เวียงโกศัย ตอน 9 บ้านวงศ์บุรี กับคุ้มเจ้าเมือง


บ้านวงศ์บุรี กับคุ้มเจ้าเมือง

highlight อีกจุดหนึ่งของการมาแอ่วเมืองแป้ที่หลายๆท่านรอคอยคงจะไม่พ้น "บ้านวงศ์บุรี" สาเหตุหนึ่งเพราะเป็นสถานที่ถ่ายทำละคร "ตามรอยไหม" ที่โด่งดังอยู่พักนึง ต้องขอสารภาพว่าผมไม่เคยได้ชมละครโทรทัศน์มายี่สิบกว่าปีแล้ว ที่ดูมักจะเป็นตอนจบของเรื่องที่กำลังดังสุดขีดทั้งเมือง (เช่น ดอกส้มสีทอง เรยา) เห็นชาวปฐมภูมิคุยกันตื่นเต้น มองหา "ผีอีเม้ย" กันว่าจะโผล่จากที่ใด (ผมก็พูด"อีเม้ยๆ" มาตั้งนาน พึ่งทราบว่ามาจากเรื่องนี้เหมือนกัน)

ได้ขึ้นมานั่งเต๊ะท่าถ่ายรูปบนจักรยานบ้าง (อดขึ้น เพราะรถไม่พอ)

หน้าบ้าน อลังการ วิจิตรงดงาม และที่สำคัญคือ "ดูใหม่มาก"

ประวัติบ้านวงศ์บุรี

Disclaimer: ผมจะไม่พยายามเอารูปภายในบ้านมาให้ชมมากเกินไป จะอย่างไรเสียบันทึกนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นคู่มือท่องเที่ยวอยู่แล้ว อาจจะนำมาแสดงเพื่อ make a point บางเรื่อง บางประเด็นเท่านั้น

เมื่อได้เข้ามาชมภายในบ้าน (ค่าธรรมเนียม 30 บาทเท่านั้น) ก็รู้สึกได้ทันทีว่าบ้านไม้นี่มันสบายและเหมาะกับภูมิอากาศบ้านเราดีจริงๆ หลังคาสูงโปร่ง หน้าต่างมีช่องลมฉลุอย่างสำแดงฝีมือเต็มที่ (บ้านชาวบ้านธรรมดาจะไม่ทำกัน สำหรับเจ้าขุนมูลนาย... ซึ่งไม่ได้แปลว่าแค่รวยเท่านั้น)

หน้าต่างทรงสูงแคบ เหนือหน้าต่างยังเพิ่มช่องลม แต่ทำฉลุลวดลายงามมาก

  

มีหุ่นโชว์การแต่งกายของชาวไทยวน (เทียบกับไทยยียวน อิ อิ)

ใครมีโอกาสสมควรแวะชมภายใน เป็นคฤหาสน์สองชั้น พื้นไม้สัก บ้างห้องก็เป็นสักทองทั้งหลัง มีข้าวของเอกสารโบราณน่าสนใจทั้งเชิงศิลป์ และเชิงประวัติศาสตร์

ตอนเราไป ปรากฏว่าเขาจัดไกด์มาเดินบรรยายให้เราฟังด้วย ไม่ทราบเป็นกรณีพิเศษที่แอ๊ดจัดมา หรือว่ามีอยู่แล้ว แต่มีแค่กลุ่มเดียวที่ได้ฟัง เพราะเราไปกัน 50+ คน ที่เหลือก็กระจายกันชมเองตามอัธยาศัย ผมว่าคนที่ไปฟังไกด์กิติมศักดิ์บรรยายเล่าเรื่องให้ฟังจะคุ้มมาก เพราะมีรายละเอียดหลายประการที่ทำให้เกิด "มิติ" ด้านลึกของสิ่งของเครื่องใช้และวัสดุต่างๆได้อย่างอักโข

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ พอคนฟังสนใจฟัง คนเล่ายิ่งสนุก ยิ่งเล่ายิ่งภาคภูมิใจที่ได้เล่า เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรากเหง้าที่มา เกี่ยวกับเชื้อสายความเป็นดองกันของบุคคล เชื่อมอดีตเข้าหาปัจจุบัน ที่น่าสนใจก็คือบ้านนั้นจะเป็น "บ้านจริง" มันจะต้องมี "เรื่องราวของผู้คน" ประกอบ มิฉะนั้นมันก็จะเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งเท่านั้น แต่พอมีจดหมายเหตุ ใบเสร็จ บันทึก และเหตุการณ์ต่างๆเข้าเป็นปูมหลังเท่านั้น ความมีชีวิตชีวาดูจะระยิบระยับไปตามทุกรอยแตกของไม้ ทุกแผ่นกระดานของฝาเลยก็ว่าได้ รูปภาพในบ้านดูเหมือนจะเรียกชีวิตดั้งเดิมกลับเข้ามาได้อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง นั่งนิ่งๆสักพักอาจจะมีเสียงผู้คนที่อาศัยภายในบ้านสมัยก่อนเซ็งแซ่อยู่แว่วๆไกลๆ แต่ละมุม แต่ละจุดดูจะมีเรื่องราว มีชีวิตมากมายที่อยากจะแบ่งปันเนื้อหา ความเป็นมา

คนเล่าและคนฟังก็เสริมกัน คนเล่าได้คนฟังอย่างตั้งใจก็จะมีกำลังใจและเล่าได้ดีขึ้น ออกรสมากขึ้น

คุ้มเจ้าหลวง

ปิดท้ายรายการของภาคเช้า ก็ไปที่จวนผู้ว่า อยู่กลางเมืองเลยทีเดียว ตรงกันข้ามกับโรงเรียนนารีรัตน์ (โรงเรียนเก่าของแอ๊ด) ตัวคุ้มเจ้าหลวงที่เป็นเรือนใหญ่ มีชั้นใต้ดินที่เคยทำเป็นคุกกักขังนักโทษด้วย มีความสง่างาม เคร่งขรึม อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี สำหรับเรือนผู้ว่าปัจจุบันนั้นก็สร้างอยู่ด้านหลัง ถัดออกไป เพื่อที่จะได้ดูแลตัวคุ้มเจ้าหลวงไว้ได้อย่างเต็มที่

ประตูเล็กๆชั้นล่างสุด ด้านซ้ายมือ นั่นคือประตูทางเข้าคุกใต้ดิน

คุกใต้ดิน ที่เห็นด้านขวานั้นคือคนกำลัง "เดินเข้า" มา แต่ให้เดินถอยหลังเข้ามาในคุก เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้เดินออกไปจากคุก

กลุ่มสามล้อที่มาส่งเราทุกที่ๆ จอดพักกันเป็นแถว

เอ๊ะ นั่นใคร โผล่มาที่หน้าต่าง?

ยิ้มกว้างเชียว คนรึเปล่าเนี่ย...

แว้ก!>>> 

จบแล้วคร้าบ... ทัวร์จักรยาน.. ที่เหลือต้องนั่งรถไปแล้ว

หมายเลขบันทึก: 484871เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2012 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท