แนวทางการจัดการ กับ อุปสรรค 7 ประการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริหารมือใหม่ ตอนที่ 1


ผู้นำคนใหม่

     ในภาวะปัจจุบันมีองค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจอยู่มากมายจนนับไม่ถ้วน  บางบริษัทดังค้ำฟ้า แต่บางบริษัทดังเพียงแค่ชั่วข้ามคืน แต่จะมีใครทราบบ้างไหมว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ ส่วนหนึ่งขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีผลมาจากการมี “ผู้นำองค์กร“ ที่ดี หรือบางที่อาจจะเรียกว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ( CEO ) หรือ กรรมการผู้จัดการ(MD)  ซึ่งคนส่วนใหญ่คงชอบศึกษาเกี่ยวกับชีวประวัติของผู้บริหารที่มีชื่อเสียงหลายๆคนไม่ว่าจะเป็น สตีบ จอร์บ, โคโนสุเกะ มัตซูชิตะ, บิลเกต ,มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก , อัลเฟรด สโลน , เฮนรี่ ฟอร์ด หรือแม้แต่ แจ๊ค เวลซ์  ว่าเขาสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างไร เขามีแรงบันดาลใจอะไรในการดำเนินธุรกิจ

     แต่หลายๆคนกลับไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ก่อนที่เขาทั้งหลายจะประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงได้จนถึงทุกวันนี้ เขาทั้งหลายต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรกันมาบ้าง และเมื่อผู้บริหารเหล่านี้ ลาออก หรือเกษียนอายุ       บริษัทจะมีความยุ่งยากมากเพียงใด ในการสรรหาผู้บริหารที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันมากุมบังเหียนบริษัทแทนผู้นำเหล่านั้น  เพื่อให้บริษัทยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด เพื่อให้บริษัทยังคงความยิ่งใหญ่อยู่ได้ แต่ถ้าเราลองพินิจพิเคราะห์ในอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตว่า การที่ผู้บริหารคนใหม่จะเข้ามาแทนที่ผู้บริหารคนเก่าที่มีความสามารถสูงนั้นจะต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ยุ่งยากมากน้อยเพียงใดที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ดังนั้นเราจึงมีความยินดีที่จะนำเสนอ บทความว่าด้วยเรื่อง อุปสรรค 7 ประการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริหารคนใหม่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจและข้อมูล จากหลายๆแหล่งที่เคยได้อ่านมา 

                     อุปสรรค 7 ประการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริหารคนใหม่

     ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหารจากที่ใดมาก่อน หรือมีความสามารถเพียงใดก็ตาม เมื่อคุณย้ายบริษัทใหม่ คุณอาจได้เจอสิ่งที่ไม่คาดคิดและชวนประหลาดใจได้เสมอ โดยเรื่องต่างๆ ที่แต่ละคนต้องประสบพบเจออาจจะมีหลายรูปแบบจนไม่สามารถจะเขียนบรรยายหมดภายในหน้าเดียวได้  ยกตัวอย่างเช่น ถูกเปรียบเทียบฝีมือกับผู้บริหารคนเก่า , ถูกทดสอบความรู้ ,  แม้กระทั่งต้องต่อสู้กับคู่แข่งขันทางธุรกิจที่แต่ละรายล้วนเขี้ยวรากดิน เป็นต้น

     ดังนั้นการรับรู้และ รับทราบถึงปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยทำให้คุณเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับมันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดย  7 สิ่งที่อาจทำให้คุณประหลาดใจเมื่อคุณได้มีโอกาสเป็นประธานเจ้าที่บริหารคนใหม่มีดังต่อไปนี้

1.คุณไม่สามารถบริหารบริษัทได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง

     เรื่องแรก ที่ผู้บริหารใหม่ต้องเจอกันเกือบทุกคน คือเวลาที่หมดไปกับเรื่องต่างๆมากมาย ทั้งการต้องประชุมร่วมกับกรรมการบริษัท , ลูกน้องระดับจัดการ รวมถึงลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารงาน นี่ยังไม่รวมถึงการเป็นประธานในพิธีเปิดงานกิจกรรมสังคมต่างๆ ลูกน้องมาขอคำปรึกษา โทรศัพท์ดังแทบตลอดเวลา มีเอกสารที่ต้องอ่านและต้องลงนามอีกมากมายก่ายกอง จากที่เคยกลับบ้านตอนเย็น ก็กลายเป็นตอนค่ำมืด จนเหมือนกับว่าเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปกับเรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องหลักของบริษัท  ดังนั้นเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้มาคอยเบียดบังเวลาในการบริหารจัดการบริษัทของคุณ 

          คุณเองจึงควรต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญงานก่อนหลังอย่างเหมาะสม รวมถึงมอบหมายงานบางอย่างที่มีความจำเป็นรองลงมาให้กับผู้ที่มีความสามารถช่วยดำเนินการแทนคุณ เพื่อให้ตัวคุณมีเวลาให้กับการบริหารบริษัทให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนได้ โดย John C. Maxwell ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการงานและเวลา ไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้

1)  การลำดับความสำคัญ คือ การปฏิบัติไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเสมอไป การกำหนดเป้าหมายของการลำดับความสำคัญต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผู้นำที่ดีควรปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

2)  การเลือกเวลาที่เหมาะสม ผู้นำต้องตระหนักดีว่า ไม่ว่าผู้นำจะเคลื่อนไหวไปทางใดย่อมเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ประการต่อไปนี้

-  การกระทำที่ไม่ถูกต้องในเวลาที่ไม่เหมาะสมย่อมนำไปสู่ทางหายนะ

-  การกระทำที่ไม่ถูกต้องในเวลาที่ไม่เหมาะสมย่อมนำไปสู่ทางต่อต้าน

-  การกระทำที่ไม่ถูกต้องในเวลาที่ไม่เหมาะสมย่อมนำไปสู่ทางผิดพลาด

-  การกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ

3)  การมอบอำนาจ ผู้นำที่จะประสบความสำเร็จต้องพร้อมที่มอบอำนาจให้กับผู้อื่น และเป็นคนที่ดูคนเก่ง เรียกว่า “ ดูคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น “  มาทำงานแทนในสิ่งที่ตนเองต้องการทำแต่มีเวลาอย่างจำกัด รวมถึงมีความใจแข็งพอที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายในงานที่ได้มอบหมายให้ลูกน้องของคุณรับผิดชอบงานนั้นแทนคุณ โดยการมอบหมายอำนาจนั้นอาจจะต้องเลือกมอบหมายในรูปแบบที่เหมาะสมกับความสามารถในแต่ละบุคคลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความผิดพลาดในภายหลัง เพราะถ้าเริ่มต้นผิด ปลายทางก็มีโอกาสผิดสูงดังนั้น อาจนำ Situational Leadership Theory ของ Kennneth  Blanchard & Pual Hersey มาใช้ในการตัดสินใจในการมอบหมายงานยิ่งจะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการมอบหมายงานมีมากยิ่งขึ้น

   มีต่อตอนที่ 2

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน NANA
หมายเลขบันทึก: 485603เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2014 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท