Km เข้าใจง่ายกว่าท่ีคิด


Km  เข้าใจง่ายกว่าที่คิด

                                                            ชุติมา  เมฆวัน

KM  เป็นคำย่อของคำว่า   Knowledge Management  มีความหมายในภาษาไทยที่หมายถึง  “การจัดการความรู้”  เดิมทีคำคำนี้เคยทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัย  และข้องใจในความหมายที่ชัดเจนของคำคำนี้   ไม่แน่ใจว่าการจัดการความรู้คืออะไร  ?  และต้องทำอย่างไรถึงเรียนกว่าจัดการความรู้ ?    ผู้เขียนได้พยายามศึกษาจากแนวคิดทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ  KM  หลายฉบับทั้งแนวคิดทฤษฎีที่แปลมาจากต่างประเทศและแนวคิดทฤษฎีที่เป็นของคนไทย  แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างชัดในความหมายนี้ได้  จนวันหนึ่งผู้เขียนได้รับความรู้และแนวคิดเรื่อง  km  จากท่านผู้รู้ผู้หนึ่งซึ่งท่านได้ให้ความรู้ตั้งแต่ ความแตกต่างของคำว่า  ข้อมูล(Data)  ข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ(Information)    ความรู้  (Knowledge)  องค์ความรู้  (body of knowledge  )  ว่ามีระดับการรับรู้ที่แตกต่างกัน  ข้อมูล  คือข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเมื่อข้อมูลเหล่าที่ผ่านกระบวนการประมวลผลแล้ว เราจะเรียกว่า สารสนเทศ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,ออนไลน์,19  มี.ค. 2553)แต่จะกลายเป็นความรู้ได้ต้องผ่านกลั่นกรองพิจารณาจากสมองจากประสบการณ์ของแต่ละคนจนกลายเป็นความรู้  และเมื่อเรานำความรู้เหล่านั้นมาใช้  มาทดลองซ้ำแล้วซ้ำความรู้เหล่านั้นก็จะกลายเป็นองค์ความรู้เฉพาะของเราไป  และในการอธิบายเรื่องการจัดการความรู้หรือ KM  ท่านก็อธิบายได้ชัดเจนโดยดึงเอาวิถีที่อยู่ใกล้ตัวมาอธิบายซึ่งทำให้ผู้เขียนซึ่งกำลังงงและสับสนกับการทำความเข้าใจเรื่อง  KM  ทำความเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้น  บทความชิ้นนี้จึงมุ่งที่จะบอกเล่าและแลกเปลี่ยนการทำความเข้าใจในเรื่อง  KM  ที่หลายๆ  คนบอกว่าการทำความเข้าใจเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนให้เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้น  เหมือนอย่างที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ในการทำความเข้าใจ KM มาก่อน

การจัดการความรู้นั้นจริงๆแล้วผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของการจัดระบบระเบียบของความรู้  และสร้างให้เกิดพลวัตรของความรู้  เนื่องจากขั้นตอนที่สำคัญของการจัดการความรู้คือการถ่ายทอดความรู้  ซึ่งหลายๆ  ต่อหลายครั้งที่ความรู้บางอันสูญหายหรือไม่เกิดการพัฒนาหรือสร้างพลวัตรของความรู้เพราะการมีความรู้และจัดเก็บไว้แต่ไม่ได้มีการใช้หรือการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้น  สำหรับการจัดการความรู้ที่ผู้เขียนได้รับรู้มาจากท่านผู้รู้ก็เช่นกัน  ถ้าผู้รู้ท่านนั้นไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เขียนหรือผู้ใดเลยองค์ความรู้ก็จะติดอยู่กับผู้รู้ท่านนั้น  และอาจลงลืม  หรือสูญหายไปตามกาลเวลาได้    ดังนั้นการที่ผู้เขียนได้บอกเล่าและถ่ายทอดความรู้นี้ต่อไปก็ถือเป็นขั้นตอนของการกระจายหรือการถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการจัดการความรู้  หรือ  KM  เช่นกัน

การจัดการความรู้หรือ  KM  ที่ท่านผู้รู้ได้กรุณาอธิบายให้ผู้เขียนฟังนั้นท่านผู้รู้ได้ใช้การอธิบายในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของผู้เขียนซึ่งทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจและชัดเจนกับคำว่า  KM  ที่มากขึ้น  ดังนี้ เปรียบขั้นตอนของการจัดการความรู้เหมือนกับขั้นตอนของการจัดการปลา คือก่อนที่เราจะได้กินปลาเราต้องจับปลามาก่อน และเราก็ต้องรู้ว่าปลาที่เราจะจับคือปลาอะไร  ใช้วิธีการจับแบบไหน  เครื่องมือที่จะใช้จับคืออะไร  ซึ่งเปรียบเหมือนขั้นตอนของการระบุถึงความรู้ใน  KM  และเมื่อเราได้ระบุถึงความรู้แล้ว  เราก็มาสู่ขั้นตอนของการจัดหาความรู้  ก็เหมือนเราใช้กระบวนการต่างๆ  ที่เหมาะสมกับการจับปลาแต่ละชนิดจนเราสามารถจับปลามาได้  จากนั้นเมื่อเราได้ปลามาแล้วเราจะนำปลามาทำอาหาร เราก็ต้องรู้กระบวนการจัดการปลาก่อนที่จะนำมาทำอาหารว่าจะทำอย่างไร  การขอดเกล็ด  การแล่เนื้อ  หรือการจัดการอย่างอื่นเนื่องจากปลาแต่ละชนิดมีวิธีการจัดการที่ต่างกัน ปลาแต่ละชนิดก็อาจนำมาประกอบอาหารได้ต่างกัน  และเมื่อเราจัดการปลาเสร็จแล้วเราจะนำมาประกอบอาหารเราก็ต้องทราบว่าเราจะทำอะไรต้องใช้เครื่องปรุงหรือการทำอย่างไรเพื่อให้ปลามีรสชาติอร่อย  ถูกปาก  ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนี้เราอาจพัฒนาความรู้ได้จากการทดลองทำเองหรือการศึกษาหรือสอบถามเรียนรู้จากผู้อื่นเพื่อเอามาปรับใช้กับตัวเอง  ซึ่งก็เหมือนขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้ในเรื่องการสร้างและพัฒนาความรู้  ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเมื่อเรามีความรู้แล้วเราก็มีการบอกเล่าหรือกระจายความรู้ให้แก่ผู้อื่นๆ  หรือเราจะเลือกการจัดเก็บความรู้ไว้  แต่ถ้าเรามีการบอกเล่าหรือกระจายความรู้ความรู้เหล่านั้นมีการใช้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาก็จะเกิดพลวัตรของความรู้ต่อไป  ซึ่งในขั้นตอนการจัดเก็บความรู้นั้นบางทีมีการจัดเก็บไว้ที่ตัวตน  ไว้ในสมองของเรา หรืออาจจัดเก็บไว้ในรูปของสื่อ  เอกสารต่างๆ ก็ได้แต่ถ้าไม่มีการเผยแพร่ถ่ายทอดสู่คนอื่น  กระบวนการจัดการความรู้ก็ไม่สมบูรณ์  และในบางครั้งคนส่วนใหญ่มักจัดเก็บความรู้ไว้ในสมองของตัวเองจนเราพบว่าการจัดเก็บความรู้แบบนี้อาจทำให้ความรู้สูญหายไปตามตัวบุคคลที่มีการจดจำที่เลอะเลือน  หรือจากไปตามกาลเวลา  ดังนั้นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของการจัดการความรู้คือการถ่ายทอดหรือกระจายความรู้  ซึ่งอาจถ่ายทอดความรู้โดยการบอกเล่าให้ฟัง  ทำให้ดู  หรือเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ  ออกไปเพื่อให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจ  ซึ่งความรู้เหล่านี้ก็จะมีการไหลเวียนคนที่ได้รับรู้ก็จะนำความรู้ไปใช้และพัฒนาสร้างสรรค์จนเกิดพลวัตรของความรู้ต่อไป

จากการอธิบายข้างต้นผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ  ท่านคงคิดเหมือนอย่างผู้เขียน  KM  ไม่ใช่เรื่องที่เข้าในอยากอย่างที่คิด ชีวิตคนเราเกี่ยวพันธ์อยู่กับความรู้มาตั้งแต่เกิดจนตาย  เพียงแต่ว่าเราได้มีการจัดการความรู้ที่เป็นระบบระเบียบแค่ไหนเรามีการสร้างให้เกิดพลวัตรของความรู้หรือไม่หรือเราแค่เพียงรู้แต่ไม่พัฒนาความรู้  หรือไม่เคยใช้ความรู้จนกลายเป็น  “มีความรู้ท่วมแต่หัวเอาตัวไม่รอด”  เหมือนสุภาษิตไทยโบราณที่ใช้ได้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 487455เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท