เวียงโกศัย ตอน 8 วัดศรีชุมมีสาละ วัดหลวงมีพระสารีริกธาตุ


วัดศรีชุม มีสาละ

เมืองแพร่พื้นที่ไม่ได้ราบเรียบเสียทีเดียว มีลุ่ม มีดอน แต่ที่แสดงความเป็นเมืองไทยมากก็คือ การมีวัดอยู่ติดๆกันไป เรียงรายตลอดหนทาง แสดงถึงความเชื่อสมัยโบราณที่ว่าหากมีอัฐ มีฐานะ จะสร้างอะไรก็ให้สร้างวัดกันก่อน

ถัดจากวัดหัวข่วงไปสักหนึ่งอึดใจ (เป็นอุปมาอุปมัย หาได้แนะนำให้ใครลองอึดใจดูไม่... ) แอ๊ดก็ชี้ให้ดูบ้านเก่าหลังนึง แอ๊ดได้ซื้อมาเพื่อจะปรับปรุงเป็นร้านกาแฟโบราณในอนาคต บรรยากาศร่มรื่น และสง่างามมากเลยทีเดียวเจียว

ต่อไปอีกสองสามอึดใจ เข้าไปในตรอกเล็กๆก็เจอชุมชนอีกที่หนึ่ง (สังเกตเห็นว่าคนที่นี่ชอบตั้งชื่อชุมชนของตนเองนะ) เรียกชุมชนศรีชุม สักประเดี๋ยวเราก็เจอวัดศรีชุม เป็นวัดที่สองที่คณะเราเข้าแวะชมเพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุกัน

ก็มีตำนานวัดศรีชุมติดป้ายหน้าวิหาร ปรากฏว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่เดิมมีเรื่องเล่าว่ามีฤาษี 5 ตน ได้เดินทางมาชุมนุมบำเพ็ญบารมีอยู่ ณ ที่นี้ จึงเรียกว่า "ฤาษีชุม" ยังมีร่องรอยคือรูปแกะสลักฤาษีอยู่หน้าบรรวิหารองค์ใหญ่ ด้านหน้า และภายในวัดศรีชุมนี้ก็ยังมีเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดแพร่ มีพระยืนสูงใหญ่ มีพระคู่บ้านคู่เมืองอยู่ในวิหารทางเข้าวัดหลงเหลือเป็นหลักฐาน ในกาลต่อมาค่อยมีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีชุมในปัจจุบัน

  

พระยืน

ระหว่างที่ยืนอยู่หน้าป้ายตำนาน สายตาก็เหลือบไปทางซ้าย เห็นต้นไม้ใหญ่แปลกตา รูปทรงประหลาด เป็นต้นไม้สูง กิ่งใบอยู่ทางยอด กิ่งดอกและกิ่งผลต่างก็แยกกันทั้งสิ้นและอยู่ค่อนมาทางโคน ผลทรงกลมมีเปลือกขรุขระคล้ายส้มโอ ดอกเป็นดอกเดี่ยวแตกช่อออกจากกิ่ง เดินเข้าไปดูใกล้ๆก็เห็นป้ายชื่อ "ต้นสาละ" ต้นไม้ในพุทธประวัติ

ดอกสาละ พึ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก

ผลสาละ (พึ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกเช่นกัน.. มันควรจะเห็นพร้อมๆกับดอกล่ะนะ)

  

เห็นเด็กผมจุกถีบจ้กรยานแถวนั้น ไม่แน่ใจว่านางไม้หรือคนจริง ต้องถ่ายรูปดู

มาขอถ่ายรูปกับต้นสาละเก็บไว้ เผื่อว่าเราจะได้มีชีวิตที่มีสาระเพิ่มขึ้นบ้าง 555 ไม่เสียเที่ยวจริงๆมาคราวนี้ (ปรากฏว่าต้นสาละนี้ปลูกในบริเวณวัดหลายวัดทีเดียวในแพร่นี้ พี่วิธานบอกว่าที่ลำพูนก็มี)

วัดหลวง

  

ด้านหน้าวัดหลวง และทางเข้า

พระวิหาร ที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ

  

ภายในพระวิหาร มีสามเณรอยู่รูปหนึ่ง ทำหน้าที่บรรยาย และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตมาให้อุบาสก อุบาสิกาได้ถวายสักการะบูชา เหนือศีรษะมีเส้นด้ายสายสิญจน์ที่เมื่อคนมาทำบุญ ก็จะเรียงร้อยถักเป็นเครือข่ายโยงเข้ามา สุดท้ายก็นำไปสู้พระพุทธรูปพระองค์เดียว

ผมเดินเข้าไปในพระวิหารรู้สึกสงบนิ่ง ชาวปฐมภูมิส่วนใหญ่เข้ามาถึงก่อนแล้ว กำลังฟังบรรยายจากสามเณรปฏิคม มองไปเหนือศีรษะเห็นร่างแหของสายสิญจน์ที่ได้ถักทอเป็นเครือข่าย แต่ละเส้นก็ต่างขนาด ต่างเนื้อ แต่รวมไปสู่สายธารเดียวกันคือพระพุทธองค์เบื้องหน้า ภายในวิหารแห่งนี้เสมือนสัญญลักษณ์จำลองความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของชาวเวียงโกศัยได้เป็นอย่างดี ต่างอาชีพ ต่างฐานะ แต่ก็เกี่ยวข้องกัน ทำอะไรก็จะกระทบถึงกัน และมีที่ยึดเหนี่ยวจุดเดียวกันคือไตรสรณะนั่นเอง

เสมือนเป็นทางสว่างให้ผมเห็นว่าการดูแลคนแบบปฐมภูมินั้น น่าจะต้องทำแบบนี้แหละ ต่างคน ต่างอาชีพ มีความถนัด ความรู้ มีฐานะไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ในนิเวศน์เดียวกันแล้ว สุขภาวะของทุกคนก็ต้องพึ่งพากันและกันอย่างทั่วถ้วน จะมียกเว้นก็หาไม่ แต่ในความต่างนั้นเอง สังคมที่ยั่งยืนและมีสุขภาวะจะต้องมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ยึดเป็นหลักชีวิต ได้แก่พระธรรม ศาสนา นั่นเอง เราจะดูแลคนในปฐมภูมิไม่ได้เลย หากเราไม่ได้ทำให้ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของ รู้สึกรู้สมถึงผลกระทบจากทุกๆอย่างที่เรากระทำ และไม่กระทำ เสมือนร่างแหแห่งสายสิญจน์นั้น 

วิหารวัดหลวงนี้ มีห้องโถงพักจุดหนึ่งก่อนที่จะเข้าไปถึงในพระวิหาร ไว้สำหรับคนที่จะเข้าไปกราบไหว้บูชาพระ ทำจิตใจให้สงบสำรวมเสียก่อน มิฉะนั้นก็อย่าได้เข้าไปเลย มีกำแพงหน้าที่หนามาก วาดลวดลายเป็นพระพุทธองค์ลายทองสวยงาม บนพื้นปูนแดง

พระบรมสารีริกธาตุ

 

หมายเลขบันทึก: 484808เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2012 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท