วิธีป้องกัน+บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร [EN]


ริดสีดวงทวารตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า 'hemorrhoids', เป็นภาวะที่หลอดเลือดในทวารหนักโป่งพอง หรือยื่นออกมาจากผนังทวารหนักส่วนล่าง ส่วนที่ยื่นเป็นผนังหลอดเลือดดำที่โป่งพอง คล้ายเส้นเลือดขอดที่ขา

.
คนอเมริกัน 313 ล้านคน เป็นริดสีดวงทวารหนัก 10 ล้านคน = 3.2% (100 คนพบเป็นริดสีดวงทวาร 3 คน) หรือถ้าพบคนอเมริกัน 31 คน จะพบคนเป็นริดสีดวงทวาร 1 คน
.
ถ้าคนไทยเป็นริดสีดวงทวารเท่าคนอเมริกัน > 67.09 ล้านคน จะพบคนเป็นโรคนี้ 2.16 ล้านคน [ webmd ][ doctoroz ]; [ census ]; [ CIA ]; [ หมอชาวบ้าน ]
  • [ hemorrhoid ] > [ เฮ้ม - เหมาะ - หร่อย - d/ดึ(เสียงเบา) ] > http://www.thefreedictionary.com/hemorrhoid > noun = ริดสีดวงทวาร; ศัพท์เดิมมาจาก 'blood (hemor-) + flow (-rhoid) = blood flow = การไหลของเลือด เลือดไหล
  • [ piles ] > [ พ้าย - เอ่า - s/สี (เสียงเบา) ] > http://www.thefreedictionary.com/piles > noun = ริดสีดวงทวาร; ศัพท์เดิมมาจากภาษาละติน = ball = ก้อนกลมๆ ก้อนริดสีดวงทวาร
  • นิยมใช้ 'hemorrhoids' & 'piles' รูปพหูพจน์ - เติม 's' เข้าใจว่า ริดสีดวงทวารส่วนใหญ่มีหลายหัว
.
วิธีป้องกันริดสีดวงทวารที่สำคัญได้แก่ การป้องกันท้องผูก และป้องกันแรงดันในช่องท้องไม่ให้สูงมากหรือสูงนาน เนื่องจากแรงดันในช่องท้องที่สูงขึ้นจะทำให้เลือดดำคั่งในทวารหนักส่วนล่าง และอาจยื่นออกมาพ้นแนวทวารหนัก ซึ่งจะทำให้เลือดคั่งมากขึ้นไปอีก
.
(1). กินอาหารที่มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ให้มากพอทุกวัน โดยเฉพาะเส้นใยจากธัญพืช หรือข้าว
.
เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง เปลี่ยนขนมปังขาวเป็นขนมปังเติมรำ (โฮลวีท), กินผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล ถั่ว เมล็ดพืช
.
การกินเส้นใยเสริม เช่น เมทามิวซิว (Metamucil) ฯลฯ พร้อมกับน้ำ, การกินลูกพรุน มีส่วนช่วยป้องกันท้องผูกได้, คนสูงอายุที่ท้องผูกบ่อยอาจดื่มน้ำมะขามช่วยระบาย ซึ่งไม่ควรกินบ่อยกว่า 3 วัน/ครั้ง เพื่อป้องกันการดื้อยา (กินแล้วไม่กระตุ้นการถ่าย)
.
(2). ดื่มน้ำให้มากพอ โดยดื่มน้ำ 1-2 แก้วหลังบ้วนปากตอนตื่นนอน และดื่มน้ำทุกๆ 1/2-1 ชั่วโมงตอนกลางวัน, กลางคืนควรดื่มน้ำให้น้อยลง เพื่อป้องกันการปวดปัสสาวะตอนนอน ซึ่งอาจทำให้ฝันร้าย นอนหลับไม่สนิท หรือต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ
.
สังเกตสีปัสสาวะ... ถ้าเหลืองเข้ม หรือปัสสาวะน้อยกว่า 2 ชั่วโมง/ครั้ง แสดงว่า ดื่มน้ำไม่พอ, ถ้าปัสสาวะบ่อยกว่า 1 ชั่วโมง/ครั้ง แสดงว่า ดื่มน้ำมากเกินไป
.
(3). ออกแรง-ออกกำลังทุกวัน, การออกกำลังหนัก เช่น วิ่ง ฯลฯ ป้องกันท้องผูกได้ดีกว่าการออกกำลังแรงปานกลางหรือเบา, การออกกำลังต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไปป้องกันท้องผูกได้ดีกว่าการออกกำลังสั้นกว่า 10 นาที 
.
คนทั่วไปออกกำลังหนัก เช่น วิ่งเร็วหน่อย ฯลฯ 20 นาที 3 ครั้ง/สัปดาห์, หรือแรงปานกลาง เช่น เดินเร็วมากๆ ฯลฯ 30 นาที 5 ครั้ง/สัปดาห์ก็พอ ทว่า... ถ้าไม่ออกกำลังหนัก, คนที่ท้องผูกง่ายมีแนวโน้มจะต้องออกกำลังแรงปานกลางให้นานหรือบ่อยกว่านั้น จึงจะป้องกันท้องผูกได้ดี
.
(4). ถ่ายให้ตรงเวลา ถ่ายทันทีที่ปวดอุจจาระ ไม่รีบเร่ง และไม่เบ่ง, การเบ่งเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เพิ่มเสี่ยงเลือดคั่งในทวารหนัก เสี่ยงหลอดเลือดโป่งออกมาเป็นริดสีดวงทวาร
.
โถส้วมแบบนั่งยองช่วยให้ถ่ายง่าย ทว่า... อาจทำให้ทวารหนักเคลื่อนลงมาต่ำกว่าปกติ เพิ่มเสี่ยงเลือดคั่งได้ในคนที่กล้ามเนื้อเชิงกรานหย่อน, การเสริมที่นั่งถ่ายให้สูงขึ้น โดยใช้เก้าอี้เจาะรูใหญ่ตรงกลาง หรือแผ่นรองที่ก้นอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ (กรณีที่ส้วมเป็นแบบนั่งยอง)
.
(5). ฝึกนิสัยไม่เบ่งตอนถ่าย และไม่กลั้นหายใจตอนถ่าย เพื่อป้องกันความดันในช่องท้องสูงขึ้น (เพิ่มเสี่ยงเลือดคั่ง), เวลายกของ-ออกกำลัง เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ ควรหายใจออก หรือฝึกไม่กลั้นหายใจ เพื่อป้องกันความดันเลือด-ความดันช่องท้องสูงขึ้น
.
(6). ฝึกไม่อ่านหนังสือตอนถ่าย (ถ้าติดนิสัย... ให้ฝึกดูภาพประกอบ ไม่อ่าน) เพื่อป้องกันการนั่งนาน (นั่งนานเพิ่มแรงดัน เพิ่มเสี่ยงเลือดในทวารหนักคั่ง)
.
(7). ฝึกไม่นั่งนานหรือยืนนานเกิน 1-2 ชั่วโมง/ครั้ง, การนั่งหรือยืนนานเพิ่มเสี่ยงเลือดในทวารหนักคั่ง, ให้เดินเร็วๆ สลับบ่อยๆ หรือลุกขึ้นยืนสลับนั่งเป็นระยะๆ
.
(8). ท่านที่ตั้งครรภ์, ควรฝึกนอนตะแคง เพื่อป้องกันน้ำหนักจากเด็ก-รก-น้ำคร่ำกดหลอดเลือดดำในช่องท้อง หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย ซึ่งจะทำให้ในทวารหนักคั่งได้ง่าย
.
.
วิธีบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร, เรื่องที่ท่านควรรู้ คือ ริดสีดวงทวารส่วนใหญ่คล้ายเส้นเลือดขอดที่ขา, ถึงไม่หายก็ควรใส่ใจ และทำใจ (อย่างน้อยควรรู้ว่า คนอื่นก็เป็นโรคนี้ประมาณ 3.2% - ท่านไม่ได้เป็นโรคนี้คนเดียว มีเพื่อนร่วมทุกข์มากมาย) เพื่อให้อยู่กับมันให้ได้
.
(1). ล้างก้นด้วยน้ำ หรือกระดาษทิชชูเปียก เช่น ทิชชูที่ใช้เช็ดอุจจาระเด็ก ฯลฯ ปลอดภัยกว่ากระดาษชำระ เนื่องจากกระดาษชำระอาจครูดริดสีดวงทวาร (เส้นเลือดขอด โป่งพอง) ทำให้เกิดแผล ตกเลือดได้
.
(2). อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน เช่น สบู่เด็ก สบู่เหลว ฯลฯ หลีกเลี่ยงสบู่ที่ผสมสีหรือกลิ่น และฝึกนิสัย "ไม่ล้างก้นด้วยสบู่", ล้างด้วยน้ำเปล่าปลอดภัยกว่า เพื่อป้องกันริดสีดวงทวารระคายเคือง เกิดอาการคัน ซึ่งจะตกเลือดได้ง่ายถ้าเกา
.
(3). การประคบเย็น เช่น ใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำปนน้ำแข็ง ฯลฯ 10 นาที แล้วตามด้วยการประคบร้อนด้วยถุงพลาสติกใส่น้ำอุ่น 10-20 นาที อาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากเลือดคั่งได้ในบางคน
.
(4). นั่งแช่น้ำอุ่น (อย่าใช้น้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด) ในกาละมังเล็ก (sitz bath) 15 นาที เช้า-เย็น หรือบ่อยกว่านั้น, ทดสอบก่อนแช่ว่า น้ำไม่ร้อนเกินไป โดยใช้หลังมือแตะน้ำเบาๆ ก่อนทุกครั้ง, หลังแช่ให้ล้างมือด้วยสบู่
.
(5). ช่วงที่มีอาการปวด หรือตกเลือดบ่อย โดยเฉพาะในคนตั้งครรภ์ ควรนอนตะแคงเป็นพักๆ ใช้หมอนเตี้ยรองเอว ให้ทวารหนักอยู่ในระดับสูงกว่าหัวใจ เพื่อลดเลือดคั่ง
.
(6). หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และไม่เบ่งในช่วงที่ตกเลือดหรือปวด
.
(7). ใช้หมอน หรือของอ่อนนุ่มรองก่อนนั่ง ในช่วงที่ตกเลือดหรือปวด (เบาะรองนั่งที่ดีและแพงสุดๆ ดูจะเป็นชนิดทำด้วยเจล)
.
(8). ไม่สวมเสื้อผ้าคับ เช่น กางเกงยีนส์ ฯลฯ, ใช้ชุดชั้นในทำจากผ้าฝ้าย เพื่อป้องกันการระคายเคือง และอับชื้น, ผู้หญิงอาจสวมผ้าถุง ผู้ชายอาจใช้กางเกงขาสั้นแทนกางเกงใน
.
(9). ปรึกษาหมอใกล้บ้าน ซึ่งถ้าได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาเหน็บ ควรนอนตะแคง สอดยาเข้าไป ยาจะละลาย ให้นอนต่อ 5-10 นาที นอนพลิกไปข้างตรงข้าม แล้วนอนต่อ 5 นาที (ถ้าเหน็บก่อนนอน จะหลับไปเลยก็ได้)
.
ระวังการใช้ยาเหน็บที่มีสารออกฤทธิ์สเตอรอยด์ (steroid - สารกดการอักเสบ) ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังรอบทวารหนักบางลง ระคายเคือง คัน หรือเป็นแผลได้ง่ายขึ้น ยกเว้นหมอที่ดูแลท่านแนะนำ
.
(10). ยาทาทำจากวาสลีน (petroleum jelly) หรือที่ดีมาก คือ ครีมสังกะสี (zinc oxide paste/ซิ้งก์ เพสท์) ใช้ทาริดสีดวงทวาร เพื่อลดการเสียดสี ระคายเคือง อาการคันได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ > แนะนำให้อ่าน [ ริดสีดวงทวาร - รพ.จุฬาฯ ]; [ ริดสีดวงทวาร - หมอชาวบ้าน ]
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 20 กพ.55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 484698เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท