dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

ครู:การเสริมสร้างพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


ครู:การเสริมสร้างพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัย

ครู:บุคคลสำคัญต่อการเสริมสร้างพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัย

            เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญและตระหนักในความสำคัญของเด็กวัยนี้ว่าเป็นวัยทองของชีวิตและมีความจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและฝึกฝนให้อยู่ในสภาพสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของสังคมประเทศและสังคมโลกปัจจุบันซึ่งทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้ เด็กเล็กต้องได้รับการปลูกฝังให้อยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ผูกพันกันและไม่เอาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมแต่ฝ่ายเดียว ขณะนี้ส่วนใหญ่เด็กจะขาดความสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่มีบุญคุณต่อมนุษย์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัญหาของมนุษย์โลก ทุกคนจะต้องเริ่มกันแล้วสำหรับสังคมไทยสิ่งที่เป็นความหวังอันดับต้นๆให้เด็กได้มีพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือครู ครูปฐมวัยไทยต้องเริ่มปลูกฝังให้เด็กมีความเจริญงอกงามทางจิตใจ เข้าใจถึงความเจริญทางวัตถุ ไม่หลงงมงายกับวัตถุ แต่มีความเอื้ออาทรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความสุขของมนุษย์ ความอบอุ่นของครอบครัว และชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ครูปฐมวัยไม่ใช่ใครก็ได้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถจะสอนชั้นไหนได้แล้วจึงมาสอนเด็กปฐมวัย ไม่ใช่อยู่ไปกับเด็กในแต่ละวันให้เด็กรับประทานอาหาร แล้วก็นอนหลับพักผ่อนไปวันๆหนึ่งเท่านั้น ครูปฐมวัยมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่สำหรับภาระ หน้าที่หรือบทบาทของครูปฐมวัยมีมากมายและมีความสำคัญยิ่งต่อการวางรากฐานชีวิตมนุษย์และเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของสังคมอย่างเช่นการเสริมสร้างพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครูปฐมวัยจะต้องมีความรู้ความสามารถและควรมีบทบาทพอที่จะกล่าวได้ในเรื่องกว้างๆคือ

            1 ครูต้องเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดได้ด้วยการคิดและลงมือปฏิบัติของผู้เรียนไม่ใช่เกิดจากการสอนของครูและไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาจากทุกคน ครุจึงต้องจัดให้เด็กได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม ผู้เรียนอยากเรียนรู้และมีความสุขในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จนสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

           2 ครูตระหนักในความสำคัญของตนเองว่ามีภารกิจหลักในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆมีเจตคติที่ดี และมีพฤติกรรมหรือการปฏิบัติที่ถูกต้อง

           3 ครูต้องเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้จากการที่คิดว่าครูเป็นผู้สอน เป็นการคิดว่าครูต้องเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน และครูต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องจึงจะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้

           4 ครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการบอกความรู้หรือการสั่งให้เด็กทำมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก จัดสภาพแวดล้อมประสบการณ์และจัดกิจกรรมที่ครูและเด็กมีส่วนร่วมที่จะริเริ่ม ครูคอยสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก เด็กจะเป็นผู้ลงมือกระทำ เรียนรู้และค้นพบด้วยตนเอง ดังนั้นครูจะต้องยอมรับ เห็นคุณค่า รู้จักและเข้าใจเด็กแต่ละคนเพื่อวางแผน สร้างสภาพแวดล้อมและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย

            บทบาทและหน้าที่เฉพาะของครูปฐมวัยในการอบรมเลี้ยงดูเด็กเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีดังนี้

            1 ครูปฐมวัยมีความรู้เรื่องจิตวิทยาพัฒนาการและนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการสอนเด็ก และพัฒนาความรู้ในเนื้อหาของสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศ น้ำ ดิน ต้นไม้ สัตว์ ฯลฯ

            2 ครูปฐมวัยเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กผ่านกระบวนการการสังเกต จากการกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นกลางแจ้ง งานกลุ่ม การเล่นตามลำพัง กิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด

             3 ครูปฐมวัยมีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดู ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้มีความตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจ และมีการปฏิบัติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการสร้างให้เด็กมีพฤติกรรมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถาวร

             4 ครูปฐมวัยต้องอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น การสำรวจ ทดลอง การสรรค์สร้างประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะต่างๆ เช่น การทดลองปลูกต้นไม้ การเล่นบทบาทสมมติ ฯลฯ

             5 ครูปฐมวัยต้องร่วมมือกับผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยร่วมมือกันในการให้ความรู้และร่วมมือกันรับผิดชอบในการพัฒนาเด็กด้านพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การประหยัดน้ำ การทิ้งขยะ การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

            การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจนเด็กปฐมวัยเกิดเป็นพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องให้เด็กได้ลงมือกระทำ ปฏิบัติด้วยตนเอง และทดลอง โดยจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นอยู่ที่ครูจะต้องร่วมมือกับบ้าน ชุมชน สังคมและเด็กได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ คือได้สัมผัสกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

             

หมายเลขบันทึก: 484031เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท