๑๔.ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๔) ภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้


หลังการแบ่งกลุ่มและนั่งคุยกันโดยใช้กิจกรรม TOSO แล้ว ในช่วงปิดท้ายกระบวนการของวันแรก ผมก็จัดโอกาสให้เวทีได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีแนวคำถามสำหรับอภิปรายซึ่งจะใช้หรือไม่ก็ได้ คือ
 
  • การนั่งสนทนา ปูพื้นฐานดึงภาวะผู้นำแบบกลุ่มโดยเริ่มจากรู้จักคน งาน ความคิด ผ่านการเล่าเรื่อง มีข้อดีและข้อจำกัดอย่างไร
  • หากนำเอาไปใช้บริหารภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม จะช่วยทำงานได้ในสถานการณ์ไหนบ้าง
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้อภิปรายและแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆ พอสมควร จากนั้น ในวันรุ่งขึ้น ผมจึงได้สรุปและเชื่อมโยงให้เห็นถึงภาวะผู้นำสำหรับการบริหารสถาบันอุดมศึกษาว่ามีคุณลักษณะจำเพาะบางประการดังที่ทุกท่านได้เห็นแล้วผ่านบทบาทการทำงานจากการทำความรู้จักกับผู้คนหลากหลายในเวที ซึ่งผมขอเรียกลักษณะที่ปรากฏว่า ภาวะผู้ทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้
 
ในช่วงแรกของการสรุปบทเรียนและเชื่อมโยงประเด็นเพื่อทำกระบวนการต่อเนื่องกันไปอีกนี้ ผมได้กล่าวถึงจำเพาะสิ่งที่สะท้อนขึ้นมาจากการนั่งคุยกันเป็นกลุ่มของเวที เนื่องจากจะได้ใช้ความมีประสบการณ์ร่วมกันที่เกิดขึ้นบนเวที พาผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนให้ละวางและข้ามความแตกต่างที่ติดมากับความเชี่ยวชาญต่างสาขาต่างหน่วยงาน พร้อมกับใช้ทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของกระบวนการกลุ่มที่ใช้ทำงานความคิดกันบนเวที โดยให้ความเข้าใจพอเป็นแนวคิดบางประการ
 
 
สังคมและชุมชนคนทำงานในสถาบันอุดมศึกษา จัดว่าเป็นกลุ่มสังคมของคนทำงานด้วยความรู้ เป็นกำลังทางปัญญาของสังคม ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษา จะมีบทบาทต่อการนำการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ของภาคีทางการศึกษาที่จะมีต่อสังคมที่เป็นหัวข้อการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นั่นเอง
 
ขณะเดียวกัน ในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ก็เป็นการทำงานและการบริหารงานในท่ามกลางชุมชนทางปัญญา ชุมชนทางวิชาการ และคนทำงานทางความรู้ ดังนั้น ภาวะผู้นำในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา จึงมีคุณลักษณะเป็นภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ ซึ่งในรายละเอียดและในการเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติจะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะจัดกระบวนการให้เวทีได้ค้นหาลงไปในสิ่งที่กำลังทำและที่คิดจะทำในมหาวิทยาลัย จากนั้นก็จะถอดบทเรียนและเสริมหลักทฤษฎีให้กับเวทีปิดท้ายในช่วงบ่าย
 
อย่างไรก็ตาม จากการจัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติในครั้งนี้ได้รู้จักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่านบทบาทการทำงานต่างๆ และทำงานความคิดด้วยกันเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งก็ทำให้ได้บทเรียนเบื้องต้นชุดหนึ่งจากการได้สัมผัสกับภาวะผู้นำเป็นกลุ่มของกลุ่มคนซึ่งมีภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ ทำให้ผมสามารถสรุปและใช้เป็นแนวปฏิบัติให้กับเวทีไปในตัวสำหรับการทำกระบวนการในลำดับต่อไป อีกทั้งผู้เข้าร่วมเวทีก็จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวคิดเมื่อกลับไปทำงานและเป็นทีมบริหารได้ ดังนี้
 
  • เหตุผลเบื้องหลังของการต้องสัมผัสความจริงเองจากวิธีทำงานเป็นกลุ่ม : ภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ ในสถาบันอุดมศึกษา ต้องใช้ภาวะผู้นำสำหรับการบริหารคนทำงานความรู้และทำงานวิชาการ โดยเน้นภาวะผู้นำแบบเป็นกลุ่ม หลากหลาย มีปฏิสัมพันธ์แนวราบ เท่ากัน ต้องมีความสามารถในการเห็นและฟังความแตกต่างได้อย่างดี
  • เหตุผลเบื้องหลังและนัยสำคัญของการสื่อสารสองทาง : การสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ส่วนรวม เป็นพื้นฐานสร้างภาวะผู้นำแบบรวมกลุ่ม-เครือข่าย ซึ่งเป็นมิติที่เข้าใจจากประสบการณ์ของคนคนเดียว และการจัดความสัมพันธ์ที่มีความเหลื่อมล้ำกันไม่ได้
  • เหตุผลและนัยสำคัญของการจัดความสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ในกลุ่มคนทำงาน : เพื่อนร่วมงานเป็นเพื่อนเรียนรู้ การสร้างวัฒนธรรมทำงานเป็นกลุ่ม จะก่อให้เกิดกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อปัจเจกจะได้มีประสบการณ์ตรง ให้สามารถเรียนรู้ผ่านการทำงานต่างๆอยู่เสมอ  ในอันที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเชิงอำนาจจากโครงสร้างเชิงหน้าที่ในองค์กรที่เป็นทางการ ไปสู่การเกิดโครงสร้างทางปัญญาและใช้เหตุผลทางความรู้นำการปฏิบัติ
ทั้งสามประการนี้ เป็นประสบการณ์ที่เวทีได้สร้างขึ้นร่วมกันจากกระบวนการในวันแรกมาแล้ว และจะต้องใช้สำหรับทำกระบวนการในลำดับต่อไป จึงจำเป็นต้องได้หลักคิดเพื่อหาวิธีปฏิบัติหรือยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับทักษะจำเพาะตนเอาเองต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นชุดประสบการณ์พื้นฐาน ที่พอจะช่วยให้สามารถขยายความเพื่อสร้างการเรียนรู้เชิงทฤษฎีที่ซับซ้อนเกี่ยวกับระบบและปรากฏการณ์ทางสังคม เชื่อมโยงไปสู่ความแตกต่างหลากหลายของสาขาต่างๆ ในเงื่อนไขและความเป็นจริงใหม่ๆของสังคม โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย ได้ดียิ่งๆขึ้น
 
ภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ สำหรับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา นอกจากเป็นภาวะผู้นำที่ต้องใช้ทำงานทางด้านการวิจัย การสร้างความรู้ การสอนและสร้างนักศึกษา การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งผมจะจัดกระบวนการให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นรองและผู้ช่วยทีมบริหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้สร้างประสบการณ์ของตนเองให้มากยิ่งๆขึ้นต่อไปแล้ว การมีภาวะผู้นำเพื่อปฏิบัติ รวมทั้งเป็นผู้บริหารที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อื่นร่วมกันสร้างภาวะผู้นำของสถาบันอุดมศึกษาที่จะพึงมีต่อสังคม ที่อยากแนะนำให้เพิ่มความสนใจมากขึ้นเมื่อกลับไปเป็นทีมบริหารรุ่นใหม่ และเน้นการนำมาพิจารณาระหว่างทำงานความคิดเป็นกลุ่มหรือถอดบทเรียนในเวทีนี้บางประการ คือ ....
 
  • ทักษะการเป็น Facilitator กับภาวะผู้นำของผู้บริหาร เป็นวิธีหนึ่งสำหรับใช้ทำงานบริหารภาวะผู้นำของคนทำงานความรู้และชุมชนทางปัญญา รวมทั้งทำงานบริหารเป็นทีมหลายสาขา ซึ่งการบริหารโดยใช้ความเป็นผู้นำแบบทั่วไปจะมีข้อจำกัดและไม่เอื้อต่อการเกิดพลังสร้างสรรค์ของภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางวความรู้
  • การส่งเสริมภาวะผู้นำกลุ่มสนับสนุน นอกจากมุ่งสร้างภาวะผู้นำโดยมุ่งไปที่กลุ่มอาจารย์ ผู้สอนและสายวิชาการแล้ว ควรแสดงภาวะผู้นำในการบุกเบิกริเริ่ม ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ปฏิบัติและกลุ่มที่เป็นกำลังคนด้านการสนับสนุนทางวิชาการ ซึ่งในสถาบันอุดมศึกษา ก็จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการแปรแนวคิดและแนวนโยบายทั้งหลายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งเป็นกลุ่มที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการสอนและการวิจัย ตลอดจนทางด้านต่างๆที่กลุ่มอาจารย์และผู้สอนดำเนินการ
หลังจากนั้น ก่อนให้โจทย์และจัดกระบวนการพูดคุยรวบรวมข้อมูลของตนเองเป็นกลุ่มย่อย นำเสนอ และสรุปบทเรียนเวที ผมก็ได้หยิบยกเอากรณีศึกษาจากการเชื่อมโยงการสอนการวิจัยและภารกิจอื่นๆของสถาบันอุดมศึกษาเข้ากับการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมในชุมชนเชิงพื้นที่ โดยใช้ตัวอย่างจากชุมชนอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กับเวทีคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เล่าถ่ายทอดเพื่อให้เห็นตัวอย่างบางประการของภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ของสถาบันอุดมศึกษาต่อสังคม ที่จะสะท้อนสู่การเกิดภาวะผู้นำทางด้านการสอน การจัดการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
 
การนำมาเล่าพอเป็นตัวอย่างให้เห็นประเด็นที่มีนัยสำคัญอย่างรอบด้านทั้งต่อการศึกษาและต่อการพัฒนาทางสังคมนี้ มุ่งให้ผู้เข้าร่วมเวทีเกิดคำถามและหาวิธีได้คำตอบพอเป็นแนวปฏิบัติของตนเองต่อไปว่า ความเป็นจริงทางการปฏิบัติในแนวโน้มใหม่ๆของสถาบันอุดมศึกษาดังตัวอย่างนี้ ผู้บริหารและคนทำงานในสถาบันอุดมศึกษาจะต้องพัฒนาตนเองและร่วมกันสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อกลับไปแล้วผู้บริหารรุ่นใหม่จะสามารถบุกเบิกและริเริ่มสิ่งต่างๆเพื่อนำความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมโดยทำบนภารกิจทางวิชาการของตนในมหาวิทยาลัยได้อย่างไรบ้าง.

.................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 484038เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เคยเอากิจกรรม TOSO ไปใช้ work มากครับอาจารย์ เสียดายติดงานเลยไม่ได้ไปช่วยอาจารย์

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ใช้ได้ผลดีทุกครั้งครับอาจารย์ คงจะเป็นเพราะสามารถใช้ทักษะพื้นฐานของการนั่งคุยกันที่ทุกคนมีอยู่ให้มาช่วยได้
มือกระบวนการเรื่องนี้ที่ทำอย่างมีทักษะฝังอยู่ในกระดูกคนหนึ่งก็สหายผู้พี่ของอาจารย์แหละครับ อาจารย์ณัฐพัชร์น่ะแหละ

ขอขอบพระคุณ อ.นุ และอาจารย์ดร.ขจิต
ที่แวะมาเยือนและคลิ๊กไว้ทักทายกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท