หลายฝีพาย เป้าหมายเดียว


การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ก็เป็นการบริหารที่กำหนดวิธีการ(Mean)และผลลัพธ์อย่างชัดเจน(End)
ผมได้รับมอบหมายจากทีมจัดอบรมวิทยากร ครู ก เพื่อพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนของเขตตรวจราชการที่ 2 ให้ร่วมบรรยายประมาณ 5 ชั่วโมง ในหัวข้อเรื่องการดำเนินงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ลึกๆก็ไม่อยากรับงานเพราะเรื่องนี้จะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการวางแผนกลยุทธ์ ที่แต่ละสำนักแต่ละครูก็สอนไม่ค่อยเหมือนกัน พอรับงานมาแล้วก็เลยเป็นกังวลพอสมควร ผมได้รับทราบตั้งแต่สิงหาคม2548 แต่ก็ไม่สามารถรวมสมาธิจัดทำCourse outlineได้ถึง 30 กันยายนที่ผ่านมาจึงสามารถจัดทำได้พร้อมกับอีก 2 วันสไลด์บรรยายก็จัดทำจนเสร็จและส่งให้ผู้จัดได้  เวลาไปฟังบรรยายเรื่องทำนองนี้รู้สึกว่าจะยากมาก แต่ก็ถือว่าเราก็มีประสบการณ์จากการทำจริงในโรงพยาบาลเราก็พยายามแกะเอาประสบการณ์(Tacit knowledge)มาใช้ และผมก็พบว่าการที่ต้องเตรียมบรรยายทำให้ผมได้ทบทวนแนวคิด หลักการและสิ่งที่ปฏิบัติมาทำเป็นเนื้อหาทำให้เรามองการวางแผนกลยุทธ์ได้ชัดเจนขึ้น การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ก็คือการำงานที่ไม่ใช่แค่ได้ทำ แต่ต้องได้ผลด้วย ทำนองถ้าจะทำสวนก็ต้องมองให้ออกว่าอยากได้อะไร ถ้าอยากได้ผลมะม่วงก็ปลูกมะม่วง ถ้าปลูกสักก็คงไม่ได้มะม่วงตามที่เราต้องการ แต่เผอิญในองค์กรไม่ได้มีเราคนเดียว เมื่อมีหลายคนจะให้ได้ผลเหมือนกันก็ต้องคุยกันให้ชัดว่าผลที่อยากได้คืออะไร จะได้ทำให้เกิดผลเหมือนกัน ไม่ได้ทำให้เหมือนกันนะ ทำให้เกิดผลเหมือนกัน นั่นคือการมีShared vision นั่นเอง การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ก็เป็นการบริหารที่กำหนดวิธีการ(Mean)และผลลัพธ์อย่างชัดเจน(End) ซึ่งก็เรียกว่ามีวิสัยทัศน์ พันธกิจ เพื่อให้พันธกิจบรรลุผลก็ต้องทำพันธกิจอย่างมีกลยุทธ์ คำว่ากลยุทธ์คือการทำงานให้สำเร็จภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เวลาอยู่ในองค์กรจะมีหลายระดับการกำหนดเป้าหมายอาจจะมีทั้งระดับโรงพยาบาล ระดับกลุ่มงาน ระดับแผนก หากใช้คำว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจกันหมด คนทำงานอาจจะงงไม่รู้ว่าของระดับไหนเป็นระดับไหน จึงให้ใช้วิสัยทัศน์พันธกิจในระดับองค์กร ส่วนในระดับรองลงมาอาจใช้คำว่าเป้าประสงค์หรือเจตน์จำนง(Purpose)แทน สำหรับในประเทศไทยสิ่งที่ผมได้อ่านพบทำให้ผมได้ทราบถึงพระปรีชาญาณแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันท่านทรงประกาศพระปฐมบรมราชปณิธาน(Purpose)เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งพันธกิจและวิสัยทัศน์หรือมีทั้งMeanและEnd  จะเห็นว่าพระองค์ทรงใช้แนวทางการบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์มานาเกือบ 60 ปีแล้ว
                พูดถึงการทำงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทำให้ผมนึกไปถึงเทศกาลลอยกระทงเมื่อปีที่แล้ว(2547) ทางเทศบาลบ้านตากได้จัดกิจกรรมแข่งเรือพื้นบ้านมาประมาณ 4 ปีแล้ว และทางโรงพยาบาลก็ส่งทีมร่วมแข่งเรื่อด้วยทุกปีโดยได้ถ้วยชนะเลิศชายหญิงเกือบตลอด มาปีที่แล้วทีมชายพลาดไปได้ที่สอง ส่วนทีมหญิงยังได้ถ้วยอยู่ มีแข่งประเภท 7-9 คนและประเภท 5 คน ปีที่แล้วเราส่งประเภท 5 คน ถึง 2 ทีมและสมาชิกหนึ่งในทีมก็คือผมเอง ที่แม้จะพายเรือไปเก็บผักบุ้งกลางหนองเป็น แต่ก็ไม่เคยแข่งพายเรือที่พายกันหลายๆคนเลย แค่รอบแรงครั้งแรกของการแข่งขันทีมผมก็แพ้โดยที่คู่ต่อสู้แทบไม่ต้องออกแรงเลย พอสิ้นเสียงปืนปล่อยตัวผมก็รีบจ้ำพายไปได้ 3 ทีเรือก็ล่มลง ไปไม่ได้ถึงไหน การแข่งเรือพายจึงไม่เหมือนการพายเรือทั่วไปที่เราพายคนเดียว ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมความแข็งแรง มีการฝึกซ้อมให้ชินกับเรือที่เรานั่ง ต้องรู้ว่าน้ำหนักของใครเท่าไหร่จะได้วางที่นั่งได้ถูกต้อง ใครถนัดขวาถนัดซ้าย พอจัดทีมได้แล้ว ก็ต้องพายให้ได้จังหวะ อย่างถูกต้อง ต้องมีความพร้อมเรียง ตามองไปที่เส้นชัยข้างหน้า มือพายไป ใจต้องนิ่ง เพื่อให้กายนิ่ง  ไม่ใช่จ้ำเอาๆอยู่คนเดียว เรือไม่ได้สมดุลก็ล่ม นี่แค่แข่งเรือ ถ้าเป็นองค์กรของเราที่มีคนมากกว่า งานซับซ้อนกว่า หากขาดความสามารถ หรือมีความสามารถแต่การขาดความพร้อมเพรียงหรือมีความสามารถ มีความพร้อมเพรียงแต่ไม่รู้เป้าหมายที่จะไปก็ไม่บรรลุผลสำเร็จได้ จึงเป็นที่มาของคำว่าหลายฝีพาย เป้าหมายเดียว  
คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 4846เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2005 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท