( ๓.) "ตำราคดีบุคคล ของท่านอาจารย์วิเชียร วัฒนคุณ"


หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความกระหายใคร่รู้ในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ฉันขอย้ำว่าท่านไม่ควรพลาดการดื่มด่ำกับหนังสือเล่มนี้เป็นอันขาด เพราะ บัดนี้มันได้กลายเป็นทั้ง “ ตำรา ” และ “ ตำนาน ” เล่าขานเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประเทศไทยฉบับประวัติศาสตร์ที่นักศึกษากฎหมายรุ่นหลังต้องอ่าน
                คงไม่ผิดนะถ้าฉันจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ออกจะเป็นหนังสือ"ติดโบ"(ราณ)  เล่มหนึ่ง

              นับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาเป็นลูกแม่โดม และพ่อปรีดี  นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ฉันเดินออกจากห้องสมุดมาพร้อมกับหนังสือติดโบ(ราณ) เพราะ โดยปกติแล้วฉันและพวกเพื่อนๆมักนิยมชมชอบอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือใหม่  เสื้อผ้าใหม่  กระเป๋าใหม่  มือถือใหม่ ร้านอาหารใหม่ๆ  สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ  รัฐบาลใหม่  และแฟนใหม่ (โดยเฉพาะอย่างหลังนี่พวกเราไม่นิยมของมือสองอย่างแน่นอน) 

              ...............................................................

                ทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้  ???

              ...............................................................

                  เหตุผลประการแรกแรก  อาจเป็นเพราะพวกเราเกิดในยุคที่อะไรๆก็ต้องเร็ว ต้องใหม่ ต้องทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ จึงรู้สึกเบื่อกับสิ่งเหล่านั้น และพยายามหันกลับมามองของเก่าที่ถูกละเลย

                เหตุผลประการถัดมา ก็คือ ฉันคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในอดีตของนักกฎหมายลูกแม่โดมหลายต่อหลายคน และเคยเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศของใครบางคน และ บัดนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่มันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับฉันเฉกเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา [ และฉันก็หวังว่ามันจะทำหน้าที่เช่นนี้แก่นักกฎหมายรุ่นหลังตลอดไป ]

                และเหตุผลประการสุดท้าย ก็เพราะว่ารูปลักษณ์ภายนอกของหนังสือเล่มนี้ ที่แม้ว่าเนื้อกระดาษที่แลเห็นภายนอกจะเหลืองกรอบ และมีรอยฉีกขาดราวกับชายวัยกลางคนที่กรำงานหนักมานานนับ40 ปี แต่ก็ช่างดูขลังและมีเสน่ห์ดึงดูดแก่ผู้อ่านอย่างน่าประหลาดใจ   [ฉันเดาว่าหนังสือเล่มนี้ต้องผ่านการอ่านมาอย่างโชกโชนทีเดียวล่ะ ]   

             .............................

                  ผู้แต่ง ?? ?

             ..............................

                 เมื่อพลิกเข้าไปดูข้างในก็พบว่าหนังสือ "คำบรรยายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล " เล่มนี้แต่งโดย     ท่านอาจารย์ วิเชียร วัฒนคุณ   ซึ่งจบดอกเตอร์มาจากมหาวิทยาลัยปารีส   และด้วยเหตุนี้เองจึงเดาได้ว่าเนื้อหาภายในนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสไม่มากก็น้อย   

               .............................

                จุดเด่น  ???

              .............................

                 ประการแรก  ท่านอาจารย์ วิเชียร วัฒนคุณ   ได้แต่งตำราเล่มนี้โดยอ้างอิงจากแนวคำสอนในตำราของท่านอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านด้วยกัน ได้แก่ ตำราหลักกฎหมายเกี่ยวกับคดีต่างประเทศของท่านอาจารย์ วัน จามรมาน ตำรากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของพระยาศรีวิสารวาจา ,หลวงวิเทศจรรยารักษ์ ,หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม(อาจารย์ปรีดี พนมยงค์)  ,อาจารย์ทวี ตะเวทิกุล ,อาจารย์หยุด แสงอุทัย  และอาจารย์บุณย์ เจริญไชย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปรมาจารย์ในการสอนกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น

               ประการที่สอง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ขึ้นภายหลังการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 เพื่อแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนของหนังสือคำบรรยายฉบับเดิมที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2505 กล่าวคือนอกจากมีการแก้ไขในส่วนของ การได้ และเสียสัญชาติไทย แล้วผู้แต่งยังได้เพิ่มเติมข้อความในส่วนที่เกี่ยวกับ การขัดกันแห่งกฎหมาย  , การขัดกันแห่งอำนาจหน้าที่  และ การขัดกันแห่งอำนาจศาล  เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในสมัยนั้น 

                ดังจะเห็นได้จากส่วนของ  การได้ และเสียสัญชาติไทย   ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ  พ.ศ. 2508 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีกฎหมายกำหนดข้อยกเว้นในเรื่องการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด(ตามหลักดินแดน)ไว้อย่างชัดแจ้ง  สำหรับกรณีบุตรของคนต่างด้าวซึ่งขณะเกิดนั้นบิดาหรือมารดามีสถานะ [ซึ่งรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ]   เป็นบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน อันเป็นผลให้บุคคลดังกล่าวมิอาจได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน 

                นอกจากนี้ในส่วนของ การขัดกันแห่งกฎหมาย   ผู้แต่งได้อธิบายถึงนิติวิธีในการนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาใช้แสวงหากฎหมายที่เหมาะสมที่สุดเพื่อปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไป โดยพิจารณาจากจุดเกาะเกี่ยว เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและความสามารถของบุคคลนั้นใช้สัญชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยว กล่าวคือจะต้องเป็นไปตามกฎหมายของสัญชาติของคู่กรณี เป็นต้น 

                ในขณะที่ส่วนท้ายๆของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง  การขัดกันแห่งอำนาจหน้าที่ ว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการสรรหารัฐ(และเจ้าหน้าที่ของรัฐ)ที่จะเข้ามารับผิดชอบในการทำนิติกรรมมหาชนของเอกชนระหว่างประเทศ  เช่น  การจดทะเบียนสมรส  จดทะเบียนหย่า  รับแจ้งเกิด       แจ้งตาย   ย้ายที่อยู่   เป็นต้น  ]   

                   แล้วปิดท้ายด้วยเรื่อง   การขัดกันแห่งอำนาจศาล  ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการแสวงหาศาลที่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งระหว่างประเทศ โดยเน้นการศึกษาเขตอำนาจของศาลไทย และผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในประเทศไทย 

                   ........................................................................................

      ฉันได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ บ้าง ???       

     .........................................................................................

         สิ่งแรกที่ฉันสัมผัสได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือความคลาสสิคของเนื้อหาภายในเล่ม ที่มีกลิ่นอายของการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลแบบฝรั่งเศสปนอยู่ในทุกอณูของตัวอักษร เริ่มตั้งแต่รูปแบบของสารบาญ ที่แบ่งเนื้อหาภายในเล่มออกเป็นสามภาค โดยสองภาคแรกให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องสัญชาติและนิติฐานะของคนต่างด้าวเป็นสำคัญ ส่วนภาคสุดท้ายเป็นการขัดกันแห่งกำหมาย และการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ แต่กลับมีกลิ่นอายของความเป็นอังกฤษเข้ามาสอดแทรกในส่วนของเขตอำนาจศาลบ้าง
    ที่กล่าวว่าเป็นกลิ่นอายแบบอังกฤษก็เพราะว่าแท้จริงแล้วการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประเทศฝรั่งเศสนั้นเน้นการศึกษาใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ (1) สัญชาติ (อันนี้เรามักได้ยินบ่อยๆในช่วงโมงสอนของ อ.แหวว ) (2) นิติฐานะของคนต่างด้าว (อันนี้ก็เช่นเดียวกัน) (3) กฎหมายขัดกัน (อันนี้ได้ยินบ่อยมากๆในชั่วโมง อ.ประสิทธิ์ ) และ (4) การรับรองและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ
       ในขณะที่การศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประเทศอังกฤษนั้นนอกจะศึกษาใน 4 เรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังศึกษาเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลอีกด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าท่านอาจารย์วิเชียรได้ผสานความเป็นอังกฤษเข้ากับความเป็นฝรั่งเศสได้อย่างสอดคล้องลงตัว

        .....................................                

                           ของฝาก ???

                     .....................................

              หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความกระหายใคร่รู้ในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ฉันขอย้ำว่าท่านไม่ควรพลาดการดื่มด่ำกับหนังสือเล่มนี้เป็นอันขาด  เพราะ บัดนี้มันได้กลายเป็นทั้ง         ตำรา  และ    ตำนาน   เล่าขานเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประเทศไทยฉบับประวัติศาสตร์ที่นักศึกษากฎหมายรุ่นหลังต้องอ่าน     

 ................................................................................

           ปล. หนังสือเล่มนี้มีอยู่ที่ห้องสมุดสัญญาธรรมศักดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  มีเลขหนังสือ     JX 4270 ท92 ว6  หากท่านใดสนใจในก็ลองแวะเข้าไปอ่านได้ที่ห้องสมุดนะคะ

หมายเลขบันทึก: 48630เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท