การคิดเชิงวิเคราะห์ 2/1 โดยชาตรี สำราญ


ก่อนที่เราจะคิดสังเคราะห์อะไร เราต้องตั้งจุดประสงค์เอาไว้ก่อน

การคิดเชิงสังเคราะห์

 

                การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกแห่งวัตถุนิยมนี้  เราจะมีโอกาสพบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  ที่โดนใจผู้ใคร่เสพหรือแสวงหามาเพื่อสนองความต้องการของตนนั้นมีอยู่มากพอที่จะให้เขาเหล่านั้นตกอยู่ในโลกของมายาภาพ  และหลงใหลต่อคำโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้น  แต่สำหรับผู้ที่ฉลาด  เมื่อพบเห็นสิ่งใด  เขาจะมองลึกลงไปให้เห็นถึงว่าสิ่งนั้น แม้จะใหม่ในรูปแบบแต่ยังเก่าในส่วนประกอบ  เพราะผู้ที่คิดเชิงสังเคราะห์เก่งจะมีญาณ ( การรู้แจ้งในวิธีการคิดเชิงสังเคราะห์ ) ที่จะรู้เท่าทันถึงเรื่องราวเหล่านั้นได้  จึงไม่ตกเป็นทาสของภาพมายาทั้งหลาย

                ทุกวันนี้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขายสินค้ามีมากมาย  และสินค้าแต่ละอย่างที่มาโฆษณานั้น  ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน  เราจะคิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  เพราะเปลี่ยนรูปแบบ  เปลี่ยนสี  และเปลี่ยนกลิ่น แต่เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมก็จะเห็นว่า นั่นคือ  ของอย่างเก่าเพิ่มใหม่เล็กน้อย แล้วแปลงโฉมให้ดูใหม่  เรียกว่า หลอมรวมส่วนประกอบย่อย  สร้างรูปลักษณ์ใหม่ก็เท่านั้นเอง

                ผู้เขียนเคยฝึกให้นักเรียนดูธรรมชาติจนเห็นความเป็นจริงในสิ่งที่ดู  เช่น  ให้ดูวัวกินหญ้า   วัวถ่ายออกมาเป็นมูลวัว  นำไปทำปุ๋ยผัก   เรานำผักมากิน  ถามว่าเรากินอะไรเข้าไปบ้าง คนที่คิดเชิงสังเคราะห์ไม่เป็นก็จะตอบว่ากินผัก  แต่คนที่คิดเชิงสังเคราะห์เป็นก็จะตอบสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน  โดยสรุปว่า ทุกอย่างถูกสังเคราะห์มาเป็นผัก

                ผู้เขียนจำบทกวีของเด็กชายบราฮะรี ได้ เธอเขียนว่า

ใบไม้หล่น

กวาด

หล่น

กวาด

หล่น

กวาด

ผลิใบใหม่ออกมา 

 

และเด็กหญิงฮายาตี  เขียนเรื่องใบไม้ว่า

ใบไม้

ร่วง

เพื่อผลิใบใหม่

 

เด็กทั้งสองคนนี้  ได้รับการฝึกให้คิดเชิงสังเคราะห์และวิเคราะห์มาจนคิดเป็นจึงนำมาเขียนเป็น

                การคิดเชิงสังเคราะห์จึงเป็นการคิดแบบเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้    สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  ทุกอย่างเชื่อมโยงกันตามกฎของ           อิทัปปัจจยตา

                การคิดเชิงสังเคราะห์นั้นมีสองรูปแบบ  คือ  รูปแบบแรกนั้น  เป็นรูปแบบที่สังเคราะห์แบบหลอมรวมส่วนประกอบเข้าด้วยกันจนไม่เห็นส่วนปลีกย่อยในสิ่งใหม่นั้น  เช่น  เรารับประทานยาเข้าไป  1  เม็ด  เราไม่เห็นว่า  ในตัวยานั้นมีสมุนไพรอะไรผสมอยู่บ้าง   ทุกอย่างถูกบดอัดเป็นเม็ดเรียบร้อย  ต่อเมื่อได้อ่านฉลากยาจึงรู้ว่า  มีสมุนไพรกี่ชนิดที่นำมาผสมผสานกันจนเป็นยาขนานนั้น  นี่เรียกว่า หลอมรวมองค์ประกอบย่อยให้เป็นของใหม่โดยไม่เห็นรูปลักษณ์เดิม

                แบบที่สอง  ที่มองเห็นง่าย ๆ  ตรงวิธีสอนของคุณครู  ถ้าดูให้ดีในกิจกรรมการสอนแบบหนึ่ง ๆ นั้น  ซ่อนวิธีการเก่าๆ ไว้มากมาย  เพียงแต่นำมาจัดเรียงอันดับใหม่  เพิ่มกิจกรรมเข้าไปอีกสักอย่างสองอย่าง  สร้างบทสรุปใหม่  ตั้งชื่อวิธีการสอนใหม่ก็กลายเป็นทฤษฎีใหม่ขึ้นมา  แต่ความจริงยังเห็นร่องรอยเดิมอยู่  ถ้ามองให้เด่นชัดหรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ส้มตำ เราจะเห็นส่วนประกอบที่นำมาปรุงแต่งชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง  แต่รสชาติเปลี่ยนไป จึงให้ชื่อใหม่ว่าส้มตำ  เพราะสิ่งเหล่านั้นนำมาตำรวมกัน  อย่างนี้เรียกว่าของใหม่ที่มองเห็นส่วนประกอบเดิมอยู่อีก

                อีกตัวอย่างหนึ่ง  เด็ก ๆ นำรายงานผลโครงงาน  4  ชิ้นงานมาดูองค์ประกอบร่วม  แนวคิดและผลสรุปของแต่ละชิ้นงาน แล้วคิดโครงงานชิ้นที่  5  ขึ้นโดยใช้วัสดุตัวเดิมจาก 4  ชิ้นงาน  หลอมแนวคิดเข้าด้วยกันรังสรรค์ให้เป็นแนวคิดใหม่ ตั้งชื่อใหม่  ตั้งจุดประสงค์ใหม่  ทดลองจนได้คำตอบมาเป็นผลงานใหม่  แต่เวลารายงานนำวัสดุแบบเนื้องานเก่า ๆ มานำเสนอประกอบผลงานที่เกิดใหม่  ผู้ชมมองเห็นองค์ประกอบของงานเก่าเชื่อมโยงกับผลงานใหม่ได้ชัด  เว้นแต่อยู่ในรูปแบบงานชิ้นใหม่  เรียกว่า นำของเก่ามาคิดสร้างงานใหม่

                ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างให้เห็นนี้จะพบว่า การคิดเชิงสังเคราะห์นั้นมี  2  รูปแบบ คือ

                รูปแบบที่  1    เป็นการสังเคราะห์จากการนำส่วนประกอบหลายอย่างมาหลอมรวมกันเข้าจนเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เดิมมาสู่รูปลักษณ์ใหม่ แทบจะมองไม่เห็นภาพเดิมของส่วนประกอบ

                รูปแบบที่  2   นำส่วนประกอบเดิม ๆ  มาหลอมรวมกันเข้าจนกลายเป็นของใหม่  แต่ยังคงเห็นเค้าโครงเดิมอยู่

                แต่นั่นแหละ การคิดเชิงสังเคราะหให้ได้ผลดีนั้น  ผู้คิดจะต้องคิดเชิงวิเคราะห์ได้  และคิดเป็นด้วย เพราะทั้งสองอย่างนี้เนื่องกันอยู่

                จากตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นในตอนต้น  คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจคำว่า  คิดเชิงสังเคราะห์กันบ้างแล้ว  เพื่อให้แน่ชัดมากยิ่งขึ้น ขอยกคำกล่าวของ ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ ( 2545 )  ที่กล่าวถึงความหมายของคำนี้ว่า

                “การคิดเชิงสังเคราะห์  หมายถึง  ความสามารถในการคิดถึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาหลอมรวม หรือถักทอภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม  ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้”  นั่นคือ ก่อนที่เราจะคิดสังเคราะห์อะไร  เราต้องตั้งจุดประสงค์เอาไว้ก่อนว่า

  1. เราจะทำอะไร  ทำทำไม   (กำหนดวัตถุประสงค์)
  2. เราจะทำมากน้อยแค่ไหน   (กำหนดขอบเขต )
  3. เราจะมีรายละเอียดที่จะทำอะไรบ้าง ( กำหนดประเด็นที่สังเคราะห์ )
  4. เราจะตั้งคำถามเพื่อสังเคราะห์ว่าอย่างไร (คำถามวิจัย)

เมื่อเราได้คำถามทั้ง  4  ข้อแล้ว  เราก็เจาะคำถามลึกลงไปในเรื่องที่จะสังเคราะห์ว่า

1.  ถ้าจะสังเคราะห์สิ่งใหม่จากสิ่งเก่า เราก็ตั้งคำถามลึกลงไปว่า

     1.1  มีอะไรดี ๆ จากของเดิมบ้าง

     1.2  จะมาหลอมรวมให้เป็นของใหม่อะไร  อย่างไร

     1.3  จะตั้งชื่อสิ่งใหม่นี้ว่าอะไร

2.  ถ้าจะสรุปเรื่องที่กระจัดกระจายมาเป็นเรื่องใหม่  เราก็ตั้งคำถามเจาะลึกลงไปว่า

     2.1  มีประเด็นใดซ้ำกันบ้าง

     2.2  มีความคิดใดที่สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้
           บ้าง

     2.3  ความคิดที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จะขมวดให้เข้า

           กันได้อย่างไร

2.4    เราจะจัดระเบียบข้อมูลใหม่ให้ตรงกับ

      วัตถุประสงค์ได้อย่างไร

                จะเห็นได้ว่า  ประเด็นคำถามนี้ ผู้เขียนได้ว่างไว้ให้เห็นเป็นภาพกว้าง  แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ภาพของคำถามจะสามารถเจาะลึกได้ตรงเรื่องนั้น  ๆ ได้มากที่สุด  นั่นคือในการคิดเชิงสังเคราะห์  ครูควรจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เผชิญกับปัญหาเหล่านั้นแล้วแก้ปัญหานั้นให้ได้สำเร็จ

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 485842เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท