เรื่องเล่าจากบ้านเกิดเมืองนอน ความเป็นมาชาวผู้ไทตำบลเหล่าใหญ่ : สืบค้นหารากเหง้า เผ่าพงศ์คนผู้ไท(ภูไท) ตอน 4


คืนวันที่ 8  มี.ค. 55 หลังงาน “ผู้ไทลงข่วงเข็นฝ้ายที่เหล่าใหญ่” ในตอนค่ำภาคีวิชาการหลายฝ่ายที่มาร่วมงานได้ล้อมวงสนทนา เพื่อพูดดุยสนทนา ฟังคำเล่าขาน ตำนานความเป็นมาของคนผู้ไทตำบลเหล่าใหญ่ จากคำบอกเล่าของผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ของตำบล คือ ยายกอง  แสบงบาล และครูประคอง นนทมาตย์(คุณครูประคอง เป็นคุณครูสอนผมเมื่อผมเรียนชั้นประถม)  ภาคีวิชาการที่่วมสนทนาในวันนั้นประกอบด้วย อ.ธีรภาพ โลหิตกุล อ.ไผท ภูธา  และทีมงานจาก มรภ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนำทีมโดย ดร.สมชอบ  ภูอินนา  อ. ธันวาใจเที่ยง อ.ฐนันชัย ศิริวาลย์ และคณาจารย์อีก 4-5 ท่าน
    ที่จริงผมได้มีโอกาสได้พุดคุยกับยายกอง  และครูประคอง ในเรื่อง ประวัติศาสตร์ชาวผู้ไทในพื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่  มาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยได้ฟังและพูดคุยท่ามกลางภาคีวิชาการจากหลายภาคส่วน ผมจึงตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียนรู้ในเรื่องนี้อีกครั้ง   แม้ผมจะเคยฟังเรื่องนี้มาหลายครั้งหลายคราแล้วก็ตาม

 

 

       

 

 

     

 

     

 

และในช่วงวันที่  3-4 พ.ค. 55 ผมเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง เพื่อไปถ่ายทำสารคดีสะท้อนภาพการจัดการทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น เป็นการถ่ายทำสารคดีที่ีต่อเนื่องจากงาน”ผู้ไทลงข่วงเข็นฝ้ายที่ตำบลเหล่าใหญ่” ซึ่งจัดไปก่อนหน้านี้แล้ว ผมก็ได้สอบทานข้อมูลจากทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง ร่วมกับ อ.ฐนันชัย  ศิริวาลย์ จาก มรภ.กาฬสินธุ์
    ยายกอง  แสบงบาลได้เล่าในวงสนทนาในวันนั้นว่า  เรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาถึงความเป็นมาชาวผู้ไทในตำบลเหล่าใหญ่ นั้น คนที่เล่าได้ชัดที่สุด คือป้าทา ไชยขันธุ์ (ป้าของผมเอง ที่พึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว)  แต่ที่ยายกองจำความได้ในเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมานั้นมีอยู่ว่า......

 

 

.............

แรกเริ่มทีเดียวของความเป็นคนผู้ไทนั้น คนผู้ไทดั้งเดิมแต่เก่าก่อนมีถิ่นฐานอยู่ ณ เมืองหนองแสหลวง ประเทศจีน(แถวมณฑลยูนานปัจจุบัน) 


คนผู้ไทอยู่เมืองหนองแสหลวงมานานต่อมาถูกจีนและมองโกล รุกราน จึงแตกกระสานซ่านเช็นไปหลายทิศทาง บรรพบุรุษคนผู้ไทสายของเราได้อพยพไปอยู่ เขตป่าเขา ณ ประเทศจีนตอนใต้ (แถวมณฑลกวางสีในปัจจุบัน) อยู่ที่ตอนใต้เมืองจีนนานเท่าไหร่ไม่ทราบ ต่อมาได้เกิดสงครามขนาดใหญ่กับจีนอีกครั้ง  ผู้ไทจึงถอยร่นอพยพมาอยู่ ณ เมืองนาน้อยอ้อยหนู ประเทศเวียดนาม (แถบเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟูในปัจจุบัน)

 

 

 

         

 


 คนผู้ไทอยู่เมืองนาน้อยอ้อยหนู ไม่ทราบว่านานเท่าไหร่ แต่เมื่อบ้านเมืองเดือดร้อนจากความแห้งแล้งและเกิดความขัดแย้งภายในผู้นำกลุ่มผู้ไทด้วยกัน ท้าวก่าจึงพาครัวคนผู้ไทประมาณหมื่นคนอพยพเรื่อยมาตามลำน้ำโขง    จนมาขอขึ้นอยู่กับ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว    ในเวลาต่อมา

เจ้าเมืองเวียงจันทน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองบก เมืองวัง (เมืองวีละบุรี แขวงสะหวันนะเขตในปัจจุบัน)   ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพวกข่า(บลู)อยู่ก่อนแล้ว ผู้ไทอยู่กับข่า(บลู) ทั้งแบบเป็นพี่น้องกันและแก่งแย่งแข่งขันกันเป็นใหญ่  อย่างไรก็ตามคนผู้ไทอยู่เมืองวังได้ไม่นาน ได้เกิดความขัดแย้งภายในเจ้านายผู้ไทด้วยกันอย่างรุนแรงอีก  ผู้ไทบางส่วน จึงได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานในเขตประเทศไทในปัจจุบัน

 



              

 

 

 

ทั้งนี้ยายกอง ได้บอกกับผมว่าผู้ไทเมืองเว เรณูนครเป็นผู้ไทที่ได้อพยพมาก่อน ต่อมาจึงการอพยพข้ามแม่น้ำโขงตามกันมาเรื่อยมาตามสายเครือญาติ โดยมีสายเครือญาติ 3 สายใหญ่ๆ คือสายที่ เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน และสายที่มาจากบ้านนาแค  (อำเภอนาแก จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน)  ส่วนอีกสายหนึ่งอพยพมาจากห้วยนาตาเปอะ (บ้านนาตาเปอะ  ตำบลบ้านค้อ  อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน) 
คนผู้ไทอีกหลายกลุ่มได้กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในเขต จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม ซึ่งทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วล้วนมาจากเมืองบก เมืองวัง ด้วยกันทั้งนั้น บรรพบุรุษของคนผู้ไทตำบลเหล่าใหญ่ก็อพยพมาจากเมืองบก เมืองวัง ข้ามแม่น้ำโขงตามมาเหมือนกันกับผู้ไทกลุ่มอื่นๆ

 



      

 

 


     ครูประคอง นนทมาตย์ เล่าว่าจากคำบอกเล่าของชาวผู้ไทเหล่าใหญ่ได้กล่าวไว้ว่า บรรพบุรุษของผู้ไทในพื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่   หลังอพยพข้ามแม่น้ำโขงจากเมืองวัง ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน และต่อมาได้อพยพลงมาจากภูพานมาพักที่บ้านห้างสายคอ  บ้านห้างบ้านปุง ซึ่งในบริเวณท้องที่ตำบลเหล่าใหญ่ปัจจุบัน  ประมาณปี พ.ศ.2440  ได้เกิดโรคระบาดผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมาก จึงได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ส่วนหนึ่งอยู่ที่บริเวณ บ้านเหล่าใหญ่ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งกระจายไปตั้งถิ่นฐานที่ บ้านดงเหนือ  บ้านดงมะนาว(บ้านมะนาว) และบ้านคำกั้ง ซึ่งปัจจุบันทุกหมู่บ้านอยู่ในเขต ตำบลเหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งหมด

  

     



    

 

 

ครูประคอง  ยังได้ให้ผมดูงาช้างเป็นงาช้างตัวเมีย เรียกว่าหนาย   ซึ่งได้ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นหลักฐานเตือนใจให้ลูกหลานคนผู้ไทได้ตระหนักว่า แต่ก่อนบรรพบุรุษผู้ไทเราขี่ช้างมา  โดยเล่ากันว่าบรรพบุรุษผู้ไทขี่ช้างมาหลายตัว ช้างตัวผู้ที่เล่าต่อกันมามีชื่อเป็นคำคล้องจองกัน ได้แก่  ช้างแสงชั้นฟ้าสุริยาเฮียงโลกอวดอ้างประสงค์ฮ้างขี่ไป   ช้างขวานลอดบ้องขุนทองประสงค์ขี่ และ ช้างไหมคำฟั้นน้ำมันแหลวย้อยยาด แต่ช้างตัวผู้เหล่านี้ตกมันเลยวิ่งหนีไปในป่าภูพาน  เหลือแต่ช้างตัวเมีย 2 เชือก มีชื่อว่า คำชาวเบ้า เผอฝั้นฮ่อฮิง (ช้างอีกุด) และอีกตัวชื่อจริงไม่ได้ จำได้แต่ชื่อเล่นว่าช้าง อีฮุย  เพื่อเป็นอนุสรณ์ในเรื่องนี้ ทางเทศบาล ต.เหล่าใหญ่ จึงได้ปั้นรูปช้าง อยู่ที่หน้าวัดหอไตร    เหล่าใหญ่
ครูประคองบอกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเมืองวัง(เมืองเก่าแก่เดิมของชาวผู้ไท) อยู่ใกล้ภูช้างแห่ ด้วยเป็นเขตภูเขาที่มีช้างเยอะ  ตลอดแนวภูเขาเป็นแนวทางเดินของช้าง จึงเรียก ภูช้างแห่ นอกจากนี้ที่เมืองวังเดิมนั้น  อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทองคำ มีทองคำเยอะเมือนดังหินแห่(หินกรวดตามร่องน้ำ) แต่ที่ต้องอพยพมาอยู่ในเขตประเทศไท ก็ด้วยหนีความขัดแย้งวุ่นวายภายในของกลุ่มผู้นำ ผู้ปกครองชาวผู้ไทที่เมืองวัง นั่นเอง

 

    

 

 

ครับผมได้ฟัง เรื่องเล่าที่เป็นตำนานความเป็นมาของชาวผู้ไท จากผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ทำให้เห็นภาพจุดก่อเกิดความเป็นมาคนผู้ไท จนเป็นลายแทงให้ผมได้สืบค้นหารากเหง้าของเผ่าพงค์คนผู้ไทได้ชัดเจนขึ้นต่อไป  ผมจะออกเดินทางสืบเสาะหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นๆไปครับ

 

   

หมายเลขบันทึก: 487137เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาติดตามเรื่องราวผู้ไท ค่ะท่านอาจารย์ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท