Clinical Tracer ควรทำหรือไม่ทำ ในเรื่องใดบ้าง


การตามรอยที่ไม่เป็นภาระ ควรเริ่มต้นด้วยการพูดคุยและการดูของจริงมากกว่ามุ่งเน้นจัดทำเอกสาร
 

          ทีมงานอาจจะไขว้เขวด้วยเสียงสะท้อนจากสองด้าน หลังจากที่นำเสนอผลงานการตามรอยคุณภาพในโรคที่ตนเองเชี่ยวชาญ

          ด้านหนึ่งคือเสียงสะท้อนว่า โรคนี้อีกแล้วหรือ ไม่มีโรคอื่นบ้างเลยหรือ  ซึ่งทีมงานอาจจะตอบในใจว่า ก็โรคนี้เป็นโรคที่สำคัญที่สุด เป็นโรคที่เราเชี่ยวชาญที่สุด เป็นโรคที่เรามีผลงานมากที่สุด  โดยไม่ได้พยายามทำความเข้าใจว่าผู้สะท้อนพยายามชี้ให้เห็นว่ายังมีโรคอื่นๆ ที่มีความสำคัญ และผู้ป่วยของเราจะได้รับประโยชน์จากการตามรอย

          อีกด้านหนึ่งคือเสียงสะท้อนว่า โรคนี้ไม่เป็นปัญหาแล้วจะยังทำอยู่อีกทำไม  ทำให้ทีมงานเกิดความไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ เราควรจะตามรอยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาหรือไม่ 

          สิ่งที่ทีมงานควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนในแนวคิดการตามรอยก็คือ

1)      การตามรอยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และผู้เยี่ยมสำรวจ ว่าบริการที่เราให้แก่ผู้ป่วยโรคนั้นๆ เป็นบริการที่ปลอดภัยมีคุณภาพ

2)      การตามรอยจึงมองหาทั้งในด้านที่เป็นความสำเร็จและเป็นปัญหา  โดยที่จริงแล้วเราจะพบความสำเร็จมากกว่าปัญหา  และควรใช้ความสำเร็จที่พบจากการตามรอยเป็นพลังขับเคลื่อนในการทำงาน (หลีกเลี่ยงจากการทำให้การตามรอยเป็นภาระจนบดบังการใช้ความสำเร็จเป็นพลังขับเคลื่อน)

3)      การตามรอยเป็นการร้อยเรียงและเชื่อมโยงผลงานการพัฒนาคุณภาพทั้งหมด ทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นภาพการพัฒนาชัดกว่าการนำเสนอผลงานเฉพาะโครงการ เฉพาะช่วงเวลา

4)      การตามรอยมิได้เริ่มต้นจากว่าเรามีปัญหาอะไร แต่เริ่มต้นด้วยว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร และเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยโรคนึ้คืออะไร  เราจึงสามารถตามรอยโรคใดก็ได้ที่มีความสำคัญในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะปริมาณมาก มีความเสี่ยงมาก มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องการการประสานงานและดูแลต่อเนื่อง มีโอกาสที่ใช้แนวคิดการสร้างเสริมป้องกันมากขึ้น มีโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีโอกาสที่จะปรับระบบงานภายใน ฯลฯ

5)      การตามรอยที่ไม่เป็นภาระ ควรเริ่มต้นด้วยการพูดคุยและการดูของจริงมากกว่าการมุ่งเน้นจัดทำเอกสาร  การพูดคุยจะทำให้เกิดความเข้าใจในมุมมองที่หลากหลาย การดูของจริงจะทำให้เห็นจุดอ่อนของการปฏิบัติ เห็นการเชื่อมโยง นำไปสู่การปรับปรุงระบบและการประสานงานที่ดีขึ้น  การจัดทำเอกสารควรมาทีหลังสุด

6)      เมื่อได้ดูของจริงแล้ว ควรวาดภาพ flow ของผู้ป่วยที่ผ่านไปตามขั้นตอนหรือจุดบริการต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตามรอย แสดงให้เห็นบทบาทของหน่วยงานและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าจุดเสี่ยงต่างๆ อยู่ตรงไหนในกระบวนการดูแล  flow นี้ควรเป็น flow ที่เขียนอย่างสร้างสรรค์ มิใช่การลอกแบบ  ขึ้นอยู่กับลักษณะของการดำเนินโรค ลักษณะการให้บริการ ความเสี่ยงและปัญหาที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น

 
หมายเลขบันทึก: 48773เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท