กรณีประเทศอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) จากที่ อ.แหวว ชักชวนให้แบ่งปันค่ะ


อ.แหวว พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่เคารพรัก ได้ชักชวนให้มาแบ่งปันกับประเด็นที่ว่า "มาแชร์จากมุมอังกฤษซึ่งการเข้าสู่ประชาคมล่าช้า แต่ก็ทิ้งสาวกไว้ใน EFTA สิ่งที่ทำให้อังกฤษเข้าประชาคมและไม่ออกจากประชาคมในยามยากเพราะอะไร เรื่องของอังกฤษจะเป็นบทเรียนให้ไทยซึ่งกลัวๆกล้าๆต่อชีวิตแบบประชาคม"

เรื่องประเทศอังกฤษกับการเข้าร่วมสภาพยุโรป

ตอนแรกที่สภาพยุโรปยังเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) และมี 6 ประเทศก่อตั้ง (The Inner Six) คือ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี ประเทศอิตาลี และกลุ่มประเทศ BENELUX (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ท่าทีของอังกฤษต่อประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในตอนแรกเหมือนจะสับสนและลังเล เลยได้เข้าร่วมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า The Outer Seven ก่อตั้ง EFTA ขึ้นมาในปี 1959 ไม่นานหลังจากที่มีประชาคมเศรษฐกิจยุโรป เจ็ดประเทศดังกล่าวคือ ประเทศออสเตรีย ประเทศเดนมาร์ก ประเทศนอร์เวย์ ประเทศโปรตุเกส ประเทศสวีเดน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

ต่อมาในปี 1963 สหราชอาณาจักรสมัครเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปแต่ก็ถูกประเทศฝรั่งเศส veto ในการเข้าเป็นสมาชิกเพราะเหตุผลทางการเมือง (บ้างก็ว่าเป็นเพราะประเทศอังกฤษจะนำพาประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามามีส่วนร่วมในยุโรป บ้างก็ว่าเป็นเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส (ที่ไม่ค่อยถูกกัน) และกรณีเรื่องภาษาหลักที่จะใช้ในประชาคม) จนกระทั่งสหราชอาณาจักรส่งใบสมัครเป็นครั้งที่สาม (สิบปีผ่านไป) และมีการพูดคุยเจรจาระหว่างประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ทำให้การสมัครครั้งนี้ผ่านในปี 1973 นี่เลยเป็นอีกเหตุที่ทำให้เข้าร่วมประชาคมล่าช้า

ความแตกต่างของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) กับ EFTA ก็คือ EEC นั้นมีการเก็บภาษีศุลกากรจากภายนอกประชาคมเท่ากัน ประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกต้องลดหรือกำจัดกำแพงภาษีในก่อนที่จะเข้าร่วม EEC ได้ แต่กรณี EFTA สมาชิกจะตั้งภาษีศุลการจากภายนอกเท่าไรก็ได้ แต่ละประเทศไม่จำต้องเหมือนกัน แต่หลังจากที่ประเทศอังกฤษและเดนมาร์กเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ก็ทำให้ EFTA สั่นคลอน ฉะนั้น EFTA จึงเหลือสมาชิกแค่สี่ประเทศคือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศนอร์เวย์ ประเทศลิกเตนสไตน์ และประเทศไอซ์แลนด์

การที่สหราชอาณาจักรเข้าร่วมประชาคมนั้นก็เนื่องจาก เหตุผลหลักคือประเทศอังกฤษขาดความเชื่อมั่นในประเทศตัวเองอย่างหนักเนื่องจากเสียจักรวรรดิไป และหลักจากเห็นกลุ่ม Inner six สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเชื่อมั่นว่าการเข้าร่วมจะนำความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ รวมไปถึงการส่งผ่านความรู้และข้อมูลต่างๆในทุกๆด้าน ไม่ใช่แค่ในแง่ของธุรกิจการค้า และทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพและเพิ่มการแข่งขันในตลาดไม่ใช่แค่ในประชาคม แต่รวมไปถึงตลาดทั่วโลก อย่างไรก็ตามแม้ประเทศอังกฤษจะเข้าร่วมประชาคมแต่ก็ opt-out การใช้เงินสกุลยูโร เพราะต้องการมีความเป็นอิสระของค่าเงินของตัวเอง, opt-out เรื่องความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อย, opt-out ไม่เข้าร่วมกฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐาน และ ไม่เข้าร่วม Schengen Agreement

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่าง EU และประเทศอังกฤษสั่นคลอน คือกรณีที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษปกป้องผลประโยชน์ของประเทศโดยการปฏิเสธสนธิสัญญาใหม่ของสหภาพในกรณีแผนการช่วยเหลือ EU ในกรณีวิกฤติทางการเงินของ eurozone ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ค่าเงินเดียว และในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่สมทบทุนช่วยเหลือกองทุน IMF ประเทศอังกฤษเห็นว่ากองทุนนี้ควรไว้ใช้ช่วยเหลือภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ใช่แค่เพื่อช่วยยุโรปอย่างเดียว โดยที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่าประเทศอังกฤษจะไม่ออกจากสหภพยุโรปหากว่าการเป็นสมาชิกยังเป็นประโยชน์และมีส่วนได้เสียต่อประเทศอยู่ และการออกจากการเป็นสมาชิกไม่ใช่ความมุ่งหวังของประเทศ จากกรณีดังกล่าว สื่อจากหลากหลายประเทศในยุโรปต่างพาดหัวข่าวจู่โจมประเทศอังกฤษกรณีไม่ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือวิกฤติการเงินยูโร ทำให้ขณะนี้อังกฤษเหมือนโดดเดี่ยวใน EU แต่ก็ไม่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก


หมายเลขบันทึก: 483680เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2012 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท