ชีวิตที่พอเพียง : 106. สูบบุหรี่


         สมัยผมหนุ่มๆ ต้องหัดสูบบุหรี่ จึงจะโก้   ต่างจากสมัยนี้ที่คนโก้ต้องไม่สูบบุหรี่   

        ตอนเรียนอยู่จุฬาปี ๑    เพื่อนๆ จะชวนไปบ้าน     ไปเล่นรัมมี่  กินข้าว  และสูบบุหรี่กัน     ผมก็หัดกับเขาบ้าง  แต่แค่ลองไม่ได้สูบประจำ     ตอนนั้นมีเพื่อนติดบุหรี่หลายคน    แต่ก็คงจะไม่ถึงหนึ่งในสาม    นอกนั้น (รวมทั้งผม) เป็น "คางคก" คือสูบบุหรี่ตราขอ    และท่าทางขัดเขิน    ยังคีบบุหรี่  อัดบุหรี่ และปล่อยควันออกทางจมูกได้ไม่เทียบเท่าผู้ชำนาญ

       เพื่อนหลายคนมีความสามารถในการปล่อยควันบุหรี่ออกทางปากเป็นวงกลมหลายๆ วงติดต่อกัน    บางคนมีความสามารถปล่อยควันออกทางปากแล้วสืดเข้าไปทางจมูกทันที     เห็นควันไหลเป็นทาง    สิงห์อมควันทั้งหลายจะฝึกท่าเคาะบุหรี่ออกจากซอง    ท่าจุดบุหรี่ให้ตนเองและให้เพื่อน    ท่าต่อบุหรี่    ท่าคีบบุหรี่   ฯลฯ     หมายความว่าบุหรี่เป็นเครื่องประกอบความเท่ หรือความโก้ ของหนุ่มสมัยผม    และเป็นสิ่งที่ผมไม่มี    ผมเป็นได้แค่คางคก     ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่มีศัพท์คางคกสำหรับคนที่สูบบุหรี่แบบเก้งก้าง

       แต่พอลองสูบบุหรี่ในวงไพ่บ่อยๆ เข้าก็ชักจะชินและคล้ายๆ สูบเป็น  

       พอไปเรียนต่อที่อเมริกา มันเหงาและหนาว     การสูบบุหรี่ช่วยแก้หนาวและแก้เหงาได้    ผมสูบบหรี่ซาเลมวันละซอง     เขี่ยเถ้าบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่ไว้ในขวดกาแฟที่กินหมดแล้วได้ตั้งหลายขวด     เพื่อนมาเห็นก็ยังทัก ว่าไอ้จานลื๊อติดบุหรี่แล้วหรือวะ    แต่สมัยนั้นติดบุหรี่ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรนะครับ 

        กลับมาเมืองไทยผมก็ยังสูบบุหรี่      จนแต่งงานก็ยังสูบ    ต่อมาภรรยาบอกว่าเหม็น ตัวเหม็น เสื้อผ้าก็เหม็น ปากเหม็น หายใจก็เหม็นบุหรี่     ผมก็เลิก     เลิกไม่ยากเลยสำหรับผม     คือเลิกก็เลิกเลย     ผมนึกถึงพ่อผมเลิกยานัดที่นัดมาหลายสิบปี ก็เลิกได้ทันทีที่ตั้งใจเลิก     ผมจึงบอกภรรยาว่า ผมเป็นคนที่ไม่ติดอะไรเลย ยกเว้นติดเมีย

        ต่อมาผมริอ่านสูบกล้องยาเส้น     มันหอมดี และเวลาสูบตอนเขียนต้นฉบับรายงานผลวิจัย (paper) มันเขียนคล่องถ้าได้สูบไปป์     สูบอยู่หลายปี     โดนภรรยาบ่นและเลิกไปหลายหน (คือเลิกแล้วสูบใหม่)     จนถึงประมาณปี ๒๕๓๑ มีขบวนการต่อต้านการสูบบุหรี่      อาจารย์หมอสุวิณา รัตนชัยวงศ์ เอากระดาษเขียนกลอนว่าถ้าจะสูบบุหรี่ก็ให้สูบคนเดียวอย่าเที่ยวเผื่อแผ่ควันให้คนอื่น  และให้เก็บที่เขี่ยบุหรี่ออกจากห้องประชุมกรรมการคณะ (แพทย์ มอ.) หมด     ที่ประชุมกรรมการคณะก็เลยลงมติห้ามสูบบุหรี่ในห้องประชุมทุกห้องภายในคณะ     โดยพวกสิงห์อมควันทั้งหลายออกมาสนับสนุนกันอย่างแข็งขัน     ผมแปลกใจมาก

        แต่ผมก็ยังสูบไปป์ในห้องทำงานคณบดี      จนวันหนึ่งพี่โม (ผศ. พญ. มาลิดา พรพัฒน์กุล) หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยามาหาที่ห้อง     มาถึงก็ทำจมูกฟุดฟิด และบ่นว่าเหม็นกลิ่นยาเส้น    "เอ๊ะ คณะห้ามสูบบุหรี่ในห้องประชุมและห้องทำงาน แล้วคณบดียังสูบไปป์ในห้องได้อย่างไร"     ผมจึงเลิกสูบไปป์ตั้งแต่วันนั้น

       ตอนไปหาหมอฟัน    หมอสุรินทร์ถามผมว่า "ฟันอาจารย์ดำเหมือนคนสูบบุหรี่"     คนมักจะไม่รู้ว่าผมสูบไปป์อยู่หลายปี     เพราะสูบที่บ้านและห้องทำงาน ไม่ได้สูบในที่สาธารณะ

        คนที่เคยสูบบุหรี่นี่ก็ถือว่าเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบเลยนะครับ     คนสมัยนี้โชคดีกว่าผม  ที่มีการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่จนคนเห็นโทษของมันชัดเจน

วิจารณ์ พานิช
๒๖ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 48781เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รักษาสุขภาพเถอะค่ะ อย่าสูบบุหรี่เลย ถึงจะสูบคนเดียวหรือไม่ก็ตาม ^__^

น่านับถือที่สุด...คือ การเอาชนะใจตนเอง...

case ที่บำบัด...ยากมากที่สุด...คือ ผู้ติดบุหรี่...

เพราะก่ำกึ่ง...ระหว่างความไม่ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี...ไม่เหมือน case ยาเสพติดที่ฟันธงลงไปเลยว่า "ผิด-ไม่ดี"...แต่บุหรี่ไม่มีกฏหมายบังคับว่าต้องส่งบำบัด...

ดังนั้นผู้มาบำบัดจึงมักเป็นผู้สมัครใจ...จริงๆ...แต่ก็บำบัดยาก...มาก...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท