Reset สู่ "สัมปชัญญะ" (4) : อุเบกขา


ปริยัติธรรมทั้งปวง เมื่อแปรไปสู่การปฏิบัตินั้นก็คือ การฝึกสติให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง

 

คำถามที่ผมคิดว่า ผมพอจะได้คำตอบแล้วหนอ :


        1. การเจริญสติแนว "พุท-โธ" กับ การเจริญสติแนวความรู้สึกตัว มีข้อดี  และข้อควรบ่งใช้ให้เสริมกันอย่างไร ?

        2. ตอนที่เรา reset ในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นการเดิน ยืน นั่ง นอน ฟัง พูด ฯลฯ นั้น ทำไมต้อง reset ? ทำอะไรต่อกับ "ความรู้สึกตัว" หรือไม่ ?

        3. จริงหรือไม่ ที่เมื่อเชื่อมโยง "อุเบกขา" เข้ากับธรรมทั้งปวงแล้ว จะมีพลานุภาพยิ่งนัก ?

 

 

       นานมาแล้ว ผมปฏิเสธ "สมรรถกัมมัฏฐาน" โดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุที่ว่า ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไม่ได้ความ แล้วก็สรุปเอาเองด้วยความไม่รู้ ปิดประตูตายวิธีปฏิบัติที่ดีมานานหลายปี

       จนมีบุญวาสนา ได้ขับรถพาญาติผู้ใหญ่สาย พุท-โธ แท้ ๆ และดั้งเดิมไปกราบสรีระองค์หลวงตาพระมหาบัว ตอนขากลับผมเผลอพูดไปว่า ผมไม่ได้ภาวนา "พุท-โธ" ทุกท่านที่นั่งมาในรถเกิดอาการเงียบสนิท ต่างมองมาที่ผมด้วยความสงสัย และคุณยายที่ท่านอาวุโสสุด ก็พูดเปรย ๆ ขึ้นมาว่า มีวิธีอื่นด้วยหรือ ?



 

       จากคำถามนั้น ถือว่า กระตุกผมให้หันมาศึกษาสาย "พุท-โธ" อย่างจริงจังมากขึ้นในเวลาต่อมา จนนำไปสู่การเข้าวัดปฏิบัติธรรมถือศีลอุโบสถ เพื่อฝึกปฏิบัติตามแนวพระสายป่า สาย "พุท-โธ" อย่างเต็มตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

       ด้วยอานิสงส์ของการปฏิบัติภาวนา "พุท-โธ" ทำให้จิตใจของผมสงบ และพัฒนาจากมือสมัครเล่นทางธรรม เริ่มเข้าสู่เวทีนักปฏิบัติธรรมมืออาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การปฏิบัติทางธรรมก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยิ่งปฏิบัติมากก็ยิ่งทำให้ทราบความเป็นจริงว่า เรายังอยู่ห่างไกลอีกมากขึ้นเรื่อย ๆ หนอ

 

 

       การปฏิบัติภาวนาตามแนวพุท-โธ กำลังฝังรากลึกเข้าสู่กายและใจมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น เส้นทางชีวิตก็ลิขิตมาให้รู้จักกับ วิถีและวิธีใหม่นั่นคือ การเจริญสติแนวเคลื่อนไหว ตามแนวทางของหลวงปู่เทียน ที่วัดป่าสุคะโตในปัจจุบันนั่นเองหนอ

 

         ผมตัดสินใจวาง "พุท-โธ" ไว้เป็นการชั่วคราวในคืนวันที่ 2 พร้อมกับเดินหน้าฝึกการเจริญสติแนวเคลื่อนไหวอย่างเต็มกำลังในคืนนั้นเอง

         การลงสนามเดินจงกรมอย่างอุกฤต ณ ลานหินโค้ง วัดป่าสุคะโต ในวันต่อมานั้น มีอานิสงส์มาก ส่งให้ผมเห็นรูปกับนามชัดเป็นครั้งแรกหนอ

         ในอดีตที่ผ่านมาผมเรียนรู้ทำความเข้าใจกับ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ และปฏิจจสมุปบาท ด้วยปริยัติและปัญญาที่เกิดจากการคิดด้วยสมองเป็นหลัก แต่ในครั้งนี้เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติหนอ

         ด้วยข้อจำกัดของเวลา ณ ลานหินโค้งวัดป่าสุคะโตนั้น ทำให้ผมเห็นรูปกับนามได้ แต่ยังไม่มีปัญญาพอที่จะพิจารณาต่อจากนั้นได้

 

 

   ตอนเดินทางกลับจากวัดป่าสุคะโต ผมตัดสินใจแวะไปกราบพระอาจารย์คำเขียน ที่วัดภูเขาทองก่อนกลับ ท่านกรุณาเทศน์สั่งสอนอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงทำให้หูตาสว่างเห็นธรรมชัดขึ้นจากคำสอนของท่านคือ ...ให้ดู ดูให้รู้ อย่าเข้าไปเป็นอะไร กับอะไร...

 

 

 

          จนล่าสุดได้เข้ารับการพัฒนาแนวจิตตปัญญาศึกษากับกัลยาณมิตรที่เข้มแข็งและอบอุ่น เรียนรู้การ reset ความคิด ด้วย ความรู้สึกตัว (ดังที่บันทึกไว้ในตอนทีผ่านมา)

           ณ วันนี้ ผมมีความเข้าใจใหม่เพิ่มเติมขึ้นจากเดิม กล่าวคือ แต่ก่อนนั้น ผมใช้ความรู้สึก reset เพื่อแย่งหรือลดพื้นที่แห่งความคิด ให้มีพื้นที่ของความรู้สึกมากขึ้นเพียงเท่านั้น

           แต่ความเข้าใจใหม่ของผม (อาจเป็นความเข้้าใจที่กัลยาณมิตรท่านอื่นเข้าใจอยู่แล้ว) นั่นคือ

ปริยัติธรรมทั้งปวง เมื่อแปลเป็นการปฏิบัติแล้วก็คือ ฝึกสติ ไปสู่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง

 

           "ความรู้สึกตัว" สำคัญอย่างไรหนอ ?

           การเดินทางธรรม ก็คือ การเดินมรรค หรือ เดินสติ สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
           ผู้รู้ท่านว่า จริง ๆ แล้ว สติ สมาธ ปัญญา คือ อันเดียวกัน
           แต่เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายจึงยังแยกส่วนอยู่ในเบื้องต้นว่า
สติ เป็นฐาน ให้เกิดสมาธิ
สมาธิ เป็นฐาน ให้เกิดปัญญา

           ลัดไปที่คำว่า ปัญญา
           ปัญญา เท่านั้นที่ใช้ ฆ่ากิเลส

           ท่านเปรียบว่า สมาธิ เป็นเหมือนกับการชาร์ทแบ็ต ไม่ได้ฆ่ากิเลส แต่หมัดจะหนัก หรือ ไม่หนัก จะน็อคกิเลส หรือ จะแค่เกา ๆ กิเลส ท่านก็ว่า ขึ้นอยู่กับกำลังสมาธิ หรือ กำลัง "ฌาณ" แห่งความเป็นวสีนี้หนอ

           จะว่า ธรรมทั้งปวงถูกหมด ก็ได้ 
           จะว่า ธรรมทั้งปวงผิดหมด ก็ได้
           ดั่ง เราเดินทาง จากมหาสารคาม ไปบ้านเพื่อนที่เชียงใหม่ ด้วยการนั่งรถเครื่องไปขึ้นรถทัวร์ที่ บขส. นั่งรถทัวร์ไปหมอชิต นั่งรถเมล์ไปสุวรรณภูมิ นั่งเครื่องบินไปเชียงใหม่ นั่งสองแถวไปบ้านเพื่อน ถ้าเพื่อนถามว่า เดินทางมาด้วยอะไร ? เราจะตอบอย่างไร ? อุปมาดั่งธรรมวิถีและวิธีที่เหมาะแก่การเดินทางธรรมต่างระยะกันหนอ

          


(โอ้หนอ เีขียนมาตั้งหลายบันทึก ยังขมวดให้เข้าสู่ อุเบกขา ยังไม่ได้เลยหนอ)




คำสำคัญ (Tags): #reset#อุเบกขา
หมายเลขบันทึก: 487456เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท