัชนีจะอยู่ท้ายเล่มแต่ถ้าเป็นหนังสือชุดที่มีหลายเล่มจบ  ดัชนีของหนังสือชุดนี้จะรวมแยกไว้ในเล่มสุดท้ายของชุด  เช่น  หนังสือประเภทสารานุกรม  โดยทั่วไปอาจแบ่งดัชนีออกได้เป็น 4 ชนิด  คือ

                     2.1  ดัชนีหัวเรื่อง  (Subject  Index)  คือ  ดัชนีที่จัดเรียงลำดับตัวอักษรเฉพาะหัวเรื่อง  หรือหัวข้อย่อยที่ปรากฏในหนังสือ  หัวเรื่องอาจเป็นชื่อบุคคล  ชื่อสถานที่  หรือเรื่องย่อย ๆ ที่สำคัญก็ได้

                     2.2  ดัชนีผู้แต่ง (Author  Index)  คือ  ดัชนีที่จัดเรียงตามลำดับตัวอักษร  ของชื่อผู้แต่งหนังสือที่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้น

                     2.3  ดัชนีเรื่อง (Title  Index)  คือ  ดัชนีที่จัดเรียงตามลำดับตัวอักษร  ของชื่อหนังสือที่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้น

                     2.4  ดัชนีทั่วไป  (General  Index)  คือ  ดัชนีที่รวมเอาหัวเรื่อง  ชื่อผู้แต่งและชื่อเรื่อง  จัดเรียงคละกันไปตามลำดับตัวอักษร  หนังสือทางวิชาการส่วนมากจะมีดัชนีทั่วไปปรากฏอยู่ด้านหลังของเล่มหนังสือจะมีเพียงบางเล่มเท่านั้นที่มีดัชนีประเภทอื่น ๆ

                3.  ภาคผนวก (Appendix)  คือ  ส่วนประกอบนอกเหนือจากเนื้อหาที่เพิ่มเติมเข้ามา  เพื่อเสริมเนื้อหาของหนังสือให้สมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น  อาจเป็นการนำเอาเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจและเป็นความรู้พิเศษที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหนังสือมาพิมพ์รวมไว้ด้วย  โดยผู้อ่านไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาหนังสือเล่มอื่นมาอ่านเพิ่มเติม  ภาคผนวกจะอยู่ตอนท้ายเล่มต่อจากบรรณานุกรม

                4.  อภิธานศัพท์ (Glossary)  หรือ คำอธิบายศัพท์  คือ  บัญชีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในเล่ม  หนังสือวิชาการบางสาขาที่มีคำศัพท์เฉพาะซึ่งมีความหมายแตกต่างไปจากความหมายปกติ  หรือคำศัพท์ยาก  ซึ่งผู้อ่านทั่วไปอาจไม่เข้าใจและมีอยู่จำนวนมากในเล่ม  ผู้แต่งจะนำคำศัพท์ที่ใช้มาจัดเรียงตามลำดับตัวอักษรพร้อมทั้งอธิบายความหมายไว้ตอนท้ายเล่ม  เพื่อช่วยให้ผู้อ่านค้นหาความหมายของศัพท์เหล่านั้นได้โดยสะดวกตามความต้องการ  และสามารถเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นได้ดียิ่งขึ้น  แต่ถ้าหากมีจำนวนคำศัพท์ที่ต้องการอธิบายไม่มากนักผู้เขียนอาจอธิบายความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ไว้ในเชิงอรรถก็ได้

                หนังสือแต่ละเล่มไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบต่างๆ  ครบทั้ง  19 ส่วน  ดังที่กล่าวมาแล้ว  ขึ้นอยู่กับว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือประเภทอะไร  เช่น  หนังสือสารคดี  วิชาการ  หรือบันเทิงคดี

4.2  วารสาร  (Periodicals, Journal,  Magazine)    คือ  สิ่งพิมพ์ที่ออกติดต่อกันภายใต้        ชื่อเรื่องเดียวกัน  มีกำหนดระยะเวลาออกที่แน่นอนและสม่ำเสมอ  เช่น  รายสัปดาห์  รายปักษ์ รายเดือน  รายสามเดือน  เป็นต้น  เนื้อหาภายในเล่มจะประกอบด้วยบทความ  เรื่องราวต่างๆ  รวมอยู่ในฉบับเดียวกัน  โดยผู้แต่งหลายคน  อาจเป็นเรื่องในแขนงวิชาเดียวกันหรือต่างกันก็ได้  เรื่องจะจบในฉบับเดียว  หรืออาจติดต่อกันหลายฉบับ  ภายในฉบับจะบอกเลขของปีที่พิมพ์ต่อเนื่องจากฉบับแรกมาถึงปัจจุบัน  (Volume  Number)  เลขที่ของฉบับ  (Issue  Number)  และวัน  เดือน  ปี  ประจำฉบับวารสารแบ่งออกตามลักษณะการจัดทำและเนื้อหา  ได้ดังนี้

      4.2.1  วารสารวิชาการ (Journal)  หมายถึง  วารสารที่ตีพิมพ์บทความทางวิชาการสาขา ต่าง ๆ  อาจรวบรวมบทความเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ รวมทั้งนำเสนอผลงาน ทางวิชาการหรือผลการวิจัยที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน  จัดทำโดยนักวิชาการนั้น ๆ  โดยตรง    เช่น  วารสารแผนที่  วารสารคณิตศาสตร์  วารสารวิทยาศาสตร์  เป็นต้น  วารสารวิชาการนี้หมายรวม ถึงวารสารที่มุ่งเสริมความรู้ทางวิชาการโดยตรง  ไม่เน้นสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ  เช่น วารสารธรรมศาสตร์  วารสารพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  วารสารห้องสมุดของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย  ฯ   เป็นต้น

       4.2.2  วารสารทั่วไปหรือนิตยสาร (Magazine)  เป็นวารสารสำหรับผู้อื่นทั่วไป  มุ่งให้ทั้งความรู้และความบันเทิง  ความรู้มักเป็นไปในลักษณะที่ให้ความรอบรู้  ความเข้าใจ  และทัศนคติ ในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์  ไม่ใช่เนื้อหาวิชาการล้วน ๆ  อาจแบ่งได้  2  ลักษณะ  ดัวยกันคือ

                   1)  ประเภทมุ่งเสนอความบันเทิงเป็นหลัก  เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็น   นวนิยาย  ความรู้ทั่วไป  สารคดี  เรื่องสั้น  และอาจมีเกร็ดความรู้แทรกอยู่บ้างเล็กน้อย  และสรุปข่าวเหตุการณ์ต่างๆ  ไว้ด้วย  เช่น  สกุลไทย  กุลสตรี   บางกอก  ขวัญเรือน ดิฉัน  แพรว   เป็นต้น

                   2)  ประเภทที่มุ่งเสนอความรู้เป็นหลัก  เช่น  สารคดี  หมอชาวบ้าน  อสท. ใกล้หมอ   แม็ค ม.ต้น   แม็ค  ม.ปลาย 

      4.2.3  วารสารข่าวหรือวารสารข่าวเชิงวิจารณ์  (News  magazine)    หมายถึง  วารสารที่เสนอบทความและบทวิจารณ์  ในรูปของการวิเคราะห์วิจารณ์  ข่าวที่นำมาเสนอส่วนใหญ่  ได้แก่  ข่าวเศรษฐกิจ  ข่าวการเมือง  ข่าวสังคม  ข่าวการศึกษา  วัฒนธรรม  และคอลัมน์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เนื้อหาส่วนใหญ่ค่อนข้างหนัก เช่น  สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์  มติชนสุดสัปดาห์    เป็นต้น

ส่วนประกอบของวารสาร

                วารสารมี 3 ประเภท  คือ  วารสารวิชาการ  วารสารข่าวและวิจารณ์ข่าว  และวารสารทั่วไปหรือวารสารเพื่อการบันเทิง  ส่วนมากมีขนาดรูปเล่มต่าง ๆ  กันและมีขนาดกว้างใหญ่กว่าหนังสือธรรมดา  มีการจัดพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องกันในระยะเวลาที่มีกำหนดแน่นอน  การจัดพิมพ์แบ่งเป็นคอลัมน์  วารสารประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญดังนี้

                1.  ปก   ปกของวารสารส่วนมากเป็นปกอ่อน  วารสารเพื่อการบันเทิงจะมีภาพพิมพ์สีสันสวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน  แต่วารสารวิชาการส่วนมากจะพิมพ์สารบัญเรื่องแทนรูปภาพที่ปกหน้าแทน  และที่ปกหน้าจะมีชื่อวารสาร  ปีที่  ฉบับที่  วัน  เดือน  ปี  ที่ออกไว้ทุกฉบับ

                2.  สารบัญ  อยู่ถัดจากปกหน้า  หรืออาจอยู่ด้านหลังของปกหน้า  มีลักษณะคล้ายกับสารบัญของหนังสือ  คือ  จะแจ้งว่ามีบทความ  หรือข้อเขียนเรื่องอะไร  อยู่ในฉบับนั้นบ้าง  และเรื่องนั้น ๆ เริ่มต้นในหน้าใด  ใครเป็นผู้เขียน  หน้าสารบัญนี้นอกจากจะแจ้งชื่อวารสาร  ปีที่  ฉบับที่  วัน  เดือน  ปีที่ออกเช่นเดียวกับปกหน้าแล้ว  ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีก  เช่น  วัตถุประสงค์ของวารสาร กำหนดออก  อัตราการบอกรับเป็นสมาชิกรายปี  สถานที่ติดต่อ  หรือสำนักงาน  รายชื่อคณะบรรณาธิการและคณะผู้จัดทำอื่น ๆ  เป็นต้น

                3.  เนื้อหา  จัดเรียงลำดับตามที่แจ้งไว้ในสารบัญ  ถ้าเป็นวารสารเพื่อการบันเทิงหรือวารสารทั่วไปเนื้อหามักจะประกอบด้วยบทบรรณาธิการ  นวนิยายซึ่งลงติดต่อกันไปทุกฉบับจนจบเรื่อง   เรื่องสั้น  สารคดี  นิทาน  และคอลัมน์ความรู้เบ็ดเตล็ดต่างๆ  สรุปข่าว  แต่ถ้าเป็นวารสารวิชาการ  ก็จะ

มีบทบรรณาธิการ  บทความวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ  ตามวัตถุประสงค์ของวารสารนั้น ๆ  ซึ่งเขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ  ภายในบทความอาจมีเชิงอรรถและบรรณานุกรม  หรือเอกสารอ้างอิงบอกแหล่งค้นคว้าอ้างอิงประกอบการเรียบเรียงวารสารวิจารณ์ข่าวจะเสนอข่าวและบทวิจารณ์เป็นส่วนมาก

                4.  ภาพประกอบ  มีความสำคัญต่อวารสารหรือนิตยสารมาก  โดยเฉพาะวารสารประเภทเสนอเรื่องราวโดยใช้ภาพประกอบในการอธิบายเนื้อหา  ภาพประกอบในวารสารมีความสำคัญต่อวารสาร  คือ  ใช้ภาพประกอบการอธิบายเรื่องให้เข้าใจ  ดึงดูดความสนใจใช้ภาพสื่อความหมาย  ช่วยในการจัดหน้าวารสาร  เป็นต้น

                5. โฆษณาประชาสัมพันธ์  วารสารเกือบทุกฉบับจะมีการลงโฆษณาแจ้งความสินค้า หรือบริการของบริษัทห้างร้านต่างๆ   แทรกไว้ในส่วนต่างๆ  ของเล่มรวมทั้งที่ปกหลังด้านนอกด้วย  เพื่อนำค่าโฆษณาไปช่วยค่าใช้จ่ายในการจัดทำวารสาร  วารสารทางวิชาการมักจะมีการลงโฆษณาน้อยกว่าวารสารทั่วไป  และจะโฆษณาเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือให้ประโยชน์ต่อผู้อ่านในสาขาวิชานั้น ๆ  เท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 488392เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท