อำนาจเบ็ดเสร็จ


Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely

        สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  กษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงสุด สามารถทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งเอาชีวิตคน เพราะมีดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมือ  สมัยอยุธยา กษัตริย์ไทยบางองค์เคยใช้ดาบอาญาสิทธิ์ปลิดชีวิตคนเหมือนกัน  หลังพ.ศ. ๒๔๗๕ เราคิดว่าประเทศไทยคงจะไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จคล้ายกับมีดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมืออีกแล้ว แต่เราคิดผิด  เพราะสมัยจอมพลสฤษดิ์ต่อเนื่องถึงสมัยจอมพลถนอม เราไม่มีรัฐธรรมนูญใช้นานเกินสิบปี เรามีแต่ธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีมาตราหนึ่งมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้นายกรัฐมนตรี  อำนาจนี้ทำให้จอมพลสฤษดิ์สั่งประหารชีวิตอาแปะคนหนึ่ง ในที่สาธารณะ เพราะบ้านของแกเป็นต้นเพลิงของอัคคีภัยในกรุงเทพฯ  มาตราพิเศษในรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษที่ร่างโดยผู้ทำรัฐประหารนี้ คืออำนาจเบ็ดเสร็จ หรือดาบอาญาสิทธิ์ ในรูปโฉมใหม่รูปหนึ่ง

       อำนาจที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดและชอบธรรมที่สุดคืออำนาจที่ได้รับจากรัฐสภา เพราะรัฐสภาประกอบด้วยส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ (แม้ว่าประเภทหลังนี้บางทีก็ไม่ได้มาจากประชาชนทั้งหมด)

       เมื่อใช้จำนวนประชากรเป็นฐานเสียงและข้ออ้างที่ชอบธรรม  รัฐบาลจึงต้องการจำนวนส.ส. มากเป็นพิเศษเพื่อเป็นฐานเสียงสนับสนุน  บทบาทหน้าที่หลักของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญคือ ออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  แต่ ๘๐ ปีจาก พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลของประเทศเรา มีความรู้ความสามารถพอที่จะทำงานด้านนิติบัญญัติจริงๆได้ไม่ถึงครึ่ง(เพราะมาจากอาชีพอื่นๆเสียมาก)  และมักตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลอีกด้วย ถ้ารัฐบาลทำได้ดั่งนี้จริง เสียงข้างมากในสภาก็จะมีหน้าที่ยกมือสนับสนุนรัฐบาลทุกเรื่องทุกครั้งเท่านั้น  เมื่อฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติอยู่เรื่อยเช่นนี้   ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจึงถูกหนังสือพิมพ์เรียกว่าเป็น “ฝักถั่วในสภา”  ซึ่งผมได้ยินมาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กแล้ว  ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านนั้น บางทีก็ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่หรือทำไม่ครบ เพราะบางคนไม่ยอมค้านเอาดื้อๆ ขออยู่เฉยๆ กินเงินเดือนนับแสนไปเดือนๆ ก็พอแล้ว (สมัยนี้ก็มี ดูดีๆเห็นแน่)

      จะเห็นได้ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลได้เปลี่ยนรูปมาเป็นมือที่ชูสลอนเป็นฝักถั่วในสภาแล้วนั่นเอง  จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองทั้งหลายจะต้องการมีส.ส. ของตนในสภาให้มากกว่าคู่แข่งมากๆ   เพราะเสียงส่วนมากจากบริวารในสภา ทำให้รัฐบาลทำอะไรๆ หลายๆ อย่างได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งการฉ้อโกง หรือ คอรัปชั่น

      ตัวอย่างของเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในฟิลิปปินส์สมัยประธานาธิบดีมาร์กอส ซึ่งได้อำนาจเบ็ดเสร็จจากสภาปกครองประเทศนานถึงยี่สิบปีเศษ (ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๘๖)  ช่วงครึ่งทางหลัง ขณะที่ครอบครัวของเขาและวงศาคณาญาติพากันร่ำรวยขึ้นทั่วหน้า  ประเทศชาติกลับยากจนลงสวนทางกัน  สมัยประธานาธิบดีมักไซไซ (ค.ศ. ๑๙๕๔-๕๗)  ฟิลิปปินส์เป็นประเทศระดับหัวแถวของเอเชีย  แต่สมัยมาร์กอส ถดถอยลงเป็นลำดับจนตกไปอยู่ตรงกลางๆของอาเซียน 

      ทำไมรัฐบาลทั้งหลายจึงต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จ  อำนาจเบ็ดเสร็จดีสำหรับประชาชนแน่แท้แล้วหรือ  ผมขอไม่ตอบคำถามนี้  แต่ขอยกสองประโยคที่มีอายุเกินศตวรรษแล้วมาให้อ่าน 

         “…Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men, even when they exercise influence and not authority, still more when you superadd the tendency or the certainty of corruption by authority…” (จากวิกิพีเดีย,กูเกิล)

         สองประโยคนี้เป็นของนักประวัติศาสตร์แคทอลิกชาวอังกฤษชื่อ จอห์น เอเมอริช เอดเวิร์ด ดัลเบิร์ก-แอคตัน (John Emerich Edward Dalberg-Acton, 1834-1902) ซึ่งได้รับพระราชทานยศขุนนางเป็น First Baron Acton และเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อสั้นๆ ด้วยว่า ลอร์ดแอคตัน (Lord Acton)  สองประโยคนี้อยู่ในจดหมายซึ่งเขียนเมื่อค.ศ. 1887   และประโยคที่มีผู้นำไปอ้างอิงบ่อยมากคือประโยคแรก  ซึ่งมักใช้เพราะเห็นว่าจริงเสียด้วย

         ถึงผมจะยินดีเสมอกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่ผมก็ไม่ชอบ ส.ส. บางคน(หรือหลายๆบางคนในบางยุค)ที่ได้แต่แสดงตนเป็นบริวารที่ภักดีต่อฝ่ายบริหาร  กับได้แต่เที่ยวฝากเด็กของตนเข้าสถานศึกษาหรือเข้าทำงานปีแล้วปีเล่า ไม่ค่อยได้แสดงกึ๋นอะไรในสภาตามบทบาทหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้  ส่วนฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลบางพวก แทนที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน กลับได้แต่ รอเสียบ ด้วยความอดทน (หรือเพราะอดอยาก ?)  คุณภาพของ ส.ส. จะขึ้นกับอะไรกี่อย่างก็ช่าง  แต่ลองไล่ไปเรื่อยๆแล้ว คงจะเกี่ยวข้องกับผลงานของการศึกษาของประเทศด้วยไม่มากก็น้อย  (พูดถึงการศึกษาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องนึกถึงช่วงที่กำลังตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา  นึกแล้วก็อดสมเพทตัวเองไม่ได้อีกที่กระทรวงสำคัญๆ ห้ากระทรวงแรกที่เป็นข่าวทุกวันไม่มีชื่อกระทรวงศึกษาธิการกับเขาด้วยเลย  ราวกับว่าถ้ากระทรวงศึกษาธิการสำคัญมากเท่าไร พรรคตัวเองจะเสียคะแนนมากเท่านั้นกระนั้นแหละ) 

         “ความรู้คืออำนาจ”  เป็นคำพูดของมนุษย์สมองเพชรที่เคยดูแลกระทรวงศึกษาธิการเองชั่วระยะสั้นๆ แต่วาทะเด็ดๆ นี้กลับไม่ช่วยให้กระทรวงศึกษาธิการสำคัญมากขึ้น  เป็นความจริงที่เขายิ่งใหญ่ขึ้นได้ด้วยความรู้  เขาคือคนที่พูดว่า “เอาอยู่” ได้เต็มปากเต็มคำชัดกว่าใครๆ เพราะเขาเอาอยู่หมดไม่ว่า ครม. ทั้งแผง คนแดงทั้งแผ่นดิน และ ส.ส. กว่าสองร้อยคน  เขาสามารถเชิดหุ่นตัวตลกให้บริวารทั้งโขยงเห็นเป็นตุ๊กตาบาร์บีที่สวยงามได้   สามารถเอามือที่เคยตบหัวเขากลับมาเป็นมือที่ลูบหลังเขาและบริวารอย่างประณีตบรรจงอยู่ในขณะนี้ได้  และสามารถปิดปากสื่อและบุคคลที่เคยด่าเจ้าของมือนี้มาโดยตลอดได้อีกด้วย   

          อย่างนี้ไม่ทราบว่าถ้าลอร์ดแอคตันมีชีวิตอยู่ในยุคนี้จะยอมรับว่าเขาเป็น  absolute power ผู้หนึ่งหรือไม่

       

คำสำคัญ (Tags): #corrupt#power
หมายเลขบันทึก: 485605เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท