การจัดการความรู้ระดับจังหวัดเพื่อการธำรงบันไดขั้นที่ ๒ สู่ HA


นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเรียนรู้เรื่องกระบวนการพัฒนาคุณภาพของรพ.ตามมาตรฐาน HA อย่างจริงจัง  ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นแค่ไปร่วมรับฟังเรื่องราวการพัฒนาแบบผิวเผิน และก็ไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์แสงที่เขาพูดกัน แต่ก็พอเข้าใจเรื่องแนวคิดและกระบวนการพัฒนาอยู่บ้าง ครั้งนี้เป็นการจัดเวที “การจัดการความรู้ระดับจังหวัดเพื่อการธำรงบันไดขั้นที่ ๒ สู่ HA” โดยทีมวิทยากรจากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(สรพ.) มาเป็นกระบวนกรหลักเอง และเป็นครั้งแรกที่ได้พบ แม่ต้อย ดวงสมร บุญผดุง และคุณพอลล่า ที่ปรึกษาตัวน้อย จากที่เคยแอบไปอ่านใน Blog มาบ้าง ก็เรียกว่าได้พบตัวเป็นๆ เป็นครั้งแรก

ที่สำคัญผู้เขียนและทีมกระบวนกรน่านก็จะได้แอบเรียนรู้เคล็ดวิชาการจัดการความรู้ฉบับสรพ.บ้าง ครั้งนี้ทีมงานสรพ.ได้ใช้เครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Provincial KM (คลิกดูรายละเอียดกระบวนการนี้) ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน(Peer assist) ได้เรียนรู้เทคนิคการเป็น FA และ Note taker ด้วย นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ

คุณแม่ต้อยและทีมสรพ. (คลิกดูรายละเอียดสุนทรียสนทนาแบบแม่ต้อย)ได้นัดหมายทีมกระบวนกรน่านทานข้าวเย็นแล้วซักซ้อมกระบวนการในการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ พร้อมแบ่งบทบาทหน้าที่กัน สำหรับผู้เขียนเองอย่างที่บอกไม่ค่อยรู้เรื่องประเด็นมาตรฐานการพัฒนาคุณภาพ จึงขอทำหน้าที่ดูภาพรวมของการจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นหลัก ไม่ได้เป็น FA และ Note taker ประจำกลุ่มย่อยแต่ใด

.........................................................................

กระบวนการเรียนรู้กำหนดไว้ ๒ วัน (๔-๕ เมษายน ๒๕๕๕) ณ ห้องประชุมรพ.น่าน แต่ละวันก็จะใช้กระบวนการเดียวกัน แต่เปลี่ยนประเด็นในการแลกเปลี่ยนรู้ต่างกัน กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมก็เป็นแกนนำจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งที่ผ่าน HA แล้ว (รพ.น่าน, รพร.ปัว) และที่ต้องธำรงบันไดขั้นที่ ๒ อีก ๑๓ แห่ง รวมราว ๑๐๐ คน นับว่าเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควรในการจัดกระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ทำไงได้ เมื่อเขารู้ว่าทีมสรพ.มาเอง ใครๆ ก็อยากมาร่วมเวที

กระบวนการเรียนรู้เริ่มจาก พญ.วราภรณ์ เตชะเสนา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ รพ.น่าน ได้กล่าวเปิดการเรียนรู้ว่าเรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและลงมือทำ การได้เพื่อนมาช่วยหรือทีมสรพ.มาเติมก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น สำคัญคือได้เรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ ปฏิบัติต่อ 

 

หลังจากนั้นแม่ต้อย ก็เริ่มกระบวนการเรียนรู้ด้วยการทักทายและสอบถามสารทุกข์สุขกัน และบอกวัตถุประสงค์ขอเวทีครั้งนี้ โดยขอให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ทำตัวแบบสบายๆ แล้วเอาประสบการณ์ดีดีมาแบ่งปันกัน 

หลังจากนั้นได้เปิดวีดิทัศน์ นพ.อนุวัฒน์ ผอ.สรพ.ที่ได้บอกเล่าถึงหัวใจสำคัญและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Provincial KM แล้วคุณพอลล่าก็ได้เปิดสไลด์ประกอบเพลงเพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายก่อนการเรียนรู้

 

กระบวนการเรียนรู้แบบ Provincial KM

  • เริ่มด้วยด้วยการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมเรียนรู้ตามประเด็นมาตรฐาน HA
  • FA ประจำกลุ่มย่อยชี้แจงกระบวนการเรียนรู้ และเอกสารประกอบการเรียนรู้
  • ให้ทุกคนอ่านทบทวนประเด็นมาตรฐานย่อยในแต่ละหัวข้อ

 

  • ทบทวนตัวเองว่าตามประเด็นมาตรฐานย่อยที่มีอยู่นั้น รพ.ตัวเอง มีอะไรที่คิดว่าทำได้ดี อยากจะเอาสิ่งดีดีนี้ไปช่วยเพื่อน รพ.อื่น “ใช้ได้ดีจึงบอกเพื่อน” เลือกมา ๒ เรื่อง (บางแห่งอาจมีสิ่งดีดีมากกว่า ๒ เรื่อง) แล้วมีประเด็นมาตรฐานย่อยอะไรที่เราอยากให้คนอื่นมาช่วย เลือกมา ๒ ประเด็นเช่นกัน
  • FA ประจำกลุ่มแจกกระดาษป้ายชื่อรพ.ให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้คนละ ๔ อัน
  • ผู้เข้าร่วมเรียนรู้แต่ละคนเอากระดาษป้ายชื่อรพ.ของตนเองไปติดบนกระดาษปรู๊ฟ ตามประเด็นมาตรฐานย่อยในช่องที่ตนเองอยากช่วยคนอื่น และช่องที่อยากให้คนอื่นช่วยช่องละ ๒ อัน

 

  • หลังจากนั้น FA ประจำกลุ่มก็จะเริ่มให้ทุกคนในวงได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเริ่มจากประเด็นมาตรฐานย่อยแต่ละมาตรฐาน โดยให้เจ้าของรพ.ที่ต้องการให้คนอื่นช่วยได้เล่าประเด็นปัญหาของการพัฒนาคุณภาพรพ.ที่ตนเองต้องการให้คนอื่นช่วย เมื่อเล่าเสร็จก็ให้รพ.ที่ต้องการช่วยคนอื่นในประเด็นนี้ได้เล่าเทคนิคกระบวนการพัฒนาของรพ.ตนเองให้กลุ่มฟัง เมื่อเล่าจบก็ให้มีการแลกเปลี่ยนซักถามกันเพิ่มเติม จนได้ข้อสรุปที่ชัดแจ้งในประเด็นนั้น
  • เริ่มประเด็นมาตรฐานย่อยประเด็นใหม่ โดยใช้วิธีการเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนครบทุกประเด็นมาตรฐาน

 

  • ให้ทุกคนได้สรุปประเด็นการเรียนรู้ร่วมกัน ๓ ประเด็น คือ ประเด็นที่เป็น Best Practice, สิ่งที่ต้องการพัฒนาร่วมกัน, สิ่งที่รพ.ตนเองจะกลับไปพัฒนาให้ตามเพื่อน

 

  • ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมานำเสนอภาพรวมการเรียนรู้
  • ปิดท้ายด้วยการสรุปการเรียนรู้ในภาพรวมทั้งวัน

 

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนาน ได้ความรู้ ประสบการณ์ตรงจากผู้ปฏิบัติงานจริงของแต่ละรพ. เป็นการเรียนรู้ที่ลัด ได้ประโยชน์มาก หลายคนขอบคุณที่มีเวทีนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ จากเพื่อนๆ จากรพ.อื่น หลายคนบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าสิ่งดีดีบางอย่างได้จากรพ.เล็กๆ ห่างไกล แต่มีเรื่องราวดีดีให้น่าศึกษาเรียนรู้ บางอย่างเหมือนเส้นผมบังภูเขา พอได้ยินเพื่อนเล่าให้ฟังก็ถึงบางอ้อ บางเรื่องไปดั้นด้นค้นหาศึกษาเรียนรู้จากที่อื่นมาหลายครั้งสุดท้ายมาได้คำตอบจากเวทีนี้เอง เรียกว่าเป็นเวทีเพื่อนช่วยเพื่อนอย่างแท้จริง มีทั้งเพื่อนที่กำลังพัฒนาไปด้วยกัน มีทั้งพี่เลี้ยงใหญ่อย่างรพ.น่าน และรพร.ปัว ที่พาทีมนำของรพ.มาช่วยน้องๆ กันอย่างอบอุ่น


ก็หวังว่าหลังจากนี้แต่ละรพ.จะได้นำเอาเทคนิควิธีการที่ดีดีเหล่านี้ไปปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพงานของรพ.ตนเองต่อไป เป้าหมายไม่ได้อยู่เพียงแค่ธำรงบันไดขั้นที่ ๒ หากแต่ได้การรับรองคุณภาพ HA ในอนาคตอันใกล้นี้

อีกประเด็นหนึ่งคือสิ่งที่เป็น Best Practice แต่ละเรื่องของแต่ละกลุ่มย่อย หาก Note taker ได้สรุปบันทึกแล้ว ลองเอามาเรียบเรียงดู มีประเด็นไหนไม่ชัด ไม่เคลียร์ก็ตามไปขุดแกะความรู้เชิงปฏิบัตินี้ออกมาให้ชัด เราก็จะได้ชุดความรู้เชิงปฏิบัติที่ชัดแจ้งอีกหลายเรื่อง เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานพัฒนาคุณภาพแบบฉบับน่าน

ผู้เขียนเห็นพลังของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแบ่งปันความรู้ฝังลึกกันที่ได้ความรู้ที่ชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่ต้องพัฒนากันต่อคือ เทคนิคการเป็น FA และ Note taker ที่จะทำให้ได้ความรู้ฝังลึกออกมาเป็นความรู้ที่ชัดแจ้งได้อย่างมีคุณภาพ อันนี้ต้องพัฒนาทีมร่วมกันอีกสักนิดหนึ่ง และคิดว่าจะนำเอาเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานอื่นๆ บ้าง

ขอบคุณทีมวิทยากรจากสรพ.ทุกท่านที่ได้มานำการเรียนรู้ที่ทรงพลังยิ่งนัก ขอบคุณทีมนำคุณภาพของทุกรพ.ที่เอาเรื่องราวดีดีมาแบ่งปันกัน และขอบคุณที่กระบวนกรพัฒนาคุณภาพของจังหวัดน่าน ที่นำโดย นพ.กิติศักดิ์ และ ทพญ.มยุเรศ เกษตรสินสมบัติ ที่เป็นหัวแรงใหญ่ในการนำมาพัฒนาคุณภาพรพ.ของจังหวัดน่าน

ขอบคุณมิตรภาพ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และไมตรีจิตที่มีให้กันตลอดการเรียนรู้

 

หมายเลขบันทึก: 484805เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2012 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาแล้วค่า ...สุดยอดมากเลย ค่ะ บันทึกนี้ ขอแบ่งปันนะคะ ขขอบคุณสำหรับิ่งดีๆ ประสบการร์การเรียนรู้ การสัมผัสชาวน่าน.. เรียนรู้คุณภาพของคนน่าน... ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท