มนุษย์พันธุ์ดี มนุษย์พันธุ์มีคุณธรรม


 

การประพฤติปฏิบัติตัวเองเพื่อเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ เป็นพันธุ์ที่ดี เป็นพันธุ์ที่มีคุณธรรมพระพุทธเจ้าท่านให้เราเริ่มต้นจากเป็นผู้ที่ใจดี เป็นผู้ที่เสียสละ ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน เป็นผู้ให้

 

Large_pic016


เรามันเกิดมาเป็นผู้เอา เป็นผู้ยึดถือ...


เราเอาจากพ่อแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง จนเติบโตก็ยังเป็นผู้เอา ความคิดอย่างนี้มันเป็นความคิดเห็น ที่ผิด เข้าใจผิด คนเราเกิดมาถ้าไม่มีคนเอาอกเอาใจก็เลยเป็นคนที่มีปัญหา ว่าตัวเองบุญน้อย วาสนาน้อย พ่อแม่มีปัญหา ไม่ได้รับความเมตตา ไม่ได้รับความอบอุ่นเหมือนคนอื่น เหมือนลูกคนอื่น ถ้าเราคิดอย่างนี้เราจะเป็นคนอ่อนแอ เราจะเป็นคนไม่มีกำลังใจ หมดกำลังที่จะทำความดี หมดกำลังใจที่จะทำงาน


สถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน...!


พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คน อย่าได้พากันคิดอย่างนั้น เรามีชีวิตอยู่ เรามีลมหายใจ อยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว เพียงพอแล้ว เราพยายามขวนขวาย เราพยายามเสียสละ ความตั้งใจอยู่ที่ไหน ความขยันอยู่ที่ไหน ความอดทนอยู่ที่ไหน ความสำเร็จมันก็อยู่ที่นั่น


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าคนเรามันต้องมาแก้ที่ใจตัวเอง แก้ที่การกระทำของตัวเอง แก้ที่คำพูด ของตัวเอง เราเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีศักยภาพ ก็ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้มาก ๆ ให้พิเศษ ปฏิบัติความดีให้มันต่อเนื่อง เราปล่อยปะละเลยตัวเองมาตั้งหลายปี จะให้มันแก้ไขได้ทันทีนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน


“มันจะชอบก็ทำ มันจะไม่ชอบก็ทำ มันจะเบื่อหรือไม่เบื่อก็ต้องทำ...”


ปกติคนเราที่มีการเวียนว่ายตายเกิดที่มันมีปัญหานี้เพราะมันชอบทำตามอารมณ์ ไม่ได้ทำ ตามความถูกต้อง ขยันก็ทำ ไม่ขยันก็ไม่ทำ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ไม่ได้ เราจะเป็นคนสมาธิไม่แข็งแรง


พระพุทธเจ้าท่านให้เราถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ให้ตั้งใจปฏิบัติดีติดต่อต่อเนื่องกัน ๕ ปีเต็ม ๆ ถ้าใจเรายังไม่ได้นิสัยของพระพุทธเจ้า ท่านก็ให้เราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เพราะต่อไปในอนาคตเราต้องเป็นพ่อแม่ เป็นครูบาอาจารย์ ต้องเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเรามันไม่ได้จบลง แค่ปัจจุบัน


เราบวชนานเราไม่อยากนั่งหัวแถวเราก็ต้องอยู่หัวแถว เราบวชนานพรรษามันก็แก่ ร่างกาย มันก็แก่ สายพันธุ์มนุษย์เป็นสายพันธุ์ที่ประเสริฐมันก็ต้องแก่กล้าไปด้วย ต้องทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

Large_pic019

 


ชีวิตของเรามันต้องอยู่ด้วยความดี ก้าวไปด้วยความดี…


ทุกท่านทุกคนมันติดมากนะ ติดในสิ่งที่มันไม่ดี ไม่ใช่ว่าติดธรรมดา พระพุทธเจ้าให้ไป ทางตะวันออก เราก็ไปทางตะวันตก มันตรงกันข้าม


ทุกคนช่วยเราได้เฉพาะปัจจัย ๔ ช่วยเราได้เฉพาะคำบอกคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอน แต่คนที่ จะช่วยเราได้แท้จริงคือตัวเราเอง


เราต้องละมานะ ละพยศ ลดทิฐิ ยอมประพฤติปฏิบัติด้วยความตั้งอกตั้งใจ


ประวัติศาสตร์ที่เราผ่านมา ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ มันยังแย่อยู่ มันไม่ เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเลย


ยาเสพติดทั้งหลายทั้งปวงที่คนเขาติดกัน ชื่อว่าการติดนี้... จิตใจของเรามันติดในทิฐิมานะ อัตตาตัวตน มันต้องการทำตามใจของเรา ดำรงชีพอยู่ด้วยการตามใจ มันเลยเป็นทางที่ผิด ส่วนใหญ่ เราไม่ได้เบรกตัวเอง ชอบทำตามใจตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ไม่ให้ตามใจตัวเอง พยายามเจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ อย่าได้ตามใจตัวเอง เบื้องต้นให้รู้จักตัวเอง คนเราส่วนใหญ่ไม่รู้จักตัวเอง มันทำตามสันชาตญาณที่มันเคยชิน


พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเรา ให้เรานั่งอยู่เราก็รู้ ให้เราเดินเราก็รู้ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว “เอาใจของเราอยู่เพื่อฝึกสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์...”


ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ไหน เดินบิณฑบาต นั่งฉัน ก็ให้รู้ตัวเอง แล้วก็ให้รู้ใจตัวเอง ตัวเองคิดอะไร คิดดี คิดชั่ว คิดผิดหรือคิดถูก เราจะได้แก้ไขความคิดของเรา แก้ไขอารมณ์ของเรา

 

การที่เราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทุก ๆ คนก็ต่างทำความดีร่วมกัน...

 

Large_pic011


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้ไปมองดูคนอื่น เขาจะดีเขาจะชั่วอะไร เดี๋ยวเราจะไปรับเอาสิ่งที่เขาทำไม่ดีมาใส่ใจเรา ให้เราพยายามเอาธรรมะมาใส่ใจของเรา เอาใจพระพุทธเจ้ามาใส่ใจของเรา


ถ้าเรารับประทานอาหาร ถ้าเราฉันข้าวในแต่ละวันเพื่อความสุขในร่างกาย เพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อการพักผ่อน ก็ถือว่าเราไม่ได้พัฒนาตนเอง ไม่ได้เอาใจใส่ตนเอง


เราต้องเจริญสติสัมปชัญญะ ฝึกปล่อย ฝึกวาง ละตัว ละตน เรามีตัวตนมากเท่าไรก็ให้รู้จัก “คนที่เขาเป็นบ้าก็ดี เป็นโรคประสาทก็ดี ส่วนใหญ่เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า เป็นประสาท เขาถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองฉลาด มีเหตุมีผล...”


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เราจะมีสงครามในจิตในใจ อยู่ด้วยการขัดแย้ง อยู่ด้วยการต่อต้าน ไม่ได้กลับมาแก้จิตแก้ใจของเรา ไม่รู้จักว่าโลกนี้เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เรายังไม่เกิด


ให้รู้จักหยุด รู้จักเย็น รู้จักฟังคนอื่นเขาบ้าง เราจะเอาหัวชนฝาอย่างเดียวก็ตายเปล่า มันไม่มีประโยชน์อะไร


การบริโภคความสุขมันไม่มีเมืองพอ... มีอันนี้ก็อยากได้อันโน้นมันวิ่งไม่หยุด มันวิ่งทั้งกาย มันวิ่งทั้งใจ ให้เรารู้จักปล่อยรู้จักวาง เราขับรถก็รู้จักใช้เกียร์ว่างบ้าง รถมันจะได้พักผ่อน


มนุษย์สายพันธุ์เก่าเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว แสวงหาแต่ความเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็เพื่อเห็นแก่ตัว การมาพัฒนาตัวเองใหม่ก็ต้องมาละความเห็นแก่ตัว


ในชีวิตประจำวันของเราก็มาทำเพื่อละ เพื่อวาง เพื่อปล่อย เจริญเมตตามาก ๆ โดยนำตัวเองมาฝึก ฝึกไม่เห็นแก่ตัวนะ...


พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนให้เราว่าง แต่เราไปว่างแบบคนขี้เกียจน่ะ ที่อยู่อาศัยก็สกปรก เศร้าหมอง กลับเข้ากุฏิที่พักจะนอนก็นอนเลย ไม่มีการกราบพระ ไหว้พระ นั่งสมาธิ เข้ามาในศาลาอย่างนี้มันยังไม่อยากกราบพระ มันว่าง มันคิดว่าพระอยู่ที่ใจนะ นี่มันว่างอย่างคนมีความเห็นแก่ตัว...!

 


นั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ก็ปวดขานิด ๆ หน่อย ๆ มันก็ไม่อดไม่ทน มันไม่อยากยึดมั่นถือมั่น มันเลย ไม่อดไม่ทน การอดการทนเป็นการสร้างบารมี บ่มอินทรีย์ นั่งอยู่กับเพื่อนหลาย ๆ คนก็อยู่ไม่ได้ มันไม่ว่าง มันไม่สงบ


ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่เรากำลังสร้างปัญหาให้ตัวเอง เพราะเราเอาอัตตาตัวตน ของเราเป็นใหญ่ เป็นความคิดที่มีเมตตาน้อย ถ้าคนมีเมตตาน้อยเห็นอะไรก็ไม่สบอารมณ์ มันจะเอาแต่พี่น้องพ่อแม่ตัวเอง แต่กับคนอื่นก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง


เราคิดอย่างนี้ ความว่างมันไม่ถูกต้อง มันเป็นความว่างที่เห็นแก่ตัว จิตใจมันไม่มีธรรม ไม่มีคุณธรรม มันมีแต่อัตตาตัวตน “ต้องฝึก ต้องพัฒนา ไม่ใช่แค่นิดหน่อยนะ ต้องมากจริง ๆ ถึงจะเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนา...”


ทำไป ฝึกไป ปฏิบัติทุก ๆ วัน...


ไม่มีใครมาประพฤติปฏิบัติให้เรา ถึงเวลาทำอะไรเราก็รักษาระเบียบ รักษาวินัย เรามันยังมี กิเลสมาก มันต้องมีระเบียบมีวินัยใช่ไหม…?


มันแก่อยู่แต่ว่ามันแก่แต่กาย ต้องฝึกจนจิตใจมันเป็น ต้องฝึกจนจิตใจมันไม่สะดุด ถ้ามันกลัวอุปสรรค กลัวปัญหา แสดงว่าจิตใจมันยังสะดุดอยู่ จิตใจมันยังติดอยู่ เช่นให้เราเทศน์ เราแสดงธรรม ถ้ามันกลัวอยู่นี้แสดงว่าเป็นอาการสะดุดทางจิตใจ เป็นจิตใจที่มีอัตตาตัวตน จะให้พรเราก็กลัว จะให้ศีลก็ยิ่งกลัว...


ในชีวิตของคนเรามันก็ต้องเป็นอย่างนั้นนะ คนเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรากลัวนะ อย่างพระเราเณรเราถ้าบวชไม่สึกมันได้เป็นอยู่แล้ว “ครูบาอาจารย์...” มันได้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

 


การหนีปัญหาเราอย่าคิดว่าเราจะได้ไปนิพพานนะ การหนีปัญหาคือการหนีพระนิพพาน


ที่พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ให้เราฝึกตั้งแต่ที่เรายังเป็นพระหนุ่มเณรน้อย เพื่อจะได้ฉลาด เป็นคนรอบคอบ พาหมู่พาคณะเดินทางถูกต้อง มันเป็นวัยที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ


เราแก่แล้ว เราจะอยู่เฉย ๆ ก็ได้ เพราะกายวาจาใจของรามันเป็นแล้ว เพียงแต่เป็นบุคคลตัวอย่าง บทสวดมนต์อันไหนมันไม่ได้ก็ท่องให้ได้อย่างนี้เป็นต้น ฝึกให้ศีล ๕ ศีล ๘ ฝึกสมาธิ ฝึกเข้าฌาน ให้มันเป็น หนักก็ต้องเอา เบาก็ต้องสู้ทุกอย่างนะ เขาถึงเรียกว่าเป็นมนุษย์พิเศษ เป็นมนุษย์สายพันธุ์ของพระพุทธเจ้า


การที่เราเกิดนานหรือว่าบวชนาน ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัตินี้ไม่ได้นะ บางคนคิดผิดว่าเป็นพระมันยากเหลือเกิน ต้องรักษาพระวินัย ต้องให้ศีลให้พร ต้องนอนดึกตื่นแต่เช้า มันไม่สบาย เหมือนเป็นโยม เป็นโยมมันได้ดูหนังฟังเพลง ได้ทำอะไรตามใจ ความคิดอย่างนั้นมันเป็นความเห็นผิด เป็นความคิดที่มีปัญหา เป็นความคิดของคนขี้เกียจขี้คร้าน อย่าได้พากันคิดอย่างนั้น มันเป็นบาป ความคิดที่เห็นผิดมันอันตราย...!


เรามีโอกาส มีเวลา พระพุทธเจ้าท่านให้เราสร้างบารมี สังคมก็ให้โอกาสเราสร้างบารมี มันเป็นความโชคดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐของเรา เรามีวัด มีสถานที่ มีปัจจัย ๔ ให้เราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความโชคดีของเรามาก ๆ...

 

Large_tonkla056

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
วันจันทร์ที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 487697เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 05:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท