การคิดเชิงวิเคราะห์ 2/2 โดยชาตรี สำราญ


ภาพที่จะปรากฏขึ้นแก่ผู้เรียนคือ ผู้เรียนสามารถยุบรวมข้อมูลความรู้ที่เรียนรู้มาคิดสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ได้

การที่ครูผู้สอนสามารถฝึกฝนทักษะให้ผู้เรียนคิดเชิงวิเคราะห์และคิดเชิงสังเคราะห์ได้นั้น   เท่ากับผู้สอนสามารถปฏิบัติหน้าที่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตรงตามที่รัฐวางไว้  ซึ่งในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ( 2549 )  ได้ระบุไว้ในเป้าหมายสำคัญของการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ว่า ได้ดำเนินการพัฒนากระบวนการเรียนรู้มาโดยลำดับดังนี้

                ระยะที่  1    เป็นการใช้กระบวนการสืบเสาะหาข้อมูลความรู้  แต่กำหนดแนวในการทำกิจกรรมค่อนข้างมาก  ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกคิดตาม ลงมือปฏิบัติ   ออกแบบ  บันทึกข้อมูล  และวิเคราะห์ข้อมูลเอง

                ระยะที่  2    ได้เริ่มพัฒนากระบวนการเรียนรู้  โดยกำหนดปัญหาปลายเปิด ให้ผู้เรียนคิดวางแผน  ออกแบบการทดลอง  และลงมือปฏิบัติ  ศึกษาค้นคว้า  ตรวจสอบความคิดด้วยตนเองมากขึ้น

                ระยะสุดท้ายของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ คือ กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่ผู้เรียนเป็นผู้ระบุปัญหา  คือ คำถามตามความสนใจของตนเองหรือกลุ่ม  วางแผนหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางเลือกหลากหลาย  โดยใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้มา  มีการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา  ลงมือปฏิบัติ  และประเมินผลการแก้ปัญหา  สรุปเป็นความรู้ใหม่  (ขณะนี้เราอยู่ในระยะสุดท้าย)

                และแนวคิดนี้  กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ระบุไว้ชัดเจนใน สาระที่  8   ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มาตรฐาน ว 8.1  อีกทั้งได้กำชับไว้ในการจัดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มวิทยาศาสตร์ อีกว่า

                “สถานศึกษาจะต้องจัดสาระการเรียนรู้รายปี รายภาคให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ มาตรฐานการเรียนรู้ตามสาระที่  8  ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นมาตรฐานด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้  สถานศึกษาต้องนำมาตรฐานดังกล่าวไปจัดในการเรียนการสอนทุกสาระทุกช่วงชั้น  และใช้เป็นกรอบมาตรฐานสำหรับกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์   ซึ่งต้องจัดให้ผู้เรียนทำโครงงานทุกช่วงชั้น    ทั้งนี้ได้กำหนดกิจกรรมโครงงานไว้ในคุณภาพของผู้เรียนในทุกช่วงชั้น

                เราจะเห็นว่า  สาระที่  8  มาตรฐาน  ว 8.1  นั้นมีความจำเป็นต่อครูผู้สอน  ทุกสาระวิชาที่จะต้องนำกิจกรรมโครงงานมาสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน  และในมาตรฐานช่วงชั้นแต่ละช่วงชั้นนั้นระบุภาพของคุณภาพผู้เรียนไว้ชัดเจนที่มีความยากง่ายเพิ่มขึ้นตามระดับช่วงชั้น  ขอนำกล่าวโดยสรุปว่า

                1.  ผู้เรียนจะต้องตั้งคำถามเป็น

                2.  ผู้เรียนจะต้องวางแผนการทำงานเป็น

                3.  ผู้เรียนจะต้องทำงานตามแผนที่วางไว้

                4.  ผู้เรียนจะต้องนำผลการทำงานมาสรุปแล้วตั้งคำถามใหม่ เพื่อสร้างแผนการทำงานใหม่ได้

                5.  ผู้เรียนต้องประเมินผลงานของตนเป็น

                6.  ผู้เรียนต้องสามารถอธิบายผลการเรียนรู้ที่ตนเรียนรู้ได้มาต่อสาธารณชนได้

และเมื่อศึกษาภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์  จึงจะดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้ตามมาตรฐาน ว 8.1  และในการคิดเชิงวิเคราะห์นั้นภาพที่จะปรากฏขึ้นแก่ผู้เรียนคือ  ผู้เรียนสามารถยุบรวมข้อมูลความรู้ที่เรียนรู้มาคิดสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ได้  เช่น  ของเล่น  ของใช้  ภาพวาดหรือการนำของที่ใช้แล้วมาปรับปรุงสภาพเพื่อทำประโยชน์ต่อไปได้ 

                สามารถนำข้อมูลเรื่องราวที่แยกย่อย ( วิเคราะห์ ) ออกจากกันมายุบรวมเชื่อมโยงให้ร้อยรัดเป็นเรื่องราวเดียวกัน เป็นความเรียง  บทความ  บทรายงานผลการเรียนรู้  ตำราวิชาการ  ซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้

                ความสามารถดังกล่าวข้างต้นนั้น  ผู้เรียนจะต้องแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นในรูปแบบที่สามารถวางโครงการ  เขียนแผนปฏิบัติงานหรือสร้างภาพสื่อที่จะประดิษฐ์เรื่องราวที่จะนำเขียนให้ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ สิ่งของเครื่องใช้ใหม่ ๆ

                เมื่อนักเรียนจะต้องแสดงความสามารถให้เห็นในรูปแบบการเขียนโครงการ  แผนงาน  สร้างภาพ สื่อที่จะประดิษฐ์ หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาให้เห็นได้นั้น  ผู้วัดประเมินผลก็ต้องกำหนดสถานการณ์ให้ผู้เรียนเขียนแผนปฏิบัติงาน ระบุขั้นตอน  วิธีการดำเนินการวัสดุอุปกรณ์  งบประมาณรูปแบบของงานที่จะทำ หรือจัดทำเค้าโครงเรื่องที่จะเขียนแล้วปฏิบัติตามแผนให้ได้จริง ๆ

                ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้  จะเห็นได้ว่า ถ้าเด็กไทยของเรามีความสามารถคิดเชิงวิเคราะห์และคิดเชิงสังเคราะห์ได้  ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทยเราจะมีมากยิ่งขึ้น  นั่นคือ  คุณครูควรที่จะเริ่มต้น  เน้น  ย้ำ  นำสอนให้เด็ก ๆ ลูกศิษย์ของเราพัฒนาการคิดให้เข้าสู่ระดับคิดวิเคราะห์และคิดสังเคราะห์ที่ชำนาญได้

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 485843เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์เหมาะสมกับวิชาคณิตศาสตร์เลยนะคะ สนใจรูปแบบการสอนทักษะการคิดเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมไทย นำมาเสนอให้ได้ศึกษาหน่อยนะคะ สาระการงานอาชีพฯค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท