๒๙๒.งานวิจัย:การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกฯ ตอน ๑


การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์

Public Participation in the Globalization Perspectives to Active Buddhism Approach Strategy along Thai-Lao PDR Border Communities

 

บทคัดย่อ

                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงประยุกต์ที่ผู้วิจัยใช้วิธีวิทยาการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  เป็นการวิจัยที่ทำการศึกษาสภาพต่าง ๆ ตามที่เป็นอยู่ ด้วยเทคนิควิธีวิจัยแบบตัดขวาง (Cross-Sectional  Design)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาว  ในยุคโลกาภิวัตน์  เพื่อศึกษากิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์ และเพื่อศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์  โดยที่การวิจัยเชิงปริมาณได้สร้างแบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ  แล้วเลือกตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายของประชากรที่ศึกษาคือ หัวหน้าครอบครัวที่เป็นพุทธศาสนิกชน(798)  พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา (39)  บุคลากรในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเชิงรุก (39) ในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา ประเทศไทยและแขวงหลวงพระบาง  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  จำนวน  876  คน  แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาและทดสอบสมมติฐานด้วยการใช้สถิติ  ค่าความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย  t-test,  F-test  การทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน  ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพได้ทำการสัมภาษณ์จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ  ในชุมชนและเดินทางเข้าไปสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน  และจดบันทึกอย่างละเอียดในสมุดบันทึกภาคสนาม  แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการเขียนพรรณนา  วิเคราะห์  และตีความเสริมข้อมูลเชิงปริมาณ

                ผลการวิจัยพบว่า  การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุก มี 3 ด้านคือ (1)ด้านการเผยแผ่  ภาพรวมประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับมาก (2)ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ภาพรวมประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับปานกลาง และ(3)ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ภาพรวมประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในระดับปานกลาง

     ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนานำไปเป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกที่สำคัญ  คือ  พุทธศาสนิกชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเผยแผ่เชิงรุกทุกรูปแบบโดยมีพระนักพัฒนาเป็นผู้นำจิตวิญญาณในการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก 6 ด้านคือ ยุทธศาสตร์ด้านการเผยแผ่  ด้านการศึกษาสงเคราะห์  ด้านการสาธารณสงเคราะห์  ด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่  ด้านการพัฒนาองค์กร-การสร้างเครือข่าย และด้านการพัฒนางานวิจัยพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาสังคม

คำสำคัญ : การมีส่วนร่วม  พุทธศาสนาเชิงรุก  การเผยแผ่  การศึกษาสงเคราะห์  การสาธารณสงเคราะห์

                    ยุคโลกาภิวัตน์ 

 

บทนำ

     ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย  นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติซึ่งการมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินี้เอง  ทำให้เกิดกระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งดำเนินการโดยพระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์เริ่มก่อตั้งพระพุทธศาสนามาจนถึงการทำสังคายนาพระธรรมพระวินัยครั้งที่  3  โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราช  กษัตริย์ของอินเดียเป็นผู้อุปถัมภ์และมีแนวคิดส่งพระสมณทูตเพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ  รวมทั้งสิ้น  9  สาย (กรุณา กุศลาสัย อ้างในปรีชา ช้างขวัญยืน.2542 : 134-135)

                การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเริ่มมาจากการนำธรรมะซึ่งขยายโดยพระภิกษุสงฆ์เพียงรูปเดียวไปสู่สำนักสงฆ์และไปสู่วัดตามลำดับ ทั้งนี้ Lionel  Obadia  ได้ให้ทัศนะว่า กรอบแนวคิดของผู้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนา ไม่ได้ทำให้ชุมชนเปลี่ยนหรือให้ยอมรับพุทธศาสนาทันที แต่เป็นเพราะว่าพุทธศาสนาเจริญเติบโตได้โดยการรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของประชากร (www.globa/buddhism.org.2554) ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุสงฆ์กับประชาชนทั้งในชนบท  เมืองหรือนคร  เป็นความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน  หรือเรียกอีกแบบว่าสมานชีวิน (symbosis)  ซึ่งการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในครอบครัวและชุมชนต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนกระทั้งตายต้องอาศัยพระภิกษุสงฆ์ในการกระทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา  ซึ่งการคงอยู่ของพระสงฆ์อย่างยั่งยืนในศาสนสถานต่าง ๆ ก็ล้วนต้องอาศัยประชาชนในการทำบุญตักบาตรและมีส่วนร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา  ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนและค้ำชูให้พุทธศาสนาคงอยู่อย่างถาวรตลอดไปในสังคมไทย

                เมื่อสังคมไทย  มีวิวัฒนาการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  1-10  สังคมไทยเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่  21  นี้  (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,  เอกสารอัดสำเนา : 2554) การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมเริ่มมีปัญหาหลายประการ  ซึ่งสะท้อนออกในแง่ของวิกฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น  วิกฤติทางด้านการเมือง  วิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดวิกฤตทางด้านสังคม   มีการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดของคนอย่างรุนแรง  ผู้คนทำงานหนักมากยิ่งขึ้น  ความวิตกกังวล           มีความเครียดสูงจนเกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมและลุกลามสู่สถาบันครอบครัว

     วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นมานี้ เดิมทีเป็นหน้าที่ของศาสนาที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัจจุบันตัวของสถาบันศาสนาหรือวัดเองก็เกิดวิกฤติและมีปัญหาเรียกว่า “วิกฤตศาสนา”   วิกฤตการณ์เหล่านี้ทำให้สถาบันศาสนาก็ถูกกำหนดบทบาทให้อยู่จำกัดเฉพาะภายในบริเวณวัดเท่านั้น (เดือน  คำดี, 2554 : 4) ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของศาสนา ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมยุคใหม่ได้

                ปัญหาดังกล่าวยังลุกลามไปไกล ทำให้คนทั้งสองประเทศ อ่อนด้อยในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมจนเกิดปัญหามากมายในหลาย ๆ  ด้าน    Wibke  Lobo ได้เขียนบทความเรื่อง The Middle  Way  Theravada  Buddhism  and  its  special  nature  in  Laos  พบว่าพุทธศาสนาเถรวาทในลาว มีการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมโดยเฉพาะลัทธิวิญญาณนิยม (www.hansgeorberger.com.2554) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของวัดในพระพุทธศาสนาในส่วนนี้ได้จางหายไปจากสังคมทีละน้อย ๆ  จนแทบจะหาร่องรอยของความเป็นศูนย์กลาง  ความเป็นผู้นำจิตวิญญาณไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับทรรศนะของพระไพศาล  วิสาโล (2546 : 473-487) ที่มองว่ากระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศต่าง ๆ นับวันจะไร้พรมแดนส่งผลกระทบต่อกันอย่างทั่วถึงรวดเร็ว  จนเกิดการสร้างปัญหาท้าทายให้แก่พุทธศาสนา ใน  2  ด้านได้แก่ปัญหาที่เกิดจากภายในวงการพุทธศาสนา และปัญหาที่เกิดจากภายนอก

     จากงานวิจัยเรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมด้านการพัฒนาจริยธรรมของพระนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนกลาง ปีการศึกษา2547 (www.old2005.mbu.ac.th/ index.php?option.2551) ให้ความเห็นว่าด้วยสาเหตุหลายประการที่ส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่มีปัญหาด้านศีลธรรม  มีการทุจริตคอรัปชั่น  การลักขโมย  การเบียดเบียน  แย่งชิงทรัพย์สินของกันและกันเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ จนความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันยากจะยับยั้งแก้ไขได้  ปัญหาที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดกระบวนการพัฒนาทางด้านศีลธรรมอันดีงามทางพระพุทธศาสนา  ซึ่งปัญหาการทำให้จิตวิญญาณมีความเจริญควบคู่ไปกับความเจริญทางวัตถุนั้นยังได้สอดรับกับปัญหาที่คณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาจิต    สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย.  (2528: 65-66) ที่ระบุไว้ในการเผยแผ่พุทธศาสนา ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การเผยแผ่พุทธศาสนายังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเหตุสำคัญคือบุคลากรทางศาสนายังขาดความรู้ และไม่มีเทคนิค (ทักษะ) ในการเผยแผ่ที่ดีพอ  บุคลากรทางศาสนาจำนวนไม่น้อยมุ่งที่จะแข่งขันพัฒนาทางด้านวัตถุมากเกินไป ทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่เกิดประโยชน์ต่อการเผยแผ่ จึงทำให้บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในด้านการพัฒนาจิตใจลดลงอย่างน่าวิตก แม้เมืองไทยจะมีการฟื้นฟูโดยอาศัยแบบเรียนวิชาพระพุทธศาสนาและส่งครูพระไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนแล้วก็ตาม (Osamu  Lzmi. 2008:179)  จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น  ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงประชาชนชาวลาวด้วย  แม้ว่า  2  ประเทศนี้มีผู้คนนับถือพระพุทธศาสนามากจนสามารถเรียกได้ว่ามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  มีองค์กรของพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เป็นผู้เผยแผ่หลักธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ได้ช่วยปลุกเร้าแนวทางโดยมีการชี้นำหลัก 4 ประการ ที่เรียกว่า the four “Ps” ของพระธรรมทูตคือ การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ มีเป้าหมายในการเผยแผ่ การเผยแผ่คำสอน และความทรหดอดทน (Bhikkhu  Buddharakkhita.2554 : 30-31) ตลอดจนมีกิจกรรมทางพุทธศาสนามากมาย  แต่ดูเหมือนว่ายิ่งถ่ายทอดก็ยิ่งตีบตัน  ทั้ง ๆ ที่พระสงฆ์ ได้ทำการเผยแผ่เชิงรุก อย่างเต็มศักยภาพแล้ว

     สอดคล้องกับ อนุช  อาภาภิรม  (2545 : 33-34) ที่ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคนในสังคมไว้ว่า การพัฒนาประเทศและการผลิตสินค้าที่เน้นด้านการควบคุมธรรมชาติโดยแสวงหากำไรสูงสุดทางการค้าและมุ่งสั่งสมความมั่งคั่งให้มากที่สุดตามแนวทางอย่างโลกตะวันตก  ได้กัดกร่อนจริยธรรมและจิตวิญญาณของผู้คนอย่างลึกซึ้ง  โดยมีสาเหตุและการแสดงออกของวิกฤติทางด้านจริยธรรมและจิตวิญญาณ ได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพของคนยุคใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน การหันเหไปสนใจด้านสิ่งเร้นลับแบบงมงาย นั้นก็สะท้อนให้เห็นว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กระทำการโดยพระสงฆ์ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ

      จากข้อมูลระบุว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีวัดทางพุทธศาสนากว่า 30,000 วัด  มีพระภิกษุกว่า 300,000  รูป  สามเณรกว่า  100,000  รูป มีพุทธศาสนิกชนประมาณ  90  เปอร์เซ็นต์ที่ประกาศเป็นพุทธมามกะ ในรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะอีกด้วย (ประเวศ  วะสี ในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2542 : 7) แต่เมื่อทำสถิติสำรวจยอดผู้เข้าวัดจริง ๆ ปรากฏว่า มีคนไม่ได้เข้าวัด ร้อยละ 70 ไม่รู้จักวัด ร้อยละ  60    อันเนื่องมาจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์  และการวิจัยเรื่องการศึกษาสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนในเขตเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-ลาว-จีนของ ประชัน  รักพงษ์ อ้างในโครงการเครือข่ายการวิจัย สถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ  (2543 : ข-8-10) ได้พบว่าประชาชนชาวลาวเหนือ (รวมหลวงพระบาง) ได้รับข้อมูลข่าวสารภายนอกที่ส่งตรงมาจากประเทศไทยและเวียงจันทร์ ทำให้เกิดผลกระต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมของประชาชน  แสดงให้เห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์ ได้ส่งผลต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม   จึงเกิดคำถามต่ออีกว่า  การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุก เป็นอย่างไร  รูปแบบมีอะไรบ้าง  กิจกรรมมีมากน้อยแค่ไหน  ดังนั้น การศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาว ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ผู้ศึกษามีความสนใจในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยผ่านการได้รับข้อมูลข่าวสาร  การรับฟังความคิดเห็น การเกี่ยวข้อง การร่วมมือ และการเสริมอำนาจแก่ประชาชน ว่ามีผลต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทย-ลาว อย่างไรบ้าง 

                จึงทำให้เกิดความคิดการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก ขึ้นในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าของทั้ง  2  ประเทศฝั่งแม่น้ำโขงมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอันจะนำไปสู่ตัวธรรมะจนสามารถนำข้อมูลทางปริยัติ(การเรียนรู้)ไปสู่การปฏิบัติ(การลงมือทำ)ในการดำรงชีวิตประจำวันและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่และปัจเจกบุคคลให้ไปสู่ปฏิเวธ (การบรรลุสัจจะธรรม)ได้มากยิ่งขึ้น

                สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาหลายประการดังกล่าวแล้ว  ผู้วิจัยจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก  อันจะเป็นองค์ความรู้ด้านการเผยแผ่ศาสนาพุทธต่อไป

หมายเลขบันทึก: 483990เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท