คลองมะรื่น การกินเนื้อวัวควาย กับวัฒนธรรมและวิถีการผลิตของชุมชนหนองบัว


เมื่อวันสุดท้ายของงานงิ้ว ระหว่างที่ผมได้ไปนั่งเฝ้าเต๊นท์และรอเก็บนิทรรศการอยู่นั้น ก็มีคุณลุงบุญธรรม แก่นเขียว อายุ ๘๔ ปี อยู่บ้านริมถนนฝั่งตรงข้ามเยื้องกับเต๊นท์จัดนิทรรศการของเวทีคนหนองบัวเล็กน้อย เดินมาชมนิทรรศการอยู่เป็นเวลานานนับชั่วโมง ท่านเดินอ่านโปสเตอร์นิทรรศการหลายแผ่นอย่างจดจ่อ ใบหน้ายิ้มละไม ก่อนที่จะเดินออกจากเต๊นท์กลับบ้าน ก็แวะหยิบแผ่นพับที่เวทีคนหนองบัวทำแจกฟรี พร้อมกับบอกว่า...." ดีจังเลย...." เลยทำให้ผมได้คุยกับคุณลุง 

คุณลุงบอกว่าเดิมทีนั้นเป็นคนพื้นเพพยุหะคีรี ได้มามีครอบครัวและตั้งรกรากเป็นคนหนองบัวตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๐๒ หรือกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา บ้านที่อยู่อาศัยในระยะสร้างเนื้อสร้างตัวนั้นอยู่ที่ข้างเกาะลอยแต่ลึกเข้าไปทางด้านที่ติดกับทุ่งนาซึ่งเดินออกไปห้วยน้ำสาดกับธารทหาร ทำอาชีพเป็นกัลบกหรือช่างตัดผมอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะขายเนื้อวัวและเนื้อควายในตลาดสดเป็นเจ้าแรกของหนองบัว ทำมาหากินจนลูก ๔ คนมีการศึกษาจบมหาวิทยาลัยมีการงานทำอย่างมั่นคงทุกคน

ลุงบุญธรรมเล่าว่า ด้านข้างเกาะลอยตรงข้างบริเวณที่เป็นเต๊นท์ซึ่งเวทีคนหนองบัวจัดนิทรรศการนั้น เมื่อก่อนเป็นคลองและเต็มไปด้วยป่าชื่อคลองมะรื่น

จากเกาะลอยและคลองมะรื่นไม่มีทางไปวัดหนองกลับและย่านที่เป็นตลาดในปัจจุบัน แต่จะมีทางเดินเท้ามาจากบ้านน้ำสาด ออกไปตรงข้างโรงสีทะลุเข้าวัดหนองกลับตรงทางเดินรอยต่อสระสองลูกของวัดหลวงพ่ออ๋อย แล้วก็เลยออกไปตรงชายป่าหนองคอกทะลุออกไปวังบ่อ ชาวบ้านเดินไปหาของป่าและไปทำไร่แถววังบ่อง่ายกว่าเดินไปบริเวณที่ปัจจุบันเป็นตัวเมืองหนองบัวกับบ้านหนองกลับ

มะรื่น ที่พ้องกับชื่อคลองในอดีตที่อยู่ข้างเกาะลอยนี้ เป็นไม้ป่ายืนต้นชนิดหนึ่ง มีผลลักษณะและขนาดเหมือนผลมะกอก ผลมะรื่นเมื่อหล่นตามพื้นดินจะเป็นอาหารที่วัวชอบกิน เมื่อกินแล้วถ่ายออกมาจะเหลือแต่กระเปาะเปลือกแข็ง ข้างในกระเปาะเปลือกแข็งนี้จะมีเมล็ดรูปทรงเหมือนเมล็ดของละมุด เด็กๆและชาวบ้านจะนำกระเปาะเปลือกแข็งไปผ่าและกระเทาะเอาเมล็ดออกมาคั่วกิน หอมและได้รสอร่อยของเมล็ดธัญพืช ปัจจุบันก็สามารถพบเมล็ดมะรื่นคั่วในบางแหล่งได้บ้าง คลองมะรื่นนี้ จะมีที่มาสัมพันธ์กับการมีต้นมะรื่นอยู่ในย่านชุมชนเกาะลอยจนเป็นที่สังเกตและตั้งเป็นชื่อคลองได้หรือไม่ ก็จัดว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านและคนหนองบัวจะสามารถศึกษารวบรวมโดยสอบถามและวาดรูปจากความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นได้ต่อไป

ลุงบุญธรรมได้เล่าถึงเรียนรู้ทางสังคมจากการขายเนื้อไปด้วยว่า เนื้อวัวเนื้อควายจะขายให้กับชาวบ้านได้ดีกว่าเนื้อหมู ในวิถีชีวิตปรกตินั้นชาวบ้านและชาวไร่ทั่วไปจะกินเนื้อปลาและไก่ อีกทั้งไม่ค่อยกินเนื้อหมู แต่เมื่อต้องการซื้อเนื้อ ก็จะเป็นเนื้อวัวและเนื้อควาย โดยซื้อครั้งละเป็น ๒-๓ กิโลกรัมเพื่อนำไปทำเนื้อเค็มและเตรียมเป็นอาหารแห้งเข้าป่าไปทำไร่เป็นเวลาหลายวันพร

เนื้อวัวและเนื้อควายจะทำเนื้อเค็มและกินได้นาน ในขณะที่เนื้อหมูจะเหม็นหืน เนื้อวัวและเนื้อควายในหนองบัวเป็นเนื้อที่เลี้ยงและชำแหละขายส่งโดยแขกปาทาน ลุงบุญธรรมเป็นเขียงแรก และต่อมาในตลาดสดหนองบัวตลอดยุคของคุณลุงก่อนจะหยุดทำมาค้าขาย ก็มีเขียงขายเนื้อเพียง ๒ เจ้าเท่านั้น.

.........................................................................................................................................................................

หมายเหตุ : สนทนาและถ่ายภาพเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 483923เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2012 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น่าสนใจมากเลยครับ จำได้ว่าสมัยผมเด็กๆ แขกปาทานมาฆ่าวัว น่ากลัวมาก

เมื่อก่อนนี้นั้น การที่จะเลี้่ยงวัวเป็นฝูงได้ ก็ต้องยกให้เป็นทักษะของแขกปาทานละครับ
ก่อนที่ต่อมาอีกหลายปี ชาวบ้านจึงหัดทำกันได

ไปอยู่ บูรพา ได้ทาน ปู ครับ สีส้มๆ เขาเรียน ปู้ม้า อิอิ

เป็นของแปลกเหมือนกันนะครับอาจารย์หมอ JJ ครับ
เพราะเป็นปูแต่คนก็ยังให้ชื่อว่าม้าอีกน่ะครับ เลยต้องเป็นปูม้า
ไม่รู้ว่าปูม้าเลยหาทางเอาคืนบ้างหรือเปล่านะครับ
เราจึงมักได้เห็นคนถูกเรียกว่าปูบ้างเยอะเลย ฮาาา
ด้วยความเคารพและรำลึกถึงยิ่งครับอาจารย์

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยือนเวทีคนหนองบัวครับ
อาจารย์หมอ JJ ท่าน sr อาจารย์ศิลา อาจารย์ ดร.ขจิต และอาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์
มีความสุขและได้ความรื่นรมย์เบิกบานใจอยู่เสมอๆทุกท่านครับ

อย่างนี้ต้องเรียกว่า ได้พบบุคคลต้นเรื่องอีกหนึ่งอย่างแล้ว
อ่านบันทึกที่อาจารย์เล่าว่าโยมลุงไปยืนอ่านตั้งนาน
แล้วท่านกล่าวว่าดี ได้ทราบแค่นี้ก็เกิดกำลังใจขึ้นโขเลย

เรื่องชื่อคลองมะรื่นได้ยินน้าหมอกวน ดำโต เล่าให้ฟัง
ในวันที่ไปเยี่ยมบ้านท่าน ว่าเืมื่อก่อนนี้คลองนี้ลึกและชันมาก
วันหนึ่งนายพรานบุญได้ยินเสียงนางเกสรร้องเพลงพวงมาลัย
ก็เดินไปดูคนร้อง แต่เพื่อไม่ให้นางเกสรเห็น นายพรานก็ค่อยๆย่องไป

พอไปถึงคลองมะรื่น ซึ่งตลิ่งทั้งลึกและชันมาก ต้องข้ามคลองขึ้นไปอีกฝั่ง
เพื่อไปหานางเกสร แต่ด้วยตลิ่งชัน ขึ้นแล้วก็ลื่นตกลงมา เป็นอยู่อย่างนั้นหลายครั้ง
หลายหนมาก กว่าจะขึ้นได้ ทำเอาตลิ่งที่ปีนป่ายนั้นลื่นเป็นทางคนเดินเลย

ตอนที่นายพรานเดินไปหานางเกสรนั้น จะเดินด้วยลักษณะเดิยย่องไป ต่อมาจึงมีหมู่บ้านชื่อบ้านมะขามย่อง ส่วนทางเดินข้ามคลองลึกดังกล่าวนั้น นายพรานปีนขึ้นตลิ่งลื่นเป็นเทือกเป็นทาง 

ต่อมาจึงได้ชื่อว่าบ้านคลองมะรื่นด้วยประการฉะนี้

เยี่ยมไปเลยครับ ได้เค้าโครงเสริมต่อขยายข้อมูลและเรื่องเล่ากันได้มากทีละนิดละหน่อยอย่างนี้แหละครับ ผมจะหาโอกาสวิเคราะห์ เรียบเรียง และตรวจทาน เชื่อมโยงเข้าหาหลักฐานอ้างอิงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่จะให้ดำเนินควบคู่ไปกับการได้คุยและสร้างปัญญาไปด้วยกันของชาวบ้านนะครับ

หากไม่ทำอย่างนี้แล้วละก็ เราก็จะได้แต่เอกสารความรู้เล่มเดียวที่ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดต้องนั่งเงียบและให้คนอื่นมาเล่าเรื่องตนเองให้ฟังอีกที กระบวนการอย่างที่เกิดขึ้นในหนองบัวนี้กำลังได้วิธีสร้างภาวะการเรียนรู้ตนเองเป็นชุมชนที่ดีมากเลยครับ ไม่ใช่เพียงเพื่อคนหนองบัว แต่สามารถเป็นแนวคิดที่ดีให้กับอีกหลายแห่งของประเทศด้วย เพราะหากที่หนองบัวทำได้แล้วละก็ อีกหลายแห่งในชนบทของประเทศก็จะมีกำลังใจว่าตนเองก็จะสามารถทำได้ดีกว่าเสียอีกน่ะครับ สังคมส่วนรวมย่อมมีรากฐานที่ดีขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท