ชีวิตที่พอเพียง : ๑๕๒๙. ชีวิตที่ออกนอกโลกเชิงเส้น


 

          โลกทัศน์หรือวิถีปฏิบัติในชีวิตการทำงานหรือชีวิตส่วนตัวของคนเรา ในหลายกรณียึดถือ “วิถีเชิงเส้น” (linear)    ซึ่งผมไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา และไม่ดำเนินชีวิตของตนเองตามแนวนี้   เพราะคิดว่าเป็นแนวที่ใช้สมมติฐาน ความสัมพันธ์เชิงเดี่ยว (simple relationship)   ผมเชื่อในความสัมพันธ์เชิงซ้อนหรือเชื่อในความซับซ้อน (complex relationship) มากกว่า   

          เราคุ้นเคยกับตรรกะ “เพราะมี ก จึงมี ข” ซึ่งเป็นวิธีคิดเชิงเส้น หรือความสัมพันธ์เดี่ยว   ในขณะที่ในชีวิต จริงเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย เป็นสัจธรรมของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน   เมื่อทำงานใดงาน หนึ่ง โมเดลของการทำงานของผมจึงเป็นโมเดลที่อยู่บนฐานของเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน   และที่สำคัญยิ่งคือ ผมตระหนักหรือเชื่อว่าตนเองไม่สามารถเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้ครบถ้วน  

          อาจกล่าวได้ว่า โมเดลการทำงานของผมเป็น “โมเดลของผู้ไม่รู้” หรือของผู้ไม่รู้จริง ไม่รู้แจ้งเจนจบ   แต่ก็เชื่อว่าเมื่อทำงานนั้นไประยะหนึ่ง ก็จะเข้าใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเพิ่มขึ้น   เห็นมิติที่เราเคยมองไม่เห็น หรือเห็นมิติที่เราเคยเห็นรางๆ ชัดขึ้นหรือชัดแจ๋วแหวว

          มองโลกแบบนี้ผมสนุกมาก เพราะยิ่งทำเรื่องใดก็เกิดความรู้เพิ่มขึ้นทุกเรื่อง    ได้ตระหนักในความ ยิ่งใหญ่ซับซ้อนแผ่ไพศาลของสรรพสิ่ง    และตระหนักในความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเอง

          อยู่มาจนอายุ ๖๐ ปี ผมก็ยังไม่เข้าใจแจ่มชัดว่าการปฏิบัติหรือการลงมือทำเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอย่างไร   จนมาทำงานและศึกษาเรื่องการจัดการความรู้    ได้เข้าใจแยกแยะความรู้เชิงทฤษฎี กับความรู้ปฏิบัติ    หมั่นสังเกตวิธีคิด หรือการสร้างโมเดลในการทำงานเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ    จึงเข้าใจเรื่องความ ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ  

          ดังนั้น เมื่อมีการอภิปรายปรึกษาหาวิธีทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นงานใหม่ ที่ต้องการการสร้างสรรค์ สูง    หลายครั้งผมก็จะมีวิธีคิดที่ไม่ตรง ไม่สอดคล้อง หรือมีโมเดลที่แตกต่างจากคนอื่นๆ    เพราะโมเดลที่คน คุ้นเคยเป็นโมเดลที่อยู่บนความชัดเจน มีข้อมูลครบถ้วน สมารถคิดวางแผนได้   แต่ผมชอบโมเดลแบบซับซ้อน เป็นโมเดลเปิด ที่เปิดช่องให้นำเอาความรู้ความเข้าใจที่มาทีหลัง เข้ามาทำประโยชน์ได้   ผมเรียกวิธีคิด หรือวางยุทธศาสตร์การทำงานแบบนี้ว่า การจัดการแบบ เคออร์ดิค

          ผมตีความว่า การจัดการแบบ เคออร์ดิค เป็นการจัดการแบบที่กล้าอยู่กับความไม่รู้ส่วนหนึ่ง   รอให้มีการเติมเต็มภายหลัง ด้วยความรู้ที่เชื่อมโยงและเป็นผลจากการปฏิบัติ   กล่าวง่ายๆ ว่า ผมชอบสไตล์ทำไปเรียนรู้ไป   ไม่กำหนดแผนปฏิบัติการตายตัว และทำตาม “พิมพ์เขียว” (master plan) อย่างที่หน่วยราชการนิยมทำกัน 

          ผมไม่ได้ต้องการบอกว่า โมเดลของผมดีกว่า    แต่ต้องการบอกว่า มีวิธีคิดและทำงานแบบนอกกระแสหลักเช่นนี้ด้วย

 

 

วิจารณ์พานิช

๘ มี.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 484179เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท