โครงการเมืองสหกรณ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ทฤษฎีใหม่
 

Peeraphong Varasen

5:03am Apr 17

บทความนี้ มีผู้เขียนไว้เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว อ่านบทความคงต้องนึกย้อนไปว่าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้ว น่ะครับ คิดว่า ผู้ที่เขียนบทความนี้คงไม่ว่าผมนะครับที่นำบทความที่มีประโยชน์มาลงในเฟสในวันนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตแบบขนานใหญ่ (Mass production) ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง และโครงการเมืองสหกรณ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในสมัยก่อนนั้น บรรพบุรุษของไทยทำการเกษตรแบบดั้งเดิม มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ในไร่นามีพืชผลหลายชนิดปะปนกันทั้งพืชไร่ พืชสวน และนาข้าว มีการ เลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด อย่างละเล็กอย่างละน้อย เพื่อไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน ไม่มีสูตรสำเร็จในการผลิต ผลผลิตก็มีพอเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ เนื่องจากได้ทำการทดลองทดสอบกันมาหลายชั่วคนว่าสัดส่วนการผลิตอย่างไรจึงจะเหมาะสมโดยวิทยาการแบบดั้งเดิม

ต่อมา ก็มีผู้รู้ที่ได้ไปศึกษาวิทยาการผลิตมาจากต่างประเทศเข้ามาแนะนำเกษตรกรไทยว่าเกษตรกรควรจะผลิตแบบขนานใหญ่ (Mass Production) เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตคราวละมาก ๆ ทำแปลงเกษตรกว้าง ๆ ใหญ่ ๆ เพื่อที่จะได้ลดต้นทุนทำให้แปลงมีการประหยัดเนื่องจากระดับขนาด (Economy of scale) โดยเชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนถูกลง และได้กำไรจากการขายผลผลิตมากมายตามทฤษฎี หลังจากการผลิตแบบขนานใหญ่ได้แพร่หลายไปสู่เกษตรกรแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อแปลงเกษตรเป็นแปลงใหญ่แล้ว การใช้ แรงงานคนเริ่มไม่เป็นที่ต้องการ เคยใช้วัว ควายในการไถนาก็ไม่เป็นที่นิยมเพราะทำงานได้ช้า ต้องนำเข้าเครื่องจักรในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวจากต่างประเทศ ทำให้เงินทองไหลออกนอกประเทศเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรเครื่องมือ เมื่อมีเครื่องจักรก็ต้องมีการจัดทำแปลงเกษตรใหม่ให้ทันสมัย ต้นไม้หัวไร่ปลายนาก็ถูกถางไปจนหมดสิ้น ใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นเพราะลำพังปุ๋ยหมักแบบหรือปุ๋ยอินทรีย์ แบบเดิมไม่ไหวเพราะแปลงเกษตรมีขนาดใหญ่ มีการใช้ สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ผลที่เกิดตามมา ธรรมชาติเสียสมดุล เนื่องจากต้นไม้หัวไร่ปลายนาถูกตัดลงเพื่อทำเป็นแปลงเกษตรอันกว้างใหญ่สุดตาเหมือนต่างประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้ว และห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติลดลง เพราะถูกสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชทำลาย เงินทองไหลออกจากประเทศเนื่องจากต้องนำไปซื้อเครื่องจักร ปุ๋ย และ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกิดการขาดดุลการค้าตามมา แรงงานเกษตรกรได้ทำงานน้อยลงเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพืชชนิดเดียว ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการทำงานของแรงงานเกษตรในแปลงเกษตร ความเสี่ยงของเกษตรกรมีมากขึ้น เนื่องจากการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้นเมื่อไม่ขายผลผลิตที่ผลิตก็ไม่สามารถนำมาบริโภคได้หมด จำเป็นต้องขายผลผลิต ในราคาไม่สมเหตุสมผล ถ้าไม่ขายก็ไม่สามารถนำมากินมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่คุ้มกับทุน แรงงาน และธรรมชาติที่ต้องเสียไป และหากปีใดเกิดภัยธรรมชาติ หรือวิกฤติด้านราคากับพืชผลชนิดนั้นก็จะทำให้เกษตรกรขาดทุนเป็นหนี้สิน ราคาของผลผลิตไม่มีเสถียรภาพ ในที่สุดเกษตรกรก็ต้องขายที่ดินและอพยพเข้ามาค้าแรงงานในเมือง การเอื้ออาทรต่อคนในสังคมเกษตรลดลง เช่น ถ้าเป็นการผลิตแบบดั้งเดิมมีการนำมะกรูดไปแลกมะนาวอย่างเพลงพื้นบ้านที่เราร้องกัน ทำให้มีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน ปัจจุบันเมื่อมีการผลิตแบบขนานใหญ่แล้วมักผลิตพืชชนิดเดียวกันเหมือนๆ กัน เพื่อส่งโรงงานใกล้บ้าน จึงไม่มีใครนำสับปะรดไปแลกกับสับปะรด การผลิตในลักษณะนี้จึงไม่มีความยั่งยืน ในระยะยาวพื้นดินก็จะ สูญเสียคุณสมบัติและไม่สามารถใช้ปลูกพืชได้ในอนาคต แต่ในด้านดีของการผลิตลักษณะนี้ก็คือการที่มีจำนวนผลผลิตมาก พอที่จะทำให้ลดต้นทุนบางอย่างได้จริง ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนในการขนส่ง เพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีผลผลิตจำนวนมาก ไม่ต้องนำไปรวมกับใครเพื่อขาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งหวังให้ปวงพสกนิกรไทยได้พ้นจากทุกข์ยากในการดำรงชีวิต และทรงมุ่งมั่นแสวงหามรรควิธีที่จะช่วยให้ราษฎรไทยได้มีวิถีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มจาก “ พออยู่พอกิน” จนกระทั่งพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด จึงได้พระราชทานพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทาง หรือหลักการ ในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทฤษฎีใหม่นั้นแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นที่หนึ่ง เป็นการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วนโดยประมาณ 30:30:30:10 พื้นที่ส่วนที่ 1 ประมาณ 30 % ให้ขุดสระเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง พื้นที่ส่วนที่ 2 ประมาณ 30 % ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัด ค่าใช้จ่าย และสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่ 3 ให้ปลูกไม้ผลยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน พื้นที่ส่วนที่ 4 ประมาณ 10 % เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่น ๆ ซึ่ง สัดส่วนต่าง ๆ ไม่ตายตัวสามารถยืดหยุ่นได้ตามสภาพพื้นที่ เช่น สระเก็บน้ำในเขตชลประทานจะแตกต่างจากสระเก็บน้ำในเขตพึ่งพาน้ำฝน เพราะในเขตชลประทานสามารถมีน้ำมาเติมอยู่เรื่อย ๆ เมื่อเกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งแล้ว เกษตรกรจะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่ พอกิน และตัดค่าใช้จ่ายลงเกือบหมด มีผลผลิตเหลือนำมาขาย และยังเป็นการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ คือ เกษตรกรแต่ละรายมี ผลผลิตหลายอย่าง และผลผลิตเหล่านั้นถ้าไม่ขาย ก็สามารถนำมาบริโภคได้ เกษตรกรไม่ต้องรีบร้อนขายผลผลิตการต่อรองดีขึ้น สภาพธรรมชาติยังคงอยู่ เนื่องจากเป็นแปลงเกษตรที่ไม่ใหญ่นัก สามารถใช้แรงงานคนได้ ใช้ แรงงานสัตว์ได้ ทั้งยังได้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ด้วย ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องทุ่นแรงมากนัก เรื่องปัญหาโรคพืชและแมลง รบกวน สามารถควบคุมได้โดยธรรมชาติ เนื่องจากเป็นแปลงเล็ก ๆ ไม่ใหญ่และต่อเนื่อง จึงทำให้ไม่ต้องใช้ สารเคมีควบคุมมากนัก ทำให้ห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ เช่น งูกินหนู กบกินแมลง นกกินงู ก็ยังคงอยู่ ถ้าเป็นการผลิตแบบที่ต้องใช้สารเคมีมากจะสังเกตพบว่าไม่มีนกมาเกาะหรือบินผ่านที่แปลงเกษตรนั้น ๆ เลย อย่างไรก็ตามเมื่อทำทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งสำเร็จ ผลผลิตที่เกษตรกรแต่ละคนเหลือขายจะเป็นผลผลิตลักษณะเดียวกัน ก็จะเกิดปัญหาราคาตกต่ำในผลผลิตนั้น ๆ เนื่องจากผลผลิตที่เหลือขายของเกษตรกรเป็นผลผลิตที่เหมือน ๆ กันผลผลิตของผู้ผลิตแต่ละรายมีจำนวนน้อย จึงไม่คุ้มที่จะนำไปขายในจังหวัดใกล้เคียง หรือในกรุงเทพ ฯ

เรื่องทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งนี้เป็นเรื่องของการผลิต การดำเนินการต่าง ๆ เป็นรูปแบบที่เห็นผล ชัดเจนภายในระยะเวลาอันสั้น จึงได้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าส่งเสริมแนะนำเกษตรกรให้ดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งอย่างมากมาย จนปัจจุบันบางแห่งได้เกิดปัญหาผลผลิตที่เหลือขายของเกษตรกรล้นตลาดขึ้นแล้วในบางฤดูกาล

แต่ด้วยพระปรีชาชาญ และสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาพร้อมด้วย คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่มหรือ สหกรณ์ เพื่อร่วมใจกันดำเนินการในด้าน การผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ในขั้นที่สอง จะช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดของเกษตรกรแต่ละรายได้โดยการรวมผลผลิตที่ได้นำไปขาย หรือให้กลุ่มหรือ สหกรณ์จัดการแปรรูปเสีย และนำส่งขายยังตลาดในจังหวัดใกล้เคียง ในกรุงเทพ ฯ หรือในจังหวัดที่อยู่ห่างไกลออกไป การรวมกันเป็นสหกรณ์ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองนั้นสามารถขจัดจุดอ่อนของการทำการเกษตรตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งคือเมื่อนำผลผลิตเหลือสำหรับขายของเกษตรกรแต่ละรายซึ่งมีจำนวนน้อยมารวมกันก็จะมีจำนวนมากได้ในลักษณะเดียวกันกับการทำการผลิตแบบขนานใหญ่ (Mass production) ซึ่งก็เป็นข้อดีของการทำการเกษตรแบบขนานใหญ่ แต่การทำโดยใช้ทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง และสองนั้น เกษตรแต่ละรายไม่ต้องเสี่ยงมากเพราะเกษตรกรมีผลผลิตที่หลากหลาย และสามารถนำไปบริโภคเพื่อดำรงชีพได้ ทำให้ไม่ต้องรีบร้อนขายสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สมเหตุสมผล ในกรณีของการรวมกันเป็นสหกรณ์ สมาชิกของ สหกรณ์เป็นเจ้าของสหกรณ์ สามารถเลือกตัวแทนหรือเข้าไปเป็นตัวแทนสมาชิกเข้าไปตัดสินใจกำหนดนโยบายทางธุรกิจของสหกรณ์ของตนเองได้ และสหกรณ์ก็สามารถรับสมาชิกจากประชาชนทุกหมู่เหล่าได้โดยไม่จำกัด (ตามหลักสหกรณ์) เพื่อจะมาซื้อหรือขายในลักษณะรวมกันซื้อ หรือรวมกันขาย เจรจาตกลงกันในชุมชน โดยสหกรณ์ให้บริการตลาดกลาง หรือลานค้าก็สุดแต่จะเรียกกันไป การรวมกันเป็นสหกรณ์จะแก้ปัญหาผลผลิตที่เหลือขายของเกษตรกรที่ทำการเกษตรตามทฤษฏีใหม่ขั้นที่หนึ่งให้สามารถรวมกันขายไปยังแหล่งซื้อแหล่งอื่นหรือนำมาแปรรูปโดยสหกรณ์ แล้วนำไปขายในท้องถิ่นหรือจังหวัดใกล้เคียงได้
สิ่งสำคัญที่เกษตรกรได้รับจากการดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง ก็คือจะไม่ต้องเสี่ยงต่อ การผลิตผลผลิตชนิดเดียวแล้วขายไม่ได้ หรือขายได้ในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ในลักษณะเดียวกับการผลิตแบบขนานใหญ่ (Mass Production) ส่วนการรวมกันขาย และรวมกันซื้อตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง ก็จะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรได้ด้วย หลังจากสหกรณ์สามารถให้บริการสมาชิกได้ทั่วถึงแล้ว เมื่อมีส่วนเกิน หรือกำไร ก็สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นที่สหกรณ์นั้น ๆ ตั้งอยู่ได้ตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นด้านสวัสดิการ ความเป็นอยู่ การศึกษา สังคม และศาสนา หากผลที่ได้จากทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองในการพัฒนายังไม่เพียงพอ หรือยังไม่รวดเร็วพอก็ยังมีทฤษฎีใหม่ขั้นที่ สาม คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป ตัวอย่างของการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์มีอยู่หลายที่หลายแห่ง และแห่งหนึ่งที่สามารถศึกษาดูเป็นตัวอย่างได้ คือ โครงการเมืองสหกรณ์ตามพระราชดำริ บางหน่วยงานดำเนินการในส่วนของทฤษฏีใหม่ขั้นที่หนึ่งสำเร็จแล้ว และเกิดปัญหาดังที่กล่าวข้างต้น ก็กำลังเร่งดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง และสามต่อไป

จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่นั้น มีขั้นตอนถึงสามขั้นตอน ขั้นตอนที่ผู้เขียนคิดว่ายากที่สุดคือขั้นตอนที่สองคือการรวมกลุ่ม หรือรวมคนนั่นเองเพราะการทำงานกับคนนั้นยากที่สุด คนที่ไม่รู้ต้องแนะนำให้รู้ คนที่ไม่เข้าใจต้องแนะนำให้เข้าใจ และหากมีการดำเนินการเพียงแค่ทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่งแล้ว ขาดการวางแผนอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองและสามก็จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการดำเนินการตามทฤษฎีใหม่อย่างสมบูรณ์

พีระพงศ์ วาระเสน
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการเมืองสหกรณ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Bobbie 05 June 2002

ผมเขียนไว้เองล่ะครับ เอามาลงด้วยตัวเองครับ

หมายเลขบันทึก: 485896เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2012 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบพระคุณ ท่าน ม.ล. ชาญโชติ ชมพูนุท ที่ท่านได้นำบทความนี้มาลงใน Gotoknow.org ทำให้ผมรู้จัก Gotoknow.org ในครั้งแรกที่ เจอจาก Google และก็ ได้รับคำชี้แนะจากท่าน วอญ่า นาย นเรศ หอมหวล ช่วยแนะนำวิธีการแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน Gotoknow.org ให้จากการไปประชุมเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรแล้วได้แลกเปลี่ยนกัน  ผมจะพยายามนำความรู้ และทักษะจากประสบการณ์การทำงาน มาแบ่งปัน ในที่นี้เพื่อให้ลูกหลานไทยได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ครับ ขอขอบพระคุณท่านทั้งสองที่ได้เอ่ยนามมา เป็นอย่างยิ่งครับ  

สวัสดีครับ คุณพีระพงศ์ 

ขอบคุณที่แวะเข้ามาแสดงความเห็นในบันทึกของผม ก่อนอื่นต้องขอประทานโทษที่นำบทความของคุณพีระพงศ์มาลงในบทความของผมก่อนได้รับอนุญาต ตกลงคุณพีระพงศ์ได้เปิดบันทึกของท่านใน gotoknow หรือยังครับ ถ้ายังน่าจะสมัครสมาชิกและเปิดบล๊อกของท่านเองใน gotoknow ผมจะได้ติดตามเข้าไปอ่านเรื่องอื่นๆของท่านครับ

สำหรับปีใหม่ที่มาถึงนี้ ขอให้คุณพีระพงศ์ และครอบครัวประสบความสุขอย่างยั่งยืนตลอดปี และตลอดไปครับ

นับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท