บั้งไฟพญานาคแม่น้ำโขง..ทฤษฎีใหม่(ที่เป็นวิทยาศาสตร์)


มีปลาขนาดใหญ่(น่าจะเป็นปลาไหลยักษ์)จำศีลอยู่ใต้ดินท้องแม่น้ำทั้งปี จะออกจากจำศีลก็ในวันเพ็ญเดือน 11 พอดี

ออกพรรษา ๒๕๕๓ ผมเดินทางไปริมโขงพอดี ไปหาของโบราณมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แต่ไปถึงช้าไปหนึ่งวัน ถามคนที่ อ. บึงกาฬ (จ.หนองคาย) ได้ความว่า แม้ช้าไปหนึ่งวันก็จะยังมีบั้งไฟให้เห็นอยู่เพราะเป็นปีที่มีเดือนแปดสองหน ตรงกับออกพรรษาของลาวเสียด้วย

 

แหล่งข่าวบอกต่อว่า ที่บึงกาฬนี้ มักขึ้นที่หน้าวัดอาฮง (ต.อาฮง อ.บึงกาฬ) ผมก็เลยบึ่งรถไป ๑๕ โล เพื่อชม โอโฮ..คนแน่นขนัดไปหมด

 

และก็ธรรมดาของสังคมบ้านนอกไทยในสภาพนี้ ก็อึงมีไปด้วยร้านค้า ตั้งแต่ข้าวจี่ยันรองเท้าไนกี้และมือถือจากจีนแดง  เสียงเพลงกระหึ่มจากลำโพงรถ และ เสียงประทัดนานาชนิด หนวกหู หนวกตา หนวกสมองไปหมด ..ต้องยอมรับสภาพที่เกิดมาเป็นคนไทย  ส่วนพระคุณเจ้าก็ออกอากาศดังลั่นแข่งกับฆราวาส เล่าเรื่องชาดกต่างๆ แทนที่จะสอนให้คนทั้งหลายอยู่ในความสงบ อย่าส่งเสียงรบกวนผู้อื่น โดยเฉพาะพญานาค

 

ผมหลบไปอยู่ริมคุ้งน้ำปลายสุด เงียบดีมาก แต่เปลี่ยวและน่ากลัว แสงสะท้อนจากพระจันทร์พาดผ่านลำโขง ดูสวยและน่าเอามาทำอารมณ์สมาธิได้มากทีเดียว แต่.. สักพักมีกองทัพกรรมเข้ามากวน ส่งเสียงดัง จุดประทัดลั่น แต่ “เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว” เพราะสุดคุ้งน้ำแล้ว ที่เหลือมีแต่ป่า ก็ต้องทำใจรับกรรมกันไป

 

รอดูอยู่จากประมาณ 1 ทุ่มจนสามทุ่ม ท่านพญานาคก็ไม่ยอมพ่นไฟสักดอก ประกอบกับรำคาญเสียงเพลง เสียงสวด เสียงประทัด ก็เลยกลับไปนอนดีกว่า

ที่ท่านพญานาคไม่ออกมานั้น ผมชักสงสัยว่าคงเป็นเพราะท่านหนวกหูน่ะ เลยไปขึ้นที่อื่นดีกว่า

 

เรื่องบั้งไฟพญานาคในแม่น้ำโขง ผมขอเสนอทฤษฎีดังนี้ (คิดไว้ประมาณ 10 ปีมาแล้วครับ)

 

อาจมีปลาขนาดใหญ่(น่าจะเป็นปลาไหลยักษ์)จำศีลอยู่ใต้ดินท้องแม่น้ำทั้งปี จะออกจากจำศีลก็ในวันเพ็ญเดือน 11 พอดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีสัตว์น้ำหลายชนิดที่มาชุมนุมโดยพร้อมเพรียงกันเพียงปีละ 1 วันโดยยึดหลักจันทรคติ  (พวกเขามีประสาทที่สัมผัสแรงดึงดูดโลกได้) และปลาไหลก็สามารถอยู่ใต้ดินได้เป็นปีอยู่แล้วตามปกติ


เมื่อออกมาจากจำศีลใต้ดินก็หายใจออก (เรอ) เป็นครั้งแรก เพื่อคายแก๊สที่สะสมไว้ในท้องเป็นเวลาหนึ่งปีออกมา แก๊สนี้เกิดจากอาหารที่กินเข้าไปแล้วหมักไว้หนึ่งปีเต็ม แล้วแก๊สนี้ก็ลอยขึ้นไปบนผิวน้ำ พอผสมกับอากาศก็เกิดการเผาไหม้

 

แสดงว่าแก๊สนี้ไม่ใช่แก๊สมีเทน (CH_4 ธรรมดา) เพราะแก๊สมีเทนจะไม่ติดไฟที่อุณหภูมิบรรยากาศปกติ  แต่เป็นแก๊สที่ไวไฟกว่านั้นมาก.. ที่คงมีอนุมูลอิสระที่ไวไฟปนอยู่มากจนเกิดการสันดาปเริ่มต้นด้วยตนเองได้ที่อุณหภูมิบรรยากาศ  (เช่นอาจเป็น พวกอนุมูลอิสระ ของ H CO OH เป็นต้น หรือแม้แต่อะไรที่ไวไฟกว่านี้ ซึ่งนักเคมีน่าจะลองศึกษากันดูนะ ในระบบวิทยาศาสตร์ฝรั่งก็มีคำว่า ambient combustion ..การเผาไหม้ในสภาวะธรรมดา หรือ spontaneous combustion)

 

เผอิญเรื่องนี้ไปพ้องกับหนังสือที่ผมเคยอ่านไว้นานมากแต่สมัยเป็นหนุ่มแล้ว  เป็นอัตตชีวประวัติของพระธุดงค์รูปหนึ่ง (ลืมชื่อท่านไปแล้ว) ปักกลดอยู่ริมโขง วันหนึ่งท่านได้กลิ่นคาวมากๆ จากระยะไกล จึงไปสำรวจดู พบว่าเป็นกลิ่นมาจากปลาไหลยักษ์ที่เลื้อยออกมาจากรูริมน้ำโขง มีขนาดยาวสัก 3 วา (ก็ขนาดงูเหลือมยักษ์นั่นเอง) มีหลายตัวมาก แต่ละตัวมีสีเหลือบแวววาวหลากหลายสี ท่านเล่าไว้อย่างนั้น โดยบริบทที่เล่าไม่เกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคแต่ประการใด

 

ผมเลยลองเอาปลาไหลยักษ์ที่ว่ามาเชื่อมกับบั้งไฟพญานาคดู

 

มีปลาบางชนิดสามารถอยู่ใต้น้ำได้ตลอดกาลโดยไม่ต้องโผล่มาหายใจ โดยสามารถดูดออกซิเจนเอาได้จากน้ำนั่นเอง นับเป็นวิวัฒนาการที่แปลกประหลาดพอสมควร



ปลาไหลยักษ์ที่ว่านี้อาจโผล่ออกมาจากใต้ดินปีละครั้งและหากินอยู่ใต้ท้องแม่น้ำโขงโดยไม่โผล่ขึ้นมาให้ใครจับได้เลย เขากำหนดว่าต้องโผล่จากใต้ดินมาในวันเพ็ญเดือน 11 เท่านั้นด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่สุดเดา อาจเป็นว่า


1. เป็นช่วงน้ำลึกมาก ทำให้ปลอดภัยต่อการถูกล่า

2. เป็นช่วงเวลาที่มีอาหาร เช่น ปลาเล็กๆให้กินมาก (ปลาเล็กๆหลายชนิดก็มีพฤติกรรมมาชุมนุมปีละครั้งเช่นเดียวกัน โดยยึดหลักจันทรคติ ปลาไหลยักษ์ท่านก็เลย timing มาให้เวลาตรงกันเสียเลย เช่น เสือก็จะออกลูกยามที่มีกวางมากนั่นแหละ เพื่อจะหาอาหารมาเป็นนมให้ลูกดื่มกินได้ง่าย) พอกินปลาเล็กเสร็จก็ผสมพันธุ์ วางไข่ แล้วดิ่งลงใต้บาดาลต่ออีกหนึ่งปี


ท่านไม่ต้องดูไกล ปลาไหลที่เราเอามาแกงกินก็จำศีลใต้ดินเกือบทั้งปีตลอดฤดูอยู่แล้ว  พอฝนตกมีน้ำลึกก็ไม่โผล่หน้ามาให้เห็นหรอกชอบอยู่แต่ก้นบึงเท่านั้น ไม่ออกมาหายใจให้เห็นด้วย เอาเบ็ดไปตกก็ไม่ได้กินเขาหรอก เพราะเขาหากินที่ก้นน้ำเท่านั้น แต่คนอีสานเขาเก่ง รู้นิสัยปลาไหลดี ก็เอาลันไปดัก โดยต้องเอาหินถ่วงให้ปากลันอยู่ติดก้นหนองน้ำ เอาหอยโข่งทุบไว้ส่งกลิ่นไปล่อให้ปลาเข้าลัน   

 

สัตว์น้ำจำนวนมากออกมาชุมนุมกันปีละครั้งตามจันทรคติ วันเดียวกันทุกปี เช่น เต่าทะเลมาวางไข่  แมงดาทะเล  ปลาแซลม่อน ปลา(อะไรนะ)ทางภาคใต้ของเรา(เห็นทีวีไปถ่ายทำอยู่)  สัตว์บกบางชนิดก็ชุมนุมกันปีละครั้งโดยมิได้นัดหมาย เช่น กบ แมงดา แมงเม่า จั๊กจั่น จั๊กจั่นบางชนิดมาชุมนุมกัน 17 ปีต่อครั้งวันเดียวกันเป๊ะเลย ประหลาดจริง จำได้ไง


ดูเหมือนว่าคนไทยก็มักชอบชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมายในเดือนตุลานะครับ :-)

 

………….คนถางทาง (๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕)

 

หมายเลขบันทึก: 483682เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2012 06:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริง ๆ แล้วอาจไม่ใช่การเผาไหม้ด้วยซ้ำไป อาจเป็นเพียงสารเรืองแสง (เช่น สารในตัวหิงห้อย หรือในกบเขียดบางชนิด)

อนึ่ง บางตนให้การว่าในคลองชั้นในๆ ก็มีบั้งไฟพญานาค ลามไปถึงหนองบังลำภูโน่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท