การประชุมตรวจสถานการณ์กำลังรบโรงพยาบาลบ้านตาก เพื่อเข้าสู่สมรภูมิHA


ถ้าพิจารณาดูแล้วเราก็ได้จัดทำไปแล้ว แต่จะจำได้มากน้อยแค่ไหน ปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน เราก็ค่อยมาเสริมกันไปเป็นจุดๆได้ และไม่จำเป็นต้องรู้เท่ากันทุกคนจึงจะพัฒนาได้ ไม่จำเป็นต้องให้คนกวาดถนนมีความรู้เรื่องการพัฒนาเท่าปลัดกรุงเทพฯก่อนจึงจะพัฒนากรุงเทพฯได้ จริงไหม

สวัสดีครับ การดำเนินกิจกรรมHA ของพวกเราชาว ร.พ.บ้านตากเริ่มเข้มข้นขึ้น ความสนใจ ความมุ่งมั่นในจุดต่างๆเริ่มฉายภาพชัดเจนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเริ่มทำอย่างจริงจังก็เริ่มจะเกิดปัญหาขึ้นในใจของคนหลายคน จากการศึกษาดูงานตามโรงพยาบาลต่างๆ การขวนขวายหารูปแบบที่จับต้องได้ของHA ของการดำเนินกิจกรรม อาจก่อให้เกิดความสับสน  ความลังเล หรือเกิดความไม่แน่ใจ รวมทั้งบางคนอาจเพลิดเพลินกับสิ่งที่คนอื่นได้ทำไว้จนถึงขั้นบางคนอาจหลงทางไปเลยก็ได้ และอาจถึงขั้นว่าจะต้องโน้มนำให้คนอื่นๆในโรงพยาบาลเราทำตามโรงพยาบาลที่ตนเองได้ไปศึกษาหรือดูงานมาก็ได้   การนัดประชุมทีมนำ ทีมแกนนำ ทีมทอฝันและทีมตรวจประเมินภายในในวันนี้(19 พฤศจิกายน  2544 ) จึงมีเหตุผลอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิการตรวจสอบความพร้อมของทีมระดับบริหารหรือถ้าเปรียบเทียบกับการรบทัพก็คงหมายถึงการเรียกประชุมแม่ทัพนายกองเพื่อตรวจสอบความพร้อม ความเข้าใจในกุศโลบายการรบของทัพเรา  เป็นการชี้แจง เป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน  เป็นการลดความสับสนของบางคน รวมทั้งเป็นการให้กำลังใจและเรียกขวัญเรียกความมั่นใจในทิศทางที่ดำเนินอยู่ว่าไม่หลงทาง  ตลอดเวลา4-5 วันที่ผ่านมาที่ผมได้อบรมอยู่ที่กรุงเทพฯ(เป็นช่วงที่ร.พ.ศิริราชได้รับการประเมินHAจากพรพ.อยู่ คาดว่าจะผ่าน)ได้ใช้เวลาในช่วงเย็นและกลางคืนคิดพิจารณาทบทวนถึงการดำเนินกิจกรรมHA ของ ร.พ.เรา ว่าอาจจะมีปัญหาความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องใดบ้าง ซึ่งผมมีประเด็นที่จะพูดในวันนี้ ดังนี้

1.       ได้ใจและสร้างทีมงาน  ถามว่าเราได้ใจเจ้าหน้าที่หรือยัง บางคนอาจบอกว่าได้แล้ว  บางคนอาจบอกว่ายังไม่ได้เลย จะวัดได้อย่างไรว่าได้ใจแล้วหรือไม่ จะต้องได้ 10% ,30%,50%,80%หรือกี่% จึงจะถือว่าพอที่จะทำHAได้สำเร็จ ต้องได้ 100% เลยหรือไม่ จึงจะผ่านHA  นั่นคือทุกคนต้องทุ่มเทให้สุดชีวิตจิตใจเลยหรือถึงจะเรียกว่าได้ใจ ถ้างั้นถามว่าโรงพยาบาลที่ผ่านHAแล้วเจ้าหน้าที่ทุกคนของเขาทุ่มเทสุดๆทุกคนเลยจริงหรือ ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่ จากการประชุมของทีมนำและทีมทอฝันเรามีความเห็นร่วมกันว่าเราได้ใจพอแล้วที่จะทำHA ทำไมเราสรุปแบบนั้น เหตุผลก็คือ เจ้าหน้าที่เรามีวินัยในตัวเองเพียงพอ เราร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาลมาด้วยกันอย่างก้าวกระโดดด้วยฝีมือและพลังของพวกเรา เราช่วยเหลือกิจกรรมของโรงพยาบาลหลายต่อหลายอย่างที่ต้องอาศัยการระดมคนจากจุดต่างๆมาร่วมกัน เช่น การเปิดอาคารต่างๆ การตรวจสุขภาพนอกสถานที่ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน พวกเราเสียสละให้กับโรงพยาบาลพอสมควร เราทำกิจกรรม 5 ส อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจนเริ่มเป็นนิสัยโดยไม่มีใครต่อต้าน และที่สำคัญเมื่อเราประกาศที่จะทำการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้วยแนวทางของHA เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยและไม่มีใครต่อต้าน ซึ่งผมเองได้ร่วมพูดคุยกับทุกกลุ่มงาน ทุกฝ่ายและทุกงานในเรื่องนี้โดยตรง ในส่วนของการสร้างทีมงานก็คงสะท้อนภาพออกมาค่อนข้างชัดเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆอีกหลายแห่ง กิจกรรมต่างๆของโรงพยาบาลผ่านพ้นไปได้ด้วยดีด้วยการร้องขอและสมัครใจโดยไม่มีการบังคับ  เรามีกิจกรรมหลากหลายที่จัดเป็นกิจกรรมพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างทีมงานและแสดงถึงศักยภาพของพวกเรา เช่น งานกีฬาทั้งภายในและนอกหน่วยงาน,การทำOD โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำหรือสอน และเท่าที่ผมได้พูดคุยกับผู้รู้หลายท่านก็บอกว่านี่เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ที่อาศัยบุคลากรภายในของเราเอง  ไม่จำเป็นต้องไปจ้างผู้เชี่ยวชาญราคาแพงหรืออบรมอย่างหรูๆหรือดูงานมากๆให้สิ้นเปลืองเนื่องจากการทำHA เป็นเรื่องที่จะต้องทำไปเรียนรู้ไป โดยไม่มีวันหยุดนิ่ง และในชีวิตจริงของการทำงานคงไม่มีใครทำอะไรได้เต็ม 100 หรือสมบูรณ์แบบได้หรอก แต่เราควรรู้ว่าศักยภาพของคนนั้นๆให้องค์กรได้แค่ไหน คงไปบีบหรือคั้นให้มากเกินไปกว่านั้นคงยากและอาจเกิดข้อขัดแย้งตามมาได้  เรื่องได้ใจนี่ก็จะโยงกับอีกสิ่งหนึ่งคือขวัญกำลังใจ ถามว่าเจ้าหน้าที่ที่นี่ควรจะขาดขวัญกำลังใจจนไม่สามารถทำการพัฒนา ร.พ.ได้เลยหรือ ถ้าขาดขาดประเด็นไหนบ้าง ถามว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆอีกหลายโรง เราควรจะถือว่าขาดขวัญกำลังใจอีกหรือ  ทำงานใกล้บ้าน  ใกล้ครอบครัว  ความปลอดภัยในการทำงานสูง เวลาทำงานเป็นไปตามกติกาของทางราชการ  การลาอะลุ่มอล่วยได้มาก  มีบ้านพักพอควร มีร้านค้าสวัสดิการ มีเคเบิลทีวี มีโทรศัพท์ตามบ้าน ค่าตอบแทนไม่ถูกตัดเป็นไปตามระเบียบ,เงินยืมค่าตอบแทนมีตลอด  การพิจารณาความดีความชอบเป็นไปตามคณะกรรมการบริหารตัดสิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในสายตาของทางสสจ.ตากมองว่าเราได้อะไรๆมากกว่าที่อื่นมากอยู่แล้ว ถ้ายังเรียกร้องอยู่อีกก็ควรจะเปลี่ยนที่ทำงานไปเลยดีกว่า  เรื่องสิ่งตอบแทน สร้างขวัญกำลังใจผมเชื่อว่าให้เท่าไรก็คงไม่พอ เพราะความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด อีกทั้งความรู้สึกพอและการเรียกร้องของคนก็ไม่เท่ากัน บางคนไม่ต้องสนับสนุนอะไรมากขอแค่ให้ได้ทำงานก็พอเขาก็จะทำอย่างเต็มที่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรก็สู้อดทนฝ่าฟันไป ไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆก็จะไม่ร้องขอ คิดว่าแค่นี้โรงพยาบาลก็ให้มากพอแล้ว ในขณะที่บางคนขอโน่นขอนี่ ถ้าไม่ให้ก็จะไม่ทำหรือทำอย่างเสียไม่ได้ แล้วก็มาพูด(ลับหลัง) ว่าไม่ได้รับการสนับสนุนบ้าง ไม่มีขวัญกำลังใจทำบ้าง หรือพอมีอุปสรรคนิดหน่อยก็ไม่ทำแล้ว บางคนก็คิดเล็กคิดน้อย คิดกำไรขาดทุน คิดเอาประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่ตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม  ถ้าจะทำอะไรที่ต้องลงทุนลงแรงร่วมกันก็จะคอยคิดว่าตนเองจะขาดทุนหรือไม่ ถ้าขาดทุนก็จะไม่เอาด้วยทันที (พวกเราลองคิดดูอย่างนี้เขาเรียกว่าเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ถ้ามีคนแบบนี้มากๆ คิดว่า ร.พ. จะพัฒนาไหมครับ) ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้มักจะพูดมากกว่าคนกลุ่มแรก เลยทำให้ดูเหมือนภาพรวมมีปัญหาขาดการสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ขาดขวัญกำลังใจ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่ ฉะนั้นเราจะเอาความรู้สึกของใครมาวัดล่ะว่าขวัญกำลังใจดีหรือไม่ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายหรือผู้ปฏิบัติ    แต่ในมุมมองของผมคิดว่าขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ใน ร.พ.บ้านตากน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต่ำจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์กร

อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน www.bantakhospital.com ครับ

คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 4878เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2005 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท